วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

เมื่อต้องเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์เอนทรานซ์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๐๑) MO Memoir 2559 Apr 1 Fri

อันที่จริงเรื่องนี้โพสเอาไว้ใน facebook เมื่อช่วงเช้าวันนี้แล้ว แต่ขอเอามาบันทึกไว้ที่นี้หน่อย กันลืม (มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากที่โพสไว้ใน facebook บ้างบางส่วน)

กว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมาเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ผู้สอบผ่านข้อเขียนเข้ามหาวิทยาลัยมาแทบจะปีเว้นปี นับตั้งแต่สมัยมีเอนทรานซ์ที่มีการสอบสัมภาษณ์เพียงครั้งเดียว มาจนถึงปัจจุบันที่มีการสอบสัมภาษณ์ถึง ๓ ครั้ง คือ นักเรียนโครงการพิเศษ รับตรง และแอดมิดชัน ปีนี้ไม่ได้เป็นกรรมการสอบ ก็เลยอยากจะเล่าเรื่องประสบการณ์ให้ฟัง (จากเฉพาะในหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่)

สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเห็นจากการสอบสัมภาษณ์ก็คือ "มีคนสอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน"

ในกรณีของด้านวิชาการนั้นถือได้ว่าผู้สอบผ่านข้อเขียนได้ผ่านการทดสอบมาอย่างหลากหลายแล้ว ดังนั้นจะมาถือว่าการตอบคำถามทางด้านวิชาการของกรรมการสอบสัมภาษณ์เพียงไม่กี่ข้อ (ที่คำถามเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะอาจารย์เองก็มาจากหลากหลายภาควิชา มีความถนัดที่แตกต่างกัน) มาเป็นเกณฑ์ตัดสินว่านักเรียนผู้นั้นควรจะผ่านหรือไม่ผ่านการสอบสัมภาษณ์นั้นมันก็ไม่ถูก แถมกรรมการสอบสัมภาษณ์ยังมีอีกตั้งหลายชุดที่หามาตรฐานใด ๆ ก็ไม่ได้ (ก็มีผู้เข้าสอบตั้งหลายร้อย แต่มีเวลาสอบสัมภาษณ์เพียงแค่ ๓ ชั่วโมง เรียกว่ากรรมการแต่ละชุดจะสัมภาษณ์เพียงแค่ประมาณ ๒๐ คนเท่านั้นเอง)
 
จะว่าไป สิ่งที่ทางคณะเขาอยากให้กรรมการสอบสัมภาษณ์หาข้อมูลคือเรื่อง สภาพจิต ความเดือดร้อนด้านการเงินของผู้สอบผ่าน (เช่นต้องการทุนไหม) นักเรียนที่มาจากต่างจังหวัดต้องการหอพักไหม มีเพื่อนจากจังหวัดเดียวกันมาด้วยหรือเปล่า (เพราะถ้ามาคนเดียวอาจมีปัญหาเรื่องเหงา และคิดถึงบ้าน) และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (เช่น การโอ้อวด การไม่รู้จักกาละเทศะ เป็นต้น) ทางคณะเขาไม่ได้ต้องการให้กรรมการสอบสัมภาษณ์คัดนักเรียนออก
 
เรื่องสภาพจิตนั้นก็ดูกันเพียงแค่พูดจากันรู้เรื่องหรือเปล่า (คืออยู่ในสภาพที่เรียนหนังสือได้) ถ้ากรรมการสอบสัมภาษณ์คิดว่านักเรียนผู้นั้นมีปัญหา สิ่งที่กรรมการจะทำก็คือบอกให้นักเรียนผู้นั้นรอก่อน แล้วส่งต่อให้กรรมการกลางของคณะ ถ้ากรรมการกลางของคณะเห็นด้วยกับกรรมการสอบสัมภาษณ์ กรรมการกลางของคณะก็จะส่งต่อให้กับกรรมการของมหาวิทยาลัยพิจารณาอีกทีว่าเป็นจริงตามที่กรรมการสอบสัมภาษณ์แจ้งหรือไม่ (ตรงนั้นจะมีจิตแพทย์ตรวจสอบ) ซึ่งจะเห็นว่าต้องผ่านกรรมการถึง ๓ ชุด โดยชุดสุดท้ายจะมีจิตแพทย์ตรวจ และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้ยินว่ามีการส่งตัวดังกล่าว 
  
แต่ถ้าถามว่าเคยเจอนักเรียนมีปัญหาเรื่องสภาพจิตไหมก็คงต้องบอกว่าเคยเจอ แต่สิ่งที่ทำกันก็คือบันทึกส่งให้กับทางส่วนกลางว่าให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูแลเป็นพิเศษ อย่างเช่นกรณีที่หนักที่สุดคือ พูดจากันรู้เรื่อง ถามอะไรตอบได้หมด แต่พฤติกรรมการแสดงออกนั้นมีปัญหา (เหม่อลอย เวลาพูดจาไม่สบตาหรือมองคู่สนทนา มองแต่เพดานห้อง) รายนี้ดูประวัติแล้วพ่อแม่มีระดับการศึกษาสูง พี่อีก ๒ คนของเขาก็เรียนเก่ง ได้เป็นนักเรียนทุน ในขณะที่นักเรียนผู้นี้ที่เป็นน้องคนสุดท้อง ทำได้แค่สอบติด "วิศวจุฬา" รายนี้พอสัมภาษณ์เสร็จ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้าทีมก็เขียนลงไปว่า "อาจารย์ที่ปรึกษาควรให้การดูแลเป็นพิเศษ"



นักเรียนบางคนเครียดมาก กลัวการสอบสัมภาษณ์มาก กลัวจะสอบไม่ผ่าน (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกดดันตัวเองด้วยเกรงว่าจะทำให้ผู้อื่นผิดหวัง หรือถูกกดดันมาจากทางบ้าน) อาการเครียดแสดงออกทางกิริยาท่าทางและการพูดจาจนเห็นได้ชัด นักเรียนเครียดมากจนกระทั่งกรรมการสอบต้องบอกว่า "ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร พวกผมไม่ได้มาคัดคุณออก ถ้าผมบอกว่าสอบเสร็จแล้ว คุณกลับไปได้ นั่นหมายความว่าคุณผ่านแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร (เพราะถ้ามีปัญหาก็จะบอกให้รอก่อน แล้วส่งให้ส่วนกลาง)" เพียงเท่านี้นักเรียนผู้นั้นก็ถึงกับร้องไห้โฮออกมาในระหว่างการสอบ

อีกเรื่องหนึ่งที่มักมีคนสงสัยก็คือ Portfolio จำเป็นแค่ไหน อันนี้จะว่าไปแล้วเอาแน่เอานอนไม่ได้
แต่ถ้าถามว่ามันเกี่ยวข้องกับการสอบสัมภาษณ์ผ่านหรือไม่ผ่าน คำตอบก็คือมันไม่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุผลที่อธิบายไว้ข้างต้น เพราะเกณฑ์การผ่านข้อเขียน เขาดูวิชาการ ไม่ได้ดูกิจกรรม
 
เคยเจอเหมือนกันที่แทนที่จะถือแฟ้มมา ถือคอมพิวเตอร์ Notebook มาเลย พอกรรมการสอบบอกให้แนะนำตัวให้ฟังหน่อยก็เปิดคอมพิวเตอร์โชว์ผลงาน
 
แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวในส่วนของกรรมการสอบชุดที่ผมเคยร่วมงานด้วย (กรรมการแต่ละชุดพฤติกรรมไม่เหมือนกันนะ) คงต้องบอกว่าส่วนใหญ่จะ "ไม่สน" Portfolio จะนั่งคุยกันมากกว่า ไม่ขอดูด้วยซ้ำ (ดูแต่ใบประวัติที่นักเรียนกรอกมาให้ มันบอกอะไรต่อมิอะไรได้หลายอย่าง) แต่กรรมการบางท่านอาจจะขอเอามาพลิกเปิดเล่น ๆ เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียกำลังใจ เพราะเห็นนักเรียนอุตส่าห์เตรียมมาแล้ว
 
เคยเจอนักเรียนบางรายถึงกับถามกรรมการสอบกลับเลยว่า "จะไม่ดู Portfolio ที่เขาทำมาเลยหรือ" กรรมการสอบก็เลยเอามาเปิดดูพอเป็นพิธี และถามคำถามย้อนกลับที่มักจะทำให้นักเรียนเหล่านี้อึ้งเป็นประจำก็คือ

"ถามจริง ๆ เถอะ ถ้าทำแล้วไม่ได้ใบประกาศมาใส่แฟ้ม จะทำไหม"

คำถามข้างบน กรรมการสอบไม่ต้องการคำตอบ เพียงแค่สังเกตอาการก็ทราบแล้วครับ 
  
เคยสอบตั้งแต่สมัยที่กรรมการสอบแต่ละชุดประกอบด้วยอาจารย์ ๓ คน จนปัจจุบันเหลือเพียง ๒ คน และโดยปรกติแล้วเวลาเขาจัดกรรมการสอบนั้น ในชุดหนึ่งจะมีอาจารย์อาวุโส (ทำงานมานาน) อยู่ด้วย ๑ คน จะไม่ให้กรรมการชุดใดชุดหนึ่งประกอบด้วยอาจารย์ที่เพิ่งบรรจุใหม่ทั้งชุด ผมเองมาทำงานใหม่ ๆ ก็ได้เรียนรู้ปัญหาต่าง ๆ กับนักเรียนรูปแบบต่าง ๆ จากอาจารย์อาวุโสหลายท่านที่มีประสบการณ์ จากการสอบสัมภาษณ์นี้

จากประการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นการรับตรง ก็มักเจอกับนักเรียนที่มาจากโรงเรียนใหญ่ ๆ ในกรุงเทพและต่างจังหวัดบางจังหวัด แต่ถ้าเป็นช่วงแอดมิชันก็จะเจอนักเรียนที่มาจากโรงเรียนเล็ก ๆ จากหลากหลายจังหวัด ถ้าเป็นนักเรียนจากโรงเรียนใหญ่ ๆ มักจะพบว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถผ่าด่านการรับตรงเข้ามาได้
 
พวกที่สมัยเป็นนักเรียนทำกิจกรรมซะหนัก ก็จะเตือนให้ระวังเรื่องการแบ่งเวลา (แทบจะไม่เจอ)
พวกที่สมัยเป็นนักเรียนก็เรียนอย่างเดียว ก็จะบอกให้ทำกิจกรรมบ้าง จะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็น (อันนี้เจอเยอะ)
 
นักเรียนที่มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะมาจากที่ไกลและทั้งจังหวัดมาเพียงคนเดียว ก็ต้องสอบถามว่าเคยจากบ้านไปอยู่ไกล ๆ เป็นเวลานานหรือเปล่า ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย (เช่นแนะนำให้เข้าร่วมชมรม เพื่อจะได้มีเพื่อนฝูงและกิจกรรมทำ จะได้คลายเรื่องการคิดถึงบ้าน)
 
เรื่องการแต่งกาย สำหรับผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนก็มักจะแต่งชุดนักเรียนมา ถ้าเป็นนักเรียนหญิงก็ไม่เคยพบปัญหาอะไร จะมีบ้างก็พวกนักเรียนชาย (ประเภทจงใจให้ชายเสื้อหลุดรุ่ยออกมานอกกางเกงจะเจอได้ง่ายสุด) กรรมการบางท่านก็จะว่ากล่าวตักเตือนเลยตั้งแต่ตอนสอบ แต่ถ้ากรรมการเขาไม่ได้พูดว่าอะไรก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ว่าอะไรนะ เขาอาจจะไม่พูด แต่เขาอาจ "เขียน" เพื่อเป็นข้อสังเกตให้กับทางคณะได้ (ว่าเป็นคนไม่รู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ)

ที่เล่ามาก็เป็นบันทึกความทรงจำของงานในหน้าที่ส่วนหนึ่งที่เคยปฏิบัติมา :) :) :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น