วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เขาพับผ้า (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๗) MO Memoir : Saturday 25 May 2562

"เขา" ในที่นี้ไม่ได้เป็นคำสรรพนามแทนบุคคลที่สาม แต่หมายถึงภูเขา และคำว่า "พับ" ก็ไม่ได้เป็นคำกิริยา ดังนั้นคำว่า "เขาพับผ้า" ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงการกำลังบอกว่า "ใครสักคน" กำลัง "พับ" ผ้าอยู่ แต่หมายถึงเส้นทางที่คดเคี้ยววกไปวนมาเหมือนผ้าที่พับทบไปทบมา

รูปที่ ๑ แผนที่ TACTICAL PILOTAGE CHART หมายเลข ONC L-10 เขาพับผ้าคือถนนเส้นที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลืองในภาพ แผนที่นี้ไม่ได้มีการระบุว่าข้อมูลภูมิประเทศอิงจากการสำรวจในปีใด บอกแต่เพียงว่าข้อมูลเกี่ยวกับการเดินอากาศนั้นเป็นข้อมูลในปีค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) แต่ดูจากเส้นทางถนนที่ยังไม่ปรากฏทางหลวงสาย ๔๑ เส้นปัจจุบัน แสดงว่าข้อมูลเส้นทางถนนนั้นเป็นข้อมูลที่เก่ากว่าอย่างน้อยกว่า ๑๐ หรือ ๒๐ ปีขึ้นไป

ทิวเขานครศรีธรรมราชเป็นทิวเขาที่ทอดยาวจาก จ. นครศรีธรรมราชไปจนสุดชายแดนไทยที่ จ. สตูล ทิวเขานี้แบ่ง จ. นครศรีธรรมราชเป็นสองส่วน เป็นเส้นกั้นระหว่าง จ. ตรัง และ จ. พัทลุง และเส้นกั้นระหว่าง จ. สตูล และ จ. สงขลา ช่วงที่อยู่ระหว่างตรังและพัทลุงนั้น คนท้องถิ่นจะเรียกว่า "เทือกเขาบรรทัด"

รูปที่ ๒ บางส่วนของถนนและสะพานบนเส้นทางสายเดิม ที่ยังหลงเหลืออยู่ทางด้านซ้ายของถนนเส้นปัจจุบัน ถ่ายรูปขณะรถวิ่งจากพัทลุงไปตรัง

รูปที่ ๓ บางส่วนของถนนและสะพานบนเส้นทางสายเดิม ที่ยังหลงเหลืออยู่ทางด้านซ้ายของถนนเส้นปัจจุบัน ถ่ายรูปขณะรถวิ่งจากพัทลุงไปตรังเช่นกัน 
 
"เดินพ้นน้ำราบ ... ถนนเลี้ยวไปเลี้ยวมามากขึ้น จนเมื่อใกล้จะถึงที่ปันน้ำ ถนนเลี้ยวหักพับ ราษฏรจึงเรียกที่นี่ว่าเลี้ยวพับผ้า" พระราชนิพนธ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (. ) ในคราวเสด็จเมื่อพ.. ๒๔๕๒ ยืนยันที่มาของการเรียกชื่อถนน "เขาพับผ้า"  
 
ข้อความในย่อหน้าข้างต้นคัดลอกมาจากกำแพงแสดงประวัติความเป็นมาของเขาพับผ้า (รูปที่ ๔) ที่จุดพักรถอันดามันเกตเวย์บนเส้นทางเข้าพับผ้า ที่บอกให้รู้ว่าชื่อว่า "เขาพับผ้า" นี้มีการเรียกมานานแล้ว
 


รูปที่ ๔ การเดินทางข้ามเขาพับผ้าในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕

ตอนเด็ก ๆ ที่ไปเที่ยวบ้านญาติที่พัทลุง (จำไม่ได้ว่าปีไหน แต่น่าจะเมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว) วันหนึ่งคุณน้าจะไปทำธุระที่ตรัง (คุณน้าท่านนี้เสียไปหลายปีแล้ว) เขาชวนผมไปด้วย ผมก็เลยมีโอกาสได้ติดรถปิคอัพคุณน้าไปตรัง และนั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมได้มีโอกาสเดินทางผ่านเส้นทางเขาพับผ้า (ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของถนนเพชรเกษม) ก่อนที่จะมีการปรับปรุงด้วยการวางแนวเส้นทางใหม่และขยายให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดความคดเคี้ยว เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และลดระยะเวลาการเดินทาง สิ่งที่จำได้มาจนถึงปัจจุบันคือถนนสายนี้ทิวทัศน์สวยมาก ด้านหนึ่งเป็นผาสูงขึ้นไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่งที่ต่ำลงไปนั้นเป็นลำธารไหลอยู่เคียงข้างถนน
   
ถ้าเปรียบเทียบความคดเคี้ยวของถนนสายเขาพับผ้าในตอนนั้น กับถนนเส้นอื่นหลายเส้นในปัจจุบันที่ผมได้มีประสบการณ์เดินทางผ่าน ก็ต้องบอกตามตรงว่าความคดเคี้ยวของถนนสายเขาพับผ้านั้นไม่ได้คดเคี้ยวมากไปกว่าถนนเส้นอื่น แต่ชื่อเสียงของมันนั้นอาจเป็นเพราะความที่มันเป็นถนนเส้นหลักที่เชื่อมระหว่างภาคใต้ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และเป็นถนนเส้นแรก ๆ ที่ตัดขึ้น คือดำเนินการก่อสร้างและเปิดใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้ยานพาหนะมีล้อ (คือเกวียนในสมัยนั้น) เดินทางผ่านได้ จึงทำให้มันมีชื่อเสียงเลื่องลือ การสร้างในสมัยนั้นก็เรียกว่าใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก แม้แต่การย่อยหินก็ต้องใช้วิธีการสุมไฟให้ร้อนแล้วเอาน้ำเย็นราด (รูปที่ ๕ และ ๖) แม้ว่าในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งระหว่างคนภายในชาติ ถนนเส้นนี้จึงกลายเป็นเส้นที่อันตรายถ้าจะเดินทางในเวลากลางคืน เพราะอาจพบกับการปิดถนนหรือซุ่มโจมตีได้ง่าย ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของผมก็เคยได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บนเส้นทางเขาพับผ้านี้ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนที่แกจะต้องขึ้นมากรุงเทพเพื่อเข้าร่วมพิธีประดับยศขั้นนายพล ก็เรียกว่าได้รับการประดับยศทั้ง ๆ ที่ยังมีหัวกระสุนฝังอยู่ในแขน ประดับยศเสร็จจึงไปผ่าตัดเอาหัวกระสุนออก

รูปที่ ๕ ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าไว้บนกำแพงเล่าเรื่องที่อันดามันเกตเวย์ ที่เป็นเส้นทางจุดพักรถและชมวิว จะอยู่ทางด้านขวาของถนนถ้าเดินทางมาจากตรัง โดยจะถึงก่อนจุดสูงสุดของเส้นทางเล็กน้อย ภาพนี้เล่าถึงวิธีการทำให้หินก้อนใหญ่แตกเป็นก้อนเล็กลง ด้วยการใช้ไฟสุมและน้ำเย็นราด

รูปที่ ๖ ภาพประกอบคำบรรยายในรูปที่ ๔ เป็นรูปของการก่อฟืนสุมหินให้ร้อนก่อนเอาน้ำเย็นราดเพื่อให้ก้อนหินแตกออกเป็นก้อนเล็ก (จากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหัน)
 
"ในการปรับถนนให้เรียบ พระยารัษฎาฯ ได้คิดรถบดพิเศษขึ้น โดยใช้ช้างลากก้อนหินทรงกลมขนาดใหญ่เป็นลูกกลิ้ง ใส่ดินให้ได้น้ำหนักตามต้องการ ใช้ช้าง ๑ เชือกกับควาญช้างและคนหาบหญ้าให้ช้างกิน ก็ทำงานได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลือง"
  
ที่จุดพักรถอันดามันต์เกตเวย์จะมีรูปปั้นช้างอยู่เต็มไปหมด ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันนี้ถ้าใครไปเที่ยวภาคใต้ก็มักจะไม่เห็นการเลี้ยงช้างกัน แต่การที่เขาเลือกปั้นรูปปั้นช้างเอาไว้ที่นี่ก็เป็นเพราะการเดินทางผ่านเส้นทางสายนี้ในอดีตนั้นมีทั้งการเดินเท้าและการใช้ช้างเป็นพาหะ (รูปที่ ๗) และช้างก็มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างเส้นทางเส้นนี้ นับตั้งแต่การบุกเบิกเส้นทางไปจนถึงการปรับสภาพพื้นผิวถนน


รูปที่ ๗ การเดินทางผ่านเส้นทางสายนี้ในอดีต ที่มีทั้งการเดินเท้าและใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทาง

"เมื่อถนนเสร็จเรียบร้อย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งเสด็จตรวจราชการแหลมมลายูได้ทรงทำพิธีเปิด "ถนนแต่ช่องไปต่อแดนพัทลุง ๑๖๐ เส้น" ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๔๕"
  
จากคำบรรยายบนกำแพงเล่าเรื่องในย่อหน้าข้างต้น (รูปที่ ๘) ทำให้ทราบว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้า ถนนเส้นนี้ก็จะเปิดใช้งานเป็นเวลานานถึง ๑๑๗ ปีแล้ว
  
รูปที่ ๘ ภาพประกอบคำบรรยายการเปิดถนนในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๔๕ โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

ฉบับนี้ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปอีกครั้ง เป็นเรื่องที่อยากเขียนมานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้แวะไปถ่ายรูปเสียที ปีนี้มีโอกาสแล้วก็เลยขอจัดหน่อย สวัสดีครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น