"นี่เป็นการดีมากทั้งสิ้น
แต่พลเอกมอลเค้เป็นใคร ?"
ข้อความข้างต้นเป็นคำกล่าวของผู้บังคับบัญชาทหารของปรัสเซียกองพลหนึ่ง
หลังจากที่ได้เห็นแผนการรบของหัวหน้าคณะเสนาธิการทหาร
"พลเอกมอลเค้"
ผมนำข้อความดังกล่าวมาจากหนังสือเรื่อง
"ข้อคิดทางยุทธศาสตร์ของนักยุทธศาสตร์ระดับโลก"
ที่เขียนโดย
พลโท อภิชาติ ธีรธำรง
คำกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนการรบที่เรียกว่า
Battle
of Königgrätz (หรือ
Battle
of Sadowa) อันเป็นสงครามระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย
ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมปีค.ศ.
๑๘๖๖
(พ.ศ.
๒๔๐๙
หรือตอนปลายรัชกาลที่ ๔)
ผลการรบครั้งนั้นถูกจัดว่าเป็นการชี้ชะตาผลลัพธ์สุดท้ายของความขัดแย้ง
ที่ท้ายที่สุดก็ลงเอยด้วยชัยชนะของทางฝ่ายปรัสเซีย
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในการรบครั้งนั้นคือ
การที่ปรัสเซียสามารถรวมกำลังทหารจากบริเวณต่าง
ๆ ของประเทศมายังแนวรบได้รวดเร็วกว่าทางด้านออสเตรีย
และสามารถย้ายกำลังทหารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว
โดยอาศัยเส้นทางรถไฟที่มีอยู่
อันเป็นผลจากการศึกษาระบบเครือข่ายรถไฟและการหาทางนำมาใช้ประโยชน์โดยพลเอกมอลเค้
ผู้ซึ่งก่อนหน้านั้นมักจะอยู่เงียบ
ๆ แบบไม่เป็นข่าว จนได้ฉายาว่า
"The
Great Silent One"
แม้ว่าเขาจะมีบทบาทสำคัญทางการทหารของปรัสเซียในช่วงเวลาเดียวกันกับ
ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto
von Bismarck) ที่มักมีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชกาลที่
๕ ก็ตาม
รูปที่
๑ หนังสือที่ใช้นำมาเล่าเรื่องในวันนี้
เล่มขวาเคยเอามาเล่าไว้ในเรื่อง
"เขาฝากผลงานไว้บนแผ่นดินสยาม
แต่กลับถูกหย่อนร่างทิ้งลงทะเล"
เมื่อเดือนพฤศจิกายน
๒๕๕๙ ที่มีอยู่สองตอนด้วยกัน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มในช่วงประมาณครึ่งหลังของคริสต์ศตรวรษ
๑๘ ไปจนถึงประมาณช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่
๑๙ ก่อให้เกิดความจำเป็นในการเคลื่อยย้าย
คน (ซึ่งก็คือแรงงาน)
วัตถุดิบ
และผลิตภัณฑ์ ในปริมาณมากและในเวลาอันสั้น
การขนส่งทางน้ำแม้ว่าจะสามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณมาก
แต่ก็ถูกจำกัดด้วยเส้นทางการเดินทางระหว่างเมืองที่ถูกบังคับด้วยลักษณะภูมิประเทศ
และยังใช้เวลามาก
การขนส่งทางบกแม้ว่าจะไปได้รวดเร็วกว่า
แต่ก็ยังต้องใช้แรงงานสัตว์เป็นหลัก
ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณและระยะทางที่สามารถลำเลียงไปได้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการหาทางทำให้ยานพาหนะมีล้อเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น
และวิธีการที่ค้นพบก็คือการให้ยานพาหนะนั้นเคลื่อนที่ไปบนราง
(กล่าวคือล้อเหล็กวิ่งบนรางเหล็ก)
โดยในยุคแรกนั้นยังคงเป็นการใช้แรงงานสัตว์ลากรถบรรทุกที่วิ่งอยู่บนราง
การเกิดหัวรถจักรไอน้ำทำให้การเคลื่อนที่โดยระบบรางนั้นสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้นและไกลขึ้น
และยังไม่ต้องกังวลเรื่องภูมิประเทศมากนัก
(โดยเฉพาะการลากรถบรรทุกที่หนักไต่ระดับขึ้นทางลาด)
การเลือกการวางเส้นทางรถไฟในช่วงแรกนั้นจึงพิจารณาในแง่ที่ว่าจะใช้เพื่อการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมือง
หรือวัตถุดิบ หรือสินค้าต่าง
ๆ เป็นหลัก
โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าในหลาย
ๆ กรณีแล้ว
การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การสร้างรถไฟ
(ที่ส่งผลต่อการกำหนดแนววางรางในปัจจุบัน)
จะพิจารณาเฉพาะแง่เศรษฐกิจไม่ได้
จำเป็นต้องมีการพิจารณาในแง่ยุทธศาสตร์และความมั่นคงของประเทศประกอบด้วย
อังกฤษ
สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
มีสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่แตกต่างไปจากยุโรปและประเทศไทย
สามประเทศนี้อาจมองได้ว่าเป็นประเทศที่แยกตัวห่างออกจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความขัดแย้ง
ในกรณีของอังกฤษและญี่ปุ่นนั้นเกิดจากสภาพที่เป็นประเทศตั้งอยู่บนเกาะ
ไม่มีพรมแดนทางบกติดต่อกับประเทศอื่น
ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นจัดว่าเป็นประเทศเกิดใหม่ในดินแดนที่คนพื้นเมืองเดิมมีเทคโนโลยีการรบที่ด้อยกว่ามาก
จุดนี้เป็นจุดที่แตกต่างจากยุโรปที่ต่างมีพรมแดนทางบกติดกัน
แถมในยุคนั้นมักมีความขัดแย้งระหว่างกันอยู่เสมอ
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการสร้างทางรถไฟในยุโรปจึงไม่ได้มีเพียงแค่การคมนาคมระหว่างเมือง
การขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ
แต่ยังมีนัยเรื่องการเคลื่อนย้ายกำลังพลแฝงเอาไว้ด้วย
เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวชี้ชะตาการรบก็คือความสามารถในการเคลื่อนย้ายกำลังพล
(รวมทั้งยุทโธปกรณ์)
จากตำแหน่งต่าง
ๆ ในประเทศไปรวมกำลังยังบริเวณที่ต้องการได้รวดเร็วกว่า
ดังนั้นประเทศที่มีกำลังพลน้อยกว่าก็มีสิทธิที่จะเอาชนะประเทศที่มีกำลังพลมากกว่าได้
โดยอาศัยการรวมกำลังพลให้ได้มากอย่างรวดเร็ว
และจัดการกับกำลังฝ่ายตรงข้ามที่ในขณะนั้นมีกำลังอยู่น้อยกว่า
เพราะกำลังพลส่วนใหญ่
(ที่ถ้ามมาครบแล้วจะมีจำนวนมากกว่า)
ยังเดินทางมาไม่ถึง
การสร้างทางรถไฟไปยังบริเวณพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้านนั้นบางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งได้
ด้วยการที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการวางเส้นทางรถไฟเส้นนั้นเป็นไปเพื่อการลำเลียงทหารเพื่อบุกรุกดินแดนของอีกฝั่งหนึ่ง
ในช่วงสงครามระหว่างปรัสเซียกับออสเตรียนั้น
ถ้าพิจารณากำลังพลทั้งหมดแล้ว
ทางฝ่ายปรัสเซียดูจะเสียเปรียบกว่าทางฝ่ายออสเตรียและพันธมิตรอยู่หน่อย
แต่เนื่องจากทางฝ่ายออสเตรียและพันธมิตรนั้นมีการแยกกองกำลังออกเป็นสองส่วนใหญ่
แผนการของทางฝ่ายปรัสเซียก็คือ
ให้กองกำลังส่วนน้อยรบยันฝ่ายตรงข้ามไว้กองหนึ่ง
และใช้กองกำลังส่วนที่เหลือที่มีกำลังพลมากกว่าฝ่ายตรงข้ามอีกฝั่งหนึ่ง
จัดการกับฝ่ายตรงข้ามฝั่งนั้นก่อน
จากนั้นจึงค่อยย้ายกำลังพลมาช่วยแนวรบอีกด้านหนึ่ง
แต่การทำเช่นนี้ได้จำเป็นต้องมีการวางแผนการลำเลียงพลและเส้นทางการลำเลียงที่ดี
ซึ่งตรงประเด็นนี้เรียกได้ว่าพลเอกมอลเค้เป็นรายแรกที่บุกเบิกยุทธวิธีเช่นนี้
โดยเขาได้ทำการศึกษาระบบเส้นทางรถไฟในยุโรปและนำมาใช้ประกอบการวางแผนยุทธการ
ไม่ว่าจะทำให้สามารถรวมกำลังพลได้รวดเร็วกว่าฝ่ายตรงข้ามก่อนที่ฝ่ายตรงข้ามจะพร้อม
รวมทั้งความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายกำลัง
รูปที่
๒ แผนที่เส้นทางรถไฟหลักในยุโรป
(เฉพาะเส้นทางที่กว้าง
standard
gauge ส่วนมันคือะไร
ค่อยว่ากันในตอนถัดไป)
ในปีค.ศ.
๑๘๗๐
(พ.ศ.
๒๔๑๓
หรือประมาณต้นรัชกาลที่ ๕)
รูปนำมาจาก
Paul
Caruana-Galizia & Jordi Martí-Henneberg (2013) European regional
railways and real income, 1870–1910: a preliminary report,
Scandinavian Economic History Review, 61:2, 167-196.
ประวัติศาสตร์สงครามในยุโรป
ถ้าพูดถึงพลเอกมอลเค้
(Moltke)
จะมีอยู่ด้วยกันสองคน
คนแรกที่ได้กล่าวมาในที่นึ้คือ
Helmuth
Karl Bernhard Graf von Moltke
ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นยอดเสนาธิการทหารคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น
ส่วนคนที่สองคือ Helmuth
Johann Ludwig von Moltke นี้เป็นหลานของคนแรก
คนนี้มามีบทบาทในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่
๑ แต่เรื่องความสามารถในการวางแผนแล้วจัดว่าสู้คนแรกไม่ได้
ดังนั้นเพื่อที่จะระบุให้ชัดว่าใครเป็นใคร
ก็เลยมีการเรียกคนแรกที่เป็นลุงว่า
Moltke
the Elder และคนที่สองว่า
Moltke
the Younger
ในบรรดาชาติตะวันตกที่เข้ามายังสยามและก่อปัญหาให้สยามมากที่สุดในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เห็นจะได้แก่ประเทศฝรั่งเศส
ที่พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาทางเวียดนาม
ลาว และกัมพูชา
เพื่อหวังจะใช้เป็นฐานสำหรับการเดินเรือมายังประเทศจีน
(ตอนนั้นอังกฤษมีสิงค์โปร์และฮ่องกง
ฮอลันดาก็มีอินโดนีเซีย)
อีกเส้นทางหนึ่งที่ฝรั่งเศสคาดหวังว่าน่าจะเป็นเส้นทางเดินทางเข้าจีนตอนใต้ได้ก็คือแม่น้ำโขง
ทำให้ฝรั่งเศสทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าครองครอบลำน้ำโขงให้ได้ตลอดทั้งเส้น
สิ่งนี้ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส
ในยุคสมัยที่ยังใช้อำนาจการยิงของเรือปืนนั้น
การป้องกันกรุงเทพก็ต้องอาศัยการป้องกันไม่ให้ศัตรูบุกเข้ามาทางลำน้ำเจ้าพระยาได้
ด้วยเหตุนี้ทางสยามจึงมีการสร้างป้อมไว้บริเวณปากแม่น้ำ
และเพื่อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างปากน้ำเจ้าพระยากับเมืองหลวงทำได้รวดเร็วขึ้น
โทรเลขสายแรกของสยามจึงเป็นสายปากน้ำ
และเช่นเดียวกันเพื่อให้การเคลื่อนย้ายกำลังพลและยุทธภัณฑ์
(ถ้าจำเป็น)
ไปยังปากน้ำทำได้เร็วขึ้น
รถไฟสายแรกของสยามจึงเป็นรถไฟสายปากน้ำ
รถไฟสายนี้แม้ว่าจะเป็นรถไฟเล็ก
ๆ
และโดยหลักการตอนที่สร้างก็ใช้เหตุผลว่าเพื่อการขนส่งผู้โดยสารทั่วไป
แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ
ก็เชื่อว่าสามารถนำมาใช้ในทางการทหารได้ทันที
ผมเห็นว่าการกำหนดเส้นทางการวางทางรถไฟของสยามนั้นดูแล้วน่าจะคล้ายคลึงกับทางยุโรป
คือสิ่งที่มีการกล่าวและบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจนก็คือเพื่อการขนส่งสินค้า
(สมัยนั้นจะขนส่งสินค้าเป็นหลัก)
แต่ก็แฝงเอาการเคลื่อนย้ายกำลังพลเอาไว้ด้วย
ดินแดนที่ราบสูงทางภาคอีสานและที่ราบภาคกลางนั้นถูกขวางกั้นเอาไว้ด้วยแนวภูเขาที่มีช่องทางผ่านสำหรับการเดินทางทางบกไม่มาก
ทำให้มีความยากลำบากในการเดินทางจากภาคกลางมุ่งสู่ภาคอีสาน
ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว
ถ้ามีความขัดแย้งที่ทำให้มีความจำเป็นต้องเคลื่อนกำลังทหารจากภาคกลางไปยังภาคอีสาน
สยามจะมีปัญหาในการเคลื่อนย้ายกำลังพลมาก
ถ้าพิจารณาจากมุมมองนี้ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเมื่อรัฐบาลสยามจะสร้างทางรถไฟสายแรก
(รถไฟสายปากน้ำที่เป็นรถไฟสายแรกของประเทศนั้นเป็นรถไฟเอกชนลงทุน)
จึงเลือกเส้นทางมุ่งไปยังโคราชก่อน
ในหนังสือ
"กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย"
ที่แปลจากบันทึกประจำวันของ
ลูอิส ไวเลอร์
วิศวกรชาวเยอรมันผู้มาทำหน้าที่ควบคุมการสร้างทางรถไฟช่วงไปยังโคราช
ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมรถไฟ
ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาจนถึงวันที่สยามประกาศสงครามกับเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่
๑ ในหน้า ๔
ของหนังสือดังกล่าวทางผู้แปลได้กล่าวเอาไว้ว่า
"การสร้างทางรถไฟในประเทศไทยถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางการเมืองตั้งแต่แรก
ไวเลอร์ได้รับรู้ถึงความขัดแย้งทางการเมืองนี้แต่เพียงผิวเผินในขณะที่เขายังเป็นวิศวกรหนุ่มประจำทางรถไฟสายโคราช
แต่เขาก็ได้ติดตามเรื่องนี้ด้วยความสนใจ
เขาทราบดีตั้งแต่แรกว่าการสร้างทางรถไฟจะช่วยสร้างความมั่นคงภายในให้ประเทศนี้
และสิ่งนี้จะช่วยรักษาความเป็นเอกราชของประเทศได้
ถ้าขัดขวางไม่ให้ประเทศมหาอำนาจทั้งสองมีอิทธพลต่อการสร้างทางรถไฟได้สำเร็จ"
(ประเทศมหาอำนาจทั้งสองในที่นี้คืออังกฤษและฝรั่งเศส)
รูปที่
๓ แผนที่เส้นทางรถไฟของเยอรมัน
ในช่วงปีค.ศ.
๑๙๑๐
(พ.ศ.
๒๔๕๓
หรือช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่
๕ และรัชกาลที่ ๖)
รูปนำมาจาก
https://www.globalsecurity.org/military/world/europe/de-kaiserliche-bahn.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น