วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562

ตรงตามแบบ (ตอนที่ ๓) MO Memoir : Thursday 24 January 2562

ปรกติผมก็ไม่ค่อยได้ไปนั่งกินข้าวเที่ยงที่โรงอาหารนี้หรอกครับ เพราะคนเยอะมาก จะไปก่อนเที่ยงก็ยังไม่ค่อยหิว แต่ถ้าไปหลังบ่ายโมงกับข้าวก็ไม่ค่อยเหลือแล้ว พอจะไปได้บ้างก็ช่วงปิดเทอม สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสแวะไปอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยถ่ายรูปพัดลมที่อยู่ที่ชั้น ๒ ของอาคารโรงอาหารมาให้ดูกัน (รูปที่ ๑) สังเกตเห็นอะไรอยู่หลังพัดลมไหมครับ :) :) :)

รูปที่ ๑ พัดลมเครื่องหนึ่งบนชั้น ๒ ของอาคารโรงอาหาร เห็นอะไรอยู่หลังพัดลมไหมครับ

รูปที่ ๒ สิ่งที่ติดตั้งอยู่ข้างหลังพัดลมคือป้ายบอกเส้นทางไปยังทางออกฉุกเฉิน

สิ่งที่อยู่ข้างหลังพัดลมคือป้ายบอกทางออกฉุกเฉิน ที่บอกว่าเส้นทางออกฉุกเฉินจากตัวอาหารอยู่ทางด้านไหน ซึ่งมันก็ควรติดตั้งในตำแหน่งที่ผู้คนที่ใช้อาคารนั้น "เห็นได้ชัด
  
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าระหว่างผู้ติดป้ายทางออกฉุกเฉินกับผู้ติดพัดลมนั้นใครมาติดก่อนกัน แต่คงไม่ใช่ทีมเดียวกันแน่ ถ้ามองในฐานะผู้รับเหมาก็ต้องทำงานให้ถูกต้องตามแบบที่ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้ การมีการแก้แบบย่อมหมายถึงความล่าช้าในการทำงานและการได้เงินค่าจ้าง ยิ่งเป็นการว่าจ้างของหน่วยราชการที่ว่ากันตามตัวอักษรด้วย การไม่ทำงานตรงตามตัวอักษรก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นถ้าหากเขาสามารถทำงานในสถานที่จริงได้โดยไม่ติดขัดอะไร เขาก็จะทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องสนว่าสิ่งที่เขาทำลงไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นหรือไม่ ซึ่งมองในแง่หนึ่ง การพิจารณาว่าสิ่งที่จะทำขึ้นมาใหม่นั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นหรือไม่นั้นควรเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบควรต้องเป็นฝ่ายพิจารณามากกว่าก็ได้
 
แต่ถ้ามองจากอีกมุมมองหนึ่งหนึ่ง มันก็จะเป็นการบอกถึงความเป็น "มืออาชีพ" ของผู้รับเหมา ที่เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าแบบที่ได้รับมานั้นเมื่อนำมาปฏิบัติจริงมันดูแปลก ๆ หรือมีปัญหา ก็ควรที่ต้องทำการทักท้วงไปยังผู้ว่าจ้างก่อนที่จะเดินหน้าทำงานต่อไป ว่าจะยืนยันให้ทำตามนั้นหรือควรแก้ไขแบบเสียก่อน
 
ปัญหาแบบนี้อาจจะเกิดจากการที่ในระบบราชการนั้น ผู้ออกแบบ ผู้เปิดซองประมูลงาน และผู้ตรวจรับงาน ต่างเป็นกรรมการคนละชุดกัน และไม่มีใครมีหน้าที่มาคอยตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาในขณะที่งานกำลังดำเนินการอยู่ มันก็เลยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เห็นได้ทั่วไปเป็นประจำ ที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดน่าจะได้แก่สัญญาณไฟจราจรหรือป้ายเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ หาไม่ยากหรอกครับที่จะเห็นสัญญาณไฟไปติดตั้งไว้หลังต้นไม้บ้าง หลังป้ายบ้าง หรือติดตั้งป้ายบังกันบ้าง หรือติดตั้งในตำแหน่งที่ยากจะมองเห็น ตัวอย่างสุดท้ายนี้ถ้านึกภาพไม่ออกก็ไปดูได้ที่สัญญาณไฟจราจรให้คนข้ามถนนได้ครับ ในหลาย ๆ ที่เลยรถคันแรกที่มาจอดที่ทางข้ามจะมองไม่เห็นว่าสัญญาณไฟเปลี่ยนจากแดงเป็นเขียวหรือยัง เพราะมันติดตั้งอยู่บนเสาสูงเหนือตัวรถตรงทางข้าม ไม่ได้มีเสาอีกต้นหนึ่งที่ต่ำกว่าที่อยู่ห่างออกไปข้างหน้าออกไป ที่ง่ายต่อการสังเกตมากกว่าแบบเดียวกับสัญญาณไฟที่ทางแยก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น