ปีการศึกษา
๒๕๒๗ ทางคณะเปลี่ยนวิธีการเลือกภาควิชาใหม่
จากเดิมที่ใช้คะแนนสอบเอนทรานซ์ในการเลือกภาค
(คือให้เลือกตั้งแต่เข้าเรียนปี
๑)
มาเป็นให้เรียนก่อน
๑ ปี พอขึ้นปี ๒ ค่อยเอาเกรดวิชาปี
๑ มาเลือกภาควิชา
ผมเองก็ได้เป็นรุ่นแรกที่เลือกภาควิชาด้วยวิธีการใหม่นี้
วิศวกรรมเคมีตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันครับ
(ผมเองตอนเลือกภาคก็ยังไม่ค่อยรู้จักเลยว่าเรียนอะไร)
รุ่นผมที่เข้าภาคนี้
๓๖ คน เป็นคนที่เลือกภาคนี้อันดับ
๑ เพียงครึ่งเดียว
ที่เหลือคือไปภาคอื่นไม่ได้
เลยถูกจับยัดมาเรียนภาคนี้
เรียกว่าตอนเข้าภาคนั้น
ติดโปรกันเสียครึ่งหนึ่ง
และคิดจะย้ายภาคหนีในเทอมถัดไปกันเสียครึ่งภาคซะด้วย
แต่ก็ไม่มีใครย้ายออกไปสักคน
มีแต่ย้ายเข้ามาสองคน
ตอนที่เรียนจบเนี่ย
ได้ยินเพื่อนที่เคยคิดจะย้ายออกตอนปี
๒ พูดเปรย ๆ ว่า "โชคที่แล้วที่ตอนนั้นเขา
(หัวหน้าภาค)
ไม่ให้ย้ายภาคออก"
ก็มีอย่างที่ไหนล่ะครับ
บริษัทที่กำหนดเกรดขั้นต่ำ
๒.๗
จึงจะสมัครงานได้
แม้ว่าปีนั้นถ้าเป็นสาขาเครื่องกลเขายอมลดให้เหลือ
๒.๕
ส่วนสำหรับวิศวกรรมเคมีหรือครับ
เขากำหนดไว้ที่ ๒.๐
(สองจุดศูนย์)
รูปที่
๑ บริเวณทางเข้าห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานในปัจจุบัน
ประตูทางเข้าห้องปฏิบัติการเคมีอยู่ทางซ้าย
(1)
ส่วนที่เป็นห้องเครื่องมือวิเคราะห์ในปัจจุบัน
(2)
เดิมเป็นห้องธุรการภาควิชา
ห้องทำงานหัวหน้าภาควิชา
และห้องพักรวมของอาจารย์
ตรงที่เป็นหน้าต่างกระจก
(3)
เดิมเป็นที่ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ธุรการภาควิชา
สำหรับให้คนติดต่องาน
อันที่จริงตอนขึ้นปี
๒ ก็ยังไม่ได้เรียนวิชาภาคสักเท่าใดนัก
เทอมแรกเรียนกันแค่สองวิชาคือ
เคมีฟิสิกัล กับเคมีวิเคราะห์
เทอมที่สองก็เรียนวิชาเคมีอินทรีย์
กับหลักการคำนวณเบื้องต้นทางวิศวกรรมเคมี
ชั่วโมงบรรยายวิชาอื่นก็เรียนกันที่ห้องเรียนตึก
๓ เป็นหลัก
แต่พอเป็นวิชาภาคก็จะมาเรียนกันที่ภาควิชา
ห้องเรียนที่ใช้เรียนกันตอนนั้นตอนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานไปแล้ว
คือพื้นที่ห้องด้านถนนอังรีดูนังต์
คือมีการเปลี่ยนจากห้องเรียนมาเป็นห้องคอมพิวเตอร์ก่อน
แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นห้องแลปเคมีในที่สุด
วิชาเคมีฟิสิกัล เคมีวิเคราะห์
และเคมีอินทรียนั้นมีการทำแลปด้วย
พื้นที่ห้องแลปเดิมนั้นคือส่วนที่เป็นพื้นที่ด้านหลังห้องแลปในปัจจุบัน
ปีที่ผมเรียนเคมีฟิสิกัลนั้นมีอาจารย์ผู้สอนสองท่าน
ท่านแรกคือ อ.
เอมอร
พิบูลธรรม อ.
เอมอร
นี้เข้าใจว่าท่านสอนที่ภาคนี้ตั้งแต่ช่วงเริ่มเปิดสาขาวิชา
(คือสมัยที่ยังอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหการ)
อีกท่านหนึ่งคือ
อ.
ไพรินทร์
ชูโชติถาวร ที่เพิ่งจบเอกมาจากญี่ปุ่น
แกมาสอนหนังสืออยู่เพียงปีเดียว
ก่อนจะออกไปทำงานบริษัท
ส่วนวิชาเคมีวิเคราะห์และเคมีอินทรีย์นั้นสอนโดย
อ.
สุวัฒนา
(ท่านถึงแก่กรรมไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
๒๕๔๘ หลังเกษียณอายุราชการไปแล้ว)
การเรียนแลปเคมีพื้นฐานตอนนั้นมีครูปฏิบัติการทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่
๓ ท่านด้วยกัน คือ อ.
ศิริชัย
อ.
อรอนงค์
และ อ.
ชาติชาย
ชีวิตการเรียนปี ๒
โดยเฉพาะในเทอมแรกอาจเรียกว่าจะสนิทกับอาจารย์สอนแลปมากกว่าอาจารย์สอนบรรยายก็ได้
เพราะสัปดาห์หนึ่งต้องเรียนแลปกัน
๖ ชั่วโมง (คือเคมีฟิสิกัล
๓ ชั่วโมง +
เคมีวิเคราะห์อีก
๓ ชั่วโมง)
โต๊ะแลปเดิมมี
๓ โต๊ะ กลุ่มละ ๓-๔
คน แบ่งกันเรียน ๒ ตอนเรียน
พอมาภายหลังจำนวนนิสิตเพิ่มมากขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ
๕๐ คนต่อรุ่นก็เลยต้องเพิ่มเป็น
๓ ตอนเรียน
และท้ายสุดก็จำเป็นต้องมีการขยายพื้นที่ห้อง
ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตอนที่คณะทำการสร้างอาคาร
๔ และ ๕ เสร็จสิ้น
รูปที่
๒ เมื่อผ่านประตูทางเข้าด้านหน้าห้องเข้ามา
นี่คือภาพที่เห็น
ด้านขวาคือโต๊ะเครื่องชั่ง
กระดาน และโต๊ะทำงานอาจารย์สอนแลป
ทางฝั่งกระจกที่เห็นแดดส่องคือด้านที่เป็นลานจอดรถ
เดิมพื้นที่ห้องแลปตรงนี้เป็นห้องเรียนมาก่อน
ต่อมาเปลี่ยนเป็นห้องคอมพิวเตอร์
(นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมในห้องนี้ถึงมีตู้ชุมสาย
LAN
ของอาคารนี้ทั้งอาคารตั้งอยู่)
และต่อมาเมื่อย้ายห้องคอมพิวเตอร์ไปยังตึกวิศว
๔ ก็มีการทุบผนังกั้นระหว่างห้องนี้กับห้องแลปเคมีเดิม
(ผนังอยู่ตรงช่วงเสาที่เห็นทางซ้ายมือ)
เพื่อขยายพื้นที่ห้องแลปเคมีตามจำนวนนิสิตที่เพิ่มขึ้น
รูปที่
๓ มายืนมองอีกทางฝั่งหนึ่งตรงข้ามกับรูปที่
๒ ประตูเข้าห้องอยู่ทางซ้ายของรูป
รูปนี้เป็นการมองจากด้านทิศเหนือ
(คณะวิศวอยู่ข้างหลัง)
ไปด้านทิศใต้
(ทางคณะรัฐศาสตร์)
รูปที่
๔ บริเวณด้านหลังห้อง
(มองจากฝั่งลานจอดรถเข้ามา)
เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แลปเคมีพื้นฐานเดิม
จากทางด้านซ้ายของรูปไปจนถึงเลยผนังด้านขวาออกไปอีกหน่อย
ผนังด้านขวานี้กั้นขึ้นมาใหม่
ด้วยการขยายห้องทางซีกตะวันตกออกมากินพื้นที่ส่วนหนึ่งของห้องแลปเคมีพื้นฐานเดิม
และขยายห้องแลปเคมีพื้นฐานไปทางตะวันออกโดยทุบกำแพงไปกินพื้นที่ห้องคอมพิวเตอร์
รูปที่
๕ อีกมุมหนึ่งของบรรยากาศพื้นที่ด้านหลังห้องในปัจจุบัน
เป็นมุมมองจากฝั่งตรงข้ามกับรูปที่
๔ โต๊ะปฏิบัติการของห้องปฏิบัติการเดิมไม่ได้วางอยู่ในแนวนี้
แต่วางขวางแนวที่เห็นอยู่
เรียงกัน ๓ โต๊ะ โดยมีตู้ควันอยู่ทางซ้ายมือ
๓ ตู้ ผนังทางด้านซ้ายที่เห็นในรูปเป็นผนังที่กั้นขึ้นมาใหม่
ห้องปฏิบัติการเคมีเดิมจะกินพื้นที่ไปทางด้านซ้ายมือมากกว่านี้
รูปที่
๖ มองจากหลังห้อง (ทิศตะวันตก)
ไปยังด้านหน้าห้อง
(ด้านทิศตะวันออก)
ช่วงระหว่างเสาซ้าย-ขวาที่เห็นนั้น
เดิมเป็นแนวกำแพงกั้นห้อง
ตู้ไม้เก็บเครื่องแก้วที่เห็นเลข
ส1
143 ทางซ้ายมือ
อายุก็น่าจะอยู่ราว ๕๐
ปีหรือมากกว่า (เผลอ
ๆ อาจจะแก่กว่าผมอีก)
รูปที่
๗ เป็นมุมมองจากฝั่งตรงข้ามของรูปที่
๖ คือมองจากโต๊ะอาจารย์ผู้สอนออกไป
รูปที่
๘ ตู้ ๓ ใบนี้ดูเผิน ๆ
ก็เป็นตู้ธรรมดา
แต่อายุอานามของมันก็ไม่น้อยนะครับ
แต่ก่อนตู้ไม้พวกนี้ต้องสั่งทำ
และทำจาก "ไม้จริง"
ทั้งนั้น
(คือไม่ได้ทำจากไม้อัด)
สองตู้ขวามือเป็นครุภัณฑ์ของภาควิชามาตั้งแต่ปี
พ.ศ.
๒๕๒๒
รู้ได้จากเลขครุภัณฑ์ที่ขึ้นต้นด้วย
๒๒ ส่วนตู้ด้านซ้ายมือ
(และตู้อื่นที่มีสีเดียวกันแต่อาจมีทางแตกต่างไป)
เป็นตู้ที่มีอายุมากกว่านั้นอีก
เข้าใจว่ามาอยู่ที่ภาควิชาก่อนปีพ.ศ.
๒๕๑๐
ยังใช้เลขครุภัณฑ์ที่ขึ้นต้นด้วย
ส1
(ไม่รู้เหมือนกันว่ามีความหมายว่าอะไร)
รูปที่
๙
ร่องรอยที่ยังคงเหลือให้เห็นถึงความเป็นห้องแลปของอาคารนี้คือท่อที่เดินอยู่บนเพดาน
ท่อสีฟ้าคือท่อน้ำประปาที่จ่ายน้ำลงมายังโต๊ทำแลป
ท่อสีแดงคือท่อแก๊สหุงต้มสำหรับจุดตะเกียง
ท่อสีเหลืองคือท่ออากาศอัดความดัน
และท่อหุ้มฉนวนคือท่อไอน้ำ
ที่ตั้งของถังแก๊ส ปั๊มลม
และหม้อไอน้ำ
อยู่ที่ชั้นล่างตรงห้องข้างบันไดทางขึ้นข้างตึก
เดิมระบบท่อนี้เดินไปยังชั้น
๔ ที่เป็นห้องวิจัยด้วย
(ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่ของภาคสิ่งแวดล้อมไปแล้ว)
ตั้งแต่ผมมาเรียนจนทำงานมาถึงวันนี้
ก็ไม่เคยเห็นใครเปิดใช้ท่อไอน้ำกับท่อแก๊ส
แต่ท่อลมนั้นแต่ก่อนก็มีการใช้งานกันอยู่
รูปที่
๑๐ พัดลมเพดานที่มาพร้อมกับตึกนี้
ปัจจุบันในส่วนของห้องแลปยังเหลือใช้งานได้
๑ ตัว (อายุก็เกือบ
๔๐ ปีแล้วนะ)
รูปที่
๑๑ มองจากระเบียงฝั่งตรงข้ามทางด้านนอกห้องเข้ามา
แต่ก่อนห้องที่เห็นจะเป็นห้องเรียน
แล้วก็เป็นห้องคอมพิวเตอร์
นับตั้งแต่ตึกนี้มีการเปิดใช้งาน
อาจเรียนได้ว่าพื้นที่นี้เป็นที่แรกที่นิสิตที่เข้ามาเรียนภาควิชาของเราได้เข้ามาสัมผัส
จะมีอยู่เพียงรุ่นเดียวที่ไม่ได้ทำแลปที่ห้องนี้
(คิดว่าน่าจะเป็นนิสิตรหัสราว
๔๒)
เพราะช่วงที่คณะเปิดใช้งานตึก
๔ นั้นมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของภาควิชาต่าง
ๆ มีการย้ายห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานไปตั้งไว้บนชั้น
๑๒ ของอาคารวิศว ๔
อยู่ปีหนึ่งเพราะเป็นช่วงที่ทางคณะทำการปรับปรุงพื้นที่และสาธารณูปโภคของอาคารภาควิชาทั้งชั้น
(เดินระบบไฟฟ้า
ท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง
และท่อตู้ดูดควัน ใหม่หมด)
ครุภัณฑ์ของห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐานนี้ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่จากโครงการเงินกู้ธนาคารโลก
ที่ทางทบวงมหาวิทยาลัยดำเนินการกู้มาเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
โครงการนี้เริ่มเมื่อใดผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
แต่ตอนที่กลับมาทำงานเมื่อปี
๓๗
นั้นก็ได้รับมอบหมายให้ช่วยตรวจสอบข้อกำหนดเฉพาะทางเทคนิคของอุปกรณ์ต่าง
ๆ ที่จะทำการเปิดประมูล
ครุภัณฑ์ชุดแรกมาถึงราว ๆ
ปี ๒๕๔๑
แต่กว่าจะเปิดซองและส่งมอบครุภัณฑ์จนหมดก็ล่วงเข้าราว
ๆ ปี ๒๕๔๕
(ส่วนใหญ่ที่สั่งซื้อกันในตอนนั้นก็ได้แก่อุปกรณ์พื้นฐานต่าง
ๆ เช่น hot
plate magnetic stirrer เครื่องชั่ง
เครื่อง UV-Vis
pH meter conductivity meter Dissolved meter
อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนวิชาเคมีฟิสิกัล
เป็นต้น)
ครุภัณฑ์ที่ได้มาตอนนั้นปัจจุบันก็หมดสภาพการใช้งานเกือบหมดแล้ว
เนื่องจากไม่ได้ใช้เพียงแค่สอนนิสิตปี
๒ แต่ยังมีการยืมใช้นอกช่วงเวลาสอนโดยห้องปฏิบัติการวิจัยต่าง
ๆ
และบางส่วนก็ไม่มีการใช้งานเนื่องจากทางภาควิชาเปลี่ยนแปลงหลักสูตรโดยยกเลิกการสอนวิชาเคมีฟิสิกัล
และลดจำนวนแลปเคมีจากเดิมที่เรียนกัน
๓ วิชา (เคมีฟิสิกับ
เคมีวิเคราะห์ และเคมีอินทรีย์)
เหลือเพียงวิชาเดียว
(คือเคมีสำหรับวิศวกรรมเคมี
ซึ่งตอนแรกจะไม่มีเสียด้วยซ้ำ)
ก่อนการประชุมภาคเพื่อลงมติว่าจะปิดการสอนวิชาพื้นฐานทางเคมีทั้งสามวิชานั้นหรือไม่
ก็ได้มีการสอบถามความเห็นผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้สอนวิชาเหล่านั้นอยู่ด้วย
(เป็นวิชาที่ไม่มีใครมาแย่งสอน)
ผมก็ได้ให้ความเห็นไปว่า
"นิสิตในภาควิชานี้ควรจะต้องเรียนรู้วิชาอะไรบ้างนั้น
มันต้องเป็นมติของภาค
ไม่ใช่อาจารย์เพียงคนใดคนหนึ่งยืนกรานว่าฉันจะสอนวิชานี้
ดังนั้นนิสิตต้องเรียนวิชานี้
อาจารย์แต่ละท่านเองก็มีนิสิตทำวิจัยกันในระดับโท-เอกกันอยู่
แล้ววิชาเหล่านี้จำเป็นหรือไม่
ก็ขอให้แต่ละท่านพิจารณาเอาเองก็แล้วกัน"
ตอนเขาลงคะแนนเสียงกันผมไม่อยู่ในที่ประชุม
ทราบแต่เพียงว่ามีมติให้ยกเลิกการสอนวิชาเหล่านั้นโดยไม่มีใครคัดค้าน
สามวิชานี้มีการสอนครั้งสุดท้ายในปีการศึกษา
๒๕๕๔
รูปที่
๑๒ มาดูบรรยากาศทางเข้าเดิมกันบ้าง
(1)
ก็คือที่ประตูทางเข้าเดิมของห้องแลปเคมีพื้นฐาน
ส่วนข้างขวาคือลิฟต์ที่มีการสร้างเพิ่มเติมเข้ามา
(น่าจะอยู่ราว
๑๐ ปีที่ผ่านมา)
รูปที่
๑๓ เดิมนั้น (1)
เป็นทางเดินไปยังห้องเครื่องมือของศูนย์เครื่องมือวิเคราะห์
(2)
คือห้อง
FT-IR
และ
TGA
ของศูนย์เครื่องมือวิเคราะห์
(3)
เป็นห้องเก็บสารเคมี
(4)
เป็นห้องที่เดิมไม่มี
กั้นเพิ่มเติมเข้ามา และ
(5)
คือวงกบของประตูทางเข้าห้องแลปเคมีพื้นฐานเดิม
เดิมทีนั้นหน้าห้องของแลปเคมีพื้นฐานก็อยู่ตรงนี้
(มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว)
ปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้กลายเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น