วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ซ่อมให้เหมือนเดิมก็พังเหมือนเดิม MO Memoir : Sunday 14 August 2559

ถ้าเรามัวแต่คิดว่าเวลามีอะไรเสียก็ทำเพียงแค่แต่ซ่อมให้เหมือนเดิม เพราะเงินค่าซ่อมไม่ใช่เงินของตัวเอง (หรือคิดว่าตัวเองมีเงินเยอะ) มันก็ไม่แปลกที่จะพบแต่การซ่อมแซมสิ่งเดิมแบบไม่รู้จบ ถ้าหากไม่เคยคิดหาข้อเท็จจริงว่าทำไมมันถึงเสีย เพราะในหลายกรณีที่เคยประสบพบว่าความเสียหายนั้นมันเกิดจากการใช้งานที่ผิดพลาดหรือไม่ก็การออกแบบที่ผิดพลาด ซึ่งถ้าไม่มีการแก้ไขวิธีการทำงานหรือแก้ไขแบบ มันก็ไม่แปลกที่มันจะเกิดความเสียหายแบบเดิม ๆ อีก
 
ตอนเพิ่งจะเริ่มงานใหม่ ๆ ก็ได้ยินปัญหาขดลวดหม้อแปลง variac ไหม้เป็นประจำ ทำให้ต้องมีการส่งไปซ่อมอยู่เสมอ พอลงไปตรวจสอบก็พบว่าเกิดจากการใช้ขดลวดความร้อนที่สั้นเกินไป ทำให้ความต้านทานด้านขาออกต่ำ พอเพิ่มความต่างศักย์ให้สูงขึ้น กระแสด้านขาออกเลยสูงเกินขีดจำกัด ขดลวดหม้อแปลงก็เลยไหม้ พอให้แก้ไขด้วยการใช้ขดลวดความร้อนที่ถูกขนาด (ไม่ตัดสั้น) และติดตั้งฟิวส์ป้องกัน variac ปัญหาดังกล่าวก็หมดไป
 
ตอนที่ได้ยินว่าทางมหาวิทยาลัยจะทำการก่อสร้างหลังคาให้กับทางเดินเท้าจากอาคารจอดรถแห่งแรกที่สร้างขึ้นมายังโรงเรียนประถม ก็รู้สึกดีใจ เพราะทางเดินทางด้านนั้นมันไม่มีที่ให้หลบแดดหลบฝนเอาเสียเลย แต่พอเห็นเขาสร้างเสร็จแล้วก็นึกสงสัยอยู่ในใจว่ามันจะอยู่ได้นานเท่าใด และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะเพียงแค่เจอกับฤดูฝนปีแรก ฝ้าเพดานก็ไปเสียแล้ว
 
จะว่าไปก็ยังไม่เคยเห็นฝ้าเพดานที่ไหนที่ออกแบบมาทนน้ำ แม้แต่ฝ้าเพดานในอาคารที่มีท่อระบายน้ำจากชั้นบนอยู่ระหว่างฝ้ากับเพดาน เจอน้ำหยดใส่ไม่เท่าไรก็ออกอาการให้เห็น ยิ่งเป็นฝ้าเพดานใต้หลังคาหรือที่เป็นชายคายื่นออกมานอกอาคาร ยิ่งต้องคำนึงถึงเรื่องฝนสาด
 
รูปที่ ๑ ถ่ายไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖
 
รูปที่ ๒ ถ่ายไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ เช่นกัน
 
รูปที่ ๓ ถ่ายไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ เช่นกัน

ทางเดินช่วงนี้ใช้ที่นั่งชั้นบนสุดของอัฒจันทร์ด้านตะวันออกของสนามกีฬามาทำเป็นทางเดินเชื่อมจากชั้นสองของอาคารจอดรถที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของสนามกีฬา กั้นเป็นทางเดินมีหลังคาไปจนสุดทางด้านทิศเหนือของสนามกีฬาเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับอาคารสนามกีฬาในร่มที่อยู่ทางด้านทิศเหนือ ปรกติสนามฟุตบอลก็จะวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ (แดดจะได้ไม่ส่องเข้าหน้าผู้รักษาประตู) หลังคาทางเดินก็ทำเป็นทรงเพิงหมาแหงนเชิดขึ้นไปทางทิศตะวันตก
 
ฝนมรสุมบ้านเราจะเคลื่อนตัวจากทางทิศตะวันตกไปตะวันออก (แตกต่างจากฝนจากพายุที่เข้ามาทางทะเลจีนใต้ที่เคลื่อนตัวจากทางทิศตะวันออกไปทางตะวันตก) หลังคาทางเดินนี้เนื่องจากอยู่โดดเด่นบนโครงสร้างที่สูงโดยไม่มีอะไรบังลม แถมเชิดหน้าขึ้นรับลมฝนที่มาจากทางตะวันตกอีก ผลก็คือเวลาที่เกิดฝนฟ้าคะนอง น้ำฝนจะไหลซึมมาเปียกฝ้าใต้หลังคาเป็นประจำ เจอแบบนี้บ่อยครั้งเข้า ฝ้าเพดานก็ผุพัง (ที่ถ่ายรูปมาให้ดูนี่ไม่เท่าไรนะครับ มันเคยมีมากกว่านี้อีก) พอพังทีก็มีการปิดทางเดินซ่อมแซมที พอเจอฝนอีกทีมันก็พังอีกเหมือนเดิม ซ่อมครั้งสุดท้ายนี่ไม่แน่ใจว่าเป็นครั้งที่สองหรือสาม แต่มันก็อยู่ได้ไม่นาน พอฝนฤดูกาลใหม่มา มันก็พังเหมือนเดิม
 
ทางเดินนี้มันสร้างเป็นที่แรกก่อนจะมีการสร้างทางเดินไปทั่วมหาวิทยาลัย ที่แปลกใจก็คือคนออกแบบไม่รู้หรือไงว่าฝ้าแบบนี้มันไม่ทนน้ำ พอเอาฝ้าแบบนี้ไปใช้กับทางเดินในส่วนอื่นของมหาวิทยาลัย ก็เลยเกิดความเสียหายแบบเดียวกันนี้อีก มีอยู่ที่หนึ่งเห็นเปิดออกมาทั้งแผ่น และเชื่อว่าเหตุการณ์ทำนองนี้คงเกิดซ้ำไปเรื่อย ๆ
 
แต่ครั้นจะไม่ทำฝ้าก็คงเกรงว่าจะดูไม่สวยงาม (โคมดาวน์ไลท์มันต้องฝังอยู่ในฝ้า และพอมีฝ้าแล้วก็ยังไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินสายไฟไม่เรียบร้อยให้เห็นด้วย) หรือไม่ก็จะมีนกมาอาศัยโครงหลังคาเป็นที่ทำรัง

วันนี้ก็ไม่มีอะไร แค่เอาภาพถ่ายที่บันทึกเอาไว้ห่างกัน ๓ ปีมาให้ชมกันเล่นแค่นั้นเอง :) :) :)
 
รูปที่ ๔ ถ่ายไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖
 
รูปที่ ๕ ถ่ายไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ เช่นกัน


รูปที่ ๖ ถ่ายไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น