ตอนไปเรียนที่อังกฤษเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๒ นั้น กฎหมายจราจรของอังกฤษบังคับเฉพาะคนนั่งเบาะหน้าเท่านั้นที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ช่วงเวลานั้นก็มีสารคดีหนึ่งออกมา เป็นผลจากการติดตามว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ลดน้อยลงหรือไม่เมื่อบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัย ผลที่ออกมาก็คือยังคงเป็นเหมือนเดิม
สาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตไม่ลดลงอย่างที่ควรเป็นก็คือ พอคนขับคิดว่าตัวเองได้รับการปกป้อง ก็เลยขับรถแบบสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เป็นผลให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงตามไปด้วย และยังทำให้ผู้ที่นั่งเบาะหลังเสียชีวิตเพิ่มขึ้น (เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) และยังทำให้การเสียชีวิตของผู้ที่นั่งเบาะหน้าไม่ลดลงอย่างที่ควรเป็น ทั้ง ๆ ที่เขาคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะเมื่อเกิดการชน คนที่นั่งเบาะหลังจะปลิวมาอัดเบาะหน้าให้พับกดผู้ที่นั่งเบาะหน้า
ส่วนหนึ่งในสารคดีนี้ที่จำได้ก็คือการไปติดตามการเกิดอุบัติเหตุ ณ สามแยกแห่งหนึ่ง เดิมทีสายแยกแห่งนี้มีพุ่มไม้บังมุมมอง ทำให้รถที่วิ่งมาในแนวตรงมองไม่เห็นรถที่มาจากเส้นตั้งฉาก และรถที่มาจากเส้นตั้งฉากก็มองไม่เห็นรถที่มาทางแนวตรง ทำให้มีคนคิดว่าถ้าเอาต้นไม้ออกเพื่อให้คนขับรถที่ขับมาจากแต่ละด้านมองเห็นอีกด้านชัดเจนขึ้นว่ามีรถมาหรือไม่ การเกิดอุบัติเหตุก็น่าจะลดลง
เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขากลับพบว่าตอนที่มีพุ่มไม้นั้น คนขับจะลดความเร็วลงเมื่อถึงทางแยก แต่เมื่อเอาพุ่มไม้ออกไป คนขับกลับประมาทมากขึ้น คือนอกจากจะไม่ลดความเร็วแล้ว อาจจะยังไม่หยุดดูด้วยว่าอีกทางมีรถมาหรือไม่
รูปที่ ๑ ข่าวเกี่ยวกับการเปิดเผยการทดสอบการชน ณ ในประเทศเยอรมันและอเมริกาที่ใช้ศพคนเป็นตัวอย่างทดสอบ
วิทยากรคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ในสารคดีดังกล่าวยังตั้งเปรยเล่น ๆ ขึ้นมาทำนองว่า "ถ้าเราเปลี่ยนจากถุงลมนิรภัย เป็นเหล็กแหลมที่จะพุ่งออกมาแทงทะลุอกคนขับ เวลาที่รถมีการชน อุบัติเหตุการชนน่าจะลดลงได้"
ถ้าพูดถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ยากจะทำซ้ำหรือยังไม่มีใครทำซ้ำ ที่ได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๐ ก็น่าจะมีอยู่สัก ๔ เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกคือการทดลองเพื่อหากระสุนปืนพกที่ดีที่สุดสำหรับยิงคน ที่การทดลองครั้งแรกนั้นนำไปสู่การเกิดกระสุนขนาด .45 AUTO หรือ 11 มม. และมีการทำซ้ำใหม่ในการทดลองที่เรียกว่าStrasbourg test ในอีก ๘๐ ปีถัดมา ซึ่งเรื่องนี้ได้เคยเล่าไว้ในเรื่อง "การค้นหากระสุนปืนพกที่ดีที่สุดสำหรับหยุดคน" เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓
จะว่าไปการนำศพมาทดสอบด้วยการยิงนั้น ในบ้านเราก็เคยมีครับ คือเหตุการณ์กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ที่มีการยิงด้วยระยะและมุมต่าง ๆ กัน เพื่อเปรียบเทียบบาดแผลและเส้นทางกระสุน
รูปที่ ๒ รูปนี้เป็นการนำเหตุการณ์ทดสอบมาใช้เป็นหัวข้ออภิปรายในการเรียนของสถาบันแห่งหนึ่ง
การทดลองที่สองเห็นจะได้แก่การทดลอง "ทางการแพทย์" ของกองทัพเยอรมันและญี่ปุ่น ที่กระทำโดยใช้คนเป็น ๆ มาทำการทดลอง ซึ่งหลังสงครามสิ้นสุดลง ผลการทดลองต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ถูกเก็บไว้โดยไม่เปิดเผย และยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีคุณค่าที่จะนำมาใช้หรือไม่ สำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ก็สามารถลองอ่านเรื่องย่อ ๆ เพิ่มเติมได้ใน wikipedia ในหัวข้อ "Nazi human experimentation"
การทดลองที่สามจัดว่าเป็นการทดลองทางการแพทย์จริง ๆ และเป็นการทดลองที่กระทำอย่างเปิดเผย เรียกว่าคนทำโดนด่าเละตลอดการทดลอง แต่เมื่อได้ผลการทดลองออกมาก็มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย การทดลองนี้เป็นการทดลองของ Master (อาจารย์) และ Johnson (ผู้ช่วยวิจัย) ที่เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ในระหว่างกระบวนการมีเพศสัมพันธ์ สำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ก็สามารถลองอ่านเรื่องย่อ ๆ เพิ่มเติมได้ใน wikipedia ในหัวข้อ "Masters and Johnson"
การทดลองที่สี่เป็นการทดลองที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ ๒๐ คือการทดลองเพื่อทดสอบว่าในความเป็นจริงนั้น อุปกรณ์ที่เราเชื่อว่าสามารถลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสารรถนั้นทำงานได้ดีจริงแค่ไหน และเพื่อให้ได้ผลที่เชื่อว่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนจริงในขณะที่เกิดการชน จึงได้มีการนำเอา "ศพ" ที่ได้รับบริจาค (ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก) มาเป็นหุ่นทดสอบการชน
การทดลองนี้ไม่รู้ว่าใช้ชื่อการทดลองว่าอะไร รู้แต่ว่าหาข้อมูลย้อนหลังไม่ค่อยได้ ที่หาได้ก็มีข่าวย้อนหลังที่นำมาแสดงในรูปที่ ๑ และมีการนำเรื่องดังกล่าวมาใช้เป็นหัวข้ออภิปราย (น่าจะเป็นในเชิงจริยธรรม) ในการเรียนของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง (ตามลิงก์ที่อยู่ในรูป)
จะว่าไปเรื่องการนำศพที่ได้รับบริจาคมาเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ มาทำโน่นทำนี่โดยมีเหตุผลว่าเพื่อการศึกษานั้นก็มีการทำกันหลายรูปแบบ บางรูปแบบก็ได้รับการตอบรับที่ดี (คิดว่าคงเป็นอย่างนั้น) เช่นโครงการที่มีชื่อว่า "Visible human project" ที่นำศพบริจาคมาทำการแช่แข็ง จากนั้นจึงค่อย ๆ เจียรออกในแนวขวางทีละนิด (ในระดับไม่เกิน 1 มิลลิเมตรต่อครั้ง จากศีรษะจรดปลายเท้า) แล้วถ่ายรูปและสแกนภาพตัดขวางของร่างกายส่วนนั้นเอาไว้
บางที การทดลองใด ๆ ควรที่จะกระทำหรือมีความเหมาะสมหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำเช่นนั้นเกิดในยุคสมัยใด ใครเป็นผู้กระทำ และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำนั้นคือใคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น