สำหรับคนทำงานเกี่ยวกับ "Pipe" เวลาที่ต้องการปิดช่องเปิดของระบบท่อที่เปิดออกสู่บรรยากาศภายนอก (แบบถาวรหรือนาน ๆ เปิดที เช่นตอนซ่อมบำรุง หรือปิดไว้เพื่อความปลอดภัย เช่นทางออกของวาล์วที่ระบายของไหลในระบบออกสู่ภายนอก) ก็จะมีชิ้นส่วนให้เลือกอยู่ 2 แบบ ถ้าเป็นชนิดที่ต้องสอดเข้าไปในรู ก็จะเรียกว่า "Plug" แต่ถ้าเป็นแบบที่ต้องครอบปิดรู ก็จะเรียกว่า "Cap" รูปที่ ๑-๓ เป็นตัวอย่างของ Plug และ Cap ที่ใช้กับระบบท่อ (Pipe) เกลียว
รูปที่ ๑ ตัวอย่าง plug ที่ใช้กับระบบท่อ (Pipe) เกลียว ตัวปลั๊กจะมีโครงสร้างเป็นเกลียวตัวผู้ โดยเกลียวตัวเมียจะอยู่ที่ช่องที่ต้องการอุด ส่วนหัวก็จะมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้ขันปิด-เปิดด้วยวิธีใด
ในทางวิศวกรรม "ท่อ" มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ "Pipe" กับ "Tube" ซึ่งคำภาษาอังกฤษสองคำนี้พอแปลเป็นไทยจะออกมาเป็นคำว่า "ท่อ" เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง "Pipe" กับ "Tube" นั้นมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นในที่นี้จะขอใช้คำ "Pipe" หรือ "Tube" เพื่อไม่ให้สับสน สำหรับผู้ที่ยังไม่รูว่า "Pipe" กับ "Tube" นั้นแตกต่างกันอย่างไร ขอแนะนำให้อ่านบทความบนหน้า Blog ฉบับวันพุธที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "ท่อ - Pipe - Tube" เพื่อปูพื้นฐานก่อน
"ท่อ" ส่วนใหญ่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานจะเป็น "Pipe" และพวกท่อขนาดใหญ่ก็จะเป็น "Pipe" ทั้งหมด แต่ก็เป็นเรื่องปรกติที่จะเห็นมีการใช้ "Tube" ร่วมกับ "Pipe" ในโรงงานด้วย เช่นท่อที่เชื่อมต่อ process pipe เข้ากับอุปกรณ์วัดคุมที่เปลี่ยนค่าที่วัดได้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งออกไปอีกที (ที่เรียกว่า "Lead pipe") หรือระบบท่อที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ข้องอด้วยการดัดท่อให้โค้งไปในทิศทางที่ต้องการแทน (คือ Tube มันดัดได้ง่ายกว่า Pipe ดังนั้นการเดินท่อที่ไม่เป็นเส้นตรง ถ้าใช้ Tube จะใช้การดัดท่อเอา แต่ถ้าใช้ Pipe มักจะใช้ข้องอ)
รูปที่ ๒ ตัวอย่าง Cap ที่ใช้กับระบบท่อ (Pipe) เกลียว ตัว Cap จะใช้เกลียวตัวเมีย
บังเอิญช่วงนี้มีงานที่ต้องใช้ระบบ "Tube" ในการทำงาน ก็เลยสั่งซื้อ Plug กับ Cap มาใช้ (เป็นครั้งแรกที่สั่งซื้อสองตัวนี้มาใช้ด้วย) ตอนสั่งซื้อก็สั่งพร้อม ๆ กัน ในจำนวนและขนาดที่เท่ากัน โดยไม่คิดอะไร แต่ก่อนอื่นลองดูรูปที่ ๔ และ ๕ ก่อนดีไหมครับ ชิ้นส่วนที่อยู่ทางด้านซ้ายสุดและขวาสุดนั้นต่างเป็นชิ้นส่วนสำหรับปิดช่องเปิดของระบบ Tube ทั้งคู่ ลองเดาดูนะครับว่าตัวไหนคือ "Plug" และตัวไหนคือ "Tube"
รูปที่ ๔ ตัวซ้ายและขวาคือชิ้นส่วนสำหรับปิดช่องเปิดของระบบ Tube ตัวซ้ายเป็นเกลียวตัวผู้สวมเข้ากับหัว Nut ส่วนตัวขวามีลักษณะเป็นหัว Nut ขันเข้ากับเกลียวตัวเมีย
รูปที่ ๕ ชิ้นส่วนทั้งสองเมื่อทำการขันประกอบเข้าไป
ในรูปที่ ๔ และ ๕ นั้น ตัวซ้ายคือ "Cap" ส่วนตัวขวาคือ "Plug" คือในกรณีของ "Tube" นั้น ตัว Cap จะประกอบด้วยตัว Nut (ที่มีชุด ferrule หรือตาไก่อยู่ข้างใน) และตัวชิ้นส่วนที่หน้าตาเหมือนกับ Plug ของ Pipe นั้น (คือเป็นชิ้นส่วนที่เป็นเกลียวตัวผู้) ประกอบมาด้วยกัน ในการประกอบเราก็จะเอา Tube นั้นเสียบเข้าไปในตัว Nut แล้วก็ขันตามขั้นตอนที่ผู้ผลิต tube fitting กำหนด ตัว Nut และ ferrule ก็จะอยู่ที่ตัวท่อ เวลาถอดก็จะขันเอาเฉพาะส่วนที่หน้าตาเหมือนกับ Plug ของ Pipe ออกมา ดังนั้นผมว่าจึงไม่แปลกที่คนที่ชินกับ Pipe จะเรียกชิ้นส่วนนี้ว่า Plug เพราะหน้าตาชิ้นส่วนของ Cap สำหรับ Tube ที่ถอดออกมาแล้ว มันเหมือนกันบ Plug ของ Pipe
ส่วนตัว "Plug" ของ Tube นั้นมันจะมาในรูปแบบเหมือนหัว Nut ที่แสดงในรูปที่ ๔ เวลาใช้งานก็จะสวมมันเข้ากับเกลียวตัวผู้และขันเข้าไป (แบบเดียวกับการประกอบ Cap ของ Pipe) เวลาถอดออกก็ถอดออกมาเป็นชิ้นส่วนเดียวเหมือนเดิม ไม่มีการแยกชิ้นออกมาเหมือนกับกรณีของ Tube cap (ที่ถอดออกมาได้เฉพาะส่วนหัวเท่านั้น)
ผมลองตรวจสอบแคตตาล็อก tube fitting สองยี่ห้อที่ใช้อยู่คือ Swagelok และ Gyrolok (รูปที่ ๖ - ๘) ก็พบว่าเขาก็เรียกเหมือน ๆ กัน
รูปที่ ๖ Tube cap และ Tube plug จากแคตตาล็อก Swagelok
รูปที่ ๗ Tube cap จากแคตตาล็อก Gyrolok
รูปที่ ๘ Tube plug จากแคตตาล็อก Gyrolok
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ชื่ออุปกรณ์ที่เรียกในระบบหนึ่งนั้น อาจสลับความหมายกันได้ในระบบที่คล้ายกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น