วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กราฟการไทเทรตกรดกำมะถัน (H2SO4) ตอนที่ ๒ MO Memoir 2558 Dec 10 Thu

ตอนที่เริ่มภาคการศึกษาใหม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้ตั้งคำถามถามนิสิตชั้นปีที่ ๒ ในชั้นเรียน ๓ คำถามด้วยกัน สองคำถามแรกเป็นคำถามที่ต้องการให้เขาเห็นว่าในบางกรณีนั้นคำตอบของคำถามมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ มันไม่มีคำตอบที่ตายตัว ส่วนคำถามที่สามถามเพื่อต้องการตรวจสอบความรู้พื้นฐานบางเรื่องที่เขา "ควรจะ" ได้เรียนรู้มาตอนมัธยมปลายและปี ๑ คำถามนั้นก็คือ 
   
"ถ้าเอาสารละลายกรด H2SO4 0.1 mol/l ใส่ในบีกเกอร์ จากนั้นค่อย ๆ หยดสารละลาย NaOH 0.1 mol/l ลงในบีกเกอร์ ค่า pH ของสารละลายในบีกเกอร์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้ร่างภาพการเปลี่ยนแปลงค่า pH ของสารละลายในบีกเกอร์กับปริมาตรสารละลาย NaOH ที่หยดลงไป"
 
คำตอบของคำถามข้อ ๓ ที่ได้รับมาก็อยู่ในรูปที่นำมาแสดงครับ ลองพิจารณากันเอาเองก่อนก็แล้วครับนะครับ
 

อันที่จริงคำถามข้อ ๓ ก็เป็นคำถามเดียวกันที่ผมเคยใช้ตอนสัมภาษณ์นักเรียนผู้มี "ความสามารถพิเศษ" ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย "ช่องทางพิเศษ" และได้นำมาเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๕๐ วันอังคารที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เรื่อง "กราฟการไทเทรตกรดกำมะถัน(H2SO4)" พร้อมทั้งได้เฉลยคำตอบไว้ในนั้นแล้ว และคำตอบที่ผมได้มานั้นมันบ่งบอกอะไรก็ขอให้พิจารณากันเอาเองก็แล้วกัน
  

ปัญหาหนึ่งของการศึกษาในบ้านเราที่พบก็คือมักจะยึด "ตัวอย่างเฉพาะ" หรือ "วิธีการเฉพาะ" ว่ามันเป็น "กฎ" แทนการทำความเข้าใจ "หลักการพื้นฐาน" แล้วนำหลักการพื้นฐานนั้นมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป พอถึงเวลาแก้ปัญหาก็ใช้วิธีการเทียบเคียงกับตัวอย่างที่เคยผ่านตามาว่า "ใกล้เคียง" กับตัวอย่างไหนมากที่สุด แล้วก็นำเอาวิธีการแก้ปัญหาของตัวอย่างนั้นมาใช้แบบไม่มีการตั้งข้อสงสัยเลยว่ามันเหมาะสมหรือไม่ แต่ตรงนี้จะไปโทษผู้เรียนก็ไม่ได้เพราะจะว่าไปมันเป็นกันตั้งแต่ตัวอาจารย์ (ผมก็โตมาในระบบการศึกษาแบบนั้น จนเมื่อออกไปทำงานภาคปฏิบัติจึงเจอข้อผิดพลาดของระบบการศึกษาที่ตัวเองเรียนมา)



เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ทำการทดลอง กับผู้ที่ทำ simulation ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็พบปัญหาแบบเดียวกัน ผมเคยสอบถามนิสิตผู้ทำวิทยานิพนธ์ด้วยการทำ simulation ในระหว่างการสอบว่าคุณใช้เทคนิคไหนในการแก้ปัญหาระบบสมการอนุพันธ์ของคุณ เขาก็ตอบว่าใช้ MATLAB ผมก็ถามซ้ำใหม่ว่าแล้วในโปรแกรม MATLAB คุณใช้เทคนิคไหนในการแก้ปัญหาระบบสมการอนุพันธ์ของคุณ เขาก็ตอบกลับมาว่าใช้ code รหัส xxxx นี้ในการแก้ปัญหา ผมก็ถามต่อไว่าแล้ว code รหัส xxxx นี้แก้ปัญหาด้วยเทคนิคอะไร เขาก็ตอบชื่อเทคนิคออกมา พอถามต่อว่าแล้วเทคนิคดังกล่าวมันมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร และมันเหมาะกับโจทย์ของคุณหรือไม่ เขาก็ตอบไม่ได้ ตอบแต่เพียงว่าเขาไปดู paper ว่าที่ผ่านมาเขาใช้ code ตัวไหนของ MATLAB ในการแก้ปัญหา แล้วก็เลือกเอา code เดียวกันจาก paper ที่เห็นว่าใกล้เคียงกับงานของเขามากที่สุดมาใช้ ผมก็ตอบเขากลับไปว่าในงานนั้นเขาใช้ code นั้นน่ะมันถูกต้องแล้ว แต่ระบบสมการของคุณแม้ว่ามันจะคล้ายกับของเขา แต่สำหรับโจทย์ของคุณนั้น การนำ code เดียวกันนั้นมาแก้ปัญหานั้นมันไม่เหมาะสม มันมีความแตกต่างกันอยู่


โดยความเห็นส่วนตัวปัญหาหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของบ้านเราคือเรานิยมไป "ลอก" วิธีการของมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากชาติตะวันตก) มาใช้แบบดื้อ ๆ โดยไม่มีการปรับแต่งให้สอดรับกับ "วัตถุดิบ (ก็คือผู้เรียน)" ว่ามีพื้นฐานเดิมมาอย่างไร เห็นเป็นประจำเวลาที่มีการนำเสนอว่าหลักสูตรการศึกษาของบ้านเราควรจะมีการปรับปรุงอย่างไร ก็ใช้วิธีเพียงแค่ไปดูว่าสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในประเทศต่าง ๆ นั้นเขาทำอะไรกันบ้าง แล้วก็นำมาบอกทำนองว่าที่เราล้าหลังเขาก็เพราะเราไม่มีการปรับปรุงให้เหมือนเขา ไม่เห็นมีการกล่าวถึงเลยว่าตัวผู้เรียนเองที่เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ไปดูเป็นตัวอย่างมานั้น เขามีคุณสมบัติอย่างไร เขาผ่านการพัฒนาด้วยกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนมาอย่างไร แล้วตัวนักเรียนของเราเองมีคุณสมบัติแบบนั้นหรือไม่ ก็ในเมื่อกระบวนการและวัตถุดิบมันไม่สอดรับกัน แล้วจะหวังให้ผลลัพธ์ออกมาดีได้อย่างไร


พื้นฐานเดิมของผู้เรียนตรงนี้มันขึ้นอยู่กับระบบการศึกษาของโรงเรียน วิธีการประเมินโรงเรียน (ดูเหมือนว่าเราจะใช้วิธีการประเมินผู้บริหารโรงเรียนโดยดูที่จำนวนนักเรียนสอบเข้าคณะดัง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้เป็นหลัก แทนที่จะประเมินที่การสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้กับผู้เรียน ผลที่ตามมาก็คือนักเรียนที่เรียนไม่เก่งจะถูกเฉดหัวออกจากโรงเรียนดัง ๆ ไม่ให้เข้าเรียนต่อมัธยมปลาย) และวิธีการที่ทางสถาบันอุดมศึกษาใช้ในการคัดเลือก (มีอย่างที่ไหน บอกว่ารับเด็กจบ ม. ๖ แต่ทำการสอบคัดเลือกกันก่อนที่เด็กจะเรียนจบ ม. ๖ กลายเป็นว่าหลักสูตรมัธยมปลายที่ทางโรงเรียนวางไว้ ๓ ปี ต้องมาอัดให้เด็กเรียนกันในสองปีหรือสองปีครึ่ง ทำเอาระบบมัธยมปลายในโรงเรียนรวนไปหมด) ส่วนตัวเนื้อหาหลักสูตรเองพักหลัง ๆ เห็นเริ่มมีแบบไม่สนใจว่าผู้ที่เรียนจบแล้วจะมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะออกไปทำงานในตลาดแรงได้หรือไม่ เริ่มมีการใส่ความต้องการของอาจารย์ในการต้องการลูกมือทำวิจัยให้อาจารย์เข้าไปในเนื้อหาหลักสูตร (เรียกว่าถ้าจบป.ตรี แล้วมาทำวิจัยกับฉัน ฉันจะได้ไม่ต้องเสียเวลาสอน งานวิจัยฉันจะได้เดินหน้าไปได้เร็ว ๆ)


การออกแบบกระบวนการผลิตในทางวิศวกรรมเคมีเราดูผลลัพธ์เป็นหลักว่าเราต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติอย่างไร จากนั้นจึงมาพิจารณาว่าเรามีวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติอย่างไร และเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการใดบ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโรงกลั่นน้ำมัน คุณสมบัติผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายในท้องตลาดมันมีข้อกำหนดเอาไว้แล้ว และมีเพียงไม่กี่ชนิดเมื่อเทียบกับคุณสมบัติของน้ำมันดิบที่มีให้เลือกซื้อมากลั่น โรงกลั่นที่มีความยืดหยุ่นสูงก็สามารถเลือกใชัวัตถุดิบที่แตกต่างกันมากลั่นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเดียวกันได้ โดยกระบวนการผลิตสำหรับวัตถุดิบที่แตกต่างกันนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางเดียวกัน การออกแบบระบบการศึกษาก็ควรจะต้องเป็นแบบเดียวกัน มันไม่ควรที่จะใช้วิธีการลอกคนอื่นเขามาแบบดื้อ ๆ 
  
 
พักหลัง ๆ นี้มีอาจารย์บางรายมาเปรย ๆ กับผมบ่อยครั้งแล้วเรื่องความรู้พื้นฐานของนิสิตบัณฑิตศึกษาในการทำวิจัยว่าอ่อนลงไปมาก จะทำอย่างไรดี เริ่มมีคนรู้สึกเสียดายวิชาที่มีการลงมติยกเลิกไปเมื่อหลายปีก่อนทั้ง ๆ ที่ผมได้เตือนเอาไว้แล้วด้วยว่าให้พิจารณาให้รอบคอบ แต่เมื่อมันเป็นฉันทามติของที่ประชุม ผมก็ไม่สามารถทำอะไรได้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น