วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ให้จุดเทียนไขหย่อนลงไปก่อน MO Memoir : Friday 22 May 2563

"บริเวณที่มีผนังทึบสูงกว่าศีรษะปิดล้อมรอบด้าน ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นพื้นที่อับอากาศ"

พื้นที่ปิดล้อมนี้อาจเป็น ถังที่คนเข้าไปข้างในได้ บ่อที่ขุดลงไปในพื้นดิน หรือแม้แต่กระบะท้ายรถบรรทุก (เช่นในเรื่อง "อันตรายจาก H2S คายซับจาก molecular sieve" ที่เคยเล่าไว้เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)
 
แต่ทั้งนี้ก็อย่าไปตีความประโยคแรกแบบครอบคลุมไปทุกอย่างนะครับ มันต้องดูขนาดของพื้นที่ประกอบด้วย ไม่ใช่ว่าไปยืนอยู่กลางสนามฟุตบอลที่มีอัฒจันทร์ล้อมรอบแล้วไปสรุปว่ามันเป็นพื้นที่ปิดล้อม
ที่วันนี้เลือกเขียนเรื่องนี้ก็เพราะในช่วงสองสัปดาห์ของเดือนนี้ มีอุบัติเหตุที่เป็นข่าวถึง ๓ ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๓ รายและบาดเจ็บสาหัสอีก ๑ ราย โดยอุบัติเหตุนั้นเกิดในรูปแบบเดียวกัน (และจะว่าไปแล้วมันก็มีการเกิดแบบนี้เป็นประจำ) คือการลงไปทำงานในบ่อน้ำ (รูปที่ ๑ - ๓)

รูปที่ ๑ ข่าวการเสียชีวิตจากการลงไปทำงานในบ่อน้ำจากสำนักข่าวบ้านเมือง เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคมที่ผ่านมา
  
รูปที่ ๒ ข่าวการเสียชีวิตจากการลงไปทำงานในบ่อน้ำจากสำนักข่าวมติชน
  
การเสียชีวิตเนื่องจากการสูดดมแก๊สนั้นเกิดได้ ๒ รูปแบบ รูปแบบแรกก็คือแก๊สนั้นไม่มีออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอต่อการหายใจ รูปแบบที่สองเกิดจากความเป็นพิษของแก๊สนั้นเอง (แม้ว่าจะมีออกซิเจนในปริมาณที่มากเพียงพอต่อการหายใจอยู่ก็ตาม)
  
รูปที่ ๓ ข่าวการเสียชีวิตจากการลงไปทำงานในบ่อน้ำจากสำนักข่าวผู้จัดการ

ที่น่าสนใจก็คือ สมมุติว่าเราเริ่มขุดบ่อน้ำบ่อหนึ่ง ลึกสัก ๕ เมตร เมื่อเราเริ่มขุดเอาดินขึ้นมา อากาศก็จะไหลลงไปในหลุมไปแทนที่ดินที่ขุดขึ้นมานั้น ดังนั้นถ้าว่ากันตามนี้ เมื่อขุดบ่อไปได้ลึก ๕ เมตร ที่ก้นบ่อก็จะเต็มไปด้วยอากาศที่เหมือนกับบนปากบ่อ อันตรายจากการไม่มีอากาศหายใจจึงไม่น่าจะเกิด แต่ทำไมพอเวลาผ่านไปนาน ๆ ออกซิเจนในอากาศในบ่อนั้นถึงหายไปได้
  
รูปที่ ๔ คำเตือนเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขุดบ่อและการเข้าไปทำงานในบ่อหลัง จากคู่มือ Oxfam Water Supply Scheme for Emergencies, Instruction manual for Hand Dug Well Equipment, Covering well auger survey, well digging, dewatering and desludging kits พิมพ์เผยแพร่ปีค.ศ. 2000

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อาจตกลงไปในบ่อ ถ้าเป็นการย่อยสลายแบบใช้อากาศ แบคทีเรียจะใช้ออกซิเจนในอากาศย่อยสลายสารอินทรีย์นั้นเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่เกิดก็คือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูงกว่าอากาศ (หนักว่าอากาศประมาณ 1.5 เท่า) แต่ด้วยความลึกของบ่อจึงทำให้ไม่มีการไหลหมุนเวียนของอากาศภายในบ่อ ทำให้บริเวณก้นบ่อมีการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ความเข้มข้นออกซิเจนนั้นจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และถ้าเกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีแก๊สมีเทน (CH4) และอาจมีไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ร่วมด้วย ซึ่งแก๊สสองชนิดหลังนี้เป็นแก๊สที่ติดไฟได้
  
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบ่อที่จะลงไปนั้นมีอากาศเพียงพอ วิธีการง่าย ๆ วิธีการหนึ่งก็ทำได้ด้วยการจุดเทียนไขหย่อนลงไปก่อน ถ้าเห็นว่าเทียนไขดับก็แสดงว่าที่ก้นบ่อนั้นไม่มีอากาศเพียงพอสำหรับการหายใจ
   
แต่วิธีการนี้ก็ใช้ตรวจสอบได้แต่เพียงว่าที่ก้นบ่อมีออกซิเจนมากพอหรือไม่ ไม่สามารถบอกได้ว่าที่ก้นบ่อนั้นมีแก๊สพิษอยู่หรือไม่ คู่มือของ Oxfam ที่เป็นองค์กรการกุศล (รูปที่ ๔) ยังให้คำเตือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับแก๊สที่ติดไฟได้ (ซึ่งก็คือมีเทน) ที่อาจการรั่วไหลออกมาเรื่อย ๆ ที่ก้นบ่อ ด้วยการห้ามการสูบบุหรี่หรือมีเปลวไฟ (ยกเว้นการหย่อนเทียนไขเพื่อทดสอบ) และให้หลีกเลี่ยงการใช้เชือกไนลอน (ในความเป็นจริงก็คือเชือกที่ทำจากไนลอนหรือพอลิโอเลฟินส์) เพราะเชือกเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า การเสียดสีของเชือกเองกับวัสดุใด ๆ ก็จะทำให้เชือกเส้นนั้นมีประจุไฟฟ้าสถิตย์สะสม และถ้ามากพอก็อาจเกิดประกายไฟได้ และถ้าบริเวณที่เกิดประกายไฟนั้นมีแก๊สมีเทนในปริมาณที่มากพอ ก็จะเกิดการระเบิดตามมาได้
  
ปัญหาก็คือ การเสียชีวิตรูปแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในบ้านเรา ปีละหลายราย ทำอย่างไรจึงจะเผยแพร่ข้อควรระวังให้เป็นที่รู้กันให้มากที่สุด เพื่อลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น