วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไฟฟ้าสถิตกับงานวิศวกรรมเคมี (๔) ตัวอย่างการทำงานภาคปฏิบัติ MO Memoir : Wednesday 7 June 2560

ลำดับรูปในตอนที่ ๔ นี้นับต่อเนื่องจากตอนที่ ๓ แต่เนื่องจากเนื้อหาที่ตัดทอนมานั้นไม่ได้เรียงตามลำดับตามเนื้อหาต้นฉบับ ดังนั้นลำดับรูปในเนื้อหาต้นฉบับจึงไม่ตรงกับลำดับรูปในบทความนี้
 
ตอนที่ ๔ นี้เป็นการอธิบายตัวอย่างวิธีการป้องกันการสะสมประจุไฟฟ้าสถิตบนตัวอุปกรณ์ (คือไม่ได้ป้องกันการเกิด แต่ป้องกันไม่ให้ประจุที่เกิดขึ้นนั้นสะสมจนก่อให้เกิดประกายไฟได้)
 
รูปที่ ๑๕ เป็นตัวอย่างกรณีของของเหลวที่ไม่นำไฟฟ้าไหลในท่อที่เป็นฉนวนไฟฟ้า แต่ตัววาล์วนั้นมีโครงสร้างที่เป็นโลหะที่สัมผัสกับของเหลว จะเกิดไฟฟ้าสถิตสะสมที่ชิ้นส่วนตัววาล์วที่เป็นโลหะนั้นได้ ในรูปคือ ball valve ที่ตัว ball ทำจากโลหะ ประจุไฟฟ้าจะสามารถกระจายไปยังด้ามที่ใช้ในการหมุนเปิด-ปิดวาล์วได้ และถ้ามีสื่อที่เป็นตัวนำไฟฟ้าเคลื่อนเข้ามาใกล้ (เช่นคนใช้มือเปล่าเข้าไปจะจับก้านวาล์วเพื่อเปิด-ปิด) ก็จะเกิดประกายไฟฟ้ากระโดดข้ามได้
 
การเกิดไฟฟ้าสถิตเมื่อของเหลวไม่นำไฟฟ้าไหลอยู่ในท่อนี้จะเพิ่มมากขึ้นถ้าหาก ของเหลวนั้นมีหยดของเหลวชนิดอื่น (เช่นหยดน้ำในน้ำมัน) ที่ไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน หรือมีอนุภาคของแข็ง แขวนลอยอยู่ หรือเมื่อไหลผ่านตะแกรงกรองที่มีรูขนาดเล็ก (เล็กกว่า 10 ไมโครเมตร)
 
ในกรณีนี้การลดการเกิดนั้นสามารถทำได้ด้วยการพยายามทำให้ของเหลวนั้นสะอาด (ไม่มีสิ่งอื่นแขวนลอยปะปนอยู่) จำกัดความเร็วในการไหลไม่ให้สูงเกินไป (ดูตัวอย่างในรูปที่ ๑๖ ที่เป็นกรณีของน้ำมันปิโตรเลียม) พยายามอย่าให้ในท่อมีอากาศตกค้างอยู่เมื่อเริ่มเติมของเหลวเข้าไปในท่อ (อาจทำได้ยากในกรณีของท่อที่ใช้เป็นท่อระบายหรือจ่ายของเหลวลงสู่ภาชนะรองรับ
 
รูปที่ ๑๕ ประจุไฟฟ้าที่สะสมที่ตัววาล์ว เมื่อของเหลวไหลผ่านท่อที่เป็นฉนวนไฟฟ้า แต่ตัววาล์วมีโครงสร้างที่เป็นโลหะที่มีการสัมผัสกับของเหลวที่ไหลผ่าน 
  
สำหรับความเร็วในการไหลสูงสุดนั้น ในบทความดังกล่าวกล่าวเอาไว้ว่า ถ้าเป็น chargeable ester ความเร็วในการไหลในท่อไม่ควรเกิน 10 m/s แต่ถ้าเป็นไฮโดรคาร์บอน (ในบทความเรียกว่า mineral oil products) ความเร็วในการไหลสูงสุดนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดท่อดังแสดงในรูปที่ ๑๖ ซึ่งจะเห็นว่าจะต่ำกว่ากรณีของสารประกอบเอสเทอร์อยู่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมู่เอสเทอร์นั้นพอจะมีความเป็นขั้วอยู่บ้างแม้จะไม่มาก แต่ไฮโดรคาร์บอนนั้นเป็นโมเลกุลที่ไม่มีขั้ว (หรือเอสเทอร์นำไฟฟ้าได้ดีกว่าไฮโดรคาร์บอนนั่นเอง)


รูปที่ ๑๖ ความเร็วสูงสุดของการไหลของน้ำมันปิโตรเลียม (ที่สะอาด) ในท่อ เพื่อป้องกันปัญหาจากการสะสมไฟฟ้าสถิต แต่ถ้ามีของแข็งหรือของเหลวที่ไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกันแขวนลอยอยู่ จะต้องใช้ค่าความเร็วที่ลดต่ำลงไปอีก แต่ตัวเลขนี้ใช้ไม่ได้กับกรณีของอีเทอร์และคาร์บอนไดซัลไฟด์ (CS2) ที่ค่าความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 1 m/s สำหรับท่อขนาดไม่เกิน 25 mm (ถ้าเป็นท่อใหญ่กว่านี้ก็ต้องใช้ความเร็วที่ต่ำลงไปอีก)

ในกรณีของการใช้สายยางถ่ายของเหลว (เช่นถ่ายลงภาชนะรองรับที่หิ้วไปไหนมาไหนได้) บทความดังกล่าวกล่าวเอาไว้ว่า จากประสบการณ์พบว่าแม้ใช้ภาชนะรองรับที่เป็นตัวนำไฟฟ้าและมีการต่อสายดินเอาไว้ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย มาตรการเพิ่มเติมที่จำเป็นต้องทำคือ
 
(ก) จำกัดความเร็วในการไหลไม่ให้เกิน 1 m/s
(ข) ใช้สายยางที่นำไฟฟ้าได้ ซึ่งอาจเป็น
- สายยางที่ทำจากวัสดุที่นำไฟฟ้า
- สายยางที่ทำจากวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าแต่มีตะแกรงโลหะนำไฟฟ้าได้ฝังอยู่ในเนื้อสายยาง และตะแกรงโลหะนี้มีการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าเข้ากับข้อต่อทั้งสองด้านของสายยาง หรือ
- เป็นสายยางที่ทำจากวัสดุที่นำไฟฟ้าที่มีการบุผนังด้านในเอาไว้ (ผนังบุหรือ liner มักจะเป็นวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าเช่นพอลิเมอร์ต่าง ๆ แต่ทนต่อสารเคมีที่ลำเลียง ส่วนตัวโลหะที่ใช้ทำสายยางนั้นมันนำไฟฟ้า แต่ไม่ทนต่อสารเคมีที่ลำเลียง)


รูปที่ ๑๗ สายยางที่ใช้ในการลำเลียงของเหลวควรมีค่าความต้านทานไฟฟ้าระหว่างปลายสองข้างของสายไม่เกิน 106 โอห์ม
 
แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นสายยางชนิดไหนนั้น ค่าความต้านทานไฟฟ้าระหว่างปลายสองข้างของสาย (วัดจากข้อต่อด้านหนึ่งไปยังข้อต่ออีกด้านหนึ่ง) ควรต้องไม่เกิน 106 โอห์ม และควรต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะ
 
รูปที่ ๑๘ ข้างล่างเป็นกรณีของการถ่ายของเหลวจากภาชนะหนึ่งลงสู่ภาชนะหนึ่งผ่านทางระบบท่อที่ทำจากวัสดุไม่นำไฟฟ้า (เช่น แก้ว เซรามิก) ชิ้นส่วนประกอบของท่อที่ทำจากโลหะ (เช่น วาล์ว หน้าแปลน) ต้องได้รับการต่อสายดิน หรือแม้แต่ตัวแผ่นอะลูมิเนียมที่ใช้ในการปิดคลุมฉนวนหุ้มท่อ (ถ้ามี) ก็ต้องได้รับการต่อสายดินด้วย เพื่อระบายประจุไฟฟ้าออกไป ถ้าจำเป็นต้องใช้หน้าแปลน ก็ควรใช้หน้าแปลนที่ทำจากพลาสติก ส่วนตัวนอตแต่ละตัว (ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ที่มักทำจากโลหะ) ที่ใช้ยึดหน้าแปลนเข้าด้วยกันนั้น ไม่จำเป็นต้องทำการต่อลงดิน
 
รูปที่ ๑๘ การถ่ายของเหลวจากภาชนะผ่านท่อแก้วลงสู่อีกภาชนะหนึ่ง แผ่นอะลูมิเนียมที่ทำหน้าที่ปิดคลุมฉนวนหุ้มท่อจำเป็นต้องได้รับการต่อระบายประจุไฟฟ้าลงดินด้วย

ท่อที่ทำจากวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า (เช่นท่อแก้วและพลาสติก) ไม่สามารถทำการต่อสายดินได้ แต่การระบายประจุไฟฟ้าสถิตย์ที่สะสมบนชิ้นส่วนที่เป็นโลหะต่าง ๆ ของระบบท่อ (เช่น วาล์ว หน้าแปลน) สามารถทำได้ด้วยการใช้ลวดตัวนำไฟฟ้าพันไปรอบผิวนอกของท่ออย่างหลวม ๆ (รูปที่ ๑๙) โดยให้ร้อยผ่านชิ้นส่วนโลหะที่ต้องการระบายประจุไฟฟ้าลงดิน แต่ไม่ควรจะสอดลวดตัวนำไฟฟ้าไว้ภายในท่อ เพราะถ้าลวดดังกล่าวเกิดขาดขึ้นมา จะมีโอกาสที่จะเกิดประกายไฟได้ (เพราะทำให้ประจุไฟฟ้าสะสม เนื่องจากไม่สามารถระบายลงดินได้)

รูปที่ ๑๙ ตัวอย่างวิธีการที่ (บน) เหมาะสมและ (ล่าง) ไม่เหมาะสม ในการติดตั้งลวดตัวนำไฟฟ้าเพื่อระบายประจุไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นออกจากท่อ

รูปที่ ๒๐ เป็นตัวอย่างการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้าสถิตเมื่อทำการเทของเหลว (ขอย้ำว่าของเหลวที่กล่าวมาในที่นี้คือของเหลวที่ไวไฟและไม่นำไฟฟ้าด้วยนะ) ที่บรรจุอยู่ในถังบรรจุที่ทำจากวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า ลงสู่ถังอีกใบหนึ่งที่ทำจากโลหะด้วยการใช้กรวยรอง (ทำจากโลหะเช่นกัน) ประจุไฟฟ้าสถิตจะเกิดขึ้นจากความเสียดทานและการแยกตัวออกจากกันเมื่อของเหลวนั้นไหลออกจากปากถังบรรจุ และอาจสะสมสูงมากพอที่จะทำให้เกิดประกายไฟฟ้ากระโดดข้ามไปยังตัวนำไฟฟ้าที่เคลื่อนเข้ามาใกล้ได้ ในการนี้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวจึงควรที่ทำการต่อสายดินให้กับทั้งภาชนะรองรับและตัวกรวยรอง นอกจากนี้ท่อด้านล่างของกรวยควรจะยาวลงไปจนเกือบถึงก้นภาชนะรองรับเพื่อไม่ให้ของเหลวที่เทลงไปนั้นเกิดการกระเซ็นในช่วงแรกที่เริ่มทำการเท (ซึ่งจะทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสถิตได้มากขึ้นไปอีก)
 
บทความดังกล่าวยังกล่าวต่อไปด้วยว่าตัวผู้ปฏิบัติงานเองก็ควรต้องได้รับการ "ต่อสายดิน" ด้วย แต่ไม่ใช่ด้วยการเอาสายไฟมาคีบต่อเข้ากับแขนขานะ แต่ให้ใช้การสวมรองเท้าที่พื้นรองเท้าทำจากวัสดุที่นำไฟฟ้าและยืนอยู่บนพื้นที่นำไฟฟ้า

กรณีของการเทของเหลวที่ไม่นำไฟฟ้า ที่มีของเหลวที่นำไฟฟ้าผสมปนอยู่ บทความดังกล่าวกล่าวเอาไว้ว่าต้องทำการเทลงสู่ภาชนะบรรจุที่ทำจากวัสดุที่นำไฟฟ้าได้ (เช่นโลหะ) เท่านั้น แต่รูปที่บทความอ้างอิงไปถึง (ในบทความต้นฉบับคือรูปที่ ๑๕ แต่ในที่นี้คือรูปที่ ๒๑) กลับเป็นการถ่ายของเหลวจากภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ (มีการต่อสายดิน) ผ่านทางท่อสายยาง ลงสู่ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก (ไม่นำไฟฟ้า) ซึ่งมันขัดแย้งกันอยู่
รูปที่ ๒๐ วิธีการที่เหมาะสมในการถ่ายของเหลวที่ไม่นำไฟฟ้าจากภาชนะบรรจุ (ที่ทำจากวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า) ลงสู่ภาชนะรองรับ (ที่ทำจากวัสดุนำไฟฟ้า)


รูปที่ ๒๑ การเทของเหลวที่ไม่นำไฟฟ้า ที่มีของเหลวที่นำไฟฟ้าผสมปนอยู่ รูปนี้ ในบทความต้นฉบับคำบรรยายในเนื้อหาบทความกับในรูปนั้นมีความขัดแย้งกันอยู่


รูปที่ ๒๒ เป็นการถ่ายของเหลวจากถังบรรจุ (ทำจากโลหะ) ด้วยการใช้ปั๊มสูบเพื่อถ่ายลงสู่ถังอีกใบหนึ่ง (เข่นอาจเป็นถังผสม ที่ทำจากโลหะเช่นกัน) ในรูปที่แสดงนี้ท่อที่จุ่มลงไปในของเหลวที่ต้องการสูบจะเป็นท่อโลหะ (นำไฟฟ้าได้) ส่วนท่อด้านขาออกของปั๊มจะเป็นสายยางที่ทอดตัวเข้าไปในถังรองรับ (ถ้าจะให้ดีก็ควรที่จะลงไปต่ำพอที่จะลดการกระเซ็นของของเหลวที่ไหลตกลงไปในถังรองรับ) การไหลแบบปั่นป่วนที่เกิดขึ้นภายในตัวปั๊มจะช่วยทำให้ไฟฟ้าสถิตย์เกิดได้มากขึ้น ในรูปจะเห็นว่ามีการคีบสายดินที่หน้าแปลนด้านขาออกของตัวปั๊ม (ด้านที่ต่อกับสายยาง) เข้ากับถังที่บรรจุของเหลว และถังที่รองรับของเหลว (ในรูป การต่อสายดินนั้นต่อผ่านตัวถังรองรับของเหลว)
 
แต่ทั้งนี้ ทางด้านถังบรรจุของเหลว "ต้องไม่" ทำการคีบสายดินเข้าตรงตำแหน่งช่องฝาเปิด-ปิด (ตรงที่สอดท่อดูดของปั๊มเข้าไปในถังที่ในรูปเรียกว่า bunghole) เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ไอเชื้อเพลิงนั้นพบกับอากาศ มีโอกาสที่จะเกิดส่วนผสมที่เกิดการระเบิดได้ ซึ่งถ้าหากมีประกายไฟจากไฟฟ้าสถิตย์เกิดขึ้นตรงบริเวณนั้น (เช่นตอนที่จะคีบสายดินเข้ากับช่องฝาเปิด-ปิด) ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้
ตรงนี้คงต้องขอตั้งข้อสังเกตนิดนึงเพราะบทความไม่ได้กล่าวเอาไว้ ว่าปั๊มที่ใช้ในทำงานในบรรยากาศที่อาจมีไอระเหยของเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ได้นั้น ถ้าเป็นปั๊มไฟฟ้าก็ต้องใช้มอเตอร์ชนิด explosion proof ซึ่งมีราคาแพง แต่ในงานเช่นนี้อาจใช้ปั๊มที่ใช้แรงดันอากาศเป็นตัวขับเคลื่อน
 
รูปที่ ๒๓ คล้ายกับรูปที่ ๒๒ ต่างกันตรงที่เป็นการถ่ายของเหลวจากถังใบหนึ่งสู่ถังอีกใบหนึ่งด้วยการใช้ปั๊ม ในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการต่อสายดินจากถังบรรจุใบหนึ่งลงสู่ดินโดยตรง (เส้นที่อยู่ทางด้านซ้ายของถังใบซ้าย) และเช่นเดียวกันกับกรณีของรูปที่ ๒๒ คือ ตำแหน่งคีบจับสายดินนั้นต้องไม่อยู่ตรงตำแหน่งช่องฝาเปิด-ปิดของถัง
 
รูปที่ ๒๔ เป็นตัวอย่างการเดินท่อสำหรับป้อนของเหลวที่เป็นสารไวไฟและไม่นำไฟฟ้าลงสู่ถังผสม (เป็นการเดินท่อแบบถาวร) รูปแบบนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยการสองประเด็นคือ การเกิดไฟฟ้าสถิตและการไหลย้อนกลับ รูปทางซ้ายนั้นปลายท่อป้อนของเหลวอยู่สูงจากระดับก้นถัง (หรือผิวของเหลวในถัง) ของเหลวที่ออกมาจากปลายท่อเมื่อตกกระทบพื้นด้านล่างก็จะแตกตัวออกเป็นละอองหยดเล็ก ๆ ซึ่งทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ของเหลวไหลผ่านพ้นปลายท่อออกมาด้วย แต่วิธีการนี้มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องกังวลเรื่องของเหลวที่อยู่ในถังนั้นจะเกิดการไหลย้อนกลับเข้าไปในท่อป้อน ถ้าจะเลือกใช้วิธีการนี้ก็จำเป็นต้องควบคุมความเร็วของของเหลวที่ป้อนเข้าไปนั้นให้เหมาะสม (ดูรูปที่ ๑๖) และถ้าให้ดีก็ควรทำในบรรยากาศแก๊สเฉื่อย (คือไม่มีออกซิเจน) และแก๊สเฉื่อยที่เหมาะสมก็คือไนโตรเจน ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์นั้นในบทความไม่แนะนำให้ใช้ เพราะแก๊ส CO2 ภายใต้ความดันที่ฉีดออกมาจากปลายท่อนั้นสามารถกลายเป็นผลึกน้ำแข็งแห้งที่มีประจุ ที่สามารถทำให้เกิดประกายไฟได้

รูปที่ ๒๒ การใช้ปั๊มช่วยในการถ่ายของเหลวจากภาชนะบรรจุลงสู่ถัง
รูปที่ ๒๓ การใช้ปั๊มช่วยในการถ่ายของเหลวจากถังใบหนึ่งลงสู่ถังอีกใบหนึ่ง
 
ส่วนรูปทางด้านขวาของรูปที่ ๒๔ นั้นที่ให้ปลายท่อป้อนของเหลวจุ่มลงไปใกล้ก้นถัง (ที่เรียกว่า dip pipe) ทำให้มันจมอยู่ในของเหลวที่ป้อนเข้าไปเมื่อทำการป้อนของเหลวเข้าไปได้ในปริมาณหนึ่ง วิธีการนี้มีความเหมาะสมเมื่อพิจารณาในแง่ของการป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิต แต่ก็ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการไหลย้อนกลับได้ (ซึ่งอาจเกิดจากการที่ความดันในถังเพิ่มสูงขึ้น หรือจากการเกิดกาลักน้ำ)


รูปที่ ๒๔ การถ่ายของเหลวลงสู่ถังผสม

ในบทความนี้มีการให้หมายเหตุพิเศษเฉพาะ "enamelled vessel" คือ vessel ที่มีการบุผิวด้านในด้วย enamell (ทำนองแบบเคลือบด้วยกระเบื้อง) และการใช้ "tantalum plug" (เล่นโลหะพิเศษซะด้วย) เอาไว้ด้วย ดูจากวัสดุที่กล่าวถึงแสดงว่าคณะผู้เขียนบทความชุดนี้คงต้องทำงานเกี่ยวกับการผลิตสารเคมีพิเศษ (พวกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง) ตรงนี้คงต้องขอขยายความเพิ่มเติมนิดนึงคือ โลหะบางชนิดนั้นต่อสารเคมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง (ที่มักใช้ในงานพิเศษ) แต่มันมีราคาแพง ถ้าจะเอาโลหะชนิดนั้นมาขึ้นรูปเป็น vessel หรือท่อใช้กันทั้งระบบก็จะมีค่าใช้จ่ายสูง การแก้ไขคือการขึ้นรูป vessel หรือท่อด้วยวัสดุอื่น แล้วเคลือบผิวด้านที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีนั้นด้วยวัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนได้ (เช่นพอลิเมอร์หรือเซรามิก) ยกเว้นส่วนที่หลีกไม่ได้ว่าต้องมีการสัมผัสกับสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงนั้น (เช่นจุดเชื่อมต่อ ช่องทางเข้า-ออก หรือพื้นผิวแลกเปลี่ยนความร้อน) ที่จะใช้โลหะที่ทนต่อการกัดกร่อนได้ 
  
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการรั่วไหลของไอของเหลวออกจากถังบรรจุเข้ามาในอาคาร ส่อให้เห็นว่าคณะผู้เขียนบทความต้องมีประสบการณ์การทำงานของโรงงานที่กระบวนการผลิตตั้งอยู่ในอาคารปิด

รูปที่ ๒๕ - ๒๗ เป็นตัวอย่างวิธีการเก็บตัวอย่างของเหลวจากถังบรรจุ ซึ่งแต่ละวิธีการนั้นเหมาะสมกับสภาพงานที่แตกต่างกัน
 
รูปที่ ๒๕ เป็นการเก็บตัวอย่างในถังผสมด้วยการหย่อนเก็บตัวอย่างจากช่องเปิดทางด้านบนของถังเข้าไปตักของเหลวในถัง วิธีการนี้ใช้ได้กับถังที่ไม่มีความดันภายใน ตัว sampling device (ตัวภาชนะเก็บตัวอย่างและเชือกที่หย่อนเข้าไป) ควรทำจากวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า และเพื่อป้องกันอันตรายจากการระเบิดหรือเพลิงไหม้ ก็ควรต้องมีการปิดคลุมของเหลวในถังเอาไว้ด้วยแก๊สไนโตรเจน พึงสังเกตว่าจุดเก็บตัวอย่างนั้นจะมีห้องเล็ก ๆ อยู่ทางด้านบนที่มีการป้อนแก๊สไนโตรเจนเข้าไปไล่อากาศออกจากบริเวณนั้นก่อนที่จะทำการเปิดวาล์ว (ในรูปคือ ball valve) และหย่อนขวดเก็บตัวอย่างเข้าไปในถัง
 
ในบทความนี้ยังกล่าวเอาไว้ด้วยว่าหลังจากที่ปิดการทำงานของใบพัดกวนและหยุดการป้อนของเหลวแล้ว ควรรออย่างน้อย 3 นาทีเพื่อให้ระบบหยุดนิ่งเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยทำการเก็บตัวอย่าง


รูปที่ ๒๕ การเก็บตัวอย่างในถังบรรจุด้วยขวดเก็บตัวอย่าง
 

รูปที่ ๒๖ เป็นตัวอย่างการใช้แรงดันแก๊สที่ป้อนเข้าไปในถัง ไปดันให้ของเหลวในถังไหลออกทางท่อที่จุ่มอยู่ใต้ผิวของเหลว วิธีการนี้ใช้ได้ในกรณีที่ถังผสมนั้นพอจะรับความดันเอาไว้ได้บ้าง ข้อดีของวิธีการนี้ก็คือไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับการเปิดฝาถังเพื่อเก็นตัวอย่าง แต่ก็ต้องระวังไม่ป้อนแก๊สไนโตรเจนเข้าไปจนถังรับความดันไม่ได้
  

รูปที่ ๒๖ อีกวิธีการหนึ่งในการเก็บตัวอย่างของเหลวในถัง

ในกรณีของถังที่ทำงานที่ความดันสูงนั้น การให้ของเหลวในถังไหลด้วยความดันภายในถังลงสู่ภาชนะเก็บตัวอย่างอาจเกิดอันตรายจากการที่ของเหลวที่ไหลออกมานั้นพุ่งออกมาแรง วิธีการที่ปลอดภัยกว่าคือการให้ท่อเก็บตัวอย่าง (ที่จุ่มอยู่ใต้ของเหลวภายในถังเชื่อมต่อเข้ากับถังเก็บตัวอย่างขนาดเล็ก จากนั้นจึงให้แรงดันภายในถัง (หรือใช้การทำสุญญากาศในถังเก็บตัวอย่างขนาดเล็กร่วม) สูบของเหลวจากถังผสมให้เข้ามาอยู่ในถังเก็บตัวอย่างขนาดเล็กนี้ก่อน จากนั้นจึงค่อยทำการถ่ายของเหลวจากถังเก็บตัวอย่างขนาดเล็กนี้ลงสู่ขวดเก็บตัวอย่างอีกที 
  
ส่วนของเหลวที่เหลืออยู่ในถังเก็บตัวอย่างขนาดเล็กนี้ จะส่งกลับคืนไปยังถังผสมอย่างไร ก็ฝากไว้ให้คิดกันเล่น ๆ ก็แล้วกัน

รูปที่ ๒๗ อีกวิธีการหนึ่งในการเก็บตัวอย่างของเหลวจากถัง
 
รูปที่ ๒๘ และ ๒๙ แสดงตัวอย่างการต่อลงดินเมื่อมีการถ่ายน้ำมันระหว่างรถกับถังเก็บหรือหัวจ่าย ในกรณีของรถนั้นการต่อสายดินจากตัวรถนั้นจะผ่านทางสายยาง (ที่ควรต้องนำไฟฟ้าได้) กลับไปยังถังเก็บหรือหัวจ่ายที่มีการต่อสายดินอยู่ ในกรณีของถังขนาดเล็กที่ทำจากวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้านั้น (เช่นถังพลาสติก) ก็ไม่ควรมีขนาดความจุมากเกินกว่า 5 ลิตร ในรูปยังใช้การวางถังดังกล่าวบนพื้น (เช่นพื้นคอนกรีต) แทนการถือเติม


รูปที่ ๒๘ การถ่ายของเหลวระหว่างรถบรรทุกลงกับถังเก็บ

รูปที่ ๒๙ การเติมน้ำมันให้กับรถยนต์และถังเก็บขนาดเล็ก

ส่วนรูปที่ ๓๐ เป็นข้อมูลประเภทวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการใช้ทำถังบรรจุของเหลวไวไฟแต่ละขนาด จะเห็นว่าตัวที่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าสถิตมากหน่อยคือ CS2 ที่ภาชนะบรรจุควรทำจากโลหะ
ฉบับนี้คงจบแค่นี้ แม้ว่าเนื้อหาในบทความยังไม่หมด

รูปที่ ๓๐ ขนาดและวัสดุที่เหมาะสมสำหรับใช้ทำภาชนะเก็บของเหลว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น