"เมื่อขุดคลองขึ้นแล้ว
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ดำริให้สร้างศาลากลางย่าน
สำหรับเป็นที่พักอาศัยขึ้นทุก
ๆ ๑๐๐ เส้น ต่อหนึ่งหลังเป็นระยะไป
ซึ่งที่ศาลานั้น
ท่านให้เขียนตำรายารักษาโรคต่าง
ๆ ลงบนแผ่นกระดานติดไว้เป็นการกุศล
ผู้คนจึงเรียกศาลากลางย่านแห่งนี้ว่า
"ศาลายา"
นับแต่นั้นมา
ส่วนศาลาอีกหลังหนึ่งในเขตตลิ่งชันในเวลานี้
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้สร้างขึ้นเพื่อปลงศพคนของท่านคนหนึ่ง
จึงเรียกว่า "ศาลาทำศพ"
แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันกลับเพี้ยนเป็น
"ศาลาธรรมสพน์"
ที่แปลว่า
"ศาลาสำหรับฟังธรรม"
ไปเสียได้
ซึ่งเข้าใจว่าเรียกเพี้ยนกันไม่ต่ำกว่า
๕๐ ปีแล้ว"
(จากเรื่อง
"คลองมหาสวัสดิ์"
หน้า
๑๑๑-๑๑๒
ในหนังสือ "ธนบุรีมีอดีต"
โดย
ป.บุนนาค
พิมพ์ครั้งแรกมิถุนายน ๒๕๕๓
โดยสำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์)
เช้าวันวาน
หลังจากขับรถไปส่งลูกไปสอบแข่งขันที่
มทร.
รัตนโกสินทร์
ถนนพุทธมณฑลสาย ๕
ขากลับก็เลยแวะออกนอกเส้นทางนิดนึง
เพื่อที่จะไปถ่ายรูปสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์เสียหน่อย
(อยู่ระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย
๒ กับสาย ๓)
เพราะไฟล์รูปเดิมที่ถ่ายเอาไว้หลายปีแล้วไม่รู้เก็บเอาไว้ตรงไหน
ทำให้เขียนเรื่องนี้ไม่ได้ซะที
เพราะตั้งใจจะใช้รูปสถานีรถไฟนี้มาประกอบบทความ
รูปที่
๑ สถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ในปัจจุบัน
(แวะไปถ่ายรูปมาเมื่อเช้าวันวานด้วยกล้องมือถือ)
ยังคงรูปแบบอาคารแบบเดิม
ๆ อยู่
แต่ต่อไปไม่รู้ว่าถ้าหากเกิดการขยายเส้นทางด่วนและรถไฟเข้าเมือง
จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด
ชื่อสถานีรถไฟนี้รู้จักมานานแล้วตั้งแต่ยังเป็นเด็กพอจำความได้
เวลาคุณพ่อคุณแม่พานั่งรถไฟสายใต้
(ชั้น
๓)
ไปเยี่ยมญาติทางใต้
ขบวนที่นั่งประจำคือรถเร็ว
ธนบุรี-สุไหงโกลก
ออกจากสถานีรถไฟธนบุรีตอน
๑๙.๐๕
น แต่ตอนนี้ขบวนนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว
หายไปพร้อมกับสถานีรถไฟธนบุรีที่เคยเป็นแหล่งชุมนุมใหญ่ของหัวรถจักรไอน้ำ
ตอนนั้นก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมจึงตั้งชื่อสถานีนี้ไปพ้องเสียงกับคำว่า
"ทำศพ"
ป.
บุนนาค
เขียนประวัติชื่อสถานที่นี้ไว้ในหนังสือ
"ธนบุรีมีอดีต"
ในเรื่อง
"คลองมหาสวัสดิ์"
โดยกล่าวไว้ว่ามาจากการสร้างศาลาที่เอาไว้ปลงศพคนงาน
ดังนั้นชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้คือ
"ศาลาทำศพ"
ชื่อ
"ศาลาทำศพ"
นี้ยังมีปรากฏในราชกิจจานุเบกษา
ประกาศจะแจกโฉนดที่ดิน
ในเขตท้องที่ ตำบลศาลาทำศพ
อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี
ดังตัวอย่างที่ยกมาให้ดูในรูปที่
๒ และ ๓ (ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่
๖ ตอนนั้นไทยยังขึ้นปีใหม่หรือเปลี่ยนปีพ.ศ.
ในวันที่
๑ เมษายน อยู่นะครับ ดังนั้นวันที่
๒๙ กรกฎาคม ๒๔๖๖ จึงมาก่อนวันที่
๒ มีนาคม ๒๔๖๖)
รูปที่
๓ ประกาศแจกโฉนดที่ดินในราชกิจจานุเบกษาวันที่
๒ มีนาคม พ.ศ.
๒๔๖๖
ยังใช้ชื่อตำบลศาลาทำศพเช่นกัน
จริงอยู่ที่การนั่งรถไฟตู้ปรับอากาศ
โดยเฉพาะการเดินทางเป็นระยะทางไกล
ๆ นั้นมันก็สบายดีตรงที่ไม่ร้อน
แต่มันก็มีข้อเสียสำหรับคนที่นาน
ๆ ครั้งได้ขึ้นรถไฟทีเช่นผม
คือมันมองอะไรนอกขบวนรถไม่ค่อยเห็น
โดยเฉพาะเวลาที่ขบวนรถจอดนิ่ง
(เช่นตอนรอหลีก)
และก็ไม่สะดวกในการซื้อของกินตามสถานีต่าง
ๆ ที่รถจอดได้
ยังจำได้ถึงการซื้อข้าวเหนียวไก่ย่างที่สถานีนครปฐม
การซื้อข้าวเกรียบที่ราชบุรี
และข้าวไข่พะโล้กินเป็นอาหารเช้าที่ชุมทางทุ่งสง
ที่รถไฟจอดนาน
(เพราะต้องทำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดภายในตู้หรือเติมน้ำสำหรับใช้ในห้องน้ำ)
จนลงไปเดินเล่นซื้อของกินที่ตัวสถานีได้
(จะว่าไปแล้วผมก็ไม่ได้เดินทางไกลด้วยรถไฟนานหลายปีแล้วด้วย)
สำหรับเด็กอย่างผมแล้วการนั่งรถไฟถือได้ว่าเป็นเรื่องสนุก
การได้กินข้าวบนรถไฟในขณะที่รถไฟวิ่งไป
ชมทิวทัศน์ไปก็เป็นเรื่องตื่นเต้น
ตู้รถไฟชั้น ๓
นั้นไม่มีโต๊ะให้กินข้าวเหมือนกับตู้รถนอนชั้น
๒
(ที่สามารถไปเอาโต๊ะพับได้ที่เขามีประจำแต่ละตู้มากางยังที่ที่นั่งตัวเอง
แล้วก็กินข้าวตรงที่นั่งตัวเองได้เลย)
ดังนั้นถ้าอยากนั่งโต๊ะ
หรืออยากนั่งกินแบบสบายหน่อยก็ต้องไปนั่งกินที่ตู้เสบียง
แต่ก่อนนั้น
การที่จะรู้จักชื่อสถานที่แห่งใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าคนผู้นั้นได้เดินทางไปตามสถานที่ต่าง
ๆ มากน้อยเท่าใด
ระหว่างเส้นทางเขาได้สังเกตเห็นอะไรบ้าง
ไม่เหมือนปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าการที่จะรู้จักสถานที่ต่าง
ๆ มากน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเล่นอินเทอร์เน็ตมากน้อยเท่าใด
และความสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ที่จุดหมายปลายทาง
ไม่ใช่เส้นทาง
จึงไม่แปลกที่จะเห็นการรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวต่าง
ๆ แต่แทบจะไม่มีการรีวิวเส้นทางการเดินทางให้เห็น
ขอปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยข้อความจากเรื่อง
"บ้านผีที่สงขลา"
หน้า
๘๗-๘๘
ในหนังสือ "ผีกระสือที่บางกระสอ"
เขียนโดย
สง่า อารัมภีร พิมพ์ครั้งที่
๓ โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า
กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙
ที่มีการกล่าวถึงสถานีรถไฟบางสถานีเอาไว้
(ในเนื้อเรื่องเอ่ยถึงปีพ.ศ.
๒๕๑๓
จึงคาดว่าคงเป็นบันทึกเหตุการณ์ในช่วงปีพ.ศ.
๒๕๑๓)
"ชาญ
เย็นแข ซึ่งนั่งรถไฟมากกว่าใครเพื่อน
เพราะเขาเป็นนักพากย์หนังภูธรมาเมื่อสมัยหนุ่ม
ๆ เขาคุยให้ฟังถึงชื่อสถานีต่าง
ๆ สนุกนัก เช่นเมื่อกินเหล้าแล้วก็มีสถานี
"ควนเมา"
สถานี
"ควนพอ"
ฉะนั้นจะถึงสถานี
"หนองวิวาท"
สถานี
"หนองโดน"
เจ็บเข้าก็ไปสถานี
"ศาลายา"
หากสาหัสจนเหลือกำลังหมอก็ต้องไปสถานี
"ศาลาธรรมศพ"
นั่น
ดื่มคุยกันจนถึง เพชรบุรีไม่รู้ตัว
..."
(หมายเหตุ
สะกดชื่อ "ศาลาธรรมศพ"
ตามหนังสือต้นฉบับ)
รูปที่
๔ หนังสือสองเล่มที่คัดบางข้อความมาเล่าให้ฟังใน
Memoir
ฉบับนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น