วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ดูเผิน ๆ ก็ดูดีนะ MO Memoir : Friday 28 November 2558

ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เห็นมีการทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ หลายกิจกรรม เห็นว่ามีอะไรที่น่าสนใจ ก็เลยลองเอามาให้ดูเล่น ๆ กัน ไม่รู้ว่าพวกคุณจะคิดเหมือนผมหรือเปล่า หรือว่าผมคิดมากไปเอง

. ถนัดซ้ายหรือขวา

คุณเป็นคนถนัดซ้ายหรือถนัดขวา แล้วคุณสวมนาฬิกาข้อมือที่มือข้างไหนครับ
 

ที่เห็นทั่วไปคือเสื้อที่มีกระเป๋าเสื้อเพียงใบเดียว จะมีกระเป๋าเสื้ออยู่ที่อกเสื้อด้านซ้าย และถ้าจะทำตราหรือเครื่องหมายอะไรบนกระเป๋าเสื้อ ตรานั้นก็จะไปปรากฏบนอกเสื้อด้านซ้าย ในกรณีนี้เข้าใจว่าผู้ออกแบบคงต้องการให้เห็นตราของสถาบันที่ปรากฏบนเสื้อของผู้ใส่ด้วย ก็เลยต้องให้ผู้เป็นแบบทำท่าเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย
  
แต่ที่สะดุดตาผมก็คือนาฬิกาข้อมือที่ปรากฏอยู่บนข้อมือซ้าย เพราะคนถนัดขวาจะสวมนาฬิกาที่มือซ้าย

. ใครเป็นคนจัด

การชักชวนคนไปทำ "ความดี" เป็นสิ่งที่ดี แต่มีข้อแม้ว่า "ความดี" ที่ชักชวนให้ไปกระทำนั้นต้องไม่มีผลประโยชน์อื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว (คือของผู้จัดที่อาจเป็นตัวบุคคลหรือองค์กร) แอบแฝงอยู่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็เหมือนกับการหลอกให้คนอื่นไปสร้างภาพให้ตัวเอง
  

หลายปีที่แล้วระหว่างนั่งกินข้าวอยู่ที่โรงอาหารกลางของมหาวิทยาลัย มีนิสิตถือกล่องมาขอรับบริจาคเงินทำบุญ พอผมถามเขาว่าทำบุญให้กับวัดไหน เขาก็ตอบว่า "วัดใหญ่" ผมก็ถามเขากลับไปว่า "วัดใหญ่" คือวัดไหน เขาก็ตอบแต่ว่ารุ่นพี่ให้ตอบแค่ว่า "วัดใหญ่" ผมก็เลยบอกว่าเขาไปว่าคุณน่าจะถอนตัวออกจากชมรมนี้จะดีกว่านะ ลองคิดดูซิว่า "วัดใหญ่" ของคุณน่ะมันไปก่อเรื่องราวอะไรเอาไว้มากน้อยแค่ไหน คนเขาถึงรังเกียจกันมากขนาดคนในชมรมเองยังต้องกำชับว่าเวลาออกไปทำกิจกรรมใด ๆ อย่าให้คนอื่นรู้ว่าจัดโดยวัดนี้ ขนาดชื่อยังต้องหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึง
  
การทำ Rebranding เป็นวิธีการหนึ่งที่มีการทำกันเป็นประจำในภาคธุรกิจ สาเหตุที่ทำให้ต้องทำ rebranding กันก็คือต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของธุรกิจหรือองค์กร ถ้าวัตถุประสงค์หลักของการทำ rebranding คือการสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาใหม่ที่ต้องการบอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (ซึ่งควรเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น) และมีการลงมือกระทำว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริง ก็เป็นการดี แต่ถ้าเป็นเพื่อการหลอกคนกลุ่มใหม่ให้หลงเข้าใจผิดเพื่อดึงมาเป็นลูกค้า โดยที่ยังคงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาในอดีตเอาไว้โดยไม่ยอมแก้ไข ผมเห็นว่ามันก็เป็นการหลอกลวงแบบหนึ่ง
  
กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยใครก็ไม่ได้บอกไว้ชัดเจน และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไรนั้น ก็ขอให้พิจารณาเอาเอง

. ความ (ที่คิดว่า) เทห์ต้องมาก่อน ความปลอดภัยไว้ทีหลัง

สถาบันการศึกษาระดับสูงที่ได้ชื่อว่าสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการให้กับสังคมได้นั้น เวลาที่จะเผยแพร่อะไรออกไปก็ควรต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องความถูกต้องของข้อมูล


การแต่งกายให้เหมาะสมกับพิธีการ เทศกาล หรือกิจกรรมใด ๆ ทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยนั้น แต่ละสถาบันก็มีข้อกำหนดแตกต่างกันออกไปตามสภาพสังคมที่สถาบันนั้นตั้งอยู่หรือตามเอกลักษณ์ที่สถาบันต้องการฝึกฝนผู้ที่เข้ามาเรียนในสถาบันนั้น แต่การแต่งกายให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ที่เครื่องแต่งกายนั้นส่งผลถีงความปลอดภัยในการทำงาน จะใช้ข้ออ้างเรื่องอิสระภาพในการแต่งกายหรือใคร ๆ เขาก็ทำกันนั้น ว่าจะแต่งอย่างไรก็ได้นั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๒ ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานที่โรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตนั้นทุกคนจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก่อน (ทางบริษัทจัดให้) เครื่องแบบของเขาเป็นเสื้อแบบแจ็กเก็ตแขนยาวไว้สวมทับเสื้อคอกลมข้างใน ไม่มีกระเป๋าใด ๆ ชายเสื้อเป็นแบบพอดีเอว แม้จะไม่สามารถสอดชายเสื้อเข้าในกางเกง แต่ก็ไม่มีชายเสื้อปล่อยรุงรัง ไม่มีที่ให้เหน็บปากกาหรือกลัดป้ายชื่อ (ใช้วิธีปักลงบนเสื้อ) กางเกงเป็นกางเกงขายาว กระเป๋ากางเกงมีอยู่ที่ขาทั้งสองข้างระดับประมาณหัวเข่า เรียกว่าเดินเอามือล้วงกระเป๋าไม่ได้ 
  
การที่เขาออกแบบเสื้อเช่นนี้ก็เพราะหลีกเลี่ยงปัญหาที่สิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อหรือที่เหน็บอยู่นั้น ตกร่วงหล่นลงไปในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต (เช่นในขณะที่ก้มลงไปดู) ส่วนกางเกงที่มีกระเป๋าอยู่ต่ำจนเดินเอามือล้วงกระเป๋าไม่ได้นั้นก็เพื่อให้สามารถจับคว้าราวยึดต่าง ๆ ได้ทันเวลาถ้าหากมีการเสียหลักระหว่างการเดิน ชายเสื้อที่กระชับก็เพราะไม่ต้องการให้ถูกดึงด้วย rotating equipment ที่มีอยู่ทั่วไปในโรงงาน และแม้จะไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเสื้อที่สวมแล้วต้องกลัดกระดุมเสื้อให้เรียบร้อยทุกเม็ดหรือรูดซิปให้เรียบร้อย แต่ก็ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป (แต่เวลาที่สวมหมวกนิรภัยเขาจะมีการกำชับไว้อย่างชัดเจนว่าให้ใช้สายรัดคางด้วย เพราะหมวกส่วนใหญ่ที่เราใส่กันทั่วไปนั้นไม่มีสายรัดคาง) และในงานที่จำเป็นต้องสวมรองเท้านิรภัย ถุงมือ และแว่นตานิรภัย ก็จะมีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน
 
รูปที่เอามาแสดงนั้นเป็นรูปเชิญชวนนักเรียนระดับมัธยมปลายให้เข้ามาร่วมกิจกรรมที่นิสิตระดับมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด ในรูปต้นฉบับนั้นผู้แสดงแบบก็ไม่ได้สวมแว่นตา ส่วนที่เหลือก็ขอให้พิจารณากันเองก็แล้วกันว่าการแต่งกายและกิจกรรมที่เขาแสดงในรูปนั้น มีความเหมาะสมกันมากน้อยแค่ไหนเพียงใด

ช่างภาพนั้นมักจะต้องการให้ภาพออกมาดูดี (ในสายตาของเขา) ส่วนจะถูกต้องหรือเหมาะสมนั้นเอาไว้ทีหลัง เรื่องการแต่งกายนั้นเห็นนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยออกมาโจมตีระเบียบข้อบังคับของทางสถาบันที่ว่าด้วยการแต่งกาย หาว่าล้าสมัยบ้าง จำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่ตอนรับปริญญาไม่เห็นออกมาโวยวายว่าทำไต้องสวมครุย หรือพอเข้าไปทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการกำหนดเครื่องแบบการแต่งกายของพนักงานก็ไม่เห็นออกมาจับกลุ่มโจมตีโวยวายเรื่องการแต่งกายเลย

ในสังคมนั้น แต่ละกิจกรรมมันจะมีการแต่งกาที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้น ๆ ความเหมาะสมของการแต่งกายนั้นอาจกำหนดขึ้นจาก ความปลอดภัยในการทำกิจกรรม ความสะดวกในการทำกิจกรรม การลดความแตกต่างระหว่างผู้ทำกิจกรรม การสร้างจุดเด่นของผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานออกจากผู้เข้าร่วมงานทั่วไป เป็นต้น
 
การกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกายก็เช่นกัน ถ้าหากกำหนดให้แต่งด้วยเครื่องแบบที่มีผู้ผลิต (เป็นใครก็ไม่รู้) อยู่เพียงรายเดียวโดยไม่มีผู้อื่นแข่งขันนั้น เป็นการสมควรหรือไม่ เพราะเห็นอยากจะแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้เข้าเรียน แต่พอถามว่าเงินค่าเสื้อนั้นไปเข้ากระเป๋าใคร ใครได้ประโยชน์ และมันจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำอย่างนั้น ก็ไม่เห็นจะมีใครตอบได้สักราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น