วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผลกระทบของน้ำที่มีต่อการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ตอนที่ ๒ (การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๗๕) MO Memoir : Wednesday 25 November 2558

สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในการใช้ syringe ฉีดตัวอย่างที่เป็นของเหลวก็คือปริมาตรของเหลวที่จะทำการฉีดเมื่อเทียบกับขนาดของ syringe
  
จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่าปริมาตรของเหลวที่ฉีดนั้นไม่ควรจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของ syringe เช่นถ้าใช้ syringe ขนาด 1.0 microlitre ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษถ้าจะฉีดของเหลวที่ระดับต่ำกว่า 0.3 microlitre เพราะค่าความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ในการฉีดแต่ละครั้งนั้นค่อนข้างจะคงที่ แต่ค่าความคลาดเคลื่อนสัมพัทธ์นั้นจะเพิ่มขึ้นถ้าหากฉีดด้วยปริมาตรที่น้อยลง
  
ในกรณีที่กลุ่มของเรากำลังทำอยู่ก็คือคงจะมีการฉีดสารละลายในช่วงปริมาตร 0.1-1.0 microlitre โดยมี syringe ให้ใช้อยู่ ๒ ขนาดคือขนาด 0.5 microlitre และ 1.0 microlitre (รูปที่ ๑) ดังนั้นก่อนที่จะสร้าง calibration curve จึงควรที่จะทดสอบความถูกต้องของ syringe ทั้งสองขนาด (รวมทั้งคนฉีดด้วย) ด้วยการฉีดสารละลายปริมาตร 0.5 microlitre ด้วย syringe ทั้งสองขนาดและนำผลมาเปรียบเทียบกัน
  
รูปที่ ๑ syringe ขนาด (บน) 1.0 microlitre และ (ล่าง) 0.5 microlitre ที่ใช้ในการเปรียบเทียบ

รูปที่ ๒ และ ๓ เป็นโครมาโทแกรมการวิเคราะห์ปริมาณ CO2 ที่ทางกลุ่มเราทำการทดลองในวันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟ Shimadzu GC-8A ติดตั้ง Thermal Conductivity Detector (TCD) ตั้งอุณหภูมิ TCD ไว้ที่ 150ºC กระแส TCD ตั้งไว้ที่ 120 mA ส่วนอุณหภูมิคอลัมน์ตั้งไว้ที่ 210ºC อัตราการไหลของ He ที่ใช้เป็น carrier gas 40 ml/min ทั้งสองคอลัมน์ คอลัมน์ที่ใช้วิเคราะห์คือ molecular sieve 5A 60/80 mesh เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 mm ยาว 6 ฟุต คอลัมน์อ้างอิงคือ UNIBEED C 60/80 mesh เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 mm ยาว 6 ฟุต สารละลายที่ฉีดคือสารละลาย NaHCO3 เข้มข้น 1.0 mol/l ปริมาตร 0.5 microlitre โดยรูปที่ ๒ เป็นผลที่ได้จากการใช้ syringe ขนาด 0.5 microlitre ฉีดสารละลาย (ผมเป็นคนลงมือเอง) และรูปที่ ๓ เป็นผลที่ได้จากการใช้ syringe ขนาด 1.0 microlitre ฉีดสารละลายโดยให้สมาชิกของกลุ่มเป็นผู้ทำการฉีด จะเห็นว่าพื้นที่พีคที่ได้นั้นออกมาใกล้เคียงกันผลที่ได้ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากการอ่านตำแหน่งขีดบนตัว syringe ซึ่งขึ้นอยู่กับสายตาคนฉีด และผลของน้ำที่ตกค้างอยู่ในคอลัมน์
  
งานชิ้นถัดมาที่ได้กระทำไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาก็คือการปรับแต่งความว่องไวของการวัดเพื่อให้มองเห็นสัญญาณที่ต่ำลงไปอีก 10 เท่าของที่นำมาแสดง ซึ่งก็คิดว่าตอนนี้เราก็ได้สภาวะการวิเคราะห์ที่เหมาะสมที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดผล กระทบของน้ำที่มีต่อพื้นที่พีคคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว

รูปที่ ๒ โครมาโทแกรมที่ใช้จากการฉีดสารละลาย 0.5 microlitre ด้วย syringe ขนาด 0.5 microlitre
  
รูปที่ ๓ โครมาโทแกรมที่ใช้จากการฉีดสารละลาย 0.5 microlitre ด้วย syringe ขนาด 1.0 microlitre

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น