วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๖ Toshiba-Kongsberg Incident MO Memoir : Sunday 20 June 2564

ในช่วงเดือนตุลาคมปีค.ศ. ๑๙๓๗ (พ.ศ. ๒๔๘๐) Imperial Japanese Navy (IJN) ออกข้อกำหนดความต้องการเครื่องบินรบชนิดใหม่สำหรับประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน และส่งไปให้บริษัท Nakajima และ Mitsubishi พิจารณาออกแบบ จากข้อกำหนดที่เห็น ทางบริษัทNakajima เห็นว่าการบรรลุข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้ จึงถอนตัวออกไป เหลือแต่เพียงบริษัท Mitsubishi ที่วิศวกรหัวหน้าทีมออกแบบ Jiro Horikoshi เห็นความเป็นไปได้ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ในช่วงเวลานั้นมาใช้ สิ่งหนึ่งก็คือโลหะผสมอะลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบาและรับแรงดึงสูงที่ญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมาเอง ทำให้ลดน้ำหนักตัวเครื่องลงไปได้ และอีกสิ่งคือ "flush rivet" ที่เพิ่งจะมีการประดิษฐ์คิดค้นในสหรัฐอเมริกา

"flush rivet" คือหมุดที่หัวหมุดด้านหนึ่ง (ปรกติก็จะเป็นด้านนอก) เรียบเสมอไปกับพื้นผิว (แบบเดียวกับการใช้สกรูชนิด countersunk head กับรูชนิด countersink hole) ด้วยการใช้หมุดชนิดนี้ยึดแผ่นผนังลำตัวเครื่องบินเข้ากับโครงสร้าง ทำให้ผิวผนังด้านนอกมีความเรียบ ช่วยลดความเสียดทานกับอากาศ ทำให้เครื่องบินบินได้เร็วขึ้นและเดินทางได้ไกลขึ้น

ในกรณีของเรือผิวน้ำนั้น ความเรียบของลำตัวเรือส่วนที่จมอยู่ในน้ำก็มีความสำคัญ เพราะจะช่วยลดแรงเสียดทานในการเคลื่อนที่ได้ แต่ในกรณีของเรือดำน้ำนั้น ความเรียบของใบจักรเรือก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ใบจักรทำงานได้ตามที่ออกแบบแล้ว ยังช่วยลดการเกิดเสียงด้วย ทำให้การตรวจจับนั้นทำได้ยากขึ้น

การขัดพื้นผิวโลหะให้เรียบนั้น ถ้าเป็นรูปร่างธรรมดาเช่นเป็นแผ่น การขัดก็จะไม่ยากอะไรนัก เพราะสามารถใช้เครื่องมือขัดอัตโนมัติทั่วไปได้ แต่ในกรณีของชิ้นงานที่มีรูปทรงโค้งไปมาในสามมิติ (เช่นใบจักรของเรือ) จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่สามารถปรับมุมการขัดผิวไปตามรูปร่างพื้นผิวใบจักรได้ (จะใช้แรงงานขัดก็ได้ แต่ต้องเป็นแรงงานฝีมือและถ้าเป็นชิ้นงานขนาดใหญ่แบบใบจักรเรือขนาดใหญ่ ก็จะใช้เวลานาน) และนี่ก็เป็นที่มาของเหตุการณ์ Toshiba-Kongsberg Incident

กรณีของ Toshiba-Kongsberg Incident เป็นเหตุการณ์ที่เป็นข่าวขึ้นในเดือนธันวาคมปีค.ศ. ๑๙๘๕ (พ.ศ. ๒๕๒๘) (ตอนนั้นเป็นช่วงยุคสงครามเย็นและยังไม่มี EU List) กล่าวคือมีการพบว่าบริษัท Toshiba ของประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินการขายเครื่องขัดพื้นผิว และบริษัท Kongsberg ของประเทศนอร์เวย์ได้ดำเนินการขายระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมที่สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรของบริษัท Toshiba ได้ ให้กับสหภาพโซเวียต ทำให้สหภาพโซเวียตสามารถขัดพื้นผิวใบจักรของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้เรียบมากขึ้น ทำให้เสียงเรือเงียบขึ้น (ระยะตรวจจับได้ลดลงจาก 200 ไมล์เหลือ 10 ไมล์) ส่งผลต่อการตรวจจับที่ยากขึ้น โดยที่อุปกรณ์ทั้งสองนั้นเป็นอุปกรณ์ต้องห้ามไม่ให้ส่งไปยังประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อกำหนดของ COCOM (Coordinating Committee for Export to Communist Area) ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นสมาชิกอยู่ ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องมีการปรับปรุงมาตรการควบคุมการส่งออกขนานใหญ่ (รูปที่ ๑ และ ๒)

หัวข้อ 2B001 ใน Annex I ของ EU List กำหนดคุณสมบัติของเครื่องจักรกลที่ใช้ในการขึ้นรูปที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดเนื้อวัสดุ เช่น เครื่องเจาะ, เครื่องกลึง, เครื่องขัดผิว ที่มีความแม่นยำสูงและสามารถนำมาประกอบกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการควบคุมการทำงาน (ที่เรียกว่า CNC - Computer Numerical Control) ได้

2B001 Machine tools and any combination thereof, for removing (or cutting) metals, ceramics or "composites", which, according to the manufacturer’s technical specification, can be equipped with electronic devices for "numerical control", as follows:

รูปที่ ๑ ในปีค.ศ. ๑๙๘๗ มีการพบว่าเครื่องจักรที่สามารถขัดผิวโลหะให้เรียบมากได้ของญี่ปุ่น ถูกส่งไปสหภาพโซเวียตเพื่อใช้ขัดผิวใบพัดเรือดำน้ำให้เรียบมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดเสียงน้อยลง ตรวจจับได้ยากขึ้น

รูปที่ ๒ มาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการหลังเกิดเหตุการณ์ Toshiba-Kongsberg Incident

จะว่าไปการขายเครื่องจักรกลดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๘๑ (พ.ศ. ๒๕๒๔ - รูปที่ ๓) และทางบริษัท Toshiba ก็ได้ยื่นเรื่องขอทำการส่งเครื่องจักรไปยังสหภาพโซเวียต แต่รุ่นของเครื่องที่แจ้งให้กับทาง MITI (Ministry of International Trade and Industry) นั้นเป็นคนละรุ่นกับเครื่องที่ส่งจริง โดยบอกว่ารุ่นที่จะส่งออกนั้นไม่เข้าข่ายตามข้อกำหนดของ COCOM (แต่ที่ส่งออกจริงนั้นเข้าข่าย) และผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนั้นก็ไม่มีใครทักท้วง (รูปที่ ๔)

ถ้าจะถามว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญถึงปล่อยให้ผ่านไปได้ เราลองมาดูตัวเลขคนทำงานและงานที่ต้องทำดูหน่อยดีกว่า ในขณะนั้นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมีผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเพียงแค่ ๓๐ คน แต่มีเอกสารที่ต้องตรวจสอบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ รายการต่อปี (รูปที่ ๔) ถ้าคิดว่าทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดก็ต้องตรวจสอบกันคนละกว่า ๑๘ รายการต่อวัน และถ้าในแต่ละวันทำงาน ๑๒ ชั่วโมง เวลาสำหรับการตรวจแต่ละรายการก็จะมีเพียงแค่ ๓๐-๔๐ นาทีเท่านั้นเอง

ในส่วนของทางนอร์เวย์นั้น ทาง Kongsberg ก็อ้างว่าเป็นการส่งไปใช้งานกับเครื่องจักรที่ไม่เข้าข่ายควบคุม ส่วนเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ ใช้กับงานพลเรือนในเมือง Leningrad

อกสารในรูปที่ ๓-๖ นำมาจากบทความเรื่อง "Controlling the transfer of militarily significant technology: COCOM AFTER TOSHIBA" โดย J.E. Gregory ในวารสาร Fordham International Law Journal, Volume 11, Issue 4 (1987) (จาก https://ir.lawnet.fordham.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1199&context=ilj)

หลังตรวจพบเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสองบริษัทก็โดนลงโทษจากรัฐบาลของประเทศตัวเอง แต่จากบทความที่นำมาแสดงในรูปที่ ๖ นั้น ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ไม่ได้เป็นแค่สองประเทศที่ฝ่าฝืนข้อตกลง COCOM แต่ยังมีประเทศอื่นกระทำอีก ไม่ว่าฝรั่งเศสที่ฝ่าฝืนเป็นประจำ, อิตาลี หรืออังกฤษเองก็ตาม และยังมีอีกหลายประเทศที่พยายามหาทางหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ถ้าหากว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นขัดแย้งกับสถานการณ์ในประเทศ (อังกฤษเองเคยพยายามขายเครื่องบินรบขึ้นลงแนวดิ่ง Harrier ให้กับจีนคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ)

แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนจะมี EU List และเป็นการส่งออกสินค้า (เครื่องจักรและซอร์ฟแวร์) ที่เป็นสินค้าควบคุม (ตามเกณฑ์ COCOM ในยุคนั้น) แต่ก็ได้แสดงให้เห็นช่องโหว่ในการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการขอใบอนุญาตของทางญี่ปุ่น ที่จำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อยมากเมื่อเทียบกับงานที่ต้องทำ (ยังไม่รวมถึงการตรวจสอบสินค้าที่ส่งจริงนั้นตรงกับสินค้าที่ขออนุญาตหรือไม่), การที่ผู้ส่งออกจงใจให้ข้อมูลสินค้าที่ไม่เป็นจริง (ในกรณีของ Toshiba นั้นสิ่งที่ขอส่งออกกับสิ่งที่ส่งออกจริงเป็นสินค้าคนละตัวกัน และไม่มีการตรวจสอบสินค้าที่ส่งออกจริง ส่วนในกรณีของ Kongsberg นั้นอ้างการใช้งานสุดท้ายที่ไม่ตรงความจริง), และการเลือกปฏิบัติของประเทศสมาชิก (ที่ทำไมบางประเทศทำเป็นประจำแต่ไม่เห็นมีใครว่าอะไร เช่นกรณีของ Kongsberg นั้น ครั้งนี้ก็ไม่ใช่การกระทำคร้งแรก) นอกจากนี้รายชื่อสินค้าควบคุมในรายการของ COCOM นั้นค่อนข้างจะครอบคลุมมาก (อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ) จนยากที่จะปฏิบัติตาม และบางสินค้าบางประเทศอาจเป็นว่าเป็นเพียงเทคโนโลยีขั้นต่ำหรือพื้นฐาน ที่ไม่ควรจะต้องเป็นสินค้าควบคุม

เรื่องนี้ยังสามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่

https://www.kcl.ac.uk/news/the-toshiba-kongsberg-case

https://digitalcommons.wcl.american.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1673&context=auilr

https://www.globalsecurity.org/intell/world/russia/toshiba.htm

รูปที่ ๓

 

รูปที่ ๔

รูปที่ ๕

รูปที่ ๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น