วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เพลิงไหม้และการระเบิดที่ BP Oil (Grangemouth) Refinery 2530(1987) Case 3 เพลิงไหม้ขณะทำความสะอาดถังเก็บน้ำมันดิบ ตอนที่ ๑ MO Memoir : Firday 7 December 2561

นิสิตวิศวกรรมเคมีปี ๒ เมื่อเข้าเรียนปฏิบัติการเคมีในชั่วโมงแรกนั้น ผมจะย้ำเรื่องความปลอดภัยในการทำงานโดยเฉพาะการไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามต่าง ๆ โดยเฉพาะการกระทำที่ไม่สมควรที่สามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นรอบข้างได้ 
  
การกระทำที่ไม่สมควรนี้ ถ้าหากการทำงานนั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษได้แบบไม่ต้องเกรงใจผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบ (เช่นอาจารย์กับนิสิต หรือตัวแทนผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมา) ถ้าพบการฝ่าฝืนเกิดขึ้นก็มักจะสั่งการลงโทษได้โดยไม่ต้องเกรงใจใด ๆ แต่ถ้าเป็นกรณีระหว่างผู้ร่วมงานด้วยกัน และยิ่งถ้าคนส่วนใหญ่ในทีมงานหรือกลุ่มผู้อาวุโสในทีมงานเป็นผู้ฝ่าฝืนเสียเอง การว่ากล่าวตักเตือนหรือขอร้องให้หยุดการกระทำดังกล่าวก็คงเป็นเรื่องลำบาก (ซึ่งอาจเป็นเพราะการกลัวว่าจะโดนขับออกจากกลุ่ม) ซึ่งเหตุการณ์ในตัวอย่างนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผู้เสียชีวิตนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ฝ่าฝืนกฎความปลอดภัย แต่เป็นตัวของผู้ร่วมทีมงานเองที่เคยฝ่าฝืนกฎมาก่อนหน้า แต่ด้วยที่มันไม่เกิดเหตุการณ์ใด ก็เลยทำต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหตุการณ์ครั้งนี้


รูปที่ ๑ โครงสร้างหลังคาของ tank เก็บของเหลว (ซ้าย) cone roof หรือ fixed roof (กลาง) external floating roof (ขวา) internal floating roof โดยในกรณีของ floating roof นั้น ตัวฝาหลังคา (เส้นสีแดง) จะลอยอยู่บนผิวของเหลว

คำว่า "ถัง" ในภาษาไทย ตรงกับคำในภาษาอังกฤษหลายคำ ขึ้นอยู่กับบริบทว่ากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ อย่างเช่นถังตักน้ำที่เราใช้กันตามบ้านทั่วไปภาษาอังกฤษก็เรียกว่า bucket ถังพักน้ำประปาก่อนที่จะใช้ปั๊มสูบจ่ายไปยังตัวบ้านภาษาอังกฤษก็เรียกว่า tank ถังแก๊ส (หรือที่ทางผู้ขายเรียกท่อแก๊ส) ที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการหรือโรงพยาบาล (เช่นถังออกซิเจนหายใจ) ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็เรียกว่า cylinder ส่วนถังเก็บแก๊สหรือของเหลวในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีทั้งแบบที่เรียกว่า drum (ไม่ได้แปลว่ากลอง), vessel และ tank สำหรับในบทความชุดนี้คำว่า "ถัง" จะหมายถึง "tank" และเป็นถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ (atmospheric tank)
 
ถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศสามารถทำหน้าที่ได้ดีในการเก็บของเหลวที่มีจุดเดือดสูงกว่าอุณหภูมิสูงสุดของสภาพแวดล้อม (โดยควรต้องคำนึงถึงกรณีที่ถังนั้นต้องตากแดดจัดทั้งวันในฤดูร้อนด้วย) สำหรับของเหลวที่มีความดันไอต่ำ (เช่นพวกมีจุดเดือดสูง) ก็สามารถเก็บของเหลวนั้นในถังแบบที่เรียกว่า cone roof หรือ fixed roof ได้ ถังแบบนี้มีข้อดีตรงที่โครงสร้างถังไม่มีส่วนเคลื่อนที่ใด ๆ ให้ต้องดูแล เพียงแค่มีช่องระบายอากาศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่หลังคาถังเพื่อไว้ให้อากาศในถังระบายออกเวลาสูบของเหลวเข้าถัง (เป็นการป้องกันไม่ให้ความดันในถังสูงเกินไป) และให้อากาศข้างนอกไหลเข้าเวลาสูบของเหลวออกจากถัง (ป้องกันไม่ให้ความดันในถังต่ำกว่าความดันบรรยากาศข้างนอก ซึ่งจะทำให้ถังถูกบีบอัดจนยุบตัวได้) ช่องระบายอากาศนี้อาจเป็นท่อเปล่า หรือมีการติดตั้ง breather valve หรือ flame arrester ซึ่งขึ้นอยู่กับของเหลวที่บรรจุ

รูปที่ ๒ ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google map ถังเล็กกลุ่ม ๔ ใบทางด้านซ้ายเป็นชนิด cone roof ส่วนถังเล็กบริเวณตอนกลางและถังใหญ่ทางด้านขวาเป็นชนิด floating roof ในกรณีที่ระดับของเหลวในถังนั้นต่ำ ตัว roof จะอยู่ต่ำกว่าขอบถังมาก ทำให้เมื่อมุมแดดส่องมาทางด้านข้างจะเห็นเป็นเงาของผนังถังบนฝาถัง ถ้าถังไหนมีของเหลวอยู่เต็มก็จะมองไม่เห็นเงาดังกล่าว ขีดเส้นขาวที่มุมขอบล่างขวาของรูปคือเส้นสเกล ๕๐ เมตร ดังนั้นถังใบใหญ่ ๆ ๕ ถังทางด้านขวาของรูปก็มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ ๑๐๐ เมตร (สนามฟุตบอลมาตรฐานจะยาวประมาณ ๑๐๐ เมตรและกว้างประมาณ ๗๐ เมตร)

ในกรณีของของเหลวที่มีความดันไอสูง (เช่นพวกที่มีจุดเดือดสูงกว่าอุณหภูมิห้องไม่มาก หรือสารละลายผสมระหว่างพวกที่มีจุดเดือดต่ำและจุดเดือดสูง เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดิบ) การใช้ cone roof tank จะก่อให้เกิดการสูญเสียเนื่องจากการระเหยได้มาก โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน วิธีการหนึ่งในการลดการสูญเสียเนื่องจากการระเหยก็คือการไม่ให้มีพื้นที่ว่างบนผิวของเหลวที่ของเหลวระเหยออกสู่อากาศได้ ตัวอย่างของวิธีการนี้ที่เห็นได้ในห้องปฏิบัติการเคมีทั่วไปคือการใช้ลูกบอลพลาสติกลอยบนผิวหน้าน้ำใน water bath (ถ้านึกภาพไม่ออกสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๖๓ วันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ เรื่อง "การลดการระเหยของของเหลว") แต่ถ้าเป็นกรณีของ tank แล้วเขาจะใช้วิธีการให้ฝาด้านบนของ tank (ที่เรียกว่า roof) ลอยปิดผิวบนของของเหลวนั้นเอาไว้ โดยฝานี้จะลอยขึ้น-ลงตามระดับของเหลวในถัง ถังแบบนี้จึงมีชื่อเรียกว่า "Floating roof tank"
 
ด้วยการที่หลังคาของ floating roof tank มันแบนราบแถมอยู่ต่ำกว่าผนังด้านข้าง มันจึงไม่สามารถระบายน้ำฝนออกทางด้านข้างได้ ก็เลยจำเป็นต้องมีท่อระบายน้ำฝนอยู่ตรงกลาง โดยตัวท่อระบายส่วนที่อยู่ใต้หลังคานั้นก็ต้องสามารถพับงอได้เพื่อที่จะเปลี่ยนระดับได้ตามความสูงของหลังคา แต่สำหรับพื้นที่ที่ที่มีหิมะตกนั้นก็ต้องมีประเด็นเรื่องน้ำหนักของหิมะที่จะสะสมบนฝาถัง (เพราะหิมะมันเป็นของแข็ง ไม่ไหลลงท่อเหมือนน้ำฝน เว้นแต่ว่าจะมั่นใจว่าน้ำมันในถังนั้นมันร้อนพอที่จะทำให้อุณหภูมิของหลังคาถังสูงพอที่จะละลายหิมะที่ตกลงมาสะสม) ในกรณีเช่นนี้การพิจารณาสร้าง fixed-roof ปิดคลุม floating roof อีกทีก็อาจเป็นการดีก็ได้ เลยกลายเป็นถังที่มีชื่อเรียกว่า "Internal floating roof tank" ส่วนตัวที่ไม่มี fixed-roof ปิดคลุมนั้นก็กลายเป็น "External floating roof tank" ไป (รูปที่ ๑) และถ้าคิดจะสร้าง fixed-roof ปิดคลุมแล้วก็ต้องไม่ลืมที่จะต้องมีช่องทางให้ระบายอากาศที่อยู่ด้านในระหว่าง floating roof และ fixed-roof ด้วย
 
บริเวณรอบ tank จะมีการสร้างกำแพงล้อมรอบที่เรียกว่า "Dike" หรือ "Bund" เพื่อเป็นการป้องกันกรณีที่ tank เกิดความเสียหายจนไม่สามารถกักเก็บของเหลวได้ โดยความสูงของกำแพงนี้อย่างน้อยต้องมากเพียงพอที่จะกักเก็บของเหลวทั้งหมดที่รั่วออกมาจาก tank ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มันล้อมรอบอยู่ได้

รูปที่ ๓ ภาพตัดขวางโครงสร้างของ floating roof ตัวขารองรับ (roof pillar หรือ support leg) จะยึดติดอยู่กับตัว roof และลอยขึ้น-ลงไปพร้อมกับตัว roof แต่เมื่อระดับของเหลวลดต่ำลงมาก ตัวขารองรับจะกันไม่ให้ตัว roof นั้นลดระดับลงถึงพื้น แต่จะให้ลอยสูงอยู่โดยมีระยะความสูงจากพื้นที่มากพอที่คนจะเข้าไปตรวจสอบบริเวณภายในได้ (ภาพจาก API RP 2016 (1st ed August 2001) "Guidelines and procedures for entering and cleaning petroleum storage tanks" รูป ๑๒-๑ หน้า ๙๐)

เหตุการณ์ที่เป็นกรณีศึกษาคราวนี้เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ (ค.ศ. ๑๙๘๗) แต่คราวนี้ไม่ได้เกิดที่ตัวโรงกลั่น แต่เกิดที่ tank farm ที่ตั้งอยู่ที่ Dalmeny oil storage terminal ที่อยู่ห่างจากโรงกลั่นมาทางตะวันออกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร (รูปที่ ๔ และ ๕) ถังน้ำมันดิบใบที่เกิดเหตุนั้นเป็น floating roof tank ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 78 เมตร (กว้างกว่าความกว้างสนามฟุตบอลหน่อย) สูงประมาณ 18 เมตร (ประมาณตึก ๕-๖ ชั้น ถ้าคิดความสูงชั้นละ 3 เมตร) จุน้ำมันได้ประมาณ 81,000 m3 จากการสำรวจในเดือนเมษายนก่อนหน้าด้วยการใช้การจุ่มวัด (dipping) ผ่าน support leg ของหลังคา พบว่าที่ก้นถังมี "Sludge" สะสมอยู่ประมาณ 1000 ตัน (คำ sludge ในภาษาอังกฤษแปลเป็นไทยได้ว่า "ตะกอน" ซึ่งอาจทำให้คิดไปได้ว่าเป็นของแข็งที่เป็นก้อนสะสมอยู่ แต่ถ้าดูจากบริบทของเรื่องแล้ว sluge ในที่นี้น่าจะมีลักษณะคล้าย "โคลนข้นเหนียว" มากกว่า)
 
รูปที่ ๓ เป็นตัวอย่างภาพตัดขวางของตัว floating roof คือตัว roof นี้จะมีขาตั้งที่เรียกว่า support leg หรือ roof pillar ยึดกระจายไปทั่วตัว roof ตัว support leg นี้ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของตัว roof เวลาที่ของเหลวในถังลดระดับต่ำลงโดยป้องกันไม่ให้ตัว roof ลดระดับลงต่ำเกินไป เพราะผนังที่ระดับความสูงบริเวณก้นถังอาจมีการติดตั้งอุปกรณ์อื่นอยู่ เช่น ท่อไอน้ำให้ความร้อน ใบพัดกวน ท่อระบายน้ำฝนจากตัว roof เอง และเพื่อไว้สำหรับการตรวจสอบภายในถัง การจุ่มวัดที่กระทำกันก็กระทำผ่านตัว support leg นี้ (ที่เป็นท่อกลวง) ตัว roof ของถัง T807 ที่เกิดเหตุนั้นก็มี support leg ทั้งสิ้น 219 ขาที่มีความสูง 2.1 เมตร (ประมาณความสูงของประตูบ้าน) ตำแหน่งของ support leg, ตำแหน่งที่ทำการจุ่มวัดระดับ sludge และความสูงของระดับ sluge ที่ก้นถังนั้นแสดงไว้ในรูปที่ ๖
 
ผนังด้านล่างของถังนั้นมีช่องทางให้คนเข้าไปในถัง (ที่เรียกว่า manway) อยู่ด้วยกัน 4 ตำแหน่ง ทำมุมห่างจากกันประมาณ 90 องศา และยังมีช่องสำหรับติดตั้งใบพัดกวน (agitator) อีก 3 ช่องที่อยู่ระหว่าง manway 2 ช่อง ใบพัดกวนนี้มีไว้เพื่อทำการผสมน้ำมันในถังให้มีความสม่ำเสมอเป็นเนื้อเดียวกัน

รูปที่ ๔ แผนผังของบริเวณ tank farm ที่เกิดเหตุ ตัวที่แรเงาคือ T807 ที่เกิดเหตุ ส่วน T809 นั้นอยู่ทางด้านซ้าย

ตรงนี้ขอขยายความนิดนึง น้ำมันที่ป้อนเข้าถังเก็บนั้น (ซึ่งอาจเป็นน้ำมันดิบหรือน้ำมันที่ได้จากการกลั่น) อาจมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ทำให้ต้องมีการผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนนำไปจำหน่ายหรือเข้าสู่กระบวนการ ตัวอย่างเช่นสมมุติว่าน้ำมันเบนซินที่ผลิตได้ในขณะหนึ่งนั้นมีเลขออกเทนต่ำกว่ามาตรฐานนิดหน่อย วิธีหนึ่งที่แก้ปัญหาได้ก็คือการผลิตน้ำมันเบนซินที่มีเลขออกเทนสูงกว่ามาตรฐานนิดหน่อยแล้วนำมาผสมกับน้ำมันที่มีเลขออกเทนต่ำกว่า เพื่อให้น้ำมันที่ผสมแล้วมีเลขออกเทนตรงตามมาตรฐาน การผสมกันนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ใบพัดกวน อาจใช้การสูบน้ำมันจากจุดหนึ่งของถังแล้วป้อนกลับไปที่อีกมุมหนึ่งภายในถังก็ได้ 
  
หรือในกรณีที่ของเหลวนั้นมีความหนืดสูงยากแก่การสูบ จำเป็นต้องมีการให้ความร้อนแก่ของเหลวนั้นด้วยการมีขดท่อไอน้ำสอดเข้าไปถัง เพื่ออุ่นของเหลวนั้นให้ร้อนขึ้น ความหนืดจะได้ลดลง ขดท่อไอน้ำนี้อาจจะอยู่แค่มุมใดมุมหนึ่งของถัง แล้วใช้ใบพัดกวนช่วยในการกระจายของเหลวที่ร้อนนั้นออกไปเพื่อให้ของเหลวที่เย็นกว่าไหลเข้ามาแทนที่เพื่อรับความร้อน

รูปที่ ๕ ในกรอบสีเหลืองคือบริเวณของ tank farm ในปัจจุบัน ภาพนี้นำมาจาก google map ในวันนี้มีถังเพิ่มอีก ๑ ถัง

ในช่วงเวลานั้นมีการทำความสะอาดถัง T809 อยู่ และทีมผู้รับเหมาที่ได้รับมอบงานให้เข้ามาทำความสะอาด T807 ก็เป็นทีมนี้ที่มีทั้งสิ้น 8 คน โดย 5 คนในทีมเป็นผู้ที่ได้อยู่ทำความสะอาด T809 อีก 3 คนเป็นคนใหม่ (งานนี้ก็เป็นเพียงแค่การย้ายอุปกรณ์จาก T809 มายัง T807) ผู้รับเหมากลุ่มนี้เรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักกันในวงการรับจ้างล้างถังและเคยทำงานให้กับทาง BP มาแล้วหลายงาน ด้วยเหตุนี้แม้ว่าจะได้มีการปรึกษากับทางผู้ดูแลสถานที่ "รายละเอียดการทำงานต่าง ๆ เพื่อกำจัด sludge จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา"
 
งานล้างถังนี้ได้รับการพิจารณาว่า "ไม่ได้" เป็นงานที่ "gas free" คือยังมีโอกาสที่จะมีไอระเหยของแก๊สติดไฟออกมาจาก sluge ได้เมื่อเข้าไปรบกวน sludge แต่จากการพิจารณาเห็นว่ามีโอกาสไม่เพียงพอที่จะทำให้ความเข้มข้นของแก๊สติดไฟสูงมากจนกระทั่งถึงระดับ lower explosive limit (LEL) ดังนั้นจึงไม่ได้มีการติดตั้งระบบระบายอากาศในถังและการเฝ้าคอยตรวจวัดการสะสมของแก๊สติดไฟได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีการคำนึงถึงแก๊สพิษที่อาจจะระเหยออกมาจาก sluge ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำหนดให้ผู้ที่เข้าไปทำงานในถังจำเป็นต้องสวมเครื่องช่วยหายใจ (ชนิด full face mask) ที่รับอากาศผ่านทางท่อกาศที่ต่ออยู่กับคอมเพรสเซอร์ที่ตั้งอยู่ด้านนอกถัง และยังมีการติดตั้ง screw pump ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิกภายในถังเพื่อใช้ส่ง sluge ที่คนงานจะตักใส่ช่องทางเข้าของปั๊มเพื่อส่ง sluge ออกไปนอกถัง ระบบไฮดรอลิกที่ใช้ขับเคลื่อน screw pump นี้ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นตัวขับเคลื่อน ตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องยนต์ดีเซลนี้ได้รับความเห็นชอบจากวิศวกรผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว
 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องแก๊สละลายอยู่ในของเหลวแต่ระเหยออกมาเมื่อมีการรบกวนของเหลวคือน้ำอัดลม ถ้าเรามีกระป๋องน้ำอัดลมที่เย็นแล้วเราเปิดมัน ก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราทำการเขย่ากระป๋องแรง ๆ ก่อนแล้วค่อยเปิด จะมีแก๊สระเหยและพุ่งออกมา
 
ในวันที่ ๔ มิถุนายน (๑ สัปดาห์ก่อนการเกิดอุบัติเหตุ) ได้มีการตัดสินใจนำเอารถตักตีนตะขาบขนาดเล็ก (ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากระบบไฮดรอกลิก) เข้าไปในถังเพื่อทำให้งานรวดเร็วขึ้น โดยใช้การถอดเป็นชิ้น ๆ แล้วไปประกอบใหม่ภายในถัง การทำงานนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมละ 4 คน รอบละ 2 ชั่วโมง โดย 3 คนจะเป็นผู้ที่เข้าไปทำงานภายในถัง อีกหนึ่งคนที่เหลือจะคอยเฝ้าอยู่ทางด้านนอกร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยของ BP
 
พึงสังเกตว่าทั้ง screw pump และรถตักตีนตะขาบ ต่างใช้ระบบไฮดรอลิกในการขับเคลื่อนการทำงานโดยใช้หน่วยต้นกำลังระบบไฮดรอกลิกที่ติดตั้งอยู่ภายนอกถัง ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่การทำงานคือในถังนั้นเป็นบริเวณที่มีโอกาสสูงที่จะมีแก๊สติดไฟได้สะสมอยู่ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ระบบไฟฟ้าในการขับเคลื่อน


รูปที่ ๖ ตำแหน่งและระดับความสูงจากพื้นของ sluge ที่สะสมอยู่ที่ก้นถัง T807

การทำงานในวันที่ ๑๑ มิถุนายนเริ่มในเวลา ๖.๓๐ น ชุดที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นชุดที่เข้าไปทำงานในเวลา ๑๒.๓๐ น (แต่ละชุดทำงานคราวละ ๒ ชั่วโมง) ณ เวลาประมาณ ๑๓.๒๐ น คนที่เฝ้าอยู่ด้านนอกมองเข้าไปข้างในเห็นไฟที่กำลังลุกไหม้เป็นวงเข้าไปโอบล้อม ๓ คนที่อยู่ข้างในจึงได้ตะโกนเรียกให้หนีออกมา คนหนึ่งนั้นสะดุดล้มลงระหว่างการหนีแต่สามารถลุกขึ้นมาได้และหนีออกมาได้พร้อมอีกคนหนึ่ง ส่วนคนที่สามที่เป็นคนขับรถตักนั้นวิ่งหนีไปอีกทางหนึ่ง แต่ไม่สามารถหนีออกมาได้ทัน เลยเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศและโดนไฟครอก
 
ในบริเวณทำงานนั้นไม่ได้มีการเตรียมสายดับเพลิงเอาไว้เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุที่ทำให้สายดับเพลิงได้รับความเสียหาย แต่พนักงานที่อยู่ประจำสถานที่ก็สามารถดับเพลิงได้ในเวลา ๑๐ นาที รถดับเพลิงมาถึงในเวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น ช่วงเวลาที่เหลือของวันนั้นใช้ในการปั๊มโฟมเข้าไปในถังเพื่อให้ภายในถังเย็นตัวลงและป้องกันไม่ให้ไฟลุกติดขึ้นอีก ส่วนร่างผู้เสียชีวิต (ที่ยังคงสวมเครื่องช่วยหายใจอยู่) สามารถนำออกมาได้เมื่อเวลา ๒๑.๐๐ น ของวันที่ ๑๒
 
กรณีของสายดับเพลิงก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาตรงที่มันเป็นสิ่งที่ "จำเป็นต้องมี" ไหม (ซึ่งในการทำงานเช่นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น) ในเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่เคยมีการเตรียมสายดับเพลิงเอาไว้ แต่สายดับเพลิงได้รับความเสียหายในระหว่างการทำงาน ถ้าคิดว่าสายดับเพลิงนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี การแก้ไขก็ควรจะมุ่งไปที่การหาทางป้องกันไม่ให้สายดับเพลิงได้รับความเสียหาย แทนที่จะใช้การไม่ให้มีสายดับเพลิงอยู่ใกล้เคียงบริเวณทำงาน (รายการนี้จะเรียกว่ากลัวของเสียมากกว่าอันตรายที่จะเกิดขึ้นก็คงไม่ผิด)

เมื่อตัว roof ลดระดับลงมาตั้งบนพื้น ตัว roof pillar จะทำหน้าที่เป็นเสาค้ำยันรับนำหนักตัว roof เอาไว้ และด้วยการที่อากาศที่คนงานในถังใช้หายใจนั้นได้มาจากอากาศจากภายนอกที่ส่งผ่านสายยางไปยังเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นการออกจากถังจำเป็นต้องออกย้อนกลับเส้นทางที่เดินเข้าไป ไม่เช่นนั้นสายยางป้อนอากาศจะเข้าไปพันกับ roof pillar ในเหตุการณ์นี้พบว่าสายยางป้อนอากาศของผู้เสียชีวิตนั้นเข้าไปพันกับ roof pillar ทำให้ไม่สามารถหนีออกมาได้

แต่ประเด็นสำคัญที่เป็นคำถามก็คือ เกิดไฟลุกไหม้ได้อย่างไร ในถังนั้นมีเชื้อเพลิงและอากาศอยู่แล้ว แต่แหล่งพลังงานที่เป็นตัวทำให้เชื้อเพลิงลุกติดไฟนั้นมาจากไหน


รูปที่ ๗ ตัวอย่างการระบายอากาศภายใน fixed-roof tank รูปทางด้านซ้ายเป็นการใช้ระบบดูดอากาศออกทางด้านบนแล้วให้อากาศภายนอกไหลเข้ามาแทนที่ ส่วนรูปทางด้านขวาใช้การอัดอากาศจากภายนอกเข้าไป (ภาพจาก API RP 2016 (1st ed August 2001) "Guidelines and procedures for entering and cleaning petroleum storage tanks" รูป ๕-๕ หน้า ๒๖)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น