วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เมื่อขุดบ่อน้ำ แต่กลับเจอบ่อแก๊ส MO Memoir : Sunday 21 June 2563

เวลาที่ฝนตกลงพื้นดิน น้ำฝนบางส่วนจะซึมลงสู่พื้นดิน ส่วนที่ว่าจะซึมได้ลึกแค่ไหนได้เร็วแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับชนิดของพื้นดินว่าเป็นดินเหนียว ดินทราย หรือความแน่นของพื้นดิน แต่โดยทั่วไปอัตราการซึมนั้นค่อนข้างจะช้า เวลาที่ฝนตกลงมาหนัก ๆ มันก็เลยไหลล้นไปบนผิวดินไปยังที่ต่ำกว่า
  
แต่ถ้าเราให้เวลาน้ำซึมลงดินได้นานพอ เราก็สามารถใช้ดินเป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้ได้ สังเกตได้เวลาที่บางสถานที่นั้นขุดดินลึงลงไป ก็จะเจอตาน้ำที่มีน้ำซึมออกมา หลุมนั้นก็จะกลายเป็นบ่อบาดาลน้ำตื้นไป ต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่รากอยู่ลึกมันก็อาศัยน้ำส่วนนี้ดำรงชีวิตในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน บ่อแบบนี้มันไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแก๊สพิษตอนขุด ตอนขุดจะมีปัญหาก็เรื่องดินถล่มลงไปทับคนที่กำลังขุดอยู่มากกว่า และอีกทีก็ตอนที่ส่งคนลงไปล้างบ่อที่ขุดเอาไว้นานแล้วที่มีการขาดอากาศหรือได้รับแก๊สพิษที่สะสมอยู่ที่ก้นบ่อจนเสียชีวิต 
  
แหล่งน้ำใต้ดินที่ใหญ่กว่าจะเป็นพวกบ่อบาดาลน้ำลึก ที่ต้องทำการขุดเจาะลงไปลึกในระดับหลายสิบเมตรหรือหลายร้อยเมตร แต่ก่อนหมู่บ้านจัดสรรหลาย ๆ หมู่บ้านในกรุงเทพก็ใช้น้ำบาดาลนี้มาทำเป็นน้ำประปาแจกจ่ายให้บ้านเรือนในหมู่บ้านก่อนที่ระบบประปาจะขยายไปจนถึง ดังจะเห็นได้จากหมู่บ้านจัดสรรเก่า ๆ บางหมู่บ้านยังมีถังน้ำประปาตั้งสูงให้เห็นอยู่ หลายโรงงานที่ผลิตภัณฑ์ใช้น้ำปริมาณมากเป็นวัตถุดิบ ก็จะใช้น้ำบาดาล ในช่วงฤดูแล้วที่ผ่านมาหรือไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ในหลายจังหวัดก็มีการขุดเจาะบ่อบาดาลน้ำลึกเหล่านี้ เพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้บรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
  
รูปที่ ๑ ที่ตั้งของหมู่บ้านคีรีราบ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี (ก็คงอยู่แถวโรงเรียนบ้านคีรีราบในรูปที่นำมาจาก google map นี้) ที่เกิดเหตุแก๊สไข่เน่าพุ่งขึ้นมาจากหลุมขุดเจาะน้ำบาดาลจนทำให้เด็กเสียชีวิต ๒ ราย
  
รูปที่ ๒ รายงานการสำรวจโครงสร้างทางธรณีวิทยาบริเวณหมู่บ้านคีรีรอบ ซึ่งเข้าไปสำรวจหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน รายงานนี้ดาวน์โหลดจาก http://www.dmr.go.th/bgs_ebook3/document/DMR-06_0572.PDF

รูปที่ ๓ คำนำของรายงาน ระบุไว้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ๒ ราย (ทั้งคู่เป็นเด็กในหมู่บ้าน) จากแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟล์หรือแก๊สไข่เน่าที่พุ่งขึ้นมา
  
แต่บางครั้งการขุดเจาะบ่อบาดาลน้ำลึกก็ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ ดังเช่นกรณีที่เกิดที่บ้านคีรีรอบ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ (รูปที่ ๒ และ ๓) คือแทนที่จะขุดเจาะลงไปเจอบ่อน้ำ กลับไปเจอเอาบ่อแก๊สธรรมชาติแทน และที่สำคัญก็คือแก๊สที่พุ่งขึ้นมานั้นมีไฮโดรเจนซัลไฟล์ (H2S หรือแก๊สไข่เน่า) ในปริมาณมาก และด้วยแก๊สที่เป็นแก๊สที่หนักกว่าอากาศ เมื่อรั่วไหลออกมาจึงตกลงสู่พื้นดิน เข้าไปปกคลุมหมู่บ้านที่อยู่บริเวณนั้น ส่งผลให้เด็กเสียชีวิต ๒ ราย และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีก ๒๕ ราย ชาวบ้านต้องอพยพออกจากหมู่บ้านเป็นการชั่วคราว แม้ว่าในวันรุ่งขึ้นจะได้ทำการอุดบ่อนั้นด้วยการใช้คอนกรีตกว่า ๒ ตันเทอัดลงไป ต้องรออีกร่วม ๑๐ วันหลังจากได้ทำพิธีสวดภาณยักษ์ จึงได้กลับเข้าไป (รูปที่ ๔)

รูปที่ ๔ บทคัดย่อรายงานการสำรวจสภาวะสุขภาพจิตของชาวบ้านที่ประสบเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ของทีมงานกรมสุขภาพจิต เสียดายที่ไม่มีรายงานฉบับเต็มให้อ่านได้ทางอินเทอร์เน็ต มีแต่เฉพาะบทคัดย่อให้ดู

ช่วงปี ๒๕๕๘ ก็มีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นอีก (รูปที่ ๕) คราวนี้ที่จังหวัดตาก อาจโชคดีตรงที่ไม่ได้มีแก๊สรั่วออกมาในปริมาณมาก และคงมีแก๊สไข่เน่าไม่มาก (แก๊สไฮโดรคาร์บอนมันไม่มีสีไม่มีกลิ่น ที่แก๊สหุงต้มมันมีกลิ่นก็เพราะเขาเติมสารให้กลิ่นลงไป) ก็เลยไม่เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเหมือนกับที่เกิดที่บ้านคีรีรอบ
  
รูปที่ ๕ ข่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ โชคดีที่คงมีแก๊สรั่วออกมาไม่มากและมีแก๊สไข่เน่าไม่มาก ก็เลยไม่เกิดเรื่องเหมือนที่หมู่บ้านคีรีรอบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น