วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิศวกรรมเคมี เคมีเทคนิค วิศวกรรมปิโตรเคมี และเคมี (๑) MO Memoir : Wednesday 4 November 2558

วิศวกรเคมีคือ ...
คนที่อธิบายเรื่องเคมีให้วิศวกรเครื่องกลฟัง
คนที่อธิบายเรื่องเครื่องกลให้นักเคมีฟัง
คนที่อธิบายเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้วิศวกรเครื่องกลและนักเคมีฟัง
และในหมู่วิศวกรเคมีด้วยกัน เราคุยเรื่อง "การเมือง"

ใครก็ไม่รู้เหมือนกันให้คำนิยามสำหรับวิศวกรเคมีเอาไว้ข้างต้น ผมเองก็ได้ยินมานานแล้ว

"วิศวกรรมเคมี เคมีเทคนิค วิศวกรรมปิโตรเคมี และเคมี แตกต่างกันอย่างไร" และ "วิศวกรรมเคมีเรียนอะไรบ้าง" สองคำถามนี้ดูเหมือนจะพบเจอเป็นประจำจากนักเรียนผู้สนใจจะเรียนต่อทางด้านเหล่านี้ และคำตอบที่พบเห็นทั่วไปก็มักจะไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก มาคราวนี้เนื่องจากมีนิสิตมาถามคำถามนี้ เพื่อที่จะได้เอาไปอธิบายให้กับนักเรียนในงาน Open House ที่กำลังจะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็เลยคิดว่าน่าจะอธิบายให้มันชัดเจนไปซะที
  
เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวโดยละเอียด ผมจะขอแยกเป็นตอน ๆ (คงมีถึง ๓ ตอน) โดยตอนแรกนี้จะอธิบายความแตกต่างระหว่าง วิศวกรรมเคมี เคมีเทคนิค วิศวกรรมปิโตรเคมี และเคมี ก่อน จากนั้นค่อยเล่าว่าวิศวกรรมเคมีแตกต่างจากวิศวกรรมเครื่องกลหรือภาควิชาเคมีอย่างไรบ้าง ปิดท้ายด้วยวิศวกรรมเคมีต้องเรียนวิชาใดกันบ้าง
  
แต่ก่อนอื่นเพื่อจะตอบคำถามแรก ต้องมาทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนกันก่อน
  
การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย เอาว่าเฉพาะปริญญาตรีก็แล้วกัน เมื่อเรียนจบหลักสูตรและสอบผ่านตามเกณฑ์ของ "มหาวิทยาลัย" แล้วก็จะได้ "ใบปริญญา" ที่สามารถเอาไปใช้สมัครงานได้ แต่สำหรับงานบางประเภทนั้นมีการกำหนดเอาไว้ด้วยว่าผู้ที่จะทำงานดังกล่าวนั้นได้จะต้องมี "ใบประกอบวิชาชีพ" จึงจะทำงานในหน้าที่ดังกล่าวได้ ใบประกอบวิชาชีพนี้ออกโดยองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านนั้น เช่นทางสายการแพทย์ก็จะมีแพทยสภา สายพยาบาลก็จะมีสภาการพยาบาล สายสถาปนิกก็จะมีสภาสถาปนิก สายวิศวกรก็จะมีสภาวิศวกร เป็นต้น
  
ทีนี้ขอบีบให้แคบลงเหลือเพียงแค่สายวิศวกร สภาวิศวกรเป็นผู้กำหนดว่าจะให้ใบประกอบวิชาชีพทางด้านสาขาใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่หลายสาขา เช่นสาขา วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเคมี เป็นต้น
และการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพในสาขาใดนั้น นอกจากผู้เรียนจะต้องเรียนจบหลักสูตรปริญญาตรี (ที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดเนื้อหา) แล้ว ยังต้องเรียนผ่านวิชาทุกวิชาในสาขาวิชานั้นตามเนื้อหาที่สภาวิศวกรเป็นผู้กำหนด
  
ตรงนี้ขอทบทวนความเข้าใจหน่อยนะครับว่า มหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้ปริญญา แต่สภาวิชาชีพเป็นผู้ให้ใบประกอบวิชาชีพ สภาวิชาชีพกำหนดเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเนื้อหาเพื่อเรียนให้จบปริญญา โดยเน้นเฉพาะเพียงแค่เนื้อหาที่พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพในสาขานั้น เช่นในสายวิศวกรรมศาสตร์เอง สภาวิศวกรก็จะพิจารณาว่าวิศวกรที่เรียนจบแล้วจะทำงานในสายวิชาชีพนี้ในประเทศไทยจะต้องมีความรู้ด้านใดบ้าง ก็จะกำหนดให้ผู้ที่จะขอใบประกอบวิชาชีพได้ต้องผ่านการเรียนเนื้อหาในส่วนนั้น ๆ และยังกำหนดไปถึงตัวผู้สอนวิชาด้วยว่าต้องเป็นผู้ที่เรียนจบมาทางด้านนั้น กล่าวคือถ้าเป็นวิชาหลักทางวิศวกรรมเคมี อาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าวิชาเหล่านั้นก็ต้องจบมาทางวิศวกรรมเคมีด้วย
  
ดังนั้นมหาวิทยาลัยสามารถที่จะร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ใด ๆ ก็ได้ที่ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยไม่สนข้อกำหนดของสภาวิศวกรก็ได้ และเมื่อใครก็ตามเรียนจบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็สามารถให้ใบปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตในสาขานั้นได้ (เช่นวิศวกรรมนาโน วิศวกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น) แต่ผู้ที่เรียนสาขาวิชานั้นจะไม่สามารถไปขอใบประกอบวิชาชีพจากสภาวิศวกรได้

หลักสูตรปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ของบ้านเราจะอยู่ที่ประมาณ 145 หน่วยกิต (ตัวเลขที่แน่นอนผมจำไม่ได้ มันกำหนดเป็นช่วง ที่จำนวนหน่วยกิตที่แท้จริงอาจน้อยหรือมากกว่านี้ได้บ้างเล็กน้อย)
  
ถ้าเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ทางสภาวิศวกรก็จะกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิจะขอใบประกอบวิชาชีพวิศวกร จะต้องเรียนเนื้อหาวิชาในหมวดหมู่เหล่านี้ แต่ละหมวดหมู่อย่างน้อยเท่าใด ซึ่งได้แก่ (คิดว่าตัวเลขคงไม่ผิดนะ)

- พื้นฐานวิทยาศาสตร์ (เช่น เคมี ฟิสิกส์ แคลคูลัส) 21 หน่วยกิต
- พื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ (เช่น ภาษาคอมพิวเตอร์ การเขียนแบบ วัสดุในงานวิศวกรรม ไฟฟ้ากำลัง) 18 หน่วยกิต
- วิชาหลักทางด้านวิศวกรรมเคมี 48 หน่วยกิต

วิชาเหล่านี้โดยเฉพาะวิชาหลักทางด้านวิศวกรรมเคมี มีการกำหนดรายละเอียดลงไปถึงหัวข้อหลักที่ต้องเรียน ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนที่ใดก็ตามที่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเคมี ก็จะได้เรียนในหัวข้อเดียวกันทั้งหมด เพียงแต่ลำดับการเรียนในแต่สถาบันหรือการจัดรวมเป็นวิชาเรียนนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป

อีกหน่วยงานหนึ่งที่กำกับดูแลการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้แก่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า สกอ. (เดิมคือทบวงมหาวิทยาลัย) หน้าที่ของหน่วยงานนี้จะไม่ไปยุ่งในเนื้อหาส่วนของวิชาชีพเฉพาะทาง คือเขาปล่อยให้สภาวิชาชีพแต่ละด้านนั้นเป็นผู้กำหนดเอาเอง เขาดูแลในส่วนเรื่องของการจัดการหลักสูตร (คุณสมบัติของอาจารย์และจำนวนอาจารย์ต่อนิสิต) และเนื้อหาส่วนที่เหลือ
  
เพื่อให้เห็นภาพจะขอยกตัวอย่าง (ตัวเลขผมยกขึ้นมาคร่าว ๆ นะ ไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นจริง) ในหลักสูตรวิศวกรรมเคมีที่ผมสอนอยู่ผู้เรียนต้องเรียนทั้งสิ้นอย่างน้อย 145 หน่วยกิต สภาวิศวกรกำหนดว่าถ้าจะได้ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรเคมีนั้น ต้องเรียนวิชาหลักทางด้านวิศวกรรมเคมี (ตามข้างบน) 87 หน่วยกิต สกอ. ก็จะมาดูแลใน 58 หน่วยกิตที่เหลือ โดยอาจกำหนดว่าบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยของไทยนั้นถ้าเป็นสายวิทยาศาสตร์ควรต้องเรียนรู้อะไรบ้าง อย่างน้อยเท่าใด นอกเหนือไปจากความรู้เฉพาะทางทางด้านวิชาชีพนั้น เช่นอาจกำหนดว่าต้องเรียนวิชา ทางด้านภาษา สังคม ฯลฯ อีกเท่าไร ตัวเลขนี้ผมไม่แน่ใจ ขอสมมุติว่าเป็น 12 หน่วยกิตก่อนก็แล้วกัน
  
วิชาที่ สกอ. กำหนดตรงนี้จะกำหนดเอาไว้กว้าง ๆ เท่านั้น ดังนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีการเรียนการสอนในส่วนนี้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีความหลากหลายของคณะวิชามากน้อยเท่าใด มหาวิทยาลัยไหนมีความแตกต่างของคณะวิชามากเช่นมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ ก็จะมีวิชาทางด้านนี้ให้เลือกหลากหลายมาก (ไม่ว่าจะเป็นสารพัดภาษา สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การตลาด การเมืองการปกครอง นิติศาสตร์ จิตวิทยา นันทนาการ หรืออาหารและยาในชีวิตประจำวัน)
  
ที่นี้ก็จะเหลืออีก 145 - 87 - 12 = 46 หน่วยกิตให้มหาวิทยาลัยปรับแต่ง เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของบัณฑิตที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยนั้น เช่นอาจกำหนดว่าต้องมีเรียนภาษาเพิ่มเติมอีก 3 หน่วยกิต หรือเรียนวิชาเลือกเสรี (คือวิชาอะไรก็ได้ เช่น เต้นรำ ถ่ายรูป กีฬา สันทนาการต่าง ๆ ธรรมะ ฯลฯ) เพิ่มเติมอีก 6 หน่วยกิต ฯลฯ ตรงนี้ขอสมมุติให้เป็น 15 หน่วยกิตก่อนก็แล้วกัน
  
ดังนั้นหน่วยกิตที่เหลือให้ทางคณะและภาควิชาปรับแต่งก็จะเหลือ 46 - 15 = 31 หน่วยกิต ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันแล้วว่าคณะวิศวกรรมศาตร์ในสถาบันต่าง ๆ มีนโยบายอย่างไร คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ในบางสถาบันอาจมีการกำหนดเพิ่มเติมว่าไม่ว่าจะเรียนวิศวสาขาใดก็ตาม ต้องมีเรียนวิชา xxxxx (แล้วแต่คณะกำหนด) อีก yy หน่วยกิต ซึ่งวิชาตรงนี้อาจจะเป็นหรือไม่เป็นวิชาของคณะวิศวกรรมศาตร์ก็ได้ หักหน่วยกิตส่วนนี้ออกแล้วก็เหลือหน่วยกิตวิชาที่ภาควิชาสามารถเลือกที่จะสอนเองได้ ซึ่งส่วนหลังนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดและความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในแต่ละภาควิชานั้น

ทีนี้ถ้าจะถามว่าถ้าเรียนวิศวกรรมเคมีแต่ละที่ ความรู้ที่ได้รับนั้นจะเหมือนกันไหม

คำตอบก็คือถ้าเป็นวิชาที่ต้องนำไปใช้ขอใบประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าจะเรียนที่สถาบันใดมันก็ควรจะเหมือนกันหมด เพราะมันถูกกำหนดเอาไว้ด้วยสภาวิศกร ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพที่กำหนดความรู้ขั้นต่ำของผู้ที่จะทำงานด้านวิศวกรรมเคมี แต่ในทางปฏิบัติมันมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่างเช่น เทคนิคการเรียนการสอน บรรยากาศการเรียน คุณสมบัติผู้เรียน วิชาที่ทางคณะ/สถาบันกำหนดเพิ่มเติมขึ้นมาว่าเป็นการเสริมวิชาแกนหลักหรือไม่ เป็นต้น

แต่ถ้าพิจารณาจากความรู้ที่ได้รับเมื่อเรียนจบหลักสูตร โดยความเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ที่ได้สอนนิสิตระดับปริญญาโทที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศมา ๒๐ ปี ก็พอจะกล่าวได้ว่าบัณฑิตสาขาวิศวกรรมเคมีที่จบจากต่างสถาบันนั้นก็มีความรู้ที่แตกต่างกันอยู่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ

(ก) แต่ละสถาบันมีความแตกต่างกันอยู่ ทำให้เกิดความแตกต่างของวิชาที่สอนในส่วนที่ทาง สกอ. และมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด เช่นสถาบันที่เน้นหนักเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ก็อาจไม่มีวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ให้เลือกมากนัก ในขณะที่สถาบันที่มีความหลากหลายทางด้านการศึกษาก็จะมีวิชาเลือกในส่วนหลังนี้ให้เลือกเรียนมากกว่า ซึ่งถ้าให้ผมจำแนกประเภทสถาบัน ก็คงจะแยกออกได้เป็น ๔ กลุ่มดังนี้
  
กลุ่มที่ ๑ คือสถาบันที่มีการเรียนการสอนทั้งด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (วิศวกรรมศาสตร์อยู่ในกลุ่มนี้) วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (พวกกลุ่มคณะแพทย์ต่าง ๆ) และด้านสายสังคมศาสตร์ (พวกนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ครุศาสตร์ อักษรศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ฯลฯ) ควบคู่กันมาตั้งแต่ต้น โดยที่ไม่มีสายไหนเด่นกว่าใคร สถาบันเหล่านี้มักจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนวิชาอื่นนอกเหนือจากวิชาทางวิศวกรรมได้หลากหลาย
  
กลุ่มที่ ๒ คือสถาบันที่เริ่มต้นด้วยการเรียนการสอนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพเป็นหลัก สถาบันเหล่านี้มักจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนลึกทางวิศวกรรมภาคปฏิบัติ
  
กลุ่มที่ ๓ คือสถาบันที่เริ่มต้นด้วยการเรียนการสอนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพเป็นหลัก สถาบันเหล่านี้มักจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนลึกทางวิทยาศาสตร์
  
กลุ่มที่ ๔ คือสถาบันที่เริ่มต้นด้วยการเรียนการสอนทางด้านสังคมศาสตร์เป็นหลัก

(ข) อาจารย์ในแต่ละภาควิชาวิศวกรรมเคมีต่างมีความถนัดที่ไม่เหมือนกัน ทำให้วิชาเลือกเฉพาะทางทางด้านวิศวกรรมเคมี (ที่นิสิตสามารถเลือกเรียนตอนปี ๓ หรือปี ๔) ของแต่ละภาควิชามีความแตกต่างกันอยู่ ตัวอย่างของวิชาเหล่านี้ได้แก่ ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในอุตสาหกรรม วิศวกรรมชีวเคมี การขึ้นรูปพอลิเมอร์ เทคนิคการควบคุมกระบวนการผลิต เทคนิคการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของกระบวนการผลิต อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ

แล้ว "วิศวกรรมเคมี" และ "เคมีเทคนิค" แตกต่างกันอย่างไร

ผู้ที่เรียนภาควิชาวิศวกรรมเคมีในคณะวิศวกรรมศาสตร์จะได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต ส่วนผู้ที่เรียนภาควิชาเคมีเทคนิคในคณะวิทยาศาสตร์จะได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต แต่ผู้ที่เรียนจบจากภาควิชาเคมีเทคนิคนั้นสามารถขอใบประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมเคมีได้เหมือนกับผู้ที่จบจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี (ในวงการแล้วไม่ถือว่าแตกต่างกัน) ก็เพราะมีการเรียนการสอนในส่วนของวิชาที่ทางสภาวิศวกรกำหนดเหมือนกัน
  
(ส่วนเรื่องที่ว่าทำไปจึงมีภาควิชานี้ของคณะวิทยาศาสตร์เพียงภาควิชาเดียวของประเทศ ที่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้นั้น ขออนุญาตไม่กล่าวถึง เพราะเรื่องมันยาว ต้องย้อนไปถึงการเริ่มก่อตั้งสาขาวิชาวิศวกรรมเคมีในประเทศไทยเมื่อเกือบ ๖๐ ปีที่แล้ว)
  
แต่จะมีความแตกต่างอยู่บ้างตรงนี้วิชาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่สภาวิศวกรเป็นผู้กำหนด โดยทางคณะวิทยาศาสตร์นั้นจะมีการเสริมวิชาพื้นฐานทาง "วิทยาศาสตร์" นอกเหนือไปจากขั้นต่ำที่สภาวิศวกรกำหนด แต่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นจะมีการเสริมวิชาพื้นฐานทางด้าน "วิศวกรรมศาสตร์" นอกเหนือไปจากขั้นต่ำที่สภาวิศวกรกำหนด ซึ่งเป็นเพราะธรรมชาติของแต่ละคณะนั่นเอง (คือใครถนัดด้านไหนก็สอนเสริมด้านนั้น)

ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า "วิศวกรรมปิโตรเคมี" และ "วิศวกรรมปิโตรเลียม" นั้นแตกต่างกันอย่างไร

"วิศวกรรมปิโตรเลียม" เน้นไปที่การสำรวจและขุดเจาะ คือหาว่าน้ำมันและแก๊สธรรมชาติอยู่ที่ไหน แล้วหาทางเอามันขึ้นมาจากใต้ดินให้ได้ สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมเป็นส่วนที่แยกออกมาจากวิศวกรรมเหมืองแร่ ทั้งนี้เพราะรูปแบบการนำทรัพยากรจากใต้ดิน (ที่เป็นน้ำมันและแก๊ส กับที่เป็นแร่ธาตุที่เป็นของแข็ง) ขึ้นมานั้นไม่เหมือนกัน และสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมก็ยังได้ใบประกอบวิชาชีพในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ด้วย
  
พอเอาน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาตขึ้นมาจากใต้ดินแล้ว จะเอาไปแปรสภาพเป็นอะไรต่อก็เป็นเรื่องของ "วิศวกรรมเคมี"
  
ในวงการอุตสาหกรรมนั้น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปสารเคมีนั้น เขานิยมจำแนกตาม "วัตถุดิบ" ที่นำมาแปรรูป ซึ่งทำให้แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
  
กลุ่มที่ ๑ ได้แก่อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ กลุ่มนี้ทำหน้าที่เอาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมาแยกออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือตัวทำละลาย หรือใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  
กลุ่มที่ ๒ ได้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือพวกที่รับเอาผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมาแปรรูป ซึ่งเริ่มตั้งแต่โรงงานผลิตโอเลฟินส์หรืออะโรมาติกต่าง ๆ ไปจนถึงโรงงานผลิตเป็นเม็ดพลาสติก
  
กลุ่มที่ ๓ อุตสาหกรรมเคมี คำนี้เป็นภาพกว้าง แต่มักจะหมายถึงอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบหลักที่ไม่ได้มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ตัวอย่างของอุตสาหกรรมเคมีได้แก่ อาหาร ยา กระจก ปูนซิเมนต์ เป็นต้น
  
แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของ "อุปกรณ์การผลิต" ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยหลักการออกแบบมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกัน เช่นการคำนวณหาขนาดของปั๊มหรือท่อที่ใช้ในการสูบจ่าย น้ำ น้ำมัน หรือน้ำกรด ต่างก็ใช้สมการเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีการเรียนแยก เพียงแต่มันไปแตกต่างตรงที่การเลือกชนิดของวัสดุที่ใช้ทำตัวปั๊มหรือท่อ และอุปกรณ์ขับเคลื่อน (เช่นชนิดมอเตอร์ไฟฟ้า) ให้เหมาะกับสารเคมีที่ปั๊มนั้นทำงานด้วย หรือสภาพแวดล้อมของที่ตั้งปั๊ม (เช่น ในร่ม กลางแจ้ง มีไอระเหยของสารเคมีที่ระเบิดได้ เป็นต้น) และเนื้อหาเหล่านี้หลักสูตร "วิศวกรรมเคมี" ก็ครอบคลุมเอาไว้อยู่แล้ว ความรู้ทางปิโตรเคมีหรือกลั่นน้ำมัน เป็นเพียงแค่ความรู้เสริมสำหรับงานเฉพาะทางเท่านั้นเอง เป็นเพียงแค่วิชาเลือกในหลักสูตรที่ภาควิชาวิศวกรรมเคมีแต่ละแห่งจะเปิดสอนหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นสภาวิศวกรจึงมีใบประกอบวิชาชีพให้เฉพาะ "วิศวกรรมเคมี" เท่านั้น ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ "วิศวกรรมปิโตรเคมี" และไม่ได้นับรวมอยู่ในสาขาวิศวกรรมเคมี
  
แล้วใบประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรมนั้นสำคัญแค่ไหน ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน วิศวกรจำนวนไม่น้อยที่ทำงานโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพ (คือไม่ได้ขอ) แม้ว่าจะจบในสาขาที่มีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใด (บางตำแหน่งงานผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพก็สามารถทำงานได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้มีใบประกอบวิชาชีพ) ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คงจะเป็นใบขับขี่ยานพาหนะ
  
ถ้าคุณมีใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล คุณได้รับอนุญาตให้ขับเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวได้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถแท๊กซี่ (แม้ว่ารถยนต์ส่วนตัวที่คุณขับและรถแท๊กซี่นั้นจะเป็นรถรุ่นเดียวกัน) หรือรถบัสหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่
  
ถ้าคุณมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์รับจ้าง คุณสามารถขับรถแท๊กซี่ได้ และก็ใช้ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้ แต่จะไปขับรถบัสหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่ได้
  
ถ้าคุณมีใบอนุญาตขับขี่รถบัสหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ คุณสามารถใช้ใบอนุญาตนั้นมาขับขี่รถยนต์ขนาดเล็กได้
  
แต่ถ้าคุณต้องการขี่มอเตอร์ไซค์ คุณก็ต้องมีใบขับขี่ต่างหาก จะเอาใบขับขี่รถยนต์มาใช้ขับมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ และจะเอาใบขับขี่มอเตอร์ไซค์มาใช้ขับรถก็ไม่ได้ เพราะรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ใช้ทักษะที่แตกต่างกัน คนละเรื่องกัน
  
ถ้าคุณเป็นพนักงานส่งเอกสารหรือสิ่งของจำนวนไม่มาก ที่เน้นเฉพาะในตัวเมือง และใช้มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก คุณก็มีเพียงแค่ใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ก็ได้ แต่จะไปเป็นพนักงานขับรถยนต์ของบริษัทไม่ได้
  
ถ้าคุณเป็นเป็นพนักงานส่งเอกสารหรือสิ่งของจำนวนมาก ที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดและต้องใช้รถยนต์ คุณก็ต้องมีใบขับขี่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่คุณจะไปขับรถบรรทุกใหญ่หรือรถบัสของบริษัทไม่ได้
  
แต่ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ต้องขับรถให้ใครเลย หรือมีคนขับรถให้ คุณไม่ต้องมีใบขับขี่เลยก็ได้

หวังว่าถ้าอ่านมาถึงจุดนี้แล้วคงมองเห็นภาพความแตกต่างระหว่างวิศวกรรมเคมีด้วยกันบ้างนะครับ ตอนต่อไปวางแผนว่าจะอธิบายว่า วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมเครื่องกล และนักเคมี นั้นแตกต่างกันอย่างใด ส่วนรูปข้างล่างก็เป็นบรรยากาศการเรียนแลปวิชาเคมีสำหรับนิสิตวิศวกรรมเคมี ชั้นปีที่ ๒ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น