วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๕ Sony PlayStation MO Memoir : Wednesday 16 August 2566

"Yesterday's supercomputer is today's PlayStation"

ในปีค.ศ. ๒๐๐๑ (พ.ศ. ๒๕๔๔) Don Evans ที่ดำรงตำแหน่ง United States Secretary of Commerce กล่าวประโยคข้างบนไว้

คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงจัดเป็นจัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items หรือ DUI) ตัวหนึ่ง โดยเป็นสินค้าควบคุมในหมวด 4A003 b.

แต่ปัญหาก็คือจะใช้อะไรเป็นตัวระบุสมรรถนะของคอมพิวเตอร์ว่าตัวไหนมีสมรรถนะสูงกว่ากัน คือถ้าจะเปรียบเทียบกับรถยนต์ ก็เหมือนกับการใช้ "แรงม้า" เป็นตัวบอกว่าเครื่องยนต์เครื่องไหนแรงกว่ากัน ตัวไหนมีแรงม้าสูงกว่าก็ถือว่าเป็นเครื่องที่แรงกว่า

หน่วยวัดความเร็วในการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เคยเห็นนั้นมีอยู่ด้วยกันสองหน่วย หน่วยแรกคือ MTOPS ที่ย่อมาจาก Million Theoretical Operations Per Second หรือความสามารถในการทำงานทางทฤษฎี (หน่วยเป็นล้านครั้ง) ต่อวินาที รูปที่ ๑ ข้างล่างแสดงความสามารถในการทำงานของ CPU Intel Gen 9

รูปที่ ๑ ความสามารถในการคำนวณของ CPU Intel Core i Gen 9 (รูปจาก https://www.anandtech.com) รูปนี้เผยแพร่เมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๙ (พ.ศ. ๒๕๖๒) หรือเมื่อกว่า ๔ ปีที่แล้ว

แล้วทางทหารต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงระดับไหน ข้อมูลที่ค้นได้ที่มีการเผยแพร่เมื่อ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ (พ.ศ. ๒๕๔๘) แสดงไว้ในรูปที่ ๒

รูปที่ ๒ สมรรถนะขั้นต่ำของคอมพิวเตอร์สำหรับงานต่าง ๆ ทางทหาร รูปนี้จากเอกสาร "High Performance Computers and Export Control Policy: Issues for Congress." Updated May 5, 2005 จัดทำโดย G.J. McLouoghlin และ I.F. Fergusson ข้อมูลในรูปที่ ๒ นี้เก่ากว่าข้อมูลในรูปที่ ๑ ถึง ๑๔ ปี


อีกหน่วยหนึ่งที่ใช้ในการวัดสมรรถนะของคอมพิวเตอร์คือ FLOPS ที่ย่อมาจาก Floating Point Operation Per Second หรือความสามารถในการคำนวณเลขทศนิยมต่อวินาที สำหรับคอมพิวเตอร์ใช้งานกันทั่วไปในปัจจุบันจะอยู่กันที่ระดับ TFLOPS หรือ Terra-FLOPS ซึ่งก็คือ ล้านล้านครั้งต่อวินาที (1012 ครั้งต่อวินาที) รูปที่ ๓ ข้างล่างแสดงความเร็วในการประมวลผลของเครื่องเล่นเกมส์ชนิดต่าง ๆ จากช่วงปีค.ศ. ๑๙๙๕ - ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๕๗) จะเห็นว่าพัฒนาการด้านความเร็วในการประมวลผลนั้นเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก ตัวอย่างเช่นกรณีของ PlayStation 3 หรือ PS3 อยู่ที่ 0.459 TFLOPS พอเป็น PS4 เพิ่มเป็น 1.84 TFLOPS และล่าสุดของ PS5 อยู่ที่ระดับ 10.26 TFLOPS

รูปที่ ๓ ความเร็วในการประมวลผลของเครื่องเล่นเกมส์ชนิดต่าง ๆ นำมาจากบทความเรื่อง "All Your Games Belong to Us: A Case Study of the Eight Generation of Video Game Consolrs and the Export Control of High Performance Computers" โดย Einar Engvig ตีพิมพ์ในวารสาร Strategic Trade Reviews, Volume 1, 1 Issue 1, Autumn 2015 หน้า 26-40

หมวด 4A003 b. ของ DUI List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ กำหนดค่า "Adjusted Peak Performance" หรือ APP ไว้ที่ 29 Weighted Terra-FLOPS (WT) (สะกดตามในเอกสาร) ซึ่งก็สูงกว่าความสามารถของ PS5 (ที่ทำงานเพียงเครื่องเดียว) ส่วนที่ว่าระหว่าง MTOPS กับ TFLOPS หน่วยไหนบ่งบอกสมรรถะได้ใกล้เคียงความจริงมากกว่ากัน ก็คงต้องขอให้เป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานด้านนี้เป็นผู้อธิบาย

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันทั่วไปจะหน่วยประมวลผลที่เราเรียกว่า CPU เพียงตัวเดียว แต่ CPU ที่มีอยู่หรือหาได้นั้นมีสมรรถนะในการประมวลไม่เพียงพอกับความต้องการ ก็สามารถสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงขึ้นได้ด้วยการใช้ CPU หลายตัวทำงานร่วมกัน อย่างเช่นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) US Air Force Research Laboratory เปิดตัวคอมพิวเตอร์ชื่อรหัสว่า "Condor" ที่ประกอบด้วย Sony PlayStation 3 จำนวน 1,760 เครื่อง ที่มีความเร็วในการประมวลผลสูงถึง 500 TFLOPS (รูปที่ ๔)

รูปที่ ๔ ข่าวการเปิดตัวของ "Condor" ที่เป็น supercomputer ที่สร้างจาก Sony PlayStation 3 จำนวน 1,760 เครื่อง

ช่วงเวลาที่มีการเปิดตัว PS4 ก็มีประเด็นให้เป็นที่ถกเถียงกันอยู่เหมือนกัน เพราะก่อนหน้านั้นข้อกำหนดสมรรถนะของคอมพิวเตอร์ที่เป็นสินค้า DUI อยู่ที่ 1.5 TFLOPS ก่อนที่จะถูกปรับเพิ่มเป็น 3.0 TFLOPS ในปีค.ศ. ๒๐๑๑ ซึ่งสูงกว่าความสามารถของ PS4 และเพิ่มอีกครั้งในปีค.ศ. ๒๐๑๕ เป็น 8 TFLOPS แต่ถ้าย้อนไปดูกรณีของ PS3 ก็จะเห็นว่าแม้ว่าสมรรถนะของเครื่องเล่นเกมส์แต่ละเครื่องจะต่ำกว่าข้อกำหนด แต่ผู้ใช้สามารถนำเครื่องเล่นเกมส์หลายเครื่องมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้คอมพิวเตอร์สมรรถะสูงได้ เช่นกรณีของ PS3 ที่แต่ละเครื่องมีความสามารถที่ 0.459 TFLOPS แต่เมื่อนำ PS3 จำนวน 1,760 เครื่องมาทำงานร่วมกัน จะได้ความสามารถที่ระดับ 500 TFLOPS ซึ่งสูงกว่าข้อหนดฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ อีก

ตัวอย่างนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสินค้าที่ถ้าพิจารณาตามคุณลักษณะแล้วเป็นสินค้าที่ไม่เข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง แต่ตัวมันเองนั้นเปิดช่องให้ผู้ใช้สามารถนำเอาพวกเดียวกันเองหลายชิ้นมาต่อพ่วงรวมกันเพื่อกลายเป็นชิ้นงานที่มีคุณลักษณะเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางได้ ในกรณีของเครื่อง PS3 ทางผู้ผลิตก็ได้แก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงระบบปฏิบัติการ แต่ก็ทำได้กับเครื่องใหม่ที่จะออกสู่ตลาดเท่านั้น ไม่สามารถไปแก้ไขเครื่องวางตลาดไปแล้วได้ เรื่องการนำเอา PS3 มาทำเป็น supercomputer นี้ ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/PlayStation_3_cluster

ปิดท้ายที่ว่างของหน้าด้วย aquarium แห่งหนึ่งที่ไปเที่ยวมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาก็แล้วกันครับ


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น