วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

อันตรายจาก H2S คายซับจาก molecular sieve MO Memoir : Monday 25 February 2562

จดหมายข่าว Safety Alert ฉบับวันที่ ๖ เดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕) นำเสนอเรื่อง "Multiple fatalities - H2S released from molecular sieves after contact with water" รายงานเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจากแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือ H2S ถึง ๓ รายในขณะที่ทำการถ่าย molecular sieves (ที่ใช้ในการดูดความชื้นจากแก๊สธรรมชาติเหลว) ที่หมดสภาพการใช้งานแล้วลงสู่รถบรรทุก โดยสถานที่เกิดเหตุคือ "กระบะท้ายรถบรรทุก"






รูปที่ ๑ แบบจำลองสถานที่เกิดเหตุที่วาดขึ้นตามความเข้าใจ (บทความไม่มีรูปประกอบ)



โรงงานดังกล่าวผลิต Lean gas (แก๊สที่ไม่มีส่วนที่ควบแน่นเป็นของเหลว หรือมีอยู่น้อยมาก บางทีก็เรียกแก๊สนี้ว่า Dry gas) และ Natural Gas Liquid - NGL (คือส่วนที่เป็นของเหลวที่ควบแน่นออกมาจากแก๊สที่ได้จากบ่อ โดยเป็นส่วนไฮโดรคาร์บอนตั้งแต่ C3 ขึ้นไป) โดยไฮโดรคาร์บอนที่ได้มาจากบ่อนั้นมีไอน้ำและ H2S ปะปนมาด้วย กระบวนการประกอบด้วย การเพิ่มความดันให้กับแกีส การทำให้แก๊สเป็นของเหลว การกำจัดความชื้น ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแยกเป็น Lean gas และ Natural Gas Liqiud ด้วย cryogenic process ต่อไป
 

ตัว NGL ที่เป็นของเหลวนั้นจะถูกนำไปผ่านเบด molecular sieve เพื่อกำจัดน้ำและ H2S ก่อนเข้าสู่กระบวนการ cryogenic และเมื่อ molecular sieve ดูดซับน้ำจนอิ่มตัวก็จะใช้แก๊สร้อนที่อุณหภูมิ 250ºC ไล่ความชื้นออกเพื่อที่จะนำเอา molecular sieve กลับมาใช้งานใหม่ หลังจากไล่ความชื้นหมดแล้วก็จะลดอุณหภูมิของเบดด้วยการให้แก๊สที่เย็นไหลผ่าน
 

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังคงต้องเปลี่ยน molecular sieve ใหม่ทุก ๆ ๓-๔ ปี การเปลี่ยนจะเริ่มด้วยการไล่ความชื้นออกจาก molecular sieve ก่อน (เดาว่าคงทำเพื่อไล่ไฮโดรคาร์บอนที่มีจุดเดือดสูงที่ตกค้างอยู่ในตัว molecular sieve ออกไปด้วย) จากนั้นจึงลดอุณหภูมิเบดให้เย็นลงด้วยการให้แก๊สเย็นไหลผ่าน และการทำ nitrogen purging (แสดงว่าแก๊สเย็นที่ใช้ในการลดอุณหภูมิเบดนั้นไม่ได้เป็นแก๊สเฉื่อย) แล้วจึงส่งคนเข้าทางด้านบนของเบดเพื่อลำเลียงเอา molecular sieve ออกมาและเทลงสู่กระบะท้ายรถบรรทุกที่รออยู่ทางด้านล่าง กระบวนการนี้เคยทำมาหลายครั้งในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา
 

ในการลำเลียง molecular sieve ลงสู่ท้ายรถบรรทุกนั้น จะเท molecular sieve ที่นำออกมาจาก dryer (คือ vessel ที่บรรจุ molecular sieve) ผ่านปล่องเท (chute) ลงสู่กระบะท้ายรถบรรทุกที่ยกท้ายกระบะเทได้ (tipper truck) ที่จอดรออยู่ข้างล่าง รถบรรทุกที่จอดรอยู่นั้นมีขอบข้างสูง ตัวกระบะท้ายรถถูกทำให้เปียกชุ่มด้วยน้ำและยังมีการทำให้ molecular sieve ที่ตกลงมากองบนท้ายรถกระบะนั้นเปียกชุ่มไปด้วยน้ำ ทั้งนี้เพื่อที่จะลดการที่สาร pyrophoric ที่อาจมีมากับตัว molecular sieve นั้นลุกติดไฟ และยังช่วยไม่ให้เกิดผงผุ่นฟุ้งกระจาย
 

(สารประกอบซัลไฟล์บางชนิดเช่น FeS (ที่เกิดจากสนิมเหล็กทำปฏิกิริยากับ H2S) สามารถเกิดการลุกไหม้ได้เองในอากาศโดย S2- ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนโดยมีความร้อนคายออกมามาก แม้ว่าอาจจะไม่เกิดการลุกติดไฟ แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นก็สามารถทำให้ไอเชื้อเพลิง (ถ้ามีอยู่ในบริเวณนั้น) ลุกติดไฟได้)



หลังจากได้ทำการเท molecular sieve ลงกระบะท้ายไปได้พักหนึ่ง molecular sieve ที่เทลงมาก็กองเป็นเนินอยู่ท้ายกระบะ ผู้รับเหมาคนหนึ่งจึงตัดสินใจที่จะลงไปเกลี่ยกองเนินดังกล่าว การลงไปท้ายกระบะใช้บันไดที่พาดอยู่ทางด้านหลังห้องคนขับ หลังจากนั้นประมาณ ๑๐ นาทีก็มีผู้รับเหมาอีกคนลงไปช่วยงานคนแรก แต่ไม่นานก็หมดสติไป ผู้รับเหมาคนแรกจึงเข้าไปช่วยเหลือพร้อมกับผู้รับเหมาคนที่สามที่โดดลงมาช่วยจาก platform ของตัว dryer แต่ในที่สุดทั้งสามคนก็หมดสติและเสียชีวิต ผู้รับเหมาคนที่สี่ที่ปีนขึ้นไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นก็หมดสติไปด้วย แต่ทีมช่วยเหลือสามารถนำตัวออกมาได้ทันจึงรอดชีวิตออกมา ผู้รับเหมาทั้ง ๔ รายที่ทำงานอยู่ทางด้านนอกนั้นไม่ได้มีอุปกรณ์ป้องกันแก๊สใด ๆ ในระหว่างการทำงาน



จากการสอบสวนพบว่าทั้ง ๓ รายเสียชีวิตจากแก๊ส H2S ที่สะสมอยู่ในกระบะท้ายรถที่เป็นพื้นที่กึ่งปิด (semi-enclosed spaceเพราะมีขอบข้างที่สูง) โดย H2S นั้นคายซับออกมาจาก molecular sieve กล่าวคือในขั้นตอนการไล่น้ำออกจาก molecular sieve นั้นใช้แก๊สร้อน (ที่เหลือจากกระบวนการผลิต) ที่มี H2S ปนอยู่ 830 ppm และตอนที่ทำการลดอุณหภูมิเบดให้เย็นลงหลังการไล่ความชื้น (ซึ่งก็คงใช้แก๊สเย็นที่มี H2S ปนอยู่เช่นกัน) H2S ก็จะถูก molecular sieve ดูดซับเอาไว้ H2S ส่วนนี้ไม่ถูกไล่ออกในขั้นตอนการทำ nitrogen purging (การเอาแก๊สเฉื่อยไปไล่แก๊สเชื้อเพลิงออก) แต่จะหลุดออกมาเมื่อ molecular sieve สัมผัสกับน้ำเนื่องจาก molecular sieve มีความชอบน้ำมากกว่า H2S
 

ในเอกสารจดหมายข่าวนั้นได้สรุปความบกพร่องหลายประการที่นำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวและนำเสนอแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดอีก แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าประเด็นสำคัญที่น่าจะหยิบมาพิจารณาคือ "ทำไมงานเดียวกันนี้ทั้งนี้ทำแบบเดียวกันนี้มานาน ๒๐ ปีแล้วแต่ไม่เคยเกิดเรื่อง"
 

ความแตกต่างสำคัญระหว่างปีที่เกิดเหตุการณ์กับปีก่อนหน้าคือ แก๊สที่เข้าสู่กระบวนการนั้นมี H2S ปนเปื้อนในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ทำงานไม่ทราบ และไม่มีการให้ข้อมูลใด ๆ จากทางผู้ผลิต molecular sieve ด้วยว่ามันสามารถดูดซับ H2S เอาไว้ได้ และสามารถคายซับออกมาได้ถ้ามีน้ำเข้าไปแทนที่ ซึ่งประเด็นการคายซับนี้ทั้งตัวผู้รับเหมาและพนักงานของบริษัทนั้นต่างไม่ทราบมาก่อน



อันที่จริงเรื่องการเสียชีวิตเนื่องจากแก๊ส H2S เนี่ยในบ้านเราก็มีอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ว่ามักจะไม่ได้เป็นข่าวใหญ่หรือปรากฏออกมาในช่วงเวลานั้น ๆ แล้วก็เงียบหายไป สถานที่เกิดเหตุก็มีทั้งสถานที่ที่เห็นได้ว่าเป็นที่อับอากาศอย่างชัดเจน (เช่นในหลุมหรือในบ่อ) หรือเป็นสถานที่ที่เป็นที่โล่ง แต่มีการรั่วไหลของแก๊ส H2S ออกมาในปริมาณมาก (เช่นการเข้าไปปิดรอยรั่วที่ผ้าใบคลุมบ่อผลิตแก๊สชีวภาพ) ความเป็นพิษของ H2S นั้นเพียงแค่ระดับไม่ถึง 1000 ppm ก็สามารถทำให้คนเสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งแก๊สเข้มข้นมากนี้สามารถทำให้ผู้ได้รับแก๊สหมดสติอย่างรวดเร็วจนทำให้คนที่อยู่รอบข้างคิดว่าหมดสติจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับแก๊ส จึงรีบเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้เกิดการเสียชีวิตตาม ๆ กัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น