ไม่ใช่เรื่องราวของขบวนรถไฟในวันนี้หรอกครับ
แต่เป็นของวันอาทิตย์ที่
๒๐ กรกฎาคม ร.ศ.
๑๒๓
(พ.ศ.
๒๔๔๗)
ว่าในวันนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
เรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น
ลองอ่านดูกันเองก่อนนะครับ
"วันที่
๒๐ กรกฎาคม เสด็จอาศัยรถไฟบ่ายที่จะไปกรุงเทพฯ
ที่ใช้คำว่าเสด็จอาศัยในที่นี้
เพราะเสด็จรถไฟชั้นที่ ๓
ประทับปะปนไปกับราษฎร
ไม่ให้ใครรู้ว่าใครเป็นใคร
เพื่อจะทรงใคร่ทรงทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร
เจ้าพนักงานรถไฟก็เหลือดี
มีอัธยาศัยรู้พระราชประสงค์
ที่จริงแกรู้แต่แกล้งทำเฉย
มาเรียกติเก็ตตรวจพวกเราเหมือนกับราษฎรทั้งปวง
ทำไม่ให้ผิดกันอย่างไร
ต่อผู้ใดสังเกตจริง ๆ
จึงจะพอเห็นได้ ว่าหน้าแกออกจากซีด
ๆ และเมื่อไปเรียกติเก็ตพระเจ้าอยู่หัวมือไม้แกสั่งผิดปรกติ"
รูปที่
๑ ปกหน้าและปกหลังของหนังสือ
"เสด็จประพาสต้น"
โดยสมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ข้อความข้างต้นนำมาจากหนังสือ
"เสด็จประพาสต้น"
พระนิพนธ์สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ฉบับที่ผมมีจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์
ศิลปาบรรณาคาร พิมพ์เมื่อปีพ.ศ.
๒๕๑๙
(หรือเมื่อ
๔๐ ปีที่แล้ว)
เป็นเรื่องราวการตามเสด็จรัชกาลที่
๕ ที่ออกตรวจเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นต่าง
ๆ โดยปิดบังพระองค์ไม่ต้องการให้ใครรู้
ที่มาที่ไปของการเดินทางดังกล่าว
และเกิดอะไรขึ้นบ้างนั้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้บันทึกไว้ดังนี้
"เรื่องทดลองเดินทางด้วยไม่มีอะไรนอกจากเงินตามที่ได้ปรึกษากันเมื่อคืนนี้นั้น
เป็นตกลงว่าจะเสด็จรถไฟไปลงที่โพธาราม
หาเสวยเย็นที่นั่นแล้วจะหาเรือล่องกลับลงมาเมืองราชบุรี
ได้แบ่งหน้าที่ผู้ไปเป็นพนักงานพาหนะพวก
๑ พนักงานครัวพวก ๑ ต่างมีหน้าที่
ๆ จะต้องจัดทำการที่เกี่ยวด้วยแผนกนั้น
ๆ ให้ตลอดไป
รถไฟไปวันนี้
ไม่สะดวกด้วยน้ำพัดสะพานที่บ้านกล้วยเซไป
รถไฟข้ามไม่ได้
ต้องไปหยุดรถให้คนโดยสารเดินไต่ทางไปขึ้นรถพ่วงใหม่ฟากสะพานข้างโน้น
ฝนก็ตก ออกจะลำบากบ้างเล็กน้อยแต่ก็มีประโยชน์อยู่บ้าง
ที่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานกองเสบียงได้เห็นปลาทูสด
เจ็กเอามาแต่เมืองเพชรบุรีกระจาดหนึ่ง
จะเอาไปขายที่ไหนไม่ทราบ
ว่าซื้อตกลงได้ปลาทูสดนั้นมาเป็นเสบียงสำหรับเวลาเย็นเป็นที่อุ่นใจว่าอาหารเย็นวันนี้จะไม่ฝืดเคือง
ครั้นไปถึงโพธารามต่างกองต่างแยกกันเที่ยวทำการตามหน้าที่
ๆ กะไว้
พวกกองพาหนะก็เที่ยวหาเช่าเรือและหาที่อาศัยชุมนุมเลี้ยงกันเวลาเย็น
พวกกองครัวก็เที่ยวหาซื้ออาหารเครื่องภาชนะใช้สอยต่าง
ๆ คือ หม้อข้าวและถ้วยชามรามไหเป็นต้น
ได้พร้อมแล้วก็หุงข้าวแกงตามกำลังฝีมือ
พวกที่ไปตามเสด็จสำเร็จได้เลี้ยงกัน
พอเวลาพลบค่ำ
ที่คาดหมายไปว่าจะได้กินสนุกยิ่งกว่าอร่อยเป็นการคาดผิดทั้งสิ้น
อาหารวันนี้อร่อยเหลือเกิน
ดูเหมือนจะกินอิ่มจนเกือบเดินไม่ไหวแทบทุกคน"
รูปที่
๒ เส้นทางรถไฟระหว่างสถานีราชบุรีและสถานีโพธาราม
และตำแหน่งที่ตั้งสถานีรถไฟบ้านกล้วยในปัจจุบัน
เสียดายที่ในบันทึกไม่ได้กล่าวว่าสะพานที่เสียหายนั้นอยู่ในช่วงไหน
ตอนเสด็จกลับนั้นไม่ได้เสด็จกลับทางรถไฟ
แต่โดยสารเรือแจวกลับ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ได้เล่าต่อไว้ดังนี้
"เวลาสัก
๒ ทุ่มออกเรือที่เช่าเขา ๓
ลำ ล่องลงมาจากโพธาราม
เรือเหล่านี้เป็นเรือประทุน
๒ แจวที่เขาบรรทุกของสวนขึ้นไปขายเสร็จแล้วจ้างเขาแจวลงมาส่ง
ได้บอกมาข้างต้นว่า
การเสด็จวันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครรู้ว่าใครเป็นใคร
แต่มาเกิดกลแตกขึ้นเมื่อขาล่องเรือลงมาในประทุนเรือลำพระที่นั่ง
เข้าของเขามีพระบรมรูปเข้ากรอบติดไว้ที่เครื่องบูชา
ไปรับสั่งถามยายเมียเข้าของเรือว่ารูปใคร
ยายนั่นกราบทูลว่า พระรูปเจ้าชีวิต
รับสั่งถามต่อไปว่า
แกได้เคยเห็นเจ้าชีวิตหรือไม่
แกกราบทูลว่าได้เคยเห็น ๓
หน รับสั่งถามว่าได้เห็นที่ไหนบ้าง
แกกราบทูลว่า "ได้เห็นในบางกอก
๒ หน กับมาเห็นวันนี้อีกหน
๑"
ลงมาถึงเมืองราชบุรีเวลา
๔ ทุ่ม เขียนมาถึงนี่ออกหาวนอนเต็มที
ขอยุติเรื่องราวตอนนี้แต่เพียงเท่านี้"
การเสด็จในช่วงแรก
ๆ นั้นเรียกว่าการ "ประพาสไปรเวต"
เพิ่งจะมีการเรียกว่าการ
"ประพาสต้น"
ในเหตุการณ์ที่ราชบุรีในวันที่
๑๘ กรกฎาคม ร.ศ.
๑๒๓
นี้เอง ส่วนที่มาที่ไปของเรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างไร
เชิญอ่านจากรูปที่ ๓
ที่ถ่ายจากหนังสือมาให้ดูเอาเองก็แล้วกันนะครับ
รูปที่
๓ ที่มาของคำว่า "ประพาสต้น"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น