วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ต้องควบแน่นก่อน แล้วค่อยต้มใหม่ MO Memoir 2558 Oct 1 Thu

ครั้งที่แล้วได้ยกคำถามคลาสสิกวัดความเข้าใจพื้นฐานวิชาเทอร์โมไดนามิกส์เรื่องเปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้ในห้อง แล้วอุณหภูมิห้องจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร มาคราวนี้ขอยกคำถามคลาสสิกอีกคำถามหนึ่ง ที่แต่ก่อนจะมีการกล่าวถึงกันเป็นประจำ แต่พักหลัง ๆ ไม่ค่อยจะได้ยินแล้ว ไม่รู้ว่ายังคงมีใช้ในการสอบสัมภาษณ์งานกันอยู่หรือเปล่า คำถามนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับวัฏจักรกังหันไอน้ำที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คำถามดังกล่าวคือ

"ทำไมต้องควบแน่นไอน้ำความดันต่ำที่ออกมาจากกังหันไอน้ำให้กลายเป็นของเหลวก่อน จากนั้นจึงค่อยต้มกลับให้กลายเป็นไอน้ำความดันสูงใหม่ ทำไมจึงไม่ทำการอัดไอน้ำความดันต่ำนั้นให้กลายเป็นไอน้ำความดันสูง แล้วให้ความร้อนแก่ไอน้ำความดันสูงนั้นเลย"

ก่อนอื่นเรามาทบทวนแผนผังการทำงานของระบบกังหันไอน้ำที่ใช้วัฏจักรกำลังที่มีชื่อว่า Rankine cycle กันก่อนดีไหมครับ (ดูรูปที่ ๑ ประกอบ)

รูปที่ ๑ แผนผังการทำงานของระบบกังหันไอน้ำ เส้นทึบคือการทำงานจริงที่มีการควบแน่นไอน้ำให้กลายเป็นของเหลวก่อน จากนั้นจึงค่อยปั๊มน้ำเพิ่มความดันให้สูงเพื่อป้อนต่อไปยังหม้อน้ำ ส่วนเส้นประคือเส้นทางคำถามว่าทำไมถึงไม่ติดตั้งคอมเพรสเซอร์ และทำการอัดไอน้ำความดันต่ำให้กลายเป็นไอน้ำความดันสูงเลย
  
ในการทำงานนั้น น้ำที่เป็นของเหลวถูกป้อนเข้าสู่หม้อน้ำความดันสูง (boiler) ด้วยปั๊มน้ำความดันสูง น้ำจะเดือดกลายเป็นไอน้ำอิ่มตัว (saturated steam) ความดันสูงที่ตัวหม้อน้ำนี้ จากนั้นไอน้ำอิ่มตัวความดันสูงจะไหลต่อไปยังอุปกรณ์ที่เรียกว่า superheater (ปรกติไอน้ำก็จะไหลอยู่ในท่อ และมีแก๊สร้อนไหลอยู่ด้านนอก) ทำให้ไอน้ำอิ่มตัวกลายเป็นไอน้ำร้อนยิ่งยวด (superheated steam) ที่มีความดันสูง
ไอน้ำร้อนยิ่งยวดที่มีความดันสูงจะไหลผ่านกังหันไอน้ำ (steam turbine) ได้งานออกมา ส่วนตัวไอน้ำเองก็จะมีอุณหภูมิลดลงกลายเป็นไอน้ำร้อนยิ่งยวดที่มีอุณหภูมิและความดันลดลง หรืออาจกลายเป็นไออิ่มตัวที่มีความชื้นปนอยู่ในระดับหนึ่ง (คือเป็นไอน้ำที่อุณหภูมิจุดเดือดอยู่ร่วมกับน้ำที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิจุดเดือด)
  
ไอน้ำที่ออกมาจากกังหันไอน้ำจะเข้าสู่เครื่องควบแน่น (condenser) ที่ทำการควบแน่นไอน้ำให้กลายเป็นของเหลวที่มีอุณหภูมิใกล้จุดเดือดและมีความดันต่ำ จากนั้นจะใช้ปั๊มความดันสูงทำการสูบอัดน้ำที่ได้จากการควบแน่นนี้ส่งกลับไปยังหม้อน้ำใหม่ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นไอน้ำอิ่มตัวความดันสูงอีกครั้ง การทำงานจะวนรอบเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

ประเด็นที่เป็นคำถามก็คือ "ทำไมเราไม่ใช้คอมเพรสเซอร์ดูดไอน้ำความดันต่ำที่ออกมาจากกังหันไอน้ำ และอัดให้กลายเป็นไอน้ำความดันสูง แล้วส่งต่อไปยัง superheater เลย" (ตามแนวเส้นประในรูปที่ ๑) เพราะถ้ามองตามวิธีการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือเราต้องมีการระบายความร้อนทิ้ง (ที่เครื่องควบแน่น) และใส่กลับคืนเข้าไปใหม่ (ที่หม้อน้ำ) แถมความร้อนที่ต้องทิ้งไปที่เครื่องควบแน่น ก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ที่หม้อน้ำได้ด้วย ดังนั้นถ้าเราไม่ต้องทำการควบแน่นไอน้ำ เราก็น่าจะประหยัดพลังงานที่ต้องใช้ในการเปลี่ยนน้ำจากเฟสของเหลวให้กลายเป็นไอ ซึ่งถ้ามองแบบนี้ก็น่าจะเป็นการประหยัดพลังงานมากกว่า (แบบเดียวกับคอมเพรสเซอร์ของระบบทำความเย็น ที่ดูดไอสารทำความเย็นความดันต่ำเข้ามาและอัดให้กลายเป็นไอสารทำความเย็นความดันสูง)

ในความเป็นจริงนั้นมุมมองในย่อหน้าข้างบนมันมีปัญหาหลายต่อหลายอย่างในทางปฏิบัติ และมันมีบางอย่างที่ไม่ได้รับการกล่าวถึง และมันเกี่ยวข้องกับปัญหาในทางปฏิบัติ

อย่างแรกก็คือ พลังงานที่ต้องใช้ในการทำให้ไอน้ำความดันต่ำที่ออกมาจากกังหันไอน้ำ กลายเป็นไอน้ำอิ่มตัวความดันสูงนั้นมันประกอบด้วยพลังงานสองส่วนด้วยกัน คือพลังงานที่ต้องใช้ในการ "เพิ่มความดัน" และพลังงานที่ต้องใช้ในการ "เพิ่มความร้อน" ของเหลวนั้นมันอัดตัวไม่ได้ เมื่อคิดเทียบต่อหน่วยน้ำหนักเท่ากัน การทำให้ของเหลวความดันต่ำกลายเป็นของเหลวความดันสูงขึ้นนั้นจะใช้พลังงานน้อยกว่าการทำให้แก๊สความดันต่ำกลายเป็นแก๊สความดันสูง
  
อย่างที่สองก็คือ ไอน้ำที่ออกมาจากกังหันไอน้ำนั้นเป็นไอน้ำที่มีอุณหภูมิใกล้จุดเดือด หรืออาจเป็นไอน้ำอิ่มตัวที่มีความชื้นปน เครื่องคอมเพรสเซอร์นั้นทำงานได้ดีถ้าหากแก๊สที่อัดเพิ่มความดันนั้นไม่มีการเปลี่ยนเฟสหรือมีของเหลวปะปนเข้ามาด้วย ในกรณีนี้แม้ว่าไอน้ำที่ออกมาจากกังหันไอน้ำนั้นจะไม่มีความชื้นปน แต่เมื่อมีความดันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ยังคงอยู่ในคอมเพรสเซอร์ ก็สามารถเกิดการควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำได้ และหยดน้ำที่เกิดขึ้นนี้สามารถก่อความเสียหายให้กับคอมเพรสเซอร์ได้ (โดยเฉพาะพวก centrifugal type)
  
อย่างที่สามก็คือการทำให้ไอน้ำไหลเข้ากังหันไอน้ำได้อย่างต่อเนื่อง การใช้เครื่องควบแน่นนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศทางด้านขาออกของกังหันไอน้ำ (เกิดจากการที่ไอน้ำควบแน่นเป็นของเหลว ปริมาตรจะลดลงมาก) ทำให้ไอน้ำไหลเข้ากังหันไอน้ำได้ดี (เพราะด้านขาออกมีความดันต่ำ) แต่ถ้าใช้คอมเพรสเซอร์เป็นตัวดูดไอน้ำที่ออกมาจากกังหันไอน้ำ อัตรการไหลของไอน้ำที่ไหลผ่านกังหันไอน้ำจะขึ้นอยู่กับความสามารถของคอมเพรสเซอร์ ซึ่งตรงนี้มันมีความต้องการที่ขัดแย้งกันอยู่ ถ้าจะให้ไอน้ำไหลเข้ากังหันไอน้ำได้ดี ความดันด้านขาออกของกังหันไอน้ำ (ด้านขาเข้าคอมเพรสเซอร์) ต้อง "ต่ำ" แต่ถ้าต้องการให้คอมเพรสเซอร์ดูดแก๊สได้ดี ความดันด้านขาเข้าของคอมเพรสเซอร์ (ด้านขาออกของกังหันไอน้ำ) ควรต้อง "สูง"
  
ในรูปที่ ๑ นั้นผมวาดการให้ความร้อนแก่ไอน้ำแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอ และส่วนที่เพิ่มอุณหภูมิของไอน้ำให้สูงกว่าจุดเดือด เพราะไม่เป็นเรื่องแปลกหากจะพบว่ามันอยู่คนละที่กัน หม้อน้ำชนิดที่มีเปลวไฟ (หรือแก๊สร้อน) ไหลอยู่ในท่อและมีน้ำหล่ออยู่ภายนอกท่อ (แบบที่เรียกว่า "หลอดไฟ" หรือ "fire tube") ทำหน้าที่ได้เพียงแค่เปลี่ยนน้ำที่เป็นของเหลวให้กลายเป็นไอน้ำอิ่มตัว (ไอน้ำที่จุดเดือดของน้ำ) ถ้าต้องการทำให้ไอน้ำอิ่มตัวนี้กลายเป็นไอร้อนยิ่งยวด ก็ต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า superheater ที่มักจะมีรูปแบบเป็นชุดท่อที่ให้ไอน้ำไหลผ่านภายในท่อ และมีแก๊สร้อนให้ความร้อนไหลผ่านภายนอกท่อ เช่นในโรงงานนั้นอาจจะใช้ความร้อนจากแหล่งหนึ่งในการต้มน้ำให้กลายเป็นไออิ่มตัว และไปใช้ความร้อนจากอีกแหล่งหนึ่งในการเปลี่ยนไอน้ำอิ่มตัวนั้นให้กลายเป็นไอน้ำร้อนยวดยิ่ง (ตัวอย่างเช่นในกรณีของ furnace ที่ใช้ในปฏิกิริยา thermal cracking อาจใช้ความร้อนของสายผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วในการต้มน้ำให้เดือด และไปใช้ความร้อนจากแก๊สร้อนของ furnace ในการเปลี่ยนให้ไอน้ำอิ่มตัวนั้นกลายเป็นไอน้ำร้อนยิ่งยวด)
  
แต่ถ้าหม้อน้ำที่ต้มน้ำโดยให้น้ำไหลอยู่ในท่อ (ที่เรียกว่า "หลอดน้ำ" หรือ "water tube") และมีเปลวไฟให้ความร้อนอยู่ภายนอกท่อ ตัวหม้อน้ำเองจะสามารถออกแบบให้ทำการต้มน้ำให้กลายเป็นไออิ่มตัวและเปลี่ยนเป็นไอร้อนยวดยิ่งได้ในตัวมันเอง

การตอบคำถามเรื่องกังหันไอน้ำนี้มีความแตกต่างไปจากกรณีของตู้เย็นตรงที่ ในกรณีของตู้เย็นนั้นมันไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องข้อจำกัดของอุปกรณ์ แต่ในกรณีของกังหันไอน้ำนี้มันมีเรื่องข้อจำกัดของอุปกรณ์การทำงานจริงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นถ้าไม่มีความรู้มาก่อนบ้างว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดมีข้อจำกัดในการใช้งานอย่างใด ก็คงยากที่จะตอบได้

บรรณานุกรม

Smith, J.M. and Van Ness, H.C., "Introduction to Chemical Engineering Thermodynamics", 4th ed. McGraw-Hill, 1987.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น