"น่าจะมาทำเมื่อ
๓๐ ปีที่แล้ว ตอนที่กระดูกฟันยังไม่แข็ง
และยังไม่ฝังเข้าไปในกระดูก
มันถอนง่ายหน่อย"
คุณหมอบอกกับผม
หลังจากที่ได้เห็นผลเอ็กซ์เรย์บวกกับรู้อายุของผม
(ก็นำหน้าด้วยเลข
๕ มาหลายปีแล้ว)
รูปที่
๑ ภาพ x-ray
ทั้งปากก่อนการผ่า ฟันคุดตัวที่เป็นปัญหาคือฟันกรามล่างขวา
(ในรูปจะอยู่ที่มุมซ้ายล่าง)
ฟันเส้นนี้ไปกดทับเส้นประสาท
(ตามแนวเส้นประสีส้ม)
ทำให้มีอาการปวดเวลาอ้าปากกว้างหรือเคี้ยวอาหาร
ฟันกรามล่างซ้าย
(ในรูปจะอยู่ที่มุมล่างขวา)
ก็เป็นแบบเดียวกัน
แต่ตอนนี้ไม่มีอาการอะไร
อีกซี่ที่เป็นระเบิดเวลาคือด้านบนซ้าย
(ในรูปจะเป็นมุมบนขวา)
ซี่นี้งอกขึ้นไปจ่อไปยังโพรงไซนัส
คั่นด้วยกระดูกบาง ๆ
ตอนนี้ยังไม่ก่อปัญหาอะไร
แต่ถ้าจำเป็นต้องถอนเมื่อไรก็เสี่ยงอยู่เหมือนกันที่จะมีการทะลุเข้าไปยังโพรงไซนัส
ก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อตามมาอีก
เรื่องมันเริ่มจากที่ผมรู้สึกว่าไม่ได้ตรวจสุขภาพฟันมานานกว่าปี
ต้นเดือนที่ผ่านมาก็เลยขอนัดคุณหมอที่โรงพยาบาลยันฮี
(เพราะมันอยู่ใกล้บ้านและเดินทางสะดวกดี)
เพื่อขูดหินปูนและตรวจฟันพุ
ปรากฏว่านอกจากจะได้ขูดหินปูนแล้วก็ยังได้อุดฟันผุอีก
๔ ซี่ แถมยังเจอฟันตายอีก
๑ ซี่ต้องต้องรักษารากฟัน
ดูเหมือนจะมีถุงหนองที่รากฟันด้วย
คุณหมอคนแรกทำเพียงแค่ทำการรักษาทั่วไป
รักษาเสร็จก็ก่อนสงกรานต์
ถ้าจะรักษารากฟันก็ต้องนัดหมออีกท่านที่ทำทางด้านนี้
ช่วงสงกรานต์มีอาการปวดกราม
โดยเฉพาะตอนอ้าปากกว้างเพื่อจะกินข้าวหรือกัดอาหาร
และตอนแปรงฟัน แถมน้ำลายยังมีรสเค็มอีก
ตอนแรกก็เข้าใจว่าปัญหามันเกิดจากฟันซี่ที่ตายและมีถุงหนอง
ก็เลยติดต่อนัดหมดรักษารากฟัน
ปรากฏว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากฟันซี่ที่ตาย
จุดที่เป็นปัญหามันอยู่หลังฟันกรามล่างด้านขวาซี่ในสุดที่กดแล้วรูสึกเลยว่าเป็นตุ่มแข็ง
พอไปดูผลเอ็กซ์เรย์ตอนที่อุดฟันก็พบว่าตรงนั้นมีมีฟันคุดอยู่ซี่หนึ่ง
ที่ไปเบียดฟันกรามซี่ในสุดอยู่
หลังจากปรึกษากับคุณหมอรักษารากฟันแล้ว
ก็ตกลงว่าไหน ๆ
ก็มาแล้วก็ขอจัดการรักษารากฟันซี่ที่ตายก่อน
(วันแรกก็จัดการกับโพรงประสาทและใส่ยาไว้)
จากนั้นคุณหมอก็นัดคุณหมอศัลยกรรมช่องปากอีกท่านให้ทำการผ่าฟันคุดในอีก
๓ วันถัดมา (คือวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา)
ถึงเวลานัดตอนเย็นวันพฤหัสบดี
คุณหมอศัลยกรรมท่านก็เรียกผมเข้าไปดูภาพเอ็กซ์เรย์
(รูปที่
๒ ซ้าย)
บอกว่า
case
ของคุณมันไม่ง่าย
เพราะมันฝังลึกเข้าไปในกระดูก
ท่านไม่กล้าผ่า จะขอ refer
ให้กับคุณหมออีกท่านที่ฝีมือดีกว่า
พร้อมกับถามผมว่ามีช่วงไหนที่หยุดยาวไหม
จะได้พักฟื้นสักสองสามวัน
ผมเองก็รำคาญกับอาการปวดเวลากิน
ก็อยากได้นัดเร็วที่สุด
(บังเอิญเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการสอนแล้วที่ไม่ต้องมีการบรรรยายอะไร
เป็นการสอบในเวลาเรียน)
ก็เลยได้นัดผ่าตอน
๔ โมงเย็นวันเสาร์เมื่อวาน
เรียกว่ามีเวลาสองวันสำหรับขออุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรขอให้ช่วยอโหสิ
อย่ามาจองเวรตอนนี้เลย
รูปที่
๒ รูปซ้ายเป็นภาพที่เจอตอนที่ทำการอุดฟันเมื่อตอนต้นเดือน
เห็นส่วนหัวของฟันคุดมาดันฟันกรามอยู่
ส่วนรูปขวาเป็นรูปหลังผ่าเสร็จเมื่อเย็นวันวานก่อนเย็บแผล
คุณหมอให้ไปเอ็กซ์เรย์ใหม่เพื่อดูว่ายังมีเหลือค้างอยู่หรือเปล่า
ที่ต้องตามดูกันต่อไปคือฟันกรามซี่ที่ถูกเบียด
เพราะเหมือนกับรากมันถูกกดจนแหว่งหายไป
(ตรงลูกศรชี้)
ตรงนี้ต้องรอดูว่าจะมีปัญหาฟันตายตามมาอีกหรือเปล่า
ถ้าเกิดตามมาก็ต้องตามด้วยการรักษารากฟันอีก
ก่อนผ่า
คุณหมอก็ส่งไปเอ็กซ์เรย์ใหม่ทั้งปาก
ผลก็ออกมาดังรูปที่ ๑
ทำให้รู้ว่าปัญหามีมีมากกว่าที่คิด
คือมีฟันคุดทั้งหมด ๓ ซี่
สองซี่อยู่ที่กรามล่างซ้ายและขวา
อีกซี่หนึ่งอยู่ที่กรามซ้ายบน
ซี่ที่กรามซ้ายบนนี้คุณหมออธิบายว่าดูเผิน
ๆ มันเหมือนกับไม่มีรากฟัน
แต่มันเหมือนกันมันถูกดันให้งอกขึ้นไปข้างบน
ไปชนกับโพรงไซนัส
ตรงนี้จะมีกระดูกบาง ๆ
เหมือนแผ่นกระดาษขวางกั้นอยู่ระหว่างช่องปากกับโพรงไซนัส
ถ้าต้องถอนซี่นี้ก็มีความเสี่ยงที่จะกระทบกระเทือนไปยังโพรงไซนัส
คืออาจะมีอาการไซนัสอักเสบตามมา
หรือมีเลือดออกจากโพรงจมูก
ส่วนซี่กรามล่างทั้งสองซี่นั้นมีลักษณะเหมือนกัน
คือมันนอนแนบไปกับเส้นประสาท
ตอนนี้ดูเหมือนซี่ล่างขวามันไปกดเส้นประสาทจึงทำให้รู้สึกปวดเวลาอ้าปากหรือเคี้ยว
การเอาฟันซี่นี้ออกก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกันว่ามันจะไปกระเทือนเส้นประสาท
ที่อาจทำให้รู้สึกชาได้
ถ้าเกิดอาการชาหลังผ่าตัดและไม่หายใน
๑ -
๓
เดือน ก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะหายใน
๖ เดือนหรือไม่ ถ้าผ่านไป
๖ เดือนแล้วยังไม่หาย
ก็ต้องรอดูว่าจะหายใน ๑
ปีหรือไม่ ถ้าเกิน ๑
ปีแล้วยังไม่หาย
ก็เรียกว่าคงเป็นถาวรแล้ว
คือคุณหมออธิบายว่าอาการชามันจะลดลงไปเรื่อย
ๆ แต่ไม่หายสนิท เอานิ้วกดดูจึงจะรู้สึก
ที่สำคัญคือผมเองก็อายุขึ้นเลข
๕ มาหลายปีแล้ว
คุณหมอบอกว่ามันจะยากตรงที่กระดูกจะแข็งและฟันก็ฝังเข้าไปในกระดูก
น่าจะได้ทำเมื่อ ๓๐
ปีที่แล้วตอนที่กระดูกยังอ่อนอยู่
รูปที่
๓ รูปนี้เอารูปที่ ๑
มาขยายเฉพาะบริเวณกรามด้านซ้าย
(ในรูปเอ็กซ์เรย์จะเป็นด้านขวา)
จะได้เห็นปัญหาของฟันซี่บนและซี่ล่างได้ชัดหน่อย
ตอนผ่าไม่เจ็บหรอกครับ
เจ็บนิดนึงตอนโดนฉีดยาชา
ระหว่างนั้นคุณหมอทำอะไรบ้างก็ไม่รู้
ได้ยินแต่เสียงเครื่องกรอดังตลอดเวลา
แต่แทบจะไม่มีการออกแรงดึงเลย
ก็เลยเดาว่าคงใช้การตัดฟันให้เป็นชิ้นเล็ก
ๆ เพื่อนำออกมา และก็เป็นอย่างนั้นจริง
พอจัดการเรียบร้อยคุณหมอก็ส่งไปเอ็กซ์เรย์ใหม่เพื่อตรวจดูให้มั่นใจว่าเอาออกหมดแล้วหรือยัง
ตอนลุกขึ้นจากเก้าอี้ก็เลยได้เห็นเศษฟันชิ้นเล็ก
ๆ วางอยู่เต็มไปหมด ประมาณว่าเกือบ
๒๐ ชิ้น
พอได้ผลเอ็กซ์เรย์ออกมาคุณหมอก็บอกว่าเอาฟันซี่ที่เป็นปัญหาออกหมดแล้ว
แล้วก็อธิบายให้ฟังว่าทำไมจึงต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก
ๆ ก็เพื่อที่จะลดโอกาสที่จะกระทบกระเทือนเส้นประสาท
จากนั้นก็ทำการเย็บแผล
นัดมาตัดไหมในอีก ๗ วันข้างหน้า
ก็ถือว่าเสร็จสิ้นการผ่าตัดแล้ว
ผ่าเสร็จ
๕ โมงเศษ ยังขับรถกลับบ้านได้
ยังไม่ปวดอะไร
ภรรยาก็บอกว่าเดี๋ยวรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ก่อน
แล้วค่อยรู้สึกปวด
กลับมาถึงบ้านก็มาประคบเย็นต่อ
มากินข้าวเย็นก็เกือบ ๒
ทุ่ม กินยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบที่หมอจัดให้
จากนั้นก็เริ่มมีอาการปวดแผล
เรียกว่าทำเอานอนแทบไม่หลับ
ตี ๑ เศษต้องลุกมากินยาแก้ปวดเพิ่มเติม
และก็มานอนประคบเย็นต่อที่โซฟาห้องนั่งเล่น
แล้วก็หลับไปตรงนั้น
ตื่นมาอีกทีก็ตี ๓ เศษแล้ว
รู้สึกดีขึ้นมาก อาการปวดแทบหายไป
ก็เลยกลับขึ้นไปนอนต่อบนห้อง
เช้านี้ตื่นมา (เพราะมีสอนเช้า
ภาคนอกเวลา)
ส่องกระจกดู
ก็เห็นแก้มขวาบวมปูดชัดเจน
อาการที่เคยปวดตอนอ้าปากกว้าง
กัดอาหาร หรือแปรงฟัน
ก็รู้สึกว่าหายไป
อันที่จริงก็ยังมีอาการปวดอยู่
แต่คิดว่าน่าจะเป็นจากบาดแผลมากกว่า
เพราะมันไม่ได้ปวดร้าวแบบก่อนหน้านี้
ตอนโดนผ่าไส้ติ่งเมื่อปี
๕๖ ก็ทีนึงแล้ว
ทั้งภรรยาผมและคุณหมอที่ตรวจก็ยังแปลกใจ
เพราะน้อยรายที่จะมามีปัญหาตอนอายุมาก
ตัวฟันคุดนี้ก็เหมือนกัน
อาจเป็นเพราะว่าผมไม่เคยจัดฟัน
มันก็เลยอยู่เป็นเพื่อนผมตลอดมา
จนกระทั่งถึงเวลาที่จำเป็นต้องแยกจากกันเมื่อวันวาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น