วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

จากอนุบาลสู่มหาวิทยาลัย ด้วย Fun Find Focus หรือ Forced Fixed Fullfilment MO Memoir : Sunday 28 August 2559

ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองจาก "เก่ง-ไม่เก่ง" เป็น "ถนัด-ไม่ถนัด"
 
ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองจาก "ค่าเฉลี่ยรวมทั้งหมด" เป็น "ความสามารถในแต่ละศาสตร์"
 
ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองจาก "การเรียนคือการต้องเรียนจากตำรา" เป็น "ทุกกิจกรรมที่กระทำต่างมีบทเรียนอยู่ในตัว"
 
ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองจาก "ผลลัพธ์ที่ต้องได้" เป็น "พัฒนาการที่เหมาะสม"
 
ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองจาก "หมอหรือวิศว" เป็น "ทุกวิชาชีพต่างก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีในตัวมันเอง"
 
ชีวิตการเรียนในโรงเรียนของเหล่าเด็ก ๆ ทั้งหลายก็คงจะมีความสุขขึ้นมาก

ความคิดหนึ่งที่ฝังกันมาเนิ่นนานอยู่ในความคิดของผู้ปกครองและผู้เรียนคือ เรียนอะไรกันตั้งมากมาย ทำไมไม่เรียนเฉพาะวิชาที่สำคัญต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และส่วนใหญ่ที่เรียนไปนั้นก็ไม่ได้ใช้
 
เคยมีคนมาถามคำถามกับผมเช่นนี้ ผมก็ถามเขากลับไปว่า ถ้าคุณจะไปกินข้าวราดแกงเป็นอาหาร ร้านที่หนึ่งมีกับข้าวให้เลือก ๕ อย่าง กับร้านที่สองที่มีกับข้าวให้เลือก ๒๐ อย่าง คุณจะเข้าร้านไหน เขาก็ตอบผมว่าเข้าร้านที่สอง ผมก็ถามต่อว่าด้วยเหตุผลใด เขาก็ตอบว่าเพราะมีกับข้าวให้เลือกเยอะกว่า
 
ผมก็ถามเขาต่อว่าเวลาคุณกินข้าวราดแกง คุณสั่งกับข้าวกี่อย่าง เขาก็บอกว่า ๒ หรืออย่างมากก็ ๓ อย่าง ผมก็ถามเขาต่อว่าถ้าเช่นนั้นทำไปคุณไม่เลือกร้านที่หนึ่งล่ะ เขามีกับข้าวให้เลือกตั้ง ๕ อย่าง มากกว่าที่คุณต้องการสั่งอีก นั่นแสดงว่าคุณก็เห็นว่าการมีโอกาสได้เห็นตัวเลือกที่หลากหลายเป็นสิ่งที่ดีใช่ไหม 
  
ผมมองว่าการเรียนหนังสือมันก็เป็นเช่นนั้นครับ การที่มีโอกาสได้เห็น และได้สัมผัสกับหลายสิ่งหลายอย่างก่อนตัดสินใจเลือกนั้น มันทำให้มั่นใจได้ว่าตัวเลือกที่ได้เลือกมานั้นเหมาะสมแล้ว

ตอนที่ลูกผมเข้าโรงเรียนอนุบาลที่บางแสนนั้น ครูโรงเรียนก็อธิบายให้เข้าใจก่อนว่าที่โรงเรียนนี้ไม่ได้เน้นการสอนไปที่ให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แต่เน้นไปที่การพัฒนาร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่) และสติปัญญาของเด็กผ่านทางการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กมีจินตนาการ และทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ผลก็คือตอนที่เข้าป. ๑ นั้นลูกผมยังอ่านหนังสือไม่ค่อยได้ อ่านเป็นคำ ๆ ได้เฉพาะคำง่าย ๆ แถมบวกลบเลขยังไม่เป็น แต่พอคัดลายมือได้ ในขณะที่เด็กรุ่นเดียวกันที่มาจากโรงเรียนอนุบาลที่มีชื่อเสียงเด่นดัง ต่างสามารถอ่านหนังสือเป็นเล่มได้ แถมยังบวกเลขสองหลักได้ ตอนโรงเรียนจัดทดสอบความรู้ภาษาไทยและเลขก่อนเปิดเทอม ลูกผมสอบได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ได้คะแนนในส่วนของความพร้อมสูงมาก (ต้องขอขอบคุณคุณครูโรงเรียนอนุบาลแห่งนั้น) แต่พอเรียนไปได้แค่เทอมเดียว เขาก็ไล่ทันคนอื่น
 
ช่วงก่อนมาเรียนในกรุงเทพนั้น วันหนึ่งระหว่างที่พาเขาไปนั่งระบายสีตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ที่ตลาดนัดกลางแจ้งหลังมหาวิทยาลัย ก็มีผู้ปกครองเด็กอีกคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ถามว่าลูกผมอายุเท่าใดแล้ว พอตอบเขาไปเขาก็บอกว่าเท่ากับลูกเขา แต่เขาแปลกใจที่เห็นลูกผมระบายสีตุ๊กตาปูนได้ปราณีตมากกว่าลูกเขา เขาก็ถามต่อว่าอ่านหนังสือออกหรือยัง บวกเลขเป็นหรือยัง ผมก็บอกว่ายังไม่เป็น ส่วนลูกของเขานั้นสามารถทำได้แล้ว
 
แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าโรงเรียนประถมจำนวนไม่น้อยชอบที่จะรับเด็กจบอนุบาลที่อ่านออกเขียนได้ บวกเลขเป็นแล้ว เพื่อที่คุณครูจะได้ทำงานสบายขึ้น
 
เคยมีรุ่นน้องคนหนึ่งที่ลูกเขาเรียนชั้นประถมโรงเรียนเดียวกับลูกผม (แต่เด็กกว่า) บ่นกับผมว่าเขาต้องส่งลูกไปเรียนพิเศษวิชาศิลป เพราะลูกเขาระบายสีไม่ได้เรื่อง ไม่สามารถระบายสีตามช่องต่าง ๆ ได้ แต่ตอนที่เข้าป. ๑ นั้นลูกเขาอ่านหนังสือได้ดี ตรงนี้ผมมองว่าเป็นเพราะโรงเรียนอนุบาลที่เขาส่งลูกไปเรียนนั้นจะเน้นไปที่วิชาการ คือพยายามฝังความคิดว่าเด็กที่เก่งคือเด็กที่อ่านหนังสือได้เร็ว ได้คล่อง คิดเลขเก่ง 
  
แต่ร่างกายและระบบประสาทของเด็กนั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่ การได้ทำงานศิลปหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้การทำงานของมือประสานกับสายตา (เช่นงานปั้นต่าง ๆ) เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อการฝึกฝนเด็กให้ประสานการทำงานระหว่างระบบสมองและกล้ามเนื้อเข้าด้วยกัน หนังสือเด็กประเภทลากเส้นต่อจุด ระบายสีในช่อง หรือแปะสติ๊กเกอร์ ที่ผู้ใหญ่อาจมองว่าไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรนั้น แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งมันเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักประสานการทำงานระหว่างประสาทตาและประสาทมือ สิ่งที่ดูแล้วไม่มีอะไรเลยสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กแล้ว บางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับที่จะระบายสีให้อยู่ในกรอบรูป หรือลากเส้น (จะตรงหรือโค้งก็ตามแต่) เชื่อมจุดสองจุดโดยไม่คดงอ
 
ดูเหมือนว่าการขาดความสามารถในการใช้มือในการทำงานละเอียดนั้น มันติดยาวมาจนถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย เห็นได้จากการที่นิสิตส่วนใหญ่จะใช้นิ้วหัวแม่มือในการปิดปลายปิเปต เพราะไม่สามารถควบคุมการใช้นิ้วชี้ได้ดี

ตอนเข้าเรียนโรงเรียนประถมนั้น ครูก็บอกว่าแนวทางการสอนของโรงเรียนนี้คือ Fun Find Focus คือ ๒ ปีแรกจะเป็นการทำให้เด็กนั้นสนุกสนานกับการเรียน (Fun) ๒ ปีถัดมาเป็นการให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อที่เขาจะได้ตอบตัวเองว่าเขาชอบสิ่งใด (Find) และ ๒ ปีสุดท้ายเขาจะมีโอกาสเลือกเรียนในสิ่งที่เขาชอบ (Focus) 
  
และขอให้ผู้ปกครองมองว่านักเรียนนั้นมีความ "ถนัด" ทางด้านใด อย่าไปมองว่าลูกฉันต้องเก่งด้วยการได้เกรด ๔ ทุกวิชา ถ้าเห็นเขาทำคะแนนได้ดีในด้านใด ก็ควรส่งเสริมให้เขาไปทางด้านนั้น
 
แต่ในความเป็นจริงนั้น ชีวิตเด็กจำนวนไม่น้อยถูกผู้ปกครองกำหนดเอาไว้แล้ว ว่าป. ๑ ต้องเข้าเรียนโรงเรียนนี้ พอขึ้นม. ๑ ก็ต้องไปเรียนโรงเรียนนั้น และขึ้นม. ๔ ก็ต้องไปเข้าเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งให้ได้ เพื่อที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่ฉันต้องการ ดังนั้นจึงเห็นผู้ปกครองจำนวนหนึ่งกังวลกับเกรดเฉลี่ยของลูกมาก เห็นลูกได้คะแนนสอบไม่ดีก็ต้องไปขอตรวจสอบจากทางคุณครู บ่อยครั้งที่นึกเห็นใจคุณครูอยู่ไม่น้อย เพราะคิดว่าบางทีคุณครูก็พูดไม่ออกว่าสาเหตุที่เด็กคนนี้ทำคะแนนวิชาทางด้านนี้ไม่ดี ก็เพราะเขาไม่ชอบ เขาถนัดทางด้านอื่นมากกว่า แต่โดนทางบ้านบังคับให้เรียน ตอนเย็น ๆ ที่ไปรับลูกยังมีโอกาสได้ยินได้เห็นผู้ปกครองเดินต่อว่าลูกไปตามทางเดินเมื่อเห็นคะแนนสอบลูกออกมาไม่ดี โดยไม่สนใจว่าคนอื่นรอบข้างจะเห็นหรือได้ยินหรือไม่
 
โรงเรียนแห่งนี้ไม่อนุญาตให้มีการสอนพิเศษเนื้อหาวิชาเรียนที่เรียนกันในห้องเรียนในตอนเย็นหลังเลิกเรียน การเรียนพิเศษตอนเย็นเป็นเพียงแค่กิจกรรมเสริมสำหรับเด็กที่ผู้ปกครองมารับช้า (โรงเรียนเลิกบ่ายสองสี่สิบหรือไม่ก็บ่ายสาม ยกเว้นบางวันนานทีมีกิจกรรมพิเศษก็อาจไปถึงบ่ายสามสี่สิบ) เช่น กีฬา ดนตรี ศิลป ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยมองว่าการปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นในตอนเย็นหลังเลิกเรียนเป็นการเสียเวลาการเรียนรู้ ดังนั้นแม้ว่าจะมารับลูกได้เร็ว ก็เห็นยังมีการพาไปเรียนพิเศษวิชาการที่อื่นอีก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นการเล่นของเด็กก็เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เป็นการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นภายใต้กติกาที่กำหนด (ของการละเล่นนั้น) เป็นการฝึกทักษะและพัฒนาการด้านต่าง ๆ กองทรายเป็นเหมือนแดนสวรรค์สำหรับพวกเขาที่จะสร้างอะไรขึ้นมาก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องใช้ SimCity)
 
พอเข้ามัธยมก็ต้องย้ายโรงเรียนมายังอีกฟากหนึ่ง แม้ว่าในการบริหารจะเป็นคนละโรงเรียนกัน แต่ทางฝั่งมัธยมเขาก็รับทุกคนที่ผ่านชั้นประถมมาได้ ในช่วงนี้ก็มีนักเรียนบางส่วนย้ายไปเรียนม. ๑ อีกโรงเรียนหนึ่งตามความต้องการของผู้ปกครอง ส่วนที่เหลืออยู่ก็ยังมีเรื่องให้ทางคุณครูมัธยมปวดหัวอีก คือการที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกตัวเองนั้นเรียนในห้องเรียนเด็กเก่งพิเศษที่เรียกว่าห้องคิงส์ (คิดว่าคงไม่ใช่ห้องเฉพาะสำหรับเกย์คิงส์) แต่ทางโรงเรียนก็บอกว่าไม่มีการจัดห้องเรียนแบบนั้น ผู้ปกครองก็ไม่เชื่อ จะยืนยันให้ทำให้ได้
 
โรงเรียนนี้มีการจัดห้องเรียนใหม่กันทุกปีครับ ผู้ปกครองบางคนเชื่อว่าห้องคิงส์ของโรงเรียนคือห้อง ๑ และห้อง ๗ ตอนลูกขึ้นม. ๑ เห็นลูกได้เรียนห้องเหล่านี้ก็ดีใจ พอขึ้นม. ๒ มีการเปลี่ยนแปลงห้อง เด็กได้ย้ายไปเรียนห้องอื่นที่ไม่ใช่สองห้องนี้ ก็มาตีโพยตีพายในวันประฃุมครู-ผู้ปกครอง ว่าโรงเรียนทำให้ลูกเขา (หรือตัวเขาเองกันแน่) เสียใจแค่ไหน
 
เทียบกับเด็กประถมแล้ว เด็กมัธยมต้นจำนวนไม่น้อยนี่ก็ถูกกดดันจากทางครอบครัวหนักไม่เช่นเล่นเหมือนกัน โดยเฉพาะความคิดที่ว่าลูกฉันต้องเรียน "สายวิทย์" ยิ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่สามารถรับนักเรียนเข้าเรียนต่อสายวิทย์ทุกคนได้ (โรงเรียนนี้ก็เป็นเช่นนี้) ก็เลยมีความพยายามกดดันลูกตัวเองในเรื่องคะแนนสอบต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นเชื่อว่าทางโรงเรียนเองเขาก็พอมองเห็นแล้วเด็กที่เขารับมาจากโรงเรียนประถมนั้นมีความถนัดในด้านใดบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด ยังดีที่โรงเรียนนี้เปิดโอกาสให้ย้ายสายการเรียนได้ (ทำนองว่าช่วยเด็กมากกว่า คงเป็นเพราะเห็นแล้วว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่ถนัดสายวิทย์ แต่โดนทางบ้านบังคับให้ต้องเรียนสายวิทย์ ตอนนั้นจะอธิบายอย่างไรให้พ่อแม่ฟังก็คงไม่สำเร็จ ต้องรอให้เด็กเข้าเรียนเฉพาะทางก่อนแล้วเด็กแสดงว่าเรียนสายนี้ไม่ไหว ผู้ปกครองถึงยอมให้ลูกตัวเองย้ายสายการเรียน)
 
นี่ยังไม่นับรวมพวกที่ทางบ้านมีแผนการณ์ว่าต้องไปต่อม. ๔ ที่โรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ให้ได้นะครับ เด็กบางคนอยู่ในกลุ่มผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์เป็นประจำจนคิดว่าเด็กคนอื่นก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด พอทราบว่ามีเด็กที่สามารถนอนเล่นดูทีวีได้ หรือไปเที่ยวได้ในวันหยุด เขาก็แปลกใจ อันนี้ลูกผมเป็นคนเล่าให้ผมฟังเองว่าเพื่อนเขาบางคนก็เป็นเช่นนี้
 
เด็กนักเรียนรุ่นเดียวกันกับลูกผมรายหนึ่ง เวลาเจอผมเขาชอบมาถามผมด้วยคำถามเดิม ๆ ว่า เวลาลูกผมทำการบ้านไม่ค่อยได้ ทำคะแนนสอบได้ไม่ดี ลูกผมโดนทำโทษไหม โดนดุไหม ต้องไปเรียนพิเศษไหม ปรากฏว่าคำตอบที่เขาได้รับนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่เขาประสบ ส่วนที่เขาประสบกับอะไรมาบ้างนั้นผมก็ไม่ได้ถาม แต่เชื่อว่าจากคำถามที่เขานำมาถามก็คงจะพอเดากันได้ คำถามนั้นเขาถามผมสมัยที่เขายังเป็น "เด็กประถม" นะครับ รายนี้ผมรู้จักกับเขาก่อนเข้าป. ๑ จนขณะนี้เขาเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้ว
ผมจึงเห็นว่าเด็กไทยจำนวนไม่น้อยต้องเรียนหนังสือในระบบ โดนบังคับ (Forced) ให้ต้องเรียนในสิ่งที่ผู้ปกครองกำหนดเอาไว้ (Fixed) เพื่อให้บรรลุความต้องการ (Fullfilment) ของผู้ปกครอง โดยไม่สนว่าผู้เรียนจะเป็นอย่างไร
 
โดยส่วนตัวแลัวเห็นว่าปัญหาหลักของการศึกษาบ้านเรามันอยู่ที่วิธีการประเมิน คือไปเน้นการประเมินที่ "ผลลัพธ์ หรือ output" สุดท้ายที่ได้เป็นหลัก โดยไม่สนใจ "กระบวนการหรือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ" เป็นหลัก ในขณะที่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมนั้นเน้นไปที่การตรวจสอบการทำงานของกระบวนการ แทนการดูที่ output สุดท้าย เพราะเขาเชื่อว่าถ้ากระบวนการมีความถูกต้อง output สุดท้ายที่ได้ก็จะออกมาดีเอง และจะดีตลอด output ที่นำมาประเมินนั้นเป็นเพียงแค่กลุ่มตัวอย่างส่วนน้อยของกระบวนการเท่านั้น

และที่สำคัญคือเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "การพัฒนาการของผู้เรียน"

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่จะมีการใช้ช่องว่างของระบบเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับเฉพาะเด็ก "เก่ง" เข้ามาเรียน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลงทุนในด้านการพัฒนาผู้เรียน (ให้คนอื่นทำให้) บางโรงเรียนที่มีการสอนต่อเนื่องจนถึงมัธยมปลาย ก็ยังมีการตั้งเกณฑ์ว่าถ้าคะแนนเฉลี่ยมัธยมต้นสูงไม่พอ ก็ให้ไปเรียนที่โรงเรียนอื่น (เพื่อที่โรงเรียนจะได้คุยได้ว่าเด็กมัธยมปลายเขามีสัดส่วนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สูง)
 
ผมจึงเห็นว่าโรงเรียนที่น่าชื่นชมคือโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนไปที่การพัฒนาการของผู้เรียน การเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้มีความรู้ทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะกับเด็ก "เก่ง" เท่านั้น ผมเองก็มีโอกาสสอนและสอบถามนิสิตที่ไปแข่งโอลิมปิควิชาการเคมีและได้เหรียญรางวัลกลับมาว่า ถ้าให้ครูโรงเรียนที่เก่งที่สุดเป็นคนสอน ฝึกปฏิบัติในโรงเรียนที่มีความพร้อมทางด้านแลปเคมีมากที่สุด ก่อนจะไปแข่งขัน จะได้เหรียญรางวัลกลับมาไหม เขาก็ตอบว่าคงจะไม่ได้กลับมา 
  
ที่ไปได้รางวัลกลับมาน่ะ ผลงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยในการติวและการฝึกภาคปฏิบัติในมหาวิทยาลัยทั้งนั้น



สิ่งที่โรงเรียนทำก็คือรับเด็กที่เรียนวิชาการต่าง ๆ ล่วงหน้ามาแล้ว แล้วก็ส่งเด็กเหล่านั้นให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ฝึกสอน รวมทั้งใช้ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียน (สังกัดอยู่คนละหน่วยงานด้วย) พอได้รางวัลกลับมาโรงเรียนก็เอาไปคุยอวด ทั้ง ๆ ที่ทางโรงเรียนเองแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ที่ถูกต้องแล้วเมื่อใดก็ตามที่ทางหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลการเรียนการสอนในระดับโรงเรียนสามารถฝึกฝนนักเรียนของตนเองไปแข่งแล้วได้รางวัลกลับมา โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานต่างสังกัด (คือมหาวิทยาลัย) เมื่อนั้นจึงจะสามารถเอามาโฆษณาหน้าโรงเรียนได้อย่างเต็มปากว่าเป็นผลงานของตนเอง ไม่ใช่จ้างคนอื่นให้ทำผลงานให้ (แถมยังไม่เอ่ยขอบคุณมหาวิทยาลัยเหล่านั้นในการติวเด็กไปแข่งจนได้รางวัลด้วย)
 
เวลาสอนแลปเคมีผมจึงมักจะพูดเสมอว่า สิ่งที่ต้องการในการทำการทดลองคืออยากให้ทุกคนได้มีประสบการณ์ในการทำการทดลอง ไม่สนว่าผลจะออกมาถูกต้องหรือไม่ เพื่อนคุณก็จ่ายค่าเล่าเรียนเหมือนคุณ ดังนั้นก็ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสของจริงบ้าง ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ดักไว้ล่วงหน้าก็เพราะมักจะเห็นนิสิตพวกที่กลัวจะไม่ได้คะแนนดี จะยึดการทดลองมาทำเอง ทำนองว่าถ้าปล่อยให้เพื่อทำให้แล้วผลจะออกมาได้ไม่ดี จะเสียคะแนน หรืออะไรทำนองนั้น พวกนี้มักจะเป็นพวกที่ผ่านคอร์สติวพิเศษต่าง ๆ ที่มีโอกาสได้ฝึกฝนภาคปฏิบัติ ต่างจากพวกที่เรียนกันมาตามปรกติ ซึ่งมักจะไม่ได้หรือแทบไม่ได้สัมผัสกับแลป ทั้งนี้ก็เพราะโรงเรียนเขาคุยโอ้อวดกันด้วยจำนวนนิสิตที่สอบเข้ามหาวิยาลัยได้ และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (สายวิทย์) มันก็ไม่มีสอบภาคปฏิบัติ

ปัญหานี้ตอนนี้ไม่ได้มีเฉพาะในระดับโรงเรียน แต่ลามเข้ามายังระดับมหาวิทยาลัย คือมีการมองว่าการสอนในระดับปริญญาตรีนั้นเป็นภาระ ไม่ใช่สิ่งทำชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย ไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของอาจารย์ ซึ่งสองเรื่องหลังนี้ไปขึ้นอยู่กับผลงานตีพิมพ์ในระดับบัณฑิตศึกษามากกว่า จึงมีรายการแบบว่าเน้นการสอนป.ตรี ไปทำไม ให้คนอื่นเป็นผู้ผลิตเด็กป.ตรี เก่ง ๆ ให้ดีกว่า แล้วค่อยดึงเด็กเหล่านั้นมาเป็นลูกมือทำวิจัยให้
 
แล้วผลเป็นอย่างไรหรือครับ เอาแค่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเรานี่แหละ ในหลายภาควิชาเลย มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยออกมามาก มีการเขียนบทความความรู้เฉพาะทางออกมาหลากหลาย สัดส่วนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่วิชาพื้นฐานวิศวกรรมธรรมดา ๆ ที่จำเป็นกับการทำงานในสายอาชีพ กลับไม่มีอาจารย์คนไหนกล้าสอน ต้องไปจ้างให้อาจารย์ที่เกษียณอายุไปแล้ว (ที่มีตำแหน่งทางวิชาการธรรมดา ๆ) มาเป็นผู้สอนให้ต่อไป

เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังเลิกงานตอน ๔ โมงเย็น มีนิสิตรายหนึ่งมานั่งคุยเล่นกับผมถึงเรื่องทั่ว ๆ ไป หลายหลายเรื่องราว และหนึ่งในเรื่องนั้นคือระบบการศึกษาของไทย
 
ช่วงหนึ่งในระหว่างการสนทนานั้น ผมก็บอกกับเขาว่า ในความเห็นของผมนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมเห็นว่า คนเป็นครูที่สอนกันอยู่ตามโรงเรียนและคนเป็นอาจารย์ที่สอนกันในมหาวิทยาลัยนั้น มีความแตกต่างที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือ
 
คนเป็นครูมักจะเล่าถึงความสำเร็จของลูกศิษย์ โดยไม่กล่าวถึงความเหนื่อยยากที่ตนเองได้ลงแรงให้กับนักเรียน
 
ส่วนคนเป็นอาจารย์นั้นมักจะเล่าถึงความสำเร็จของตนเอง โดยไม่กล่าวถึงความเหนื่อยยากที่นิสิตได้ลงแรงให้

บทความนี้เป็นเพียงแค่การบันทึกเรื่องราวประสบการณ์ส่วนตัวในรอบ ๑๔ ปีที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น