วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

เมื่อพิจารณาแยกตามช่วงอายุ MO Memoir : Thursday 23 April 2563

สิบกว่าปีที่แล้วผมมีโอกาสเดินทางไปเยอรมัน เพื่อไปเยี่ยมนิสิตปริญญาเอกคนหนึ่ง (และคนเดียว) ของผมที่เขาไปทำวิจัยที่นั่น ระหว่างช่วงหนึ่งของการสนทนาเขาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งมีคนถามเขาในวงสนทนาว่า เมื่อเกษียณอายุแล้วจะไปอยู่ไหน เขาก็ตอบว่าก็คงอยู่บ้านตามเดิม (กับลูกหลาน - ถ้ามี) ก็ทำให้ผู้ร่วมสนทนาผู้อื่นแปลกใจ ว่าทำไมยังอยู่บ้านอีก ไม่ไปอยู่ตาม Nursing home ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยก็คงเป็นสถานพยาบาลผู้ป่วยและผู้สูงอายุระยะยาว แต่ในทางกลับกันเขาก็งงเหมือนกันว่าแล้วทำไมไม่อยู่บ้าน ต้องไปอยู่ตาม Nursing home
  
รูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละสังคมแตกต่างกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่นของแต่ละสังคมนั้นแตกต่างกันไปด้วย กลุ่มคนที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวหรือจะเรียกว่ามีปากเสียงออกทางสื่อมวลชนน้อยที่สุดเห็นจะได้แก่กลุ่มเด็กและกลุ่มผู้สูงวัย เวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรขึ้นมา คนกลุ่มนี้ก็มักจะเป็นกลุ่มคนที่มักถูกลืม ถูกละเลย หรือจงใจไม่กล่าวถึง จากทั้งสื่อมวลชนและผู้ที่ต้องรับผิดชอบเหตุการณ์
ตัวอย่างเช่นสถานการณ์โรคระบาดจากไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ที่มีทั้งเสียงเรียกร้องให้ปิดเมืองและให้เปิดเมือง ข่าวสารตามสื่อหลักต่าง ๆ เต็มไปด้วย "จำนวนรวม" ของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต แต่ในวันนี้เราจะมาลองดูข้อมูลแยกตามช่วงอายุ เผื่อว่าจะทำให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ จากมุมมองอื่นดูบ้าง
  
รูปที่ ๑ จำนวนผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 ของประเทศสวีเดน 
  
แหล่งที่มาของรูปต่าง ๆ อยู่ท้ายบทความนี้ ข้อมูลเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนไปทุกวัน ดังนั้นถ้าเปิดเข้าไปดูแล้วมันไม่เหมือนกับที่ผมเอามาก็ไม่ต้องแปลกใจ (ผมดึงข้อมูลมาเมื่อเช้าวันนี้) 
    
เริ่มแรกประเดิมที่ประเทศสวีเดนก่อน ที่มีคนชื่นชมว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีโดยอาศัยความร่วมมือของประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีการปิดเมืองหรือร้านค้าต่าง ๆ รูปที่ ๑ เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามกลุ่มอายุของประเทศสวีเดน ส่วนรูปที่ ๒ เป็นจำนวนผู้เสียชีวิตแยกตามกลุ่มอายุเช่นกัน ถ้าเราพิจารณาใหม่เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่อายุน้อยกว่า ๖๐ ปีหรือกลุ่มที่ยังอยู่ในวัยทำงานซึ่งจัดเป็นกลุ่มคนเสียภาษีให้รัฐ กับกลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปที่เป็นผู้เกษียณแล้วซึ่งเป็นกลุ่มคนผู้รับสวัสดิการจากรัฐ (ซึ่งเขาก็ควรมีสิทธิ เพราะก่อนหน้านี้เขาก็ทำงานเสียภาษีเพื่อให้คนที่เกิดทีหลังเขานั้นได้ใช้สิทธิประโยชน์หลายอย่างจากเงินภาษีที่เขาเสีย) จะเห็นว่าในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อนั้น เป็นส่วนของคนกลุ่มอายุต่ำกว่า ๖๐ ประมาณ 48.6% และกลุ่มคนอายุตั้งแต่ ๖๐ ขึ้นไปประมาณ 51.4% แต่ถ้ามาดูสัดส่วนของผู้เสียชีวิตจะเห็นว่า จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นคนในกลุ่มอายุตั้งแต่ ๖๐ ขึ้นไปถึง 95% ในขณะที่คนอายุต่ำกว่า ๖๐ ลงมามีสัดส่วนเพียงแค่ 5% เท่านั้น
  
รูปที่ ๒ จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 ของประเทศสวีเดน

ถัดไปเป็นประเทศเยอรมันที่ได้รับคำชมว่าแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากในระดับเดียวกับกับประเทศขนาดใหญ่ในยุโรปตะวันตก แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต่ำกว่ามาก รูปที่ ๓ แสดงจำนวนผู้ป่วยแยกตามช่วงอายุ ส่วนรูปที่ ๔ แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตแยกตามเพศและช่วงอายุ จากรูปที่ ๓ จะเห็นว่าในกลุ่มผู้ติดเชื้อนั้นเป็นคนกลุ่มอายุไม่เกิน ๖๐ ปีประมาณ 70% และเป็นกลุ่มอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปประมาณ 30% แต่พอมาดูสัดส่วนจากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรูปที่ ๔ จะเห็นว่า เป็นคนในกลุ่มอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปถึง 95.5% โดยมีคนกลุ่มอายุไม่เกิน ๖๐ ปีเพียงแค่ 4.5% เท่านั้น
  
และถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างสวีเดนกับเยอรมัน จำนวนผู้เสียชีวิตของเยอรมันมากกว่าของสวีเดนประมาณ 2.4 เท่า แต่จำนวนประชากรของเยอรมันมากกว่าของสวีเดน 8 เท่า เรียกได้ว่าสวีเดนมีสัดส่วนการเสียชีวิตที่สูงกว่า
  
รูปที่ ๓ จำนวนผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 ของประเทศเยอรมัน
  
รูปที่ ๔ จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 ของประเทศเยอรมัน 
   
นิวยอร์คเป็นเมืองใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากกว่าบางประเทศเสียอีก แถมยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากด้วย รูปที่ ๕ เป็นตัวเลขอัตราส่วนการเสียชีวิตต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คนแยกตามกลุ่มช่วงอายุ จะเห็นว่าในส่วนของกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานนั้นต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่เกษียณอายุแล้ว และต่ำกว่าของค่าเฉลี่ยทั้งเมืองอีก อันที่จริงของสหรัฐอเมริกาเขามีการแยกตามสีผิวอีก ซึ่งมีรายงานว่าสัดส่วนการเสียชีวิต (คิดต่อจำนวนประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน) ของคนผิวสีนั้นสูงกว่าของคนผิวขาวมาก
  
รูปที่ ๕ อัตราส่วนการชีวิตจากไวรัส COVID-19 ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คนของเมืองนิวยอร์ค

คำว่า United Kingdom มันเป็นการรวมกันระหว่าง Great Britain และ Northern Ireland ในส่วนของ Great Britain เองก็ประกอบด้วย England, Scotland และ Wales เรียกว่าเป็นการรวมกลุ่มประเทศแบบแปลก ๆ คือเวลาส่งทีมฟุตบอลแข่งขันก็จะแยกประเทศกันส่ง แต่พอส่งแข่งกีฬาแบบโอลิมปิกกลับรวมกันส่ง แม้แต่ข้อมูลสถานการณ์ COVID-19 ก็ยังแยกกันระหว่าง England + Wales กับ Scotland ดังเช่นข้อมูลในรูปที่ ๖ ที่แยกสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 ตามเพศและช่วงอายุ จากกราฟจะเห็นได้ชัดว่าประมาณ 80% หรือมากกว่าของผู้เสียชีวิตนั้นเป็นคนกลุ่มที่เกษียณอายุแล้ว
  
ช่วงที่ผ่านมาเวลาดูข่าวช่อง BBC World Service เวลาที่เขารายงานจำนวนผู้เสียชีวิต เขาก็จะมีหมายเหตุเล็ก ๆ อยู่ที่ด้านล่างของจอว่า ไม่รวมจำนวนผู้เสียชีวิตที่ Nursing home ที่เป็นสถานรับดูแลคนชรา คือนอนป่วยตายที่นั่น ไม่ได้มาตายที่โรงพยาบาล ก็เลยไม่ถูกนับรวมเอาไว้
   
รูปที่ ๖ จำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ใน England และ Wales (คือไม่รวม Scotland) 
 
หนังสือพิมพ์ New York Times มีการวิเคราะห์ข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่ง (รูปที่ ๗ และ ๘) คือไปดูว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี จำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยของแต่ละประเทศและบางเมืองเป็นเท่าใด และนำมาเปรียบเทียบกับของปีปัจจุบัน ซึ่งควรมีค่าประมาณค่าเฉลี่ยบวกกับผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ถ้าสองตัวเลขนี้รวมกันแล้วเท่ากันหรือใกล้เคียงกันก็แสดงว่าตัวเลขรายงานผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ของประเทศนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริง 
  
แต่ถ้าพบว่าต่างกันมาก คือไปในแนวโน้มที่ว่าแม้ว่าหักตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ออกไปแล้ว ค่าที่ได้ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก นั่นแสดงว่าอาจมีการเสียชีวิตจาก COVID-19 แต่ไม่ได้ถูกนำมารวมไว้

 

รูปที่ ๗ จำนวนผู้เสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) ของบางประเทศและบางเมือง (ที่จำนวนประชากรอาจอยู่ในระดับเดียวกันหรือมากกว่าของประเทศเล็ก ๆ อีก) นับจากต้นปีที่ผ่านมา เทียบกับค่าเฉลี่ยของช่วงเวลาเดียวกัน
   
รูปที่ ๘ ผลต่างระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีรายงานเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย กับจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ถ้ามีค่าออกมาเป็นบวกมากก็แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่มีการเสียชีวิตจาก COVID-19 ที่ไม่ได้ปรากฏในรายงานที่เป็นทางการ (เช่นการเสียชีวิตภายในบ้านหรือบ้านพักคนชรา

รูปที่ ๙ เป็นกรณีของประเทศฝรั่งเศส เป็นสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต แยกตามช่วงอายุ จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่าผู้มีอายุตั้งแต่ ๖๔ ปีขึ้นไปมีสัดส่วนในกลุ่มนี้เพียงแค่ประมาณ 30% แต่คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนสูงกว่า 90% ในส่วนของผู้เสียชีวิต ในขณะที่คนที่กำลังอยู่ในวัยรุ่นหรือวัยกลางคน (กลุ่มอายุ 15-44 ปี) มีสัดส่วนในส่วนของผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 1% เท่านั้นเอง
  
รูปที่ ๙ สัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต แยกตามช่วงอายุ ของประเทศฝรั่งเศส

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วมีเพื่อนผมคนหนึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่มาจัดการกับ COVID-19 คือปล่อยให้คนดำเนินชีวิตไปตามปรกติ แล้วให้เชื้อโรคมันจัดการกับผู้ที่อ่อนแอ สังคมก็จะเหลือแต่ผู้ที่แข็งแรง และก็ได้ยกกรณีของประเทศสวีเดนขึ้นมา ซึ่งผมก็ได้ให้ความเห็นของผมไปดังข้อความข้างล่าง วันนี้ก็เลยจะขอบันทึกข้อความดังกล่าวเอาไว้เสียหน่อย

"ถ้าอัตราการตายเป็นแบบกระจายแบบทั่วถึงสำหรับทุกช่วงอายุ (คือจะเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน คนแก่ ก็มีโอกาสตายเท่ากันหมด) ก็น่าสงสัยว่าประเทศที่บอกว่าจะใช้วิธี herd immunity จะเลือกใช้วิธีนี้หรือเปล่า เพราะมันก็มีมุมมองที่แม้ว่านักการเมืองจะไม่พูด แต่ก็ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้เช่นกัน
  
ในกรณีปัจจุบันดูเหมือนว่าในประเทศเหล่านั้นผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นผู้ที่อยู่ในบ้านพักคนชรา ที่ถ้ามองในแง่ของรัฐบาลแล้วก็คือพวกที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม เพราะไม่มีการทำงานเสียภาษีให้รัฐ แต่เป็นภาระที่รัฐต้องเอาเงินภาษีเลี้ยงดูไปจนกว่าจะตาย การลดจำนวนคนกลุ่มนี้ลงได้ด้วยวิธีการแบบเนียน ๆ เช่นในขณะนี้ ก็จะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในอนาคตไปได้มาก
  
ถ้ามองในแง่ของคนชราที่ไม่ได้มีปากเสียงอะไรเลย เพราะไม่เห็นสำนักข่าวต่างชาติอันไหนเลยไปทำข่าวว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร เขาก็คงคิดในใจว่าตอนเขายังแข็งแรง เขาทำงานเสียภาษีให้รัฐเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนได้เติบโตในสังคมที่มีคุณภาพ แต่พอเขาแก่ขึ้นมา เด็กเหล่านั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ เขากลับถูกเด็กเหล่านี้มองว่าเป็นพวกไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เป็นภาระให้ต้องเลี้ยงดู
  
บางครั้งความสัมพันธ์ในสังคมระหว่างคนต่างช่วงอายุ ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกวิธีการได้นะ"

แหล่งที่มาของข้อมูล
Sweden :

Germany :

New York :

France :

England and Wales :

New York Times :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น