วันนั้นเป็นวันศุกร์
ในเดือนกันยายน ๒๕๕๑
เกิดอุบัติเหตุเพลิงลุกไหม้ในห้องแลปห้องหนึ่ง
นิสิตโทรตามผมขอให้ไปช่วยระงับเหตุ
(ทั้ง
ๆ ที่ในความเป็นจริงผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับห้องทดลองนั้น)
สัปดาห์ถัดมาผมได้รับบันทึกข้อความจากหัวหน้าภาควิชา
ให้เขียนรายงานสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่งให้กับทางคณะ
เพราะทางคณะทราบเรื่องเหตุการณ์ดังกล่าวและต้องการทราบสาเหตุ
ผมก็แทงหนังสือกลับไปว่า
"ให้ไปถาม
"อาจารย์ที่ปรึกษา"
ของนิสิตคนนั้นจะถูกต้องกว่า"
เพราะผมเป็นเพียงแค่ผู้เข้าไปช่วยระงับเหตุ
ก่อนหน้านั้นมีการทำการทดลองอะไรกันบ้างผมไม่รู้
เพียงแค่ไม่กี่นาทีให้หลัง
มีโทรศัพท์จากหัวหน้าภาควิชาขอ
"ลบ"
ข้อความที่ผมแทงกลับไปในบันทึกข้อความนั้นทิ้ง
ผมก็ตอบกลับไปว่าตอนนี้หนังสืออยู่กับท่าน
ท่านจะทำอย่างไรก็ได้โดยที่ผมไม่จำเป็นต้องรับรู้
ผมมีโอกาสได้เห็นคำอธิบายที่เขียนส่งให้กับทางคณะ
ในคำอธิบายนั้นมีการกล่าวว่าสาเหตุเกิดจาก
"นิสิตทำการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยบอกให้ทำ"
(ผมจำข้อความที่แน่นอนไม่ได้
แต่มันเป็นทำนองนี้)
ว่าแต่อ่านแล้วคุณเห็นอะไรที่ซ่อนอยู่ในข้อความข้างบนไหมครับ
ใช่ครับ
อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้บอกให้นิสิตใช้วิธีนั้นในการแก้ปัญหา
แต่ที่สำคัญคือ
"อาจารย์ที่ปรึกษาเคยบอกอะไรกับนิสิตบ้างหรือเปล่าว่าให้ปฏิบัติอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา"
จะว่าไปเท่าที่ผมทราบ
วิธีการทดลองที่เขาใช้กันก่อนเกิดเรื่องนั้นก็เป็นวิธีการที่รุ่นพี่สอนต่อ
ๆ
กันมาโดยที่อาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่เคยเข้ามาสนใจว่าวิธีการดังกล่าวมีอันตรายหรือไม่
อันนี้เป็นมุขหนึ่งที่ผมเห็นหลายทีแล้วเวลาที่นิสิตทำการทดลองแล้วเกิดอุบัติเหตุ
(ด้วยวิธีการทดลองที่นิสิตต้องคิดค้นขึ้นมาเองโดยที่อาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ได้สนใจเท่าใดนัก
นอกจากผลแลป)
อาจารย์ที่ปรึกษาก็เอาตัวรอดด้วยการบอกว่าเป็นเพราะ
"นิสิตใช้วิธีปฏิบัติที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่เคยบอกให้ทำ"
การเรียนการสอนภาคปฏิบัติของกลุ่มเรานั้นผมเคยเล่าให้ฟังแล้วว่ามันแบ่งออกเป็น
๓ ช่วงด้วยกัน คือ
(ก)
การแสดงให้ดู
(ข)
การให้ลงมือปฏิบัติเองภายใต้การกำกับดูแล
และปิดท้ายด้วย
(ค)
การปล่อยให้ลงมือปฏิบัติได้เองโดยลำพัง
ที่ผมลงมายุ่งในสองช่วงแรกก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ
จะได้ทำการตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องมือไปด้วยในตัว
(เว้นแต่ผมเห็นว่ามันเป็นการทดลองง่าย
ๆ และคนที่เรียนแลปเคมีมาแล้วควรที่จะต้องทำได้ทุกคน
ไม่ใช่ต้องไปสอนใหม่)
แม้แต่เครื่องมือที่ใช้ติดต่อกันมาทุกปี
เราเองก็ยังต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมกันเป็นประจำ
เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นเรื่องที่ทั้งระดับผู้มีอำนาจสั่งการที่ต้องจัดหาอุปกรณ์และกำหนดวิธีการการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย
รวมทั้งมีการลงมือปฏิบัติเพื่อควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานนั้นทำตามขั้นตอนที่กำหนดนั้นด้วย
ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุจากการที่ผู้ปฏิบัติงานนั้นไม่กระทำหรือละเลยขั้นตอนความปลอดภัยที่กำหนด
จะไปโทษผู้มีอำนาจสั่งการนั้นก็กระไรอยู่
(เว้นแต่ผู้มีอำนาจสั่งการนั้นไม่ได้สนใจที่จะกำชับให้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ)
แต่ถ้าผู้มีอำนาจสั่งการไม่ได้สนใจว่าผู้ปฏิบัติงานจะทำงานอย่างไร
หรือมีการปฏิบัติจริงตามขั้นตอนที่กำหนดหรือไม่
ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น
ผู้มีอำนาจสั่งการจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องผมว่ามันก็ไม่ถูก
แม้ว่าเวลาจะผ่านไปหลายปี
ผ่านมาหลายเหตุการณ์
แต่มันก็เป็นเหมือนเดิมทุกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น