วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

บันทึกเรื่องที่ต้องสอนซ้ำ บันทึกความทรงจำที่ได้พบเจอ (๓) MO Memoir : Tuesday 19 December 2560


ดูออกไหมครับว่ารูปข้างบนเป็นรูปของอะไร บอกใบ้ให้นิดนึง เป็นอาหารที่ทำจากไข่ไก่ครับ :) :) :)

คนโบราณกล่าวว่า "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าทำเอง" ถ้าใช้อัตราส่วนตามนี้เราก็พอจะสรุปได้ว่า "ฟังพันครั้ง ไม่เท่ากับลงมือทำครั้งเดียว"
 
ตอนที่สอนวิชาเคมีอินทรีย์ ผมยกตัวอย่างคำกล่าวของผู้ใหญ่ที่ว่า "ทอดไข่เจียวให้อร่อยต้องใช้น้ำมันหมู" มาตั้งเป็นประเด็นคำถามให้นิสิตพิจารณาว่า คำกล่าวดังกล่าวมันมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์รองรับหรือไม่ หรือเป็นความเชื่อที่บอกต่อกันมา และวิธีที่จะยืนยันได้ดีที่สุดก็เห็นจะได้แก่ ให้ลองทอดเปรียบเทียบกันระหว่างน้ำมันหมูและน้ำมันพืช ผมเลยจัดให้นิสิตทำการทดลองโดยให้ทอดไข่เจียวเปรียบเทียบระหว่างน้ำมันหมูกับน้ำมันถั่วเหลือง
 
ก่อนหน้านั้นผมเคยถามนิสิตว่ารู้หรือเปล่าว่าการทำไข่เจียวทำอย่างไร นิสิตก็ตอบว่ารู้กันทั้งนั้นครับ พอถามต่อว่าแล้วทำไข่เจียวเป็นไหม ก็เริ่มมีคนชักไม่แน่ใจ ชั่วโมงแลปนั้นนิสิตแต่ละกลุ่มมี ๔ คน ผมก็เลยกำหนดกติกาขึ้นมาว่าให้แบ่งงานกันทำเป็น ๔ ส่วน ห้ามช่วยเหลือกันและห้ามแนะนำกัน โดยให้คนที่หนึ่งเป็นคนตอกไข่ใส่ชามและใส่เครื่องปรุง (แจกไขไก่ให้ ๔ ฟองและมีน้ำปลาให้) คนที่สองทำหน้าตีไข่ จากนั้นแบ่งไข่ที่ตีแล้วออกเป็นสองส่วน ให้อีกสองคนที่เหลือแยกกันทอดคนละกระทะ ต่างคนต่างเลือกใส่น้ำมันในปริมาณที่ตัวเองคิด เลือกความร้อนของเตาทอดเอาเอง และเพื่อให้ตื่นเต้นยิ่งขึ้นก็กำหนดให้มาทดลองทอดทีละกลุ่ม กลุ่มที่ยังไม่ได้ทอดห้ามมาแอบดูว่ากลุ่มก่อนหน้านั้นทำอย่างไร การทดลองนี้ไม่ได้บังคับให้ทำ แต่ถ้าอยากลองทำก็มีข้อแม้ว่าต้องกินไข่ทอดนั้นให้หมด
 
ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมรู้ครับ ว่าการทำไข่เจียวนั้นให้ตอกไข่ใส่ชาม จากนั้นก็เหยาะน้ำปลาเติมลงไป เอาส้อมตีให้ไข่กับน้ำปลาเข้ากัน แล้วเทส่วนผสมลงกระทะที่มีน้ำมันร้อน ๆ รออยู่

แล้วผลออกมาเป็นอย่างไรหรือครับ ในแต่ละรุ่นที่ทดลองมา นิสิตแต่ละรุ่นมีราว ๆ ๘๐ คน มีคนที่ทอดไข่เจียวแล้วเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นไข่เจียวมีอย่างมากก็แค่ประมาณ ๕ คน ที่เหลือนั้นจะเรียกว่าเพียงพอแค่สำหรับการกินแก้หิวหรือกินเพื่อประทังชีวิตก็ได้ :) :) :)
 
เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็คิดว่าตัวเองนั้นรู้ว่าต้องทำอย่างไร แต่พอเอาเข้าจริงแล้วกลับทำไม่ได้ (ไม่ว่าควรจะใส่น้ำปลาเท่าไรดี ตีไข่แค่ไหนจึงจะเรียกว่าพอ และน้ำมันร้อนได้ที่หรือยัง) สิ่งนี้บ่งบอกให้เราทราบถึงอะไรบ้าง อย่างน้อยสิ่งที่เห็นก็คือ วิธีการทำที่แต่ละคนบอกว่ารู้นั้น มันเปิดช่องให้ทำแตกต่างกันได้ นั่นแสดงว่าความรู้ที่คิดว่ารู้ดีแล้วนั้นมันไม่สมบูรณ์

ผมเคยได้รับโอกาสให้ไปช่วยงานการติดตั้งเครื่องจักรให้หน่วยงานการกุศลแห่งหนึ่งที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ คำแนะนำหนึ่งที่ผมแนะนำเขาไปก็คือการเตรียมคู่มือการทำงาน ให้คนที่ไปรับการอบรมมานั้นมาช่วยกันเขียนคู่มือแบบที่เรียกว่าต้องเขียนให้ละเอียดชนิดที่เรียกว่าเอาคนใหม่มาทำตามคู่มือดังกล่าวต้องทำได้โดยไม่ต้องถามอะไร จะได้ไม่มีปัญหาเวลาที่คนเดิมลาออกไป แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็กลายเป็นว่าแต่ละคนที่ไปอบรมต่างประเทศนั้นต่างมีบันทึกของตัวเอง ต่างคนต่างถือเก็บเอาไว้เอง ไม่มีการสร้างคู่มือปฏิบัติการที่สามารถ่ายทอดต่อให้คนที่มาใหม่ได้ พอคนที่ไปอบรมนั้นลาออกจากงานไป คนใหม่ที่มาทำหน้าที่ต่อก็ต้องไปเริ่มงานจากศูนย์ใหม่
 
คู่มือปฏิบัติงานที่ดีนั้นไม่ควรจะบอกแต่เพียงว่าให้ทำอย่างไร แต่ควรมีคำอธิบายในเรื่องที่สำคัญด้วยว่าไม่ควรทำอย่างไรด้วย เพราะการลัดขั้นตอนการทำงานนั้นมันอาจไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในทันทีทันใด แต่มันสามารถทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์นั้นสั้นลงได้ หรือไม่ก็เป็นการไปใช้งานในส่วน safety factor ที่ทางผู้ออกแบบเผื่อเอาไว้ ส่วนที่เป็น safety factor ที่การออกแบบเผื่อเอาไว้นี้มันไม่ควรเป็นส่วนที่นำมาใช้งานปรกติ มันควรเป็นส่วนที่จะถูกใช้งานถ้าหากการทำงานมีความผิดปรกติโดยไม่ตั้งใจ 
  
เพื่อให้เห็นภาพตรงนี้จะขอยกตัวอย่าง pressure vessel ที่ปัจจุบันจะทำการทดสอบความสามารถในการรับแรงดันแบบ hydrauic test ที่ 1.3 เท่าของ design pressure (คือความดันที่ใช้ในการออกแบบ ส่วนความดันในการใช้งานจริงหรือ operating pressure นั้นจะต่ำกว่า design pressure นี้อีก) ซึ่งpressure vessel นั้นต้องผ่านการทดสอบที่ความดันระดับนี้ก่อนจึงจะถือว่ามีความปลอดภัยในการใช้งาน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในการทำงานตามปรกติเราสามารถที่จะนำเอา pressure vessel ตัวนี้มาใช้งานที่ความดันสูงกว่า design pressure แต่ต่ำกว่าความดันที่ใช้ทดสอบได้
 
ในตอนที่ ๑ ของเรื่องนี้ผมได้เล่าถึงรูปแบบการเขียน ที่ผมเห็นว่ามันไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว มันขึ้นอยู่กับว่าผู้เขียนนั้นมีความถนัดอย่างไร และผู้ที่ต้องการให้รับรู้สิ่งที่เขียนนั้นเป็นใคร ในตอนที่ ๒ นั้นผมมองว่าเพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่าในการทำให้ผู้ที่รับทราบข้อมูลเดียวกันนั้นมีความเข้าใจที่ตรงกัน เราอาจต้องมีการทบทวนและกำหนดนิยามต่าง ๆ ของคำที่เราใช้ในการสื่อสารให้ชัดเจน โดยได้ยกประสบการณ์ของตัวเองที่ได้ประสบมาเป็นตัวอย่าง ส่วนตอนที่ ๓ นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการทำงาน ที่เอาเข้าจริง ๆ แล้วบ่อยครั้งที่พบว่าคู่มือการปฏิบัติงานที่มีอยู่นั้นมันเปิดช่องให้ทำแตกต่างกันได้ อันเป็นผลจากการบันทึกวิธีการปฏิบัติงานที่ไม่ชัดเจนหรือคิดว่าครอบคลุมหมดแล้ว หรือแม้แต่พบว่าของที่มีอยู่นั้นยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผมเองสอนแลปนิสิตมากว่า ๒๐ ปี ปรับปรุงแก้ไขคู่มือปฏิบัติการมาตลอด แต่ก็ยังพบอยู่เรื่อย ๆ ว่านิสิตแต่ละรุ่นยังสามารถตีความวิธีการทำแลปให้แตกต่างไปจากสิ่งที่อยากให้นิสิตปฏิบัติ

สำหรับรูปในหน้าแรกที่เอามาให้ดูนั้น ถ้าท่านใดคิดว่ามันคือ "ไข่เจียว" ก็ขอตอบว่าไม่ใช่ครับ ที่ถูกต้องคือ "ไข่ดาว" ที่นิสิตผู้ทอดเองก็ยอมรับว่า เป็นการทอดไข่ดาวครั้งแรกในชีวิต :) :) :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น