ในการเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ต่าง
ๆ ที่ใช้ในการทดลองนั้น
ไม่ควรจะเรียนเพียงแค่ใช้งานมันอย่างไร
แต่ควรเข้าใจถึงโครงสร้างของตัวอุปกรณ์
และสิ่งต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของอุปกรณ์นั้นด้วย
เพื่อที่จะได้รู้ว่าเพื่อจะให้อุปกรณ์นั้นทำงานได้ดังต้องการนั้นต้องมีการเตรียมระบบอย่างไร
และมีปัจจัยใดบ้างที่อาจส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์นั้นได้
อย่างเช่นวันนี้จะขอยกตัวอย่างกรณีของ
Laboratory scale
fixed-bed reactor
ที่เป็นอุปกรณ์หลักตัวหนึ่งในการทดสอบความว่องไวในการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยา
ในระดับห้องปฏิบัติการนั้นอุปกรณ์ตัวนี้มีทั้งการจัดวางในแนวดิ่ง
(vertical) และแนวนอน
(Horizontal)
แต่ที่กลุ่มของเราใช้อยู่นั้นเป็นชนิดที่วางในแนวดิ่งที่มีโครงสร้างดังแสดงในรูปที่
๑ ข้างล่าง
รูปที่ ๑
แผนผังการถ่ายเทความร้อนเข้า-ออกจากระบบ
Laboratory scale
fixed-bed reactor
Fixed-bed
reactor ตัวนี้ได้รับความร้อนจาก
tubular furnace
ที่วางตั้งในแนวดิ่ง
มี thermocouple
สอดอยู่ใน thermowell
เพื่อวัดอุณหภูมิจากทางด้านล่างของเบดตัวเร่งปฏิกิริยาและยังทำหน้าที่รองรับเบดตัวเร่งปฏิกิริยาเอาไว้
ไม่ให้เคลื่อนตัวลงล่างเมื่อมีแก๊สไหลผ่าน
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในแนวดิ่งจากบนลงล่างจะมีลักษณะเป็นเพิ่มสูงขึ้นจนถึงค่าสูงสุดบริเวณตอนกลาง
ซึ่งจะมีช่วงบริเวณหนึ่งที่อุณหภูมิประมาณได้ว่าคงที่
(constant
temperature zone) ก่อนที่จะลดต่ำลงทางด้านขาออก
การจัดวางตำแหน่งของเบดตัวเร่งปฏิกิริยาจะอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิคงที่นี้
การหาตำแหน่งบริวเณอุณหภูมิคงที่นี้ทำได้ด้วยการทดลองเลื่อนเทอร์โมคับเปิลไปตามแนวความยาวของ
reactor
ความร้อนจากขดลวดความร้อนที่ป้อนเข้ามานั้นมีการสูญเสียออกไป
๓ ทางหลักด้วยกัน
เส้นทางแรกคือแก๊สเย็นที่ไหลเข้า
reactor และไหลออกไป
เส้นทางที่สองคือการสูญเสียความร้อนผ่านชั้นผนังที่เป็นฉนวนความร้อน
และเส้นทางที่สามคืออากาศที่ไหลจากล่างขึ้นบนอันเป็นผลจาก
natural convection
การลดการสูญเสียจากเส้นทางที่สามนี้ทำได้ด้วยการปิดช่องว่างระหว่างตัว
reactor กับผนัง
furnace
ทางด้านบนเพื่อลดการเกิด
natural convection
(นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไปเราจึงต้องเอาแผ่นฉนวนความร้อนมาวางปิดช่องว่างด้านบนเอาไว้เสมอ)
คำถามหนึ่งที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาประจำเวลาสอบก็คือควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้อย่างไร
(การสอบโครงร่างเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็เจอคำถามนี้อีก)
สิ่งที่ผู้สอบมักลืมไปก็คือระบบที่เราใช้นั้นไม่ได้มีเฉพาะการป้อนความร้อนเข้า
แต่ยังมีการระบายความร้อนออกด้วย
(การคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้นั้นจำเป็นต้องมีทั้งเส้นทางให้ความร้อนไหลเข้าและเส้นทางให้ความร้อนไหลออก)
ในกรณีของปฏิกิริยาคายความร้อนนั้น
ถ้าปริมาณความร้อนที่คายออกจากปฏิกิริยามีมากพอจนทำให้เห็นอุณหภูมิในเบดเพิ่มสูงขึ้น
ระบบความคุมก็จะลดความร้อนที่ป้อนให้กับ
furnace
เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงเดิม
ในทางกลับกันถ้าเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อนและความร้อนที่ปฏิกิริยาดูดนั้นทำให้เบดมีอุณหภูมิลดต่ำลง
ระบบควบคุมก็จะเพิ่มความร้อนที่ให้กับ
furnace
เพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงเดิม
แต่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
(ไม่ว่าเพิ่มหรือลด)
ได้นั้น ขนาดของปฏิกิริยาที่เกิดต้องมากพอ
ในกรณีของเราที่ทำการทดลองที่ความเข้มข้นระดับ
ppm นั้น
ปริมาณความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกนั้นถือว่าน้อยมากหรือแทบไม่มีนัยสำคัญ
ดังจะเห็นได้จากเราไม่เคยจำเป็นต้องไปปรับลดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้ขดลวดความร้อนเมื่อเปลี่ยนความเข้มข้นสารตั้งต้นไม่ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลง
และด้วยการที่เบดตัวเร่งปฏิกิริยาของเรานั้นจัดได้ว่าเตี้ยและวางอยู่ในช่วงบริเวณอุณหภูมิคงที่
เราจึงสามารถสรุปได้ว่าอุณหภูมิของเบดคงมีค่าคงที่ตลอดแนวดิ่งด้วย
เรื่องการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมินี้เคยอธิบายไว้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วในเรื่อง
"ปฏิกิริยาเอกพันธ์และปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ในเบดนิ่ง"
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑
พฤศจิกายน ๒๕๕๒ หรือจะไปดาวน์โหลด
"รวมบทความชุดที่
๒๐ ประสบการณ์การทดสอบตัวเร่งปฏิกิริยา"
มาอ่านก็ได้
เพราะมันถูกนำไปรวมไว้ในรวมบทความชุดนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น