วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ตึกจักรพงษ์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๒๓) MO Memoir : Thursday 29 December 2559

ช่วงตอนที่ผมเข้ามาเรียนนั้น (พ.ศ. ๒๕๒๗) ถ้าไม่นับพวกโต๊ะโรงเรียนแล้ว ก็เรียกว่านิสิตคณะวิศวจับกลุ่มนั่งกันตาม "ชั้นปี" คือนิสิตชั้นปีที่ ๑ จะนั่งกันอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามตึกจักรพงษ์และหอนาฬิกา นิสิตปี ๒-๔ จะไปนั่งกันที่ข้างลานอักษร ที่ปัจจุบันคือสนามหญ้าข้างเทวาลัยด้านฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์
 
ช่วงเวลานั้นตึกจักรพงษ์ยังเป็นที่ทำการขององค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า อบจ. (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดนะครับ) ดังนั้นตึกนี้จึงไม่เงียบเหงาอะไรเพราะมีนิสิตแวะเวียนไปมาอยู่เสมอ ยิ่งพอใกล้งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ก็จะมีการซ่อมเพลทแปรอักษรกัน สถานที่นั่งทำงานซ่อมเพลทกันก็คือสนามหญ้ารอบ ๆ หอนาฬิกานั่นแหละครับ ห้องน้ำก็ไม่ต้องเดินไปไกล ก็ใช้กันที่ชั้นล่างของตึก ร้านขายของกินก็มีเช่นกัน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นร้านลูกชิ้นปิ้ง นั่นเป็นบรรยากาศเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว ที่แตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง และคงเป็นภาพที่เหลืออยู่เพียงแค่ในความทรงจำของแต่ละคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น 
  
สัปดาห์ที่แล้วก็เลยถือโอกาสแวะเวียนเข้าไปข้างใน เพื่อบันทึกภาพสภาพปัจจุบันเอาไว้หน่อยว่าตอนนี้ภายในตึกนี้เป็นอย่างไร ภาพในชุดนี้บันทึกไว้เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมาครับ

รูปที่ ๑ ตึกจักรพงษ์ ที่อดีตเคยเป็นที่ทำการองค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จนกระทั่งปีพ.ศ. ๒๕๒๘ จึงได้ย้ายออกไป จากสถานที่ที่เคยเต็มไปด้วยนิสิตที่มาทำกิจกรรมกันทั้งภายในตึกและบริเวณรอบตึก ก็กลายเป็นบริเวณที่เงียบ (ถ้าไม่นับเสียงรถที่วิ่งผ่าน) ในปัจจุบัน

รูปที่ ๒ อีกมุมหนึ่งของตึกจักรพงษ์ มองจากฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคารสูงที่เห็นด้านหลังคืออาคารมหาวชิรุณหิศของคณะวิทยาศาสตร์

ประตูหลักที่ใช้เป็นทางเข้าตึกกันก็คือประตูด้านหอนาฬิกา อันที่จริงประตูตึกด้านที่อยู่ตรงข้ามกับคณะวิศวนั้นก็เป็นประตูเข้าตึกเช่นกัน แต่เปิดเข้าไปแล้วก็จะเป็นบันไดเดินขึ้นไปชั้น ๒ เลย ไม่เหมือนประตูด้านหอนาฬิกาที่เป็นทางเข้าชั้นล่างของอาคาร ตอนนี้ห้องต่าง ๆ ของอาคารชั้นล่างทางฝั่งคณะวิศวเป็นห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยบริเวณที่เหลือเป็นพื้นที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติมหาวิทยาลัย ตึกนี้ผมเข้าไปทีไร ถ้าไม่ชวนใครเข้าไปด้วย ก็กลายเป็นเข้าไปเดินอยู่คนเดียวทุกที เข้าชมฟรีนะครับ ไม่มีการเก็บค่าเข้าชมหรือตรวจบัตร ไม่มีใครมาคอยทักทาย เปิดประตูทางเข้าแล้วเดินเข้าไปได้เลย
เดินชั้นล่างไม่ต้องถอดรองเท้า แต่ถ้าจะขึ้นชมชั้นสองเขาให้ถอดรองเท้าก่อน มีช่องเก็บรองเท้าอยู่ใกล้ ๆ กับบันไดทางขึ้นชั้นสอง 
  
ประวัติของตึกนี้ที่มีการจัดแสดงไว้บอกว่า พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบริจาคเงินเพื่อสร้างอาคารหลังนี้ในปีพ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อให้ใช้เป็นที่ทำงานของสโมสรนิสิต ตึกนี้สร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดตึกวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เวลา ๑๗.๐๐ น และได้ใช้เป็นที่ทำการของสโมสรนิสิตมาจนถึงปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ก่อนจะย้ายออกไป (ก็ตอนที่ตึกจุลจักรพงษ์ที่อยู่ด้านหลังศาลาพระเกี้ยวสร้างเสร็จ) จากนั้นตึกนี้ก็ได้รับการปรับปรุงและใช้เป็นส่วนจัดแสดงประวัติมหาวิทยาลัยมาจนถึงทุกวันนี้

ถ้าไม่มีเรื่องราวพิเศษอะไร Memoir ฉบับนี้ก็จะเป็นฉบับสุดท้ายของปีนี้แล้ว แล้วพบกันใหม่ปีหน้า (ซึ่งจะว่าไปก็อีกไม่กี่วันข้างหน้า) ครับ สุขสันต์ปีใหม่กันทุกคนนะครับ สวัสดี

รูปที่ ๓ มองจากด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ออกไป ประตูทางเข้าด้านนี้เป็นบันไดขึ้นตรงไปยังชั้น ๒ ได้เลย


รูปที่ ๔ ผ่านประตูทางเข้าชั้นล่างเข้าไป ก็จะพบกับนิทรรศการความเป็นมาของคณะต่าง ๆ แบบย่อ ๆ

รูปที่ ๕ ทางด้านขวาของประตูทางเข้า จะมีบันไดขึ้นไปชั้น ๒


รูปที่ ๖ พอขึ้นมาแล้วก็จะเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการชั้น ๒

รูปที่ ๗ เปียโนที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทางบันเลงในงานวันทรงดนตรี ณ หอประชุมจุฬาฯ
 
รูปที่ ๘ ภาพงานพระราชทานปริญญาบัตรในอดีต

รูปที่ ๙ ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

รูปที่ ๑๐ ฉลองพระองค์ครุยอักษรศาสตร์บัณฑิต ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่คณะอักษรศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวายตามธรรมเนียม ในฐานะที่ทรงได้คะแนนยอดเยี่ยม

รูปที่ ๑๑ อีกห้องหนึ่งของห้องจัดแสดงชั้นบน ชุดนิสิตทางด้านขวาของรูปคือชุดนิสิตจุฬาของสมเด็จพระเทพฯ 

รูปที่ ๑๒ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบริจาคเงินเพื่อสร้างอาคารหลังนี้ในปีพ.ศ. ๒๔๗๔ พิธีเปิดตึกนี้มีในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เวลา ๑๗.๐๐ น


รูปที่ ๑๓ อีกมุมหนึ่งของห้องจัดแสดงนิทรรศการชั้นบน

รูปที่ ๑๔ บริเวณลานที่เคยเป็นที่นั่งพักรวมตัวกันของนิสิตปี ๑ คณะวิศวกรรมศาตร์ แต่เดิมบริเวณนี้เป็นลานดิน มีม้านั่งหินตั้งอยู่ เมื่อมีการจัดงานนิทรรศการวิชาการทางวิศวกรรมครั้งที่ ๘ กับงานจุฬาวิชาการในเดือนพฤศจิกายนปีพ.ศ. ๒๕๓๐ พื้นที่ตรงบริเวณนี้เลยได้รับการปรับปรุง มีการปูพื้นอิฐตัวหนอนและสร้างศาลาที่เห็นในภาพเพื่อใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการในส่วน "ในหลวงกับงานช่าง" ตำแหน่งหน้าลานนี้เป็นจุดรับ-ส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรศูนย์คอมพิวเตอร์ CAD-CAM ของคณะที่ห้องคอมพิวเตอร์ตึก ๓ ชั้นล่าง ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินชมงานนิทรรศกาลของคณะวิศวไปจนถึงลานด้านในคณะที่นิสิตปัจจุบันเรียกว่าลานเกียร์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับในเส้นทางเดิมเพื่อมาประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จกลับ ณ บริเวณข้างตึกจักรพงษ์นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น