วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ชื่อหายก็เคยเกิดเรื่องแล้ว แล้วถ้าชื่อเกินล่ะ MO Memoir : Tuesday 26 May 2558

สำหรับผู้ที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ตำแหน่งทางวิชาการยังไม่ขึ้นไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดนั้น ความก้าวหน้าในการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญดังนี้คือ

() การมีผลงานทางวิชาการเผยแพร่ และ
() สัดส่วนงานของตัวเองในผลงานที่มีการเผยแพร่ไปนั้น

ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มีหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่เกิดจากการยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของกระทรวงศึกษาธิการเข้าด้วยกัน) โดยอ้างไปถึงหนังสือหนังสือทบวงมหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. ๒๕๔๓ (เรียกว่าถามไป ๓ ปีกว่าถึงได้คำตอบ) เรื่องการแบ่งสัดส่วนผลงานทางวิชาการระหว่างอาจารย์และนิสิตผู้มีชื่อปรากฏในผลงานนั้น
   
รายละเอียดของเรื่องราวเป็นอย่างไรก็ลองอ่านเองในรูปที่แนบมาให้ดูก็แล้วกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างกรณีของ "ชื่อหาย"

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เคยมีนักวิจัยอาวุโสท่านหนึ่งกระซิบถามผมถึงเรื่องการทำงานของนักวิจัยอาวุโสอีกท่านหนึ่ง ว่าทำงานเองหรือเปล่า หรือจ้างให้คนอื่นทำให้ เพราะเวลาให้นำเสนอผลงานวิจัยที่รับทุนไป ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ หรือให้บรรยายเรื่องหนึ่งก็ไปบรรยายในอีกหัวข้อหนึ่งแทน ผมก็ตอบกลับไปตามที่ผมทราบมาก็คือ 
   
"เป็นอย่างที่อาจารย์คิดนั่นแหละครับ"

เมื่อกลางปีที่แล้วผมมีโอกาสได้อ่านวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอกรายหนึ่งก่อนเขาสอบ ซึ่งตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาแล้วเขาต้องมีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอย่างน้อย ๑ เรื่อง ซึ่งนิสิตคนนี้ก็ผ่านตามเกณฑ์ดังกล่าว และยังมีผลงานที่นำไปนำเสนอในที่ประชุมวิขาการตามที่ต่าง ๆ (ทั้งในและต่างประเทศ) อีก ๕-๖ แห่ง
  
แต่ที่สะดุดตาผมมากก็คือ "ชื่อ" ชื่อหนึ่งของผู้ที่มีส่วนร่วมในผลงานวิชาการที่เป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เพราะเมื่อเทียบชื่อบทความที่เอาไปนำเสนอและตีพิมพ์ และชื่อผู้มีส่วนร่วมที่ปรากฏในบทความที่เอาไปนำเสนอและตีพิมพ์นั้น ต่างสอดคล้องกันเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่บทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาตินั้นมีรายชื่อหนึ่งปรากฏโผล่ขึ้นมา โดยเท่าที่ผมทราบก็คือบุคคลในรายชื่อนั้นไม่ได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องใด ๆ กับบทความนั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นที่ปรึกษาร่วมในงานวิจัยของนิสิต และชื่อบุคคลดังกล่าวก็ยังไม่มีปรากฏในกิตติกรรมประกาศของวิทยานิพนธ์ของเขาด้วย
  
ก่อนสอบวันหนึ่งผมมีโอกาสได้พบกับนิสิตรายนั้น ผมก็เลยมีโอกาสได้ถามเขาเรื่องนี้ คำตอบที่เขาให้มาก็คือ
  
"อาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ใส่เข้าไป"
"ในฐานะอะไรเหรอ" ผมถามต่อ
"อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าในฐานะผู้ให้ทุน"
  
ทันทีที่ผมถาม นิสิตก็ตอบกลับได้ทันที แสดงว่าเขาก็ตั้งข้อสงสัยตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และได้มีการซักถามตัวอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำไมต้องใส่ชื่อบุคคลดังกล่าว และใส่ในฐานะอะไร แต่เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ใส่เข้าไป นิสิตก็เลยจำเป็นต้องใส่ (กลัวว่าจะไม่จบ) นิสิตผู้นั้นได้รับทุนวิจัยจากแหล่งอื่น และระหว่างการทำวิจัยก็ไม่ได้มีการติดต่ออะไรกับอาจารย์ผู้นั้นเลย
    


และจะว่าไปแล้วถ้าอยู่ในฐานะ "ผู้ให้ทุน" (ซึ่งนิสิตก็ไม่รู้ว่าทุนนั้นไปที่ไหน แต่ไม่ได้มาที่เขาแน่) มันก็ควรไปปรากฏอยู่ในส่วนของ "กิตติกรรมประกาศ" ไม่ใช่ในส่วนผู้เขียนบทความ หรือแม้แต่ผู้ที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ในการทำวิจัย โดยบุคคลผู้นั้นไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานวิจัยดังกล่าวโดยตรง ก็มักจะไปมีชื่อปรากฏแค่ส่วนของ "กิตติกรรมประกาศ" แค่นั้นเช่นกัน ไม่ใช่มาปรากฏเป็นชื่อเข้าของบทความ
  
สาเหตุนั้นเกิดจากผู้ที่มีชื่อปรากฏ "เกิน" มานั้นไปขอรับทุนวิจัย โดยทุนดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าต้องมีการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ขึ้นมา และต้องมีบทความวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และเพื่อจะให้ผู้ให้ทุนพิจารณา ก็เลยมีการสัญญาจำนวนบทความวิจัยที่จะทำ (ซึ่งแน่นอนว่าจะใส่ตัวเลขเยอะ ๆ เอาไว้ก่อน)
  
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือไม่สามารถหาผู้ที่ทำวิจัยในสาขาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาร่วมในคณะนักวิจัยได้ ก็เลยใช้วิธีการทำนองว่าไปดึงใครต่อใครให้เข้ามาร่วม (โดยไม่สนว่าจะทำงานในสาขาที่แตกต่างกันมากแค่ไหน) โดยมีข้อแม้ว่าถ้าหากอาจารย์ผู้มาร่วมงานนั้นมีการตีพิมพ์ผลงานในรูปแบบวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีชื่อของเขาปรากฏด้วยเมื่อใด ก็มารับเงิน (ที่ตั้งอยู่ในงบประมาณทุนที่ขอ) ไปจากเขา ส่วนระหว่างนั้นอาจารย์คนดังกล่าวจะไปทำอะไรเรื่องอะไรเขาไม่สน และนั่นก็เป็นที่มาตรงที่ว่าทำไปชื่อบุคคลที่ "เกิน" มานั้นไม่มีปรากฏในผลงานที่เอาไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ หรือถูกกล่าวถึงในวิทยานิพนธ์ของนิสิตผู้ทำงานวิจัยดังกล่าวเลย

งานนี้ก็คงได้แต่รอดูว่า ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาของเขานำเอาผลงานฉบับดังกล่าวไปยื่นขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ นิสิตคนดังกล่าว (ซึ่งสำเร็จการศึกษาไปแล้ว) จะทำอย่างไร อาจจะมีกรณีแปลก ๆ เกิดขึ้นใหม่อีกก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น