วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

ขอขอบคุณผู้มีอุปการะคุณทุกท่าน MO Memoir : Wednesday 2 January 2562

ขึ้นปีพ.. ใหม่ก็ได้เวลาสำหรับเก็บรวบรวมว่าในช่วงปีพ.. ๒๕๖๑ มีอะไรเกิดขึ้นกับ blog บ้าง
 
ปีที่ผ่านมาเขียนบทความไปทั้งสิ้น ๑๕๔ บทความ ๘๐๐ หน้ากระดาษ A4 เศษ ๆ เรียกว่าจำนวนบทความลดต่ำกว่ากว่าปีที่แล้วเกือบ ๔๐ บทความ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าการติดตั้งอุปกรณ์และการทำการทดลองค่อนข้างจะลงตัว บทความชุดที่ขึ้นต้นด้วย "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์" จึงลดน้อยลงไปมาก และอีกอย่างก็คือเนื้อหาที่เกี่ยวกับงานวิศวกรรมศาสตร์ที่มีอยู่ในมือ ก็ได้นำลง blog ไปเกือบหมดแล้ว 
  
งานเขียนในปีนี้ ในส่วนงานวิชาการก็วางแผนว่าจะเขียนในส่วนที่เป็นความรู้พื้นฐานให้มากขึ้น เพราะดูเหมือนว่าตอนนี้ปัญหาทำนองนี้เริ่มรุนแรงมากขึ้นทุกที แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะมีความรู้ในเรื่อง "การใช้" สิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น แต่การที่จะพัฒนาอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาเองได้นั้นจำเป็นต้องตั้งอยู่บน "พื้นฐานที่มั่นคง" ไม่ใช่ทำแค่เพียงรอคอยให้คนอื่นเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงนำสิ่งที่คนอื่นทำเอาไว้ก่อนนั้นมาดัดแปลงแล้วก็เรียกว่า "ต่อยอด"



มันเหมือนกับการทำอาหารนั่นแหละครับ ถ้าอยากได้อะไรแปลกใหม่ก็ต้องเดินทางไปเสาะแสวงหาวัตถุดิบพื้นฐานของแต่ละถิ่น จากนั้นจึงค่อยนำมาทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่รอให้มีคนทำเป็นอาหารกระป๋องก่อน แล้วค่อยนำมาปรับแต่ง



ข้อมูลที่นำมารวบรวมไว้เป็นข้อมูลที่ blog สะสมเอาไว้ตั้งแต่เริ่มเขียน (มันมีความล่าช้าในการ update ข้อมูลอยู่บ้าง) สำหรับข้อมูลในปีที่ผ่านมานั้นดูเหมือนจะได้มีผู้เข้ามาอ่านจากบางประเทศที่ไม่เคยคาดคิดเข้ามาก่อน ที่เข้ามาอ่านเป็นจำนวนมาก (จนบางทีก็สงสัยว่า blog กำลังจะโดน hack หรือเปล่า) คือจากรัสเซียและยูเครน ส่วนช่วงเวลาที่มีผู้เข้ามาอ่านมากก็คือช่วงเปิดเทอมและฝึกงาน และเป็นเรื่อง "พื้นฐานทางช่าง" เป็นหลัก

จำนวนครั้งของการเข้ามาเยี่ยมชมเมื่อปีที่แล้วคื ๒๙๙,๖๖๒ ครั้ง คิดเฉลี่ยได้ ๘๒๑ ครั้งต่อวัน ก็เรียกได้ว่าแม้จำนวนผู้เข้าชมจะลดลงเมื่อเทียบกับ ๒ ปีก่อนหน้า แต่ก็ยังคงระดับค่าเฉลี่ยไว้ที่เกินกว่า ๘๐๐ ครั้งต่อวันได้เป็นปีที่ ๓ ติดต่อกัน และบทความพวกหนึ่งที่ปรกติจะไม่ค่อยมีใครเข้ามาอ่าน แต่มักจะมีเข้ามาเป็นบางช่วงเวลาก็คือเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ "รถไฟบรรทุกไม้" ที่ศรีราชา ซึ่งปีนี้รู้สึกดีใจที่เรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟสายนี้ได้ช่วยให้กลุ่มบุคคลผู้ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง ได้มีจุดเริ่มต้นในการศึกษา แม้ว่ามันจะเป็นเพียงชิ้นต่อเล็ก ๆ ในภาพใหญ่ทั้งหมดของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
 
รูปแบบการเข้าชมอีกแบบหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือมีการเข้าชมผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือที่ราคาต่ำลงมากและจำนวนผู้เข้าถึงก็มีมากขึ้น และรูปแบบการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถดาวน์โหลดเอกสารต่าง ๆ ไว้บนมือถือหรือเครื่อง tablet ของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องแบกชีทมาเรียน ส่วนการเข้าถึงบทความพบว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้คำสำคัญหรือ key word ต่าง ๆ ค้นหาผ่านทาง google เป็นหลัก (การใช้ search engine ตัวอื่นมีน้อยมาก) ในกรณีของการเข้าถึงผ่านทางคอมพิวเตอร์นั้นพบว่า web browser ตัวหลักที่ใช้กันก็คือ Chrome (แต่ตัวผมเองชอบใช้ Firefox มากกว่า Chrome ยกเว้นการอ่านบนมือถือที่พบว่า Chrome เสถียรกว่า Firefox)


นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมายังได้มีโอกาสได้ทำพบกับอาจารย์บางท่าน ที่ตอนสมัยทำเขาเรียนปริญญาเอกอยู่ต่างประเทศนั้น เขาแวะเข้ามาอ่าน blog ผมเป็นประจำเพราะต้องการความรู้เพื่อนำไปใช้ในการทำวิจัย (แปลกดีนะครับ ได้ไปเรียนต่างประเทศแต่ยังต้องค้นหาความรู้ที่ต้องใช้เรียนในรูปแบบภาษาไทย) โดยไม่รู้ว่าคนเขียนเป็นใคร ทั้ง ๆ ทีชื่อผมก็ปรากฏอยู่บนหน้า blog ในกล่อง "จากผู้เขียนถึงผู้อ่าน"

ปิดท้ายที่ว่างของหน้านี้ด้วยรูปถ่ายโต๊ะทำงานผมที่ถ่ายเอาไว้เมื่อบ่ายโมงครึ่งที่ผ่านมาก็แล้วกันครับ :) :) :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น