วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๖ เส้นใยคาร์บอน (Carbon fibre) MO Memoir : Friday 15 September 2566

คำว่า "เส้นใย" ในภาษาอังกฤษถ้าสะกดแบบ British ก็จะเป็น "fibre" แต่ถ้าสะกดแบบ Amecican ก็จะเป็น "fiber" ที่ต้องเอาเรื่องนี้มาเกริ่นก่อนก็เพราะใน EU List ใช้การสะกดแบบ British ดังนั้นถ้าใครค้นหาด้วยตัวสะกดแบบ American ก็จะหาไม่เจอ

ในเรื่องของตัวเลขนั้น เราใช้ลูกน้ำ (comma) ในการแบ่งตัวเลขหน้าจุดทศนิยมที่มีมากกว่า 1 หลัก และใช้จุดทศนิยม (decimal point) บ่งบอกจำนวนที่น้อยกว่า 1 แต่ใน EU List (ซึ่งก็เป็นทางยุโรป) จะใช้ลูกน้ำแทนจุดทศนิยม และใช้การเว้นช่องว่างแทนลูกน้ำ อย่างเช่นตัวเลข 10,000.14 ที่เราเขียนกัน ใน EU List จะเขียนเป็น 10 000,14

เส้นในคาร์บอน (carbon fibre) เป็นวัสดุตัวหนึ่งที่มักถูกยกมาเป็นตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้สองทาง โดยบอกว่าเป็นวัสดุที่ใช้ทำไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ และก็ยังมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนขีปนาวุธ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเส้นใยคาร์บอน "ทุกชนิด" เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง มันจะเป็นก็ต่อเมื่อมันมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้นมักจะ "สูงเกินจำเป็น" สำหรับการใช้งานทั่วไป แบบเดียวกับท่ออะลูมิเนียมที่จะเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางก็ต่อเมื่อท่อนั้นมันมีคุณสมบัติด้านการรับแรงที่เป็นไปตามข้อกำหนด

ดังนั้นวันนี้จะมาลองดูกันว่าคำว่าเส้นใยคาร์บอนหรือที่เรียกใน EU List ว่า carbon fibre นั้นมีปรากฏในหัวข้อได้บ้าง โดยอิงจาก EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ (พ.ศ. ๒๕๖๔) (อันที่จริงมันมีฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๒ ออกมาแล้วนะ)

รูปที่ ๑ หัวข้อนี้กล่าวถึง "อุปกรณ์" ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือตรวจสอบวัสดุคอมพอสิต (ที่เส้นใยคาร์บอนก็เป็นหนึ่งในวัสดุคอมพอสิต"

ที่แรกที่คำว่า "carbon fibre" ปรากฏคือหัวข้อ 1B001 (รูปที่ ๑) ที่เกี่ยวข้องกับ "อุปกรณ์" ที่ใข้ในการผลิตเส้นใย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของเส้นใย

คุณสมบัติของเส้นใยที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางนั้นไปปรากฏในหัวข้อ 1C010 (รูปที่ ๒) ซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านความแข็งแรงของเส้นใย โดยดูจากพารามิเตอร์ 2 ตัวคือ "specific modulus' และ "specific tensile strength" ซึ่งนิยามของพารามิเตอร์ 2 ตัวนี้ต้องไปดูในส่วน "Definitions of terms used in this annex" (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๒ หัวข้อ 1C010 เป็นหัวข้อที่กำหนดความแข็งแรงของเส้นใยที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

นิยามของ "Specific modulus" คือค่า Young's modulus (N/m2) หารด้วยน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตร (N/m3) ณ อุณหภูมิและค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่กำหนด (ค่า Young's modulus คือค่าอัตราส่วนความเค้นต่อความเครียด บอกให้รู้ว่าวัสดุนั้นมีความต้านทานในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมากน้อยแค่ไหน วัสดุที่มีค่านี้ต่ำก็จะยืดตัวหรือดัดโค้งงอได้ง่ายหรือเรียกว่ามีความอ่อน)

ส่วนนิยามของ "Specific tensile strength" คือค่า Ultimate tensile strength หารด้วยน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตร (N/m3) ณ อุณหภูมิและค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่กำหนด (ค่า Ultimate tensile strength คือค่าแรงต่อหน่วยพื้นที่หรือค่าความเค้น ที่วัสดุนั้นจะรับได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย)

ที่ต้องหารด้วยน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตรก็เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าเส้นใยเส้นนั้นมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด ที่ความสามารถในการรับแรงดึงเท่ากัน เส้นใยที่มีน้ำหนักต่อหน่วยปริมาตรน้อยกว่า (คือเส้นเล็กกว่า) ก็จะเป็นเส้นใยที่แข็งแรงกว่า

รูปที่ ๓ นิยามของ "specific modulus' และ "specific tensile strength" ที่ระบุไว้ในส่วน "Definitions of terms used in this annex"

ทีนี้มาดูหัวข้อ 1C010 ต่อ (รูปที่ ๔) ข้อ 1C010.a. กล่าวถึงเส้นใยที่เป็น "สารอินทรีย์" ใด ๆ (ครอบคลุมเส้นใยคาร์บอนด้วย) ที่มีค่า Specific modulus "และ" ค่า Specific tensile strength สูงเกินค่าที่กำหนดไว้ คือคุณสมบัติต้องเข้าเกณฑ์ทั้งสองข้อ จะเข้าเกณฑ์เพียงข้อเดียวไม่ได้ แต่ทั้งนี้ยกเว้นเส้นใยที่ทำจากพอลิเอทิลีน

ข้อ 1C010.b. นั้นเฉพาะเจาะจงไปที่เส้นใยคาร์บอน (รูปที่ ๔) ที่มีค่า Specific modulus "และ" ค่า Specific tensile strength สูงเกินค่าที่กำหนดไว้ คือคุณสมบัติต้องเข้าเกณฑ์ทั้งสองข้อ จะเข้าเกณฑ์เพียงข้อเดียวไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน คือถ้ามีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในส่วน Note ข้างใต้ ก็จะไม่ถือว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง โดย Note ข้อ a. นั้นไม่ได้มีการระบุว่าต้องเป็นเส้นใยชนิดใด (ถ้าว่ากันตามนี้ก็น่าจะครอบคลุมเส้นใยสารอินทรีย์ทุกตัว) ในขณะที่ Note ข้อ b. นั้นระบุเฉพาะเจาะจงไปที่เส้นใยคาร์บอน (พึงสังเกตว่าในเอกสารนั้นมีการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็กทั้งในรูปแบบตัวพิมพ์และตัวเอียง (เช่น a กับ a) เพื่อแยกระดับรายการย่อยในแต่ละหัวข้อ)

รูปที่ ๔ ข้อกำหนดความแข็งแรงของเส้นใยที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ กรณีของเส้นใยใด ๆ ที่มีความแข็งแรงสูงเกินค่าที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 1C010.a. (ซึ่งมีความแข็งแรงต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 1C010.b.) มันก็จะเข้าเกณฑ์ว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางตามข้อ 1C010.a. ไปแล้ว แล้วทำไมจึงต้องมีหัวข้อ 1C010.b. ที่เฉพาะเจาะจงไปที่เส้นใยคาร์บอนอีก ซึ่งตรงนี้ก็ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน คงต้องให้ผู้ชำนาญการทางด้านเส้นใยพอลิเมอร์มาเป็นผู้อธิบาย

หัวข้อสุดท้ายที่พบว่ามีคำ "carbon fibre" ปรากฏคือหัวข้อ 1C010.e. (รูปที่ ๕) ที่เกี่ยวข้องกับ "ชิ้นงาน" (ทั้งในรูปแบบ prepeg และ preform) สำหรับนำไปขึ้นรูปเป็นชิ้นงานอื่น หัวข้อนี้ครอบคลุมเส้นใยทั้งชนิดที่เป็นสารอินทรีย์และเส้นใยคาร์บอน ไม่รวมเส้นใยที่เป็นสารอินทรียชนิดอื่น เพราะถ้าพิจารณาจากคุณสมบัติที่ระบุไว้คือต้องเข้าเกณฑ์ทั้งข้อ 1C010.e.1. และ 1C010.e.2. โดยเกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.a. นั้นระบุเพียงแค่เส้นใยที่เป็นสารอนินทรีย์ ในขณะที่เกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.b. นั้นระบุเฉพาะเส้นใยคาร์บอน (ที่เป็นสารอินทรีย์) ดังนั้นเส้นเส้นใยที่เป็นสารอินทรีย์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่เส้นใยคาร์บอนซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.a. อยู่แล้ว จึงไม่ถูกควบคุมไว้ด้วยเกณฑ์ข้อ 1C010.e.1.b. ด้วย

รูปที่ ๕ หัวข้อ 1C010.e. ตรงนี้จะเป็นส่วนของชิ้นงานที่ทำขึ้นจากการนำเอาเส้นใยไปขึ้นรูปเพื่อใช้เป็นวัสดุดิบสำหรับขึ้นรูปชิ้นงานอื่นต่อไป

จะเห็นว่า ไม้เทนนิส, ไม้กอล์ฟ หรืออุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ นั้น แม้ว่าจะทำขึ้นจากเส้นใยที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด แต่ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเขาไม่จัดให้เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เพราะมันไม่สามารถแยกเอาเส้นใยออกไปทำอย่างอื่นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น