จำไม่ได้ว่าเป็นปีค.ศ.
ไหนแน่
จำได้แต่ว่าเป็นช่วงต้นทศวรรษ
๑๙๙๐ เป็นช่วงที่เรียนอยู่ที่อังกฤษ
ที่เห็นข่าวอดีตนักบินสายการบินพาณิชย์ของอังกฤษรายหนึ่งฆ่าตัวตาย
เนื่องจากโดนกล่าวหาว่าบกพร่องต่อหน้าที่
แม้ว่าเขาจะพยายามสู้คดีแล้วแต่ก็แพ้ไปในที่สุด
เหตุการณ์มันเกิดตอนที่เครื่องบินที่เขาเป็นกัปตันนั้นกำลังร่อนลงสู่สนามบิน ปรากฏว่าเครื่องบิน "บินเฉียง" กับแนวรันเวย์ แม้ว่านักบินจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่ความปลอดภัยได้ นักบินอ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินอัตโนมัติของเครื่องบิน ไม่ใช่จากการควบคุมของเขา แต่คณะกรรมการสอบสวนก็สรุปว่าเป็นความบกพร่องของนักบิน (คือคอมพิวเตอร์ถูก นักบินผิด) และมีมติไล่นักบินออกจากงาน
เรื่องนี้คงไม่เป็นข่าวถ้าหากว่าหลังการฆ่าตัวตายของนักบินดังกล่าว มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก กับสายการบินอีกแห่งหนึ่ง ในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง และเมื่อนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งมาเปรียบเทียบกัน (คือแนวเส้นทางการบินลง) พบว่า "เหมือนกัน" (อันที่จริงระหว่างนั้นก็มีกรณีอื่นที่เหมือนกันเกิดขึ้นด้วย)
ในตอนนั้น
(ตอนนี้เป็นอย่างไรผมไม่รู้นะ)
การออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินนั้น
จะใช้ทีมผู้เขียนโปรแกรม
๓ ทีมจาก ๓ บริษัทให้ทำการเขียนโปรแกรม
การควบคุมจะอาศัยเสียงข้างมากคือ
๒ ใน ๓ (คือถ้าหากโปรแกรม
๒ โปรแกรมให้ข้อสรุปเหมือนกัน
ก็ให้ทำตามข้อสรุปของ ๒
โปรแกรนั้นโดยไม่สนใจข้อสรุปของโปรแกรมที่
๓)
โดยมีข้อสมมุติว่าโอกาสที่ทีมเขียนโปรแกรมทั้ง
๓ ทีมจะทำผิดพลาดในเรื่องเดียวกันนั้นมีค่า
"ต่ำมาก"
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีข้อสงสัยว่าข้อสมมุติดังกล่าว
"ใช้ได้จริง"
หรือไม่
ก็เลยมีผู้ทำการทดลองด้วยการใช้ทีมเขียนโปรแกรม
๓ ทีมจาก ๓ แหล่งให้มาเขียนโปรแกรมควบคุมทำงานเดียวกัน
เพื่อที่จะดูว่าทั้ง ๓
ทีมมีโอกาสทำผิดพลาดเหมือนกันมากแค่ไหน
ผลการทดลองปรากฏว่าทั้ง ๓
ทีมจะทำอะไรผิดพลาดที่
"เหมือนกัน"
เหมือนกับว่ามีอยู่เพียงทีมเดียว
ทั้งนี้ก็เพราะทั้งสามทีมนั้นต่าง
"เรียนมาจากตำราเดียวกัน"
นั่นเอง
เวลาที่นักเรียนทำข้อสอบแล้วพบว่ามีการทำผิดเหมือน ๆ กัน สิ่งแรกที่อาจารย์ทั่วไปมักจะคิดก็น่าจะเป็นมีการทุจริตในการสอบเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนี้มันก็น่าจะเกิดกับกลุ่มนิสิตที่นั่งสอบใกล้ชิดกัน แต่สำหรับความผิดพลาดที่เหมือนกันที่มาจากนักเรียนที่กระจายอยู่คนละที่กัน และที่สำคัญคือเป็นความผิดในเรื่องความเข้าใจพื้นฐานที่คิดว่าเรียนมาจนถึงระดับนี้แล้วน่าจะรู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้ว อย่างเช่นกรณีคำตอบที่ยกมาให้ดูในวันนี้ (ซึ่งคิดว่าไม่จำเป็นต้องทราบว่าคำถามถามว่าอะไร เอาเป็นว่าเป็นของนิสิตวิศวก็แล้วกัน) ตรงนี้ทำให้เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้น
เป็นไปได้ไหมครับที่เขาเหล่านั้นมีความเข้าใจพื้นฐานที่ไม่ดี หรือเขาเหล่านั้นใช้ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งเดียวกัน แต่มันดันเป็นข้อมูลที่ผิด และเขาก็จำต่อ ๆ กันมาโดยไม่มีการพิจารณาตรวจสอบว่าข้อมูลที่ได้มานั้นมันถูกหรือผิด
ในขณะที่ภาคการผลิต
เน้นการควบคุม "คุณภาพ"
ไปที่การตรวจสอบความถูกต้องของ
"กระบวนการ"
แต่ภาคการศึกษากลับเอาคำว่า
"คุณภาพ"
ไปผูกไว้กับ
"ผลผลิต"
โดยไม่ได้มีการพิจารณาว่าวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่ง
"ผลผลิต"
ที่จะนำมาใช้เป็นคะแนนประเมินนั้นได้มาโดยวิธีการที่ชอบหรือด้วยวิธีการที่สถาบันการศึกษาพึงปฏิบัติหรือไม่
ภาคอุตสาหกรรมนั้นสามารถกำหนดคุณภาพ "ขั้นต่ำ" ของวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตได้ วัตถุดิบอะไรที่มีคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับ แต่ไม่ควรนำสิ่งนี้มาใช้กับภาคการศึกษาพื้นฐานในระดับโรงเรียน เพราะวัตถุประสงค์ของภาคการศึกษาในระดับโรงเรียนนั้นคือทุกคนต้องได้เรียนและได้มีการพัฒนาตนเอง ดังนั้นสิ่งที่ควรใช้ในการประเมินความสามารถของสถาบันการศึกษาระดับโรงเรียนจึงควรเน้นไปที่การ "พัฒนาการ" ของผู้เรียน แทนที่จะเน้นไปที่จำนวนนักเรียนที่สอบเข้าคณะที่คะแนนสอบเข้าสูง หรือจำนวนนักเรียนที่สอบได้ทุน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีคะแนนสอบสูงได้เยอะ มักเป็นโรงเรียนที่ไม่มีการพัฒนาผู้เรียนด้วยตนเอง แต่ใช้การดึงเอาผู้ที่เรียนเก่งที่ได้รับการพัฒนาจากที่อื่นมาเข้าเรียนในช่วงสั้น ๆ หรือไม่ก็เป็นโรงเรียนที่ไม่ให้นักเรียนของโรงเรียนตนเองที่คะแนนสอบระดับมัธยมต้นไม่ถึงเกณฑ์ ไม่ให้เรียนต่อในโรงเรียนตนเอง ตรงนี้แตกต่างจากการเรียนการสอนในสายวิชาชีพในระดับมหาวิทยาลัยนั้น เพราะแต่ละสาขาวิชาชีพจะมีมาตรฐานขั้นต่ำของตนเองอยู่ ดังนั้นการประเมินความสามารถของผู้เรียนว่าผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของสาขาวิชาชีพนั้นได้หรือไม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ก่อนที่จะโทษผู้เรียน
ควรต้องมาพิจารณาก่อนว่าเราประเมินโรงเรียนด้วยเกณฑ์อะไร
และโรงเรียนประเมินครูผู้สอนด้วยเกณฑ์อะไร
เราใช้เกณฑ์อะไรประเมินผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษา
และเกณฑ์ดังกล่าวมันเปิดช่องให้ใช้วิธีการที่ระบบการศึกษาไม่ควรพึงปฏิบัติเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่
เพราะโดยความเห็นส่วนตัวแล้ว
ตอนนี้เมื่อเห็นอะไรแบบนี้
ก็ไม่ได้คิดจะโทษผู้เรียน
เพราะความไม่รู้ของผู้เรียนก็เป็นผลมาจากความไม่รู้ของผู้สอนนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น