เขียนเรื่องไกลบ้านมาเยอะแล้ว
วันนี้มาเขียนเรื่องใกล้บ้านตัวเองบ้าง
ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปก็แล้วกัน
แรก
ๆ ที่ได้รู้จักสถานีนี้
(ก็เกือบสี่สิบปีแล้ว)
ก็รู้สึกแปลกอยู่เหมือนกัน
ว่าทำไมมันถึงเป็นชุมทางและมันมีทางแยกไปไหน
ทั้ง ๆ ที่สถานีที่อยู่ถัดไปทั้งสองด้านนั้นมันก็เป็นชุมทาง
(คือตลิ่งชันที่แยกไปยังสถานีธนบุรี
และบางซื่อที่เป็นจุดแยกลงใต้)
แถมตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงไม่ง่ายอีก
คืออยู่ในถนนดินเล็ก ๆ
แยกออกมาจากถนนเทอดพระเกียรติ
แต่เป็นสถานีใหญ่ตรงที่มีรางให้รถไฟจอดได้ตั้ง
๖ หรือ ๗ ราง
มารู้เอาทีหลังว่าเดิมเป็นชุมทางสำหรับรถไฟขนถ่านหินไปป้อนที่โรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่เชิงสะพานพระราม
๖ ซึ่งก็คือโรงจักรพระนครเหนือในปัจจุบัน
รถไฟขนถ่านหินเลิกวิ่งไปเมื่อใดก็ไม่รู้
รู้แต่ว่าเลิกไปตอนที่เขาเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาเป็นน้ำมันเตา
(ที่ขนมาทางเรือ
-
อันนี้คุณหน้าข้างบ้านที่เคยทำงานที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวเล่าให้ฟัง)
และเปลี่ยนมาเป็นใช้แก๊สธรรมชาติที่เดินท่อมาตามแนวทางรถไฟสายใต้นี้แทนในปัจจุบัน
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่
๒ สิ้นสุด
สถานีบางบำหรุนี้ก็เป็นจุดตัดของรถไฟสายบางบัวทองของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ที่แนวทางรถไฟสายนี้เดิมน่าจะเป็นแนว
ซอยสิรินธร ๔ กับถนนเทอดพระเกียรติในปัจจุบัน
เดิมสองฝั่งทางรถไฟสายใต้ช่วงนี้ก็ไม่มีอะไร
เป็นแค่คูน้ำหญ้าขึ้นรก
จนกระทั่งเริ่มมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าที่มาจากสถานีบางซื่อ
(สร้างมาตั้งกว่า
๑๐ ปีแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดใช้เสียที)
จากนั้นก็ตามด้วยการสร้างทางด่วนคร่อมทางรถไฟสายใต้ที่เริ่มวางแผนการก่อสร้างหลังน้ำท่วมใหญ่ปี
๒๕๕๔ ทางด่วนมาทีหลัง
แต่สร้างเสร็จก่อน
และเปิดให้ใช้บริการก่อนด้วย
สถานีนี้เดิมรถไฟสายใต้ที่วิ่งทางไกลก็ไม่จอด
เพิ่งจะเริ่มมาจอดก็น่าจะเป็นตอนที่มีการก่อสร้างถนนสิรินธรและบรมราชชนนี
ทำให้การเดินทางเข้าถึงพื้นที่บริเวณนี้ทำได้ง่ายขึ้น
(ซึ่งแต่ก่อนต้องใช้เส้นทางถนนบางกรวย-ไทรน้อย
ก็ต้องเข้ามาทางถนนบางขุนนนท์
หรือซอยร่วมพัฒนา)
แนวทางรถไฟสายใต้ช่วงจากสะพานพระราม
๖ มาเรื่อย ๆ (อย่างน้อยก็มาจนจรดคลองบางกอกน้อย)
เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างกรุงเทพและนนทบุรี
ตัวทางรถไฟเองยังเป็นเสมือนคันกั้นน้ำให้กับทางฝั่งกรุงเทพเมื่อคราวน้ำท่วมปี
๒๕๓๘ ซึ่งตอนนั้นฝั่งทางด้านบางกรวยน้ำท่วมหนัก
แต่ฝั่งทางด้านบางพลัดยังป้องกันได้อยู่
(อันที่จริงบางพลัดฝั่งริมแม่น้ำมาจนถึงเกาะกลางถนนจรัญสนิทวงศ์โดนน้ำท่วมหนัก
เพราะเขาใช้เกาะกลางถนนเป็นคันกั้นน้ำ)
จะมาประสบปัญหาก็เมื่อคราวน้ำท่วมปี
๒๕๕๔
ที่ตอนนั้นน้ำที่เอ่อล้นมาจากทางบางกรวยมีระดับที่สูงมากจนล้นข้ามทางรถไฟ
สูงท่วมรางจนทำให้รถไฟสายใต้ไม่สามารถเดินได้
แต่พอระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าระดับทางรถไฟ
ทางฝั่งบางพลัดก็เริ่มทำการสูบน้ำออก
ทำให้ทางฝั่งบางพลัดแห้งก่อนทางฝั่งบางกรวย
Memoir
ฉบับนี้คงเป็นฉบับส่งท้ายปีที่
๑๒ นับตั้งแต่เริ่มเขียนมา
ฉบับนี้ก็เป็นฉบับที่ ๑๘๒๕
แล้ว รวม ๘๕๑๔ หน้า เฉพาะส่วนปีที่
๑๒ ที่ผ่านมาก็เขียนไปทั้งหมด
๑๐๙ เรื่อง รวม ๔๗๗ หน้า
เรียกว่าทั้งจำนวนเรื่องและจำนวนหน้าลดลงกว่าปีที่แล้วมาก
และคาดว่าปีที่ ๑๓
ก็คงจะมีแนวโน้มเช่นนี้
เหตุผลก็ไม่ใช่อะไรหรอก
เพราะเรื่องราวสาระวิชาการต่าง
ๆ ที่มีเก็บสะสมเอาไว้ก็ได้รีบเขียนออกไปจนหมดแล้ว
ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้เขียน
ซึ่งเราก็บอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
รู้แต่ว่าถ้ามีโอกาสได้ลงมือทำก็ให้ลงมือทำเลย
อย่ารั้งรอ จะได้ไม่มาเสียใจภายหลัง
และไม่ค่อยมีเวลาได้ไปเสาะหาเรื่องราวใหม่
ๆ มาเขียน
แล้วพบกันในฉบับถัดไปต้อนรับปีที่
๑๓ ครับ :)
:) :)
รูปที่ ๑
แผนที่แนบท้ายประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่
๕๔ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๐๒
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่
๗๖ ตอนที่ ๑๒ ฉบับพิเศษหน้า
๑-๒
ตัวเลขที่ปรากฏในแผนที่คือที่ดินที่ถูกเวนคืนจากเจ้าของ
รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน
ในท้องที่อำเภอบางกรวย
จังหวัดนนทบุรี และเขตดุสิต
เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ
หน้า ๒๐-๒๑
เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๙๔ วันที่
๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๗
เป็นการเวนคืนเพื่อการก่อสร้างสะพานพระราม
๗ ในแผนที่นี้ปรากฏแนวเส้นทางรถไฟเข้าไปยังโรงไฟฟ้า
ซึ่งปัจจุบันด้านนอกโรงไฟฟ้าไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว
รูปที่ ๓
รูปนี้ถ่ายไว้เมื่อเดือนธันวาคม
๒๕๔๘ บนชานชาลาที่ ๓
เป็นรูปลูกสาวคนเล็กตอนอายุได้
๒ ขวบเศษไปส่งคุณย่าที่สถานีบางบำหรุ
เป็นรูปที่เห็นตัวอาคารสถานีเก่า
รูปที่ ๔
ถ่ายในวันเดียวกันกับรูปที่
๓ เป็นการมองย้อนไปทางเส้นทางที่มาจากสะพานพระราม
๖ ในรูปนี้จะเห็นว่าตัวสถานีมีรางแยกให้รถไฟจอดได้
๖ หรือ ๗ ราง
รูปที่ ๕
ถ่ายไว้เมื่อเดือนเมษายน
๒๕๕๓ จากสะพานข้ามทางรถไฟซอยจรัญสนิทวงศ์
๗๕ (ที่ถูกริ้อไปแล้ว)
เป็นการมองย้อนกลับไปทางเส้นทางที่มาจากสะพานพระราม
๖ เป็นช่วงที่เริ่มก่อสร้างทางรถไฟฟ้าที่มาจากสถานีกลางบางซื่อ
รูปที่ ๖
ถ่ายไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน
๒๕๕๔ ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่
หลังจากที่น้ำลดระดับลงไปจากระดับสูงสุดประมาณ
๖๐ เซนติเมตร
จากบริเวณเลยจุดกลับรถตัดทางรถไฟมาหน่อย
เป็นภาพที่มองไปยังสถานีรถไฟบางบำหรุ
รูปที่ ๗
ภาพนี้ถ่ายจากสะพานลอยข้ามทางรถไฟ
ที่เชื่อมระหว่างซอยจรัญสนิทวงศ์
๗๕ กับหมู่บ้านฝั่งบางกรวย
เป็นการมองไปยังทิศทางสถานีรถไฟบางบำหรุ
จะเห็นวัดเพลง (บางพลัด)
อยู่ทางด้านซ้ายของรูป
รูปที่ ๘
ถ่ายในวันเดียวกับรูปที่
๗ แต่เป็นการมองย้อนกลับไปยังเส้นทางที่มาจากสะพานพระราม
๖ ตอนนี้มีทางด่วนคร่อมทางรถไฟแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น