วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

Fire case 1 Bangchak 2555(2012) MO Memoir : Wednesday 3 October 2561

เช้าวันพุธที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เกิดเพลิงไหม้ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก จุดที่เกิดไฟไหม้ (อิงจากรูปข้างล่าง) เป็นหอที่ไม่ได้มีการใช้งาน (Secondary tower ที่ในรูปมีคำว่า Idle กำกับอยู่)) ที่อยู่ติดกับ Gas oil stripper ที่อยู่ใกล้กับหอกลั่นน้ำมันดิบ (atmospheric column)
 
เนื่องจาก Secondary tower ไม่มีการใช้งาน จึงมีการติดตั้ง "Blind flange" ปิดกั้นการเฃื่อมต่อระหว่าง Secondary tower กับ Gas oil stripper แต่แผ่น "Blind flange" ดังกล่าวเกิดการผุกร่อนแบบ "ตามด" (หรือ pitting คือเนื้อโลหะผุกร่อนแบบเป็นรูเล็กที่ลึกลงไปในเนื้อโลหะจนทะลุเนื้อโลหะได้) ทำให้มีน้ำมันส่วนหนึ่งรั่วไหลเข้าไปสะสมอยู่ใน Secondary tower ก่อนเกิดการจุดระเบิดด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัด
 
ในคลิปวิดิทัศน์ใช้คำว่า "Blind flange" หรือที่ภาษาไทยมีผู้แปลว่า "หน้าแปลนตาบอด" ที่ใช้สำหรับปิดปลายท่อ แต่ฟังจากเหตุการณ์ที่มีการรั่วไหลจาก Gas oil stripper เข้าไปใน Secondary tower ได้นั้น แสดงว่าระหว่าง tower ทั้งสองยังมีท่อเชื่อมต่อถึงกัน (ไม่มีการถอดท่อเชื่อมต่อระหว่าง tower ทั้งสองออกไป) 
  
ประเด็นที่น่าตั้งคำถามก็คือ จากการที่ในคลิปวิดิทัศน์กล่าวถึงว่าถ้าหากมีการเคลื่อนย้ายตัว Secondary tower ที่ไม่มีการใช้งานออกไป เหตุการณ์นี้ก็คงจะไม่เกิด คำถามก็คือที่ไม่มีการย้ายเอาตัว Secondary tower ออกไปเป็นเพราะว่า "เขาคิดว่าไม่จำเป็น" หรือว่า "มันไม่สามารถย้ายออกไปได้"


รูปที่ ๑ สไลด์ประกอบการบรรยายเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันบางจาก
 
แต่ก่อนอื่นสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ เรามาทำความรู้จักกับ "Blind flange" กับ "Blind plate" ก่อนดีไหมครับ
 
การตัดการเชื่อมต่อระหว่างระบบหรือตัวอุปกรณ์ (ที่มักเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Isolation") มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ process fluid ไหลจากหน่วยผลิตที่กำลังทำงานอยู่เข้าไปในหน่วยผลิตที่ไม่ได้ใช้งาน (เช่นอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงหรือเลิกใช้งานแล้ว แต่ยังไม่มีการรื้อถอนออกไป) วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการถอดท่อเชื่อมต่อระหว่างหน่วยทั้งสองออก แล้วปิดปลายเปิดของท่อนั้นด้วย Blind flange (รูปที่ ๒ ซ้าย)
 
แต่ก็มีอยู่หลายกรณีเช่นกันที่การตัดการเชื่อมต่อนั้นมีการกระทำกันบ่อยครั้งหรือเพื่อการซ่อมบำรุง ในกรณีเช่นนี้ก็อาจไม่ถอดท่อเชื่อมต่อระหว่างระบบที่ทำงานอยู่และระบบที่ปิดการทำงาน (คือบางทีมันก็อาจไม่มีจุดที่จะถอดชิ้นส่วนท่อออกมาได้) แต่จะใช้วิธีสอดแผ่นโลหะที่เรียกว่า Blind plate แทรกเข้าไประหว่างหน้าแปลน (ถ้ามันมีที่ว่างมากพอให้แทรกนะ) และใช้แรงกดจากหน้าแปลนทั้งสองข้างของ Blind plate นั้นยึดตัว Blind plate ให้อยู่ในตำแหน่ง (รูปที่ ๒ ขวา)


รูปที่ ๒ (ซ้าย) ท่อเชื่อมระหว่าง Vessle A และ Vessel B ถูกถอดออกเพื่อตัดการเชื่อมต่อระหว่าง Vessel ทั้งสอง ดังนั้นต้องปิดหน้าแปลนที่เปิดอยู่นั้นด้วย Blind flange (ขวา) ท่อเชื่อมระหว่าง Vessle A และ Vessel B ไม่ถูกถอดออก การตัดการเชื่อมต่อระหว่าง Vessel ทั้งสองทำโดยการสอดแผ่น Blind plate แทรกเข้าไประหว่างหน้าแปลน ในกรณีนี้ถ้าหากแผ่น Blind plate มีรูรั่ว ตัว process fluid ก็จะไหลจาก Vessel หนึ่งไปยังอีก Vessel หนึ่งได้

"Stripper" เป็นหอกลั่นขนาดเล็ก ไว้ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากตัวหอกลั่นหลัก โดยทำหน้าที่ไล่องค์ประกอบที่มีจุดเดือดต่ำเกินไป (หรือเบาเกินไป) ออกจากผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่นผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลที่ออกจากหอกลั่นหลักก็อาจให้ไหลเข้า Diesel stripper ก่อน โดยน้ำมันดีเซลจะไหลเข้าทางด้านบนลงสู่ด้านล่าง (ผ่าน packing ต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ภายใน) และมีการฉีดไอน้ำเข้าทางด้านล่างไหลสวนทางขึ้นไปด้านบนเพื่อไล่องค์ประกอบเบา (เช่นน้ำมันก๊าดหรือเบนซิน) ที่ปนเข้ามาในน้ำมันดีเซลนั้นออกไป
 
ในบางกรณีนั้นแทนที่จะออกแบบ column 2 คอลัมน์แยกจากกัน ก็อาจออกแบบให้เรียงซ้อนกันสูงขึ้นไป โดยฝาครอบปิดส่วนก้นของ column ตัวบนจะทำหน้าที่เป็นฝาครอบปิดส่วนบนของ column ตัวล่างด้วย (ดูรูปที่ ๒ ประกอบ) ในบางงานนั้นความร้อนจากไอที่ระเหยขึ้นมาของ column ตัวล่างจะทำหน้าที่เป็นตัวให้ความร้อนแก่ของเหลวที่อยู่ทางด้านล่างของ column ตัวบน ตัวอย่างเช่นในกรณีของ Kerosene stripper/Diesel stripper ในรูปที่ ๑ นั้น (ถ้าในความเป็นจริงมันมีโครงสร้างแบบนี้) ไอร้อนที่ระเหยขึ้นมาจากตัว Diesel stripper จะสูญเสียความร้อนให้กับน้ำมันก๊าดที่อยู่ด้านล่างของ Kerosene stripper ทำให้ไอน้ำมันดีเซลที่ระเหยขึ้นไปนั้นควบแน่นเป็นของเหลวกลับลงมา (แทนที่จะไหลเข้าไปในหอกลั่นหลัก) ความร้อนที่น้ำมันก๊าดที่เป็นของเหลวที่อยู่ที่ก้นหอ Kerosene stripper ได้รับก็จะช่วยระเหยน้ำมันเบนซินที่ปะปนอยู่ (ถ้ามี) ให้ระเหยออกไป (ช่วยประหยัดไอน้ำที่ต้องฉีดไล่น้ำมันเบนซิน) ในกรณีเช่นนี้ถ้าไม่ต้องการใช้ column ตัวบน ก็คงต้องใช้วิธีการถอดท่อที่ก้นหอ column ตัวบนออกและใช้ Blind flange ปิดเอาไว้ (รูปที่ ๓)
 
ถ้าโครงสร้างนั้นเป็นแบบนี้ ถึงไม่ใช้ column ตัวบน ก็ไม่สามารถรื้อเอา column ตัวบนนั้นออกไปได้

รูปที่ ๓ ตัวอย่างของหอสองหอที่ซ้อนกันอยู่โดยสร้างรวมกันเป็นหน่วยเดียวกัน ในกรณีเช่นนี้ถ้าไม่ต้องการใช้ column ตัวบนก็อาจทำการถอดท่อสีแดงออก แล้วปิดปลายเปิดของท่อนั้นเอาไว้ด้วย Blind flange

ในการลุกไหม้ของเชื้อเพลิงนั้นอย่างแรกจำเป็นต้องมีส่วนผสมที่พอเหมาะระหว่างเชื้อเพลิงกับสารออกซิไดซ์ก่อน ซึ่งในกรณีของการเกิดเพลิงไหม้ส่วนใหญ่นั้นสารออกซิไดซ์ก็คือออกซิเจนในอากาศ จากนั้นถ้ามีแหล่งพลังงานที่มีพลังงานสูงมากพอมากระตุ้น ส่วนผสมนั้นก็จะเกิดการระเบิดหรือลุกติดไฟได้ แหล่งพลังงานที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวันได้แก่เปลวไฟหรือประกายไฟ แต่ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นยังมีเรื่องของ "อุณหภูมิที่สูงมากพอ" เข้ามาเกี่ยวข้องอีก กล่าวคือส่วนผสมระหว่างเชื้อเพลิงและอากาศสามารถที่จะเกิดการระเบิดและลุกติดไฟได้เองแม้ว่าจะไม่มีเปลวไฟหรือประกายไฟมากระตุ้น ถ้าหากส่วนผสมนั้นมีอุณหภูมิสูงมากพอ เช่นเกิดจากการถูกอัดให้มีความดันสูงขึ้นเช่นในกรณีของเครื่องยนต์ดีเซล หรือสัมผัสกับพื้นผิวที่มีอุณหภูมิสูงมากพอ อุณหภูมิที่สูงมากพอนี้เราเรียกว่า "Autoignition temperature"
 
ตัวอย่างเช่นน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันดีเซลที่มี Autoignition temperature อยู่ที่ประมาณ 200-250ºC ถ้าไอผสมของเชื้อเพลิงเหล่านี้กับอากาศสัมผัสกับพื้นผิวที่มีอุณหภูมิระดับ 250ºC (เช่นพื้นผิวท่อไอน้ำ) ไอผสมนี้ก็จะเกิดการระเบิดและลุกติดไฟได้เอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและโครงสร้างที่แท้จริงของอุปกรณ์นั้นเป็นอย่างไร ผมคงไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องแน่นอนได้ บทความนี้เพียงแค่ต้องการบันทึกข้อมูลที่ได้รับฟังมาว่าได้เกิดอะไรขึ้น และต้องการใช้เป็นตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดและแนวทางป้องกัน ที่ใครก็ตามเมื่อได้รับฟังข้อมูลใด ๆ ควรที่จะตั้งสติและใช้ความรู้ที่มีอยู่นั้นพิจารณาความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ได้รับมา ไม่หลงเคลิ้มไปกับเทคนิคการนำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่มีการเน้นเรื่องเทคนิคการนำเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับฟังนั้นมีเวลาคิดหรือเปิดโอกาสให้คิดเป็นอย่างอื่น เช่นด้วยการกำหนดเวลาการนำเสนอที่สั้นโดยไม่มีเวลาให้ซักถามมากนัก

คลิปการบรรยาย
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น