HAZOP
ที่ย่อมาจากชื่อเต็มว่า
Hazard and
Operability Study เป็นเทคนิคที่ได้รับการพัฒนามาจากบริษัท
ICI ของประเทศอังกฤษ
และหนึ่งในทีมผู้พัฒนาและทำให้เทคนิคนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเห็นจะได้แก่
Prof. T.A. Kletz
ที่เป็น safety
adivisor คนแรกของ ICI
ตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานอยู่ในหน่วย
Heavy Organic
Chemicals Division และเป็นผู้ที่ได้ออกจดหมายข่าว
ICI Safety
Newsletter ที่ได้นำเรื่องราวต่าง
ๆ มาเล่าให้ฟังในที่นี้
เทคนิคนี้จะทำการพิจารณาว่า
ถ้าหากการทำงานนั้นมีการเบี่ยงเบนไปจากที่ต้องการ
จะเกิดอะไรขึ้นตามมาได้บ้าง
การพิจารณาก็จะอาศัยแบบที่เรียกว่า
P&ID ที่ย่อมาจาก
Piping and
Instrumentation Diagram เป็นหลัก
จากนั้นก็จะอาศัยความรู้และประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมมาช่วยกันพิจารณา
แต่ทั้งนี้แบบ P&ID
ที่นำมาพิจารณาก็ต้องตรงกับความเป็นจริงด้วย
แต่จะว่าไปแล้วแม้ว่าแบบ
P&ID
ที่นำมาพิจารณานั้นจะตรงกับความเป็นจริง
แต่มันก็มีหลาย ๆ
สิ่งที่มันไม่ปรากฏอยู่ในแบบ
P&ID
ซึ่งสิ่งที่ไม่ปรากฏนี้สามารถที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
ดังเช่น ๒ เรื่องที่จะยกมาเล่าในวันนี้
เรื่องที่
๑
เมื่อวาล์วอยู่ห่างกันและมองไม่เห็นกัน
ระบบ
double block and
bleed valves เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการ
isolation
(คือตัดการเชื่อมต่อจากระบบ)
ระบบนี้จะประกอบด้วย
block valve
สองตัวและ bleed
valve หนึ่งตัวอยู่ระหว่างกลาง
(รูปที่
๑)
รูปที่ ๑
เหตุการณ์ drain
valve ของระบบ double
block and bleed valves เปิดค้างเอาไว้
(จาก
ICI Safety
Newsletter เดือนเมษายน ค.ศ.
๑๙๗๔ (พ.ศ.
๒๕๑๗))
คำว่า
block valve
ในที่นี้หมายถึงวาล์วที่ทำหน้าที่เปิด-ปิด
ส่วนจะเป็นวาล์วชนิดไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
(ซึ่งมันขึ้นอยู่กับชนิดชนิดของ
fluid, อุณหภูมิ
และความดัน ในท่อนั้น)
ส่วน bleed
valve นั้นหมายถึงวาล์วที่ทำหน้าที่ระบายของเหลวหรือแก๊สที่รั่วผ่าน
block valve ด้านระบบ
ถ้า fluid
เป็นของเหลวเขาก็อาจเรียกว่า
drain valve และถ้า
fluid
เป็นแก๊สก็อาจเรียกว่า
vent valve
และเช่นกันที่ว่ามันจะเป็นวาล์วชนิดไหนนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับท่อขนาดใหญ่นั้นขนาดของ
bleed valve
นั้นจะเล็กกว่าขนาดของ
block valve มาก
การทำ
isolation
ด้วยการใช้ระบบ double
block and bleed valves มันดีกว่าการสอด
slip plate
ตรงที่ว่ามันไม่ต้องมีการถอดท่อ
และประหยัดเวลาทำงาน
โดยในการทำ isolation
นั้นจะ "ปิด"
block valve ทั้งสองตัว และ
"เปิด"
bleed valve ทิ้งเอาไว้ หน้าที่ของ
bleed valve
ก็คือถ้าหากมี process
fluid รั่วผ่าน block
valve ด้าน process
ได้ process
fluid นั้นก็จะถูกระบายออกทาง
bleed valve
ทำให้ยากที่จะรั่วไหลผ่าน
block valve
ด้านที่ต้องการแยกออกจากระบบได้
ปลายท่อด้าน bleed
valve จะระบาย process
fluid ที่อาจรั่วออกมานั้นไปที่ไหน
ก็คงต้องพิจารณาดูจากปริมาณที่อาจรั่วและอันตรายของ
process fluid นั้น
ดังนั้นปลายท่อด้าน bleed
valve จึงอาจไม่ได้ต่อถาวรเข้ากับท่อระบายใด
ๆ แต่อาจเปิดไว้เพื่อให้ของเหลวที่อาจมีรั่วไหลนั้นไหลลงภาชนะรองรับ
หรือต่อสายยางให้ของเหลวหรือแก๊สที่อาจมีรั่วออกมาให้ระบายไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะป้องกันได้
100%
เพราะมันก็เคยมีกรณีเหมือนกันว่าระบบนี้ไม่ได้ทำงานดังที่คาดหวัง
ซึ่งได้เคยเล่าเอาไว้ในเรื่อง
"แม้แต่ Double block and bleed ก็อย่าวางใจ"
เมื่อวันพฤหัสบดีที่
๗ มีนาคม ๒๕๖๒
ในเหตุการณ์แรกนี้
ตัว bleed
valve (ซึ่งก็คือ drain
valve) ถูกเปิดทิ้งเอาไว้
ดังนั้นเมื่อเปิด block
valve เพื่อให้ proces
fluid ไหลเข้าระบบ process
fluid ก็เลยรั่วไหลออกทาง
bleed valve
ตามด้วยการเกิดเพลิงไหม้
แม้ว่ารายงานการสอบสวนจะโทษว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน
แต่ก็ยอมรับว่ารูปแบบการติดตั้งวาล์วนั้นไม่เหมาะสม
คืออยู่ห่างกันและมองไม่เห็นกัน
(ซึ่งตรงนี้คงเป็นคำอธิบายว่าทำไมเมื่อเกิดการรั่วไหลผ่านทาง
bleed valve
ผู้ที่เปิด block
valve ด้าน proces
fluid จึงไม่ทราบว่ามันมีการรั่วไหลเกิดขึ้น
เพราะถ้าเขารู้
เขาก็น่าจะรีบปิดวาล์วที่กำลังเปิดอยู่
แผนผังท่อในรูปที่
๑ ยังแสดงให้เห็นการออกแบบที่ไม่ดีบางอย่างด้วย
กล่าวคือ block
valve ด้านขาเข้า (คือด้าน
process fluid)
อยู่ต่ำกว่าด้านขาออก
(คือด้าน
equipment)
ดังนั้นในกรณีที่
process fluid
เป็นของเหลว
มันก็จะสามารถค้างในเส้นท่อที่อยู่ระหว่าง
block valve
ด้านขาเข้าและ bleed
valve ได้
เรื่องที่
๒ เพราะหลังคามันชันเกินไป
น้ำฝนมันไม่ค้างบนพื้นผิวที่ลาดเอียง
แต่หิมะมันค้างบนพื้นผิวที่ลาดเอียงไม่มากได้
และถ้ามันสะสมมากเกินไป
หลังคาก็อาจรับน้ำหนักไม่ไหวและพังลงมาได้
รูปที่ ๒
เหตุการณ์ที่ถังเก็บยุบตัวจากแรงกดอากาศ
เนื่องจากท่อระบายอากาศที่มีอยู่
๓ ท่อนั้นอุดตันหมด (จาก
ICI Safety
Newsletter เดือนตุลาคม ค.ศ.
๑๙๘๑ (พ.ศ.
๒๕๒๔))
ในประเทศที่มีหิมะตกนั้น
การออกแบบหลังคาก็ต้องคำนึงถึงน้ำหนักของหิมะที่จะสะสมบนหลังคาด้วย
วิธีการหนึ่งที่ป้องกันไม่ให้หิมะสะสมบนหลังคาก็คือการทำให้หลังคามีความลาดเอียงค่อนข้างมาก
ซึ่งจะทำให้หิมะที่ก่อตัวสูงขึ้นถึงระดับหนึ่งจะไหลลงมาเอง
ถังเก็บประเภท floating
roof tank ในบ้านเราไม่จำเป็นต้องมี
cone roof tank
ปิดคลุมอีกชั้นหนึ่ง
เพราะบ้านเราไม่มีหิมะตก
ส่วนฝนที่ตกลงมานั้นก็สามารถไหลลงท่อระบายได้
แต่ในพื้นที่ที่มีหิมะตกมากนั้นก็ต้องสร้าง
cone roof
ปิดคลุมเอาไว้ เพื่อให้ให้ตัว
floating roof
ต้องรับน้ำหนักหิมะที่มากเกินไปจนอาจทำให้ตัว
floating roof จมได้
รูปที่ ๓
เหตุการณ์ในรูปที่ ๒
ไม่ได้ให้ภาพประกอบ
แต่คาดว่าน่าจะเป็นทำนองนี้
ในเหตุการณ์นี้
ถัง (tank)
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง
๔๓ เมตร ถูกแรงกดอากาศกดจนยุบตัว
(ที่เขาใช้คำว่า
was sucked in)
แม้ว่าถังนี้จะมีท่อ
vent
(ที่ไว้ระบายอากาศในถังออกเมื่อเติมของเหลวเข้าถัง
และให้อากาศข้างนอกไหลเข้าเมื่อสูบของเหลวออกจากถัง
เพื่อรักษาความดันภายในถังให้เท่ากับภายนอกถัง)
ถึง ๓ ท่อด้วยกัน ตัวท่อ
vent
เหล่านี้มีการติดตั้งตะแกรงลวดเพื่อป้องกันไม่ให้นกเข้าไปทำรัง
แต่เนื่องจากมันไม่เคยถูกทำความสะอาดเลย
จึงทำให้มีคราบของแข็งเกาะติดจนเกือบอุดตัน
สาเหตุที่มันไม่เคยถูกทำความสะอาดก็เพราะ
หลังคานั้นค่อนข้างจะลาดชัด
และบนหลังคาไม่มี handrail
สำหรับให้คนที่ต้องขึ้นไปทำงานบนหลังคานั้นยึดเกาะ
ก็เลยทำให้ไม่มีใครอยากจะขึ้นไป
แต่ถ้ามีคนขึ้นไปทำความสะอาด
ก็คงจะไม่มีเหตุการณ์ถังยุบตัว
แต่คงเกิดเหตุการณ์คนทำงานตกจากหลังคาแทน
ของเหลวบางชนิดนั้นมันสามารถเกิดปฏิกิริยาการพอมิเมอร์ไรซ์กลายเป็นของแข็งได้
ดังนั้นในการเก็บจึงต้องมีการผสมตัวยับยั้ง
(inhibitor)
เข้าไปในของเหลว
เพื่อไม่ให้มันเกิดการรวมตัวเป็นของแข็ง
แต่ตัวยับยั้งนี้มันไม่ระเหยตามไอของเหลวที่ระบายออกทาง
vent
ดังนั้นถ้าไอของเหลวนี้ไปควบแน่นที่บริเวณท่อ
vent
มันก็สามารถรวมตัวกันเป็นของแข็งอุดตันท่อ
vent ได้
เรื่องที่
๓ รองน้ำที่นี่มันสะดวกดี
ระบบหัวฉีดน้ำดับเพลิงอัตโนมัติที่เรียกว่า
sprinkler system
นั้นมีอยู่ ๒ แบบ
แบบแรกนั้นเรียกว่ารูปแบบเปียก
(wet sprinkler
system) จะมีน้ำอยู่เต็มท่อไปจนถึงหัวฉีด
เรียกว่าหัวฉีดทำงานเมื่อใดก็จะมีน้ำฉีดออกมาทันที
แต่สำหรับประเทศที่อากาศหนาวจัดจนน้ำกลายเป็นน้ำแข็งได้นั้น
รูปแบบนี้อาจไม่เหมาะสม
เพราะเมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็งมันจะขยายตัว
จนสามารถทำให้ท่อนั้นแตกได้
ดังนั้นเขาก็จะใช้อีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นรูปแบบแห้ง
(dry sprinkler
system) ที่จะจ่ายน้ำเข้าระบบเมื่อมีความต้องการ
รูปแบบหลังนี้น้ำจะใช้เวลาเดินทางหน่อย
แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องท่อแตกในหน้าหนาว
ระบบเปียกนั้นจะมีปั๊มตัวเล็กรักษาความดันในระบบท่อที่เรียกว่า
jogging pump
เมื่อความดันในระบบท่อลดลงเข่นจากการรั่วซึม
ตัว jogging
pump ก็จะทำงานเพื่อรักษาความดันให้คงเดิม
แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์หัวฉีดทำงาน
ตัว jogging
pump จะเพิ่มความดันให้ไม่ได้
ความดันจะตกลงอีกจนกระทั่ง
fire pump
ซึ่งก็คือปั๊มจ่ายน้ำหลักทำงาน
รูปที่ ๔
สัญญาณเตือนที่หาต้นตอไม่ได้
อันเป็นผลจากการติดตั้งระบบตรวจสอบการทำงานของสัญญาณ
(จาก
ICI Safety
Newsletter เดือนพฤศจิกายน
ค.ศ.
๑๙๘๑ (พ.ศ.
๒๕๒๔))
ระบบนี้อาจมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเอาไว้ด้วย
ที่เมื่อความดันในท่อจ่ายน้ำลดต่ำลง
(อันเป็นผลจากการที่หัวฉีดทำงาน)
ก็จะมีสัญญาณเตือนแจ้ง
ในเหตุการณ์นี้เพื่อให้สามารถทดสอบการทำงานของสัญญาณเตือนได้
จึงได้มีการติดตั้งวาล์วเพิ่ม
๑
ตัวเพื่อไว้ระบายน้ำในท่อดับเพลิงทิ้งซึ่งจะทำให้ความดันในท่อลดต่ำลง
เพื่อไว้ใช้ทดสอบการทำงานของระบบสัญญาณเตือน
หลังจากนั้นก็พบสัญญาณเตือนปลอม
(false alarm)
เป็นประจำโดยหาสาเหตุที่มาไม่ได้
จนกระทั่งมาพบว่า
พนักงานทำความสะอาดใช้ก๊อกน้ำนี้สำหรับเติมน้ำใส่ถัง
(คงเพื่อเอาไปทำความสะอาด)
เรื่องแบบนี้ตัวผมเองก็เคยเจอมาหลายครั้ง
เช่นตอนที่นิสิตมีปัญหาเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างแก๊สไปวิเคราะห์ด้วยเครื่อง
gas chromatograph
แล้วได้ผลการวิเคราะห์ออกมาแปลก
ๆ แต่มันสามารถทำซ้ำได้
พอสอบถามว่าทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้หรือเปล่า
เขาก็ตอบว่าทำตาม
แต่พอไปให้เขาทำการเก็บตัวอย่างให้ดูก็เลยเห็นปัญหา
กล่าวคือเขาทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ให้ทำทุกขั้นตอน
แต่มีการเพิ่มขั้นตอนพิเศษหรือเทคนิคบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำงาน
และเจ้าตัวขั้นตอนพิเศษหรือเทคนิคบางอย่างนี้มันก่อให้เกิดปัญหา
ก็เลยต้องไปปรับแก้ตัวขั้นตอนพิเศษหรือเทคนิคเหล่านั้นเพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น