หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความชุดนี้อิงจากมาตราฐาน API 2000 7th Edition, March 2014. Reaffirmed, April 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจ ดังนั้นถ้าจะนำไปใช้งานจริงควรต้องตรวจสอบกับมาตรฐานฉบับล่าสุดที่ใช้ในช่วงเวลานั้นก่อน
หายไปกว่าสองเดือน ก็ได้เวลากลับมาเขียนเรื่องนี้ต่อ โดยจะเป็นในส่วนหัวข้อ 3.4 และ 3.5
เริ่มจากหัวข้อ 3.4 Means of Venting หรือวัตถุประสงค์ของการระบายความดัน ซึ่งแยกเป็นหัวข้อ 3.4.1 Normal Venting หรือการระบายความดันในสภาวะปรกติ (รูปที่ ๑) และหัวข้อ 3.4.2 Emergency Venting หรือการระบายความดันในกรณีฉุกเฉิน (ความดันเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว)
รูปที่ ๑ หัวข้อ 3.4 ถึง 3.4.1.1
หัวข้อ 3.4.1.1 General หรือเรื่องทั่วไป ในย่อหน้าแรกกล่าวถึงการระบายความดันสำหรับความดันที่สูงเกินหรือเกิดสุญญากาศภายใน ซึ่งทำได้ด้วยการใช้ Pressure-Vacuum valve (PV valve) ที่มีหรือไม่มี flame arresting device (อุปกรณ์ป้องกันไม่ให้เปลวไฟวิ่งผ่าน) หรือโดยการใช้ช่องเปิด (open vent เช่นท่อมีขนาดที่ใหญ่พอและได้รับการป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าไปข้างใน โดยปรกติก็จะใช้ข้องอต่อให้โค้งคว่ำคง) ที่มีหรือไม่มี flame arresting device
การไม่ติดตั้ง flame arresting device จะใช้กับถังบรรจุของเหลวที่ไม่ติดไฟ หรือมีจุดวาบไฟสูง หรือไม่มีโอกาสที่มีสารไวไฟที่มีความดันไอสูงปะปนเข้ามากับของเหลวในถัง
ย่อหน้าที่สองกล่าวว่าการป้องกันบรรยากาศภายในถังไม่ไม่ให้เปลวไฟจากภายนอกวิ่งย้อนเข้ามาได้จะกระทำเมื่อ
- ของเหลวในถังมีจุดวาบไฟต่ำ (เช่นน้อยกว่า 60ºC หรือ 140ºF) หรือตามกฎข้อบังคับที่บังคับใช้อยู่ ขึ้นอยู่กับว่าอันไหนกำหนดอุณหภูมิไว้สูงกว่า
- อุณหภูมิของเหลวที่เก็บมีโอกาสสูงเกินกว่าจุดวาบไฟ หรือ
- ที่ว่างส่วนที่เป็นไอเหนือผิวของเหลวอาจกลายเป็นส่วนผสมที่สามารถติดไฟได้
ถังเก็บของเหลวที่มีจุดวาบไฟสูงและอุณหภูมิกักเก็บต่ำกว่าจุดวาบไฟ จะยอมให้อากาศไหลผ่านเข้า-ออกได้ ดังนั้นที่ว่างส่วนที่เป็นไอเหนือผิวของเหลวจะมีอากาศอยู่แล้ว แต่ความเข้มข้นของเชื้อเพลิงจะต่ำ ทำให้ปลอดภัยจากการระเบิด แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความเข้มข้นของเชื้อเพลิงในส่วนที่เป็นไอนั้นเพิ่มสูงขึ้นจนถึงความเข้มข้นที่สามารถระเบิดได้ (เช่นกรณีที่ถังถูกไฟครอกหรือมีโอกาสที่จะมีสารไวไฟที่มีความดันไอสูงปะปนเข้ามากับของเหลวที่ป้อนเข้าถัง) เวลาที่เกิดไฟไหม้ภายนอก ความร้อนจากเปลวไฟจะทำให้ส่วนที่เป็นไอนั้นระบายออกมา และเพื่อพบกับเปลวไฟภายนอก ก็จะเกิดเปลวไฟวิ่งย้อนเข้าไปภายในถังได้ จึงจำเป็นต้องมีการติดตั้ง flame arresting device เพื่อไม่ให้เปลวไฟเข้าไปจุดระเบิดไอผสมในถังได้
รูปที่ ๒ หัวข้อ 3.4.1.2 และ 3.4.1.3
หัวข้อ 3.4.1.2 Pressure/Vacuum Valves หรือวาล์วความดัน/สุญญากาศ (รูปที่ ๒) หัวข้อนี้เป็นหัวข้อสั้น ๆ กล่าวไว้เพียงบรรทัดเดียวว่า เพื่อป้องกันการสูญเสียผลิตภัณฑ์ แนะนำให้ใช้ PV valves กับถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศ
คือการใช้ช่องระบาย (vent) เวลาที่ความดันในถังเพิ่มสูงขึ้น (เช่นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจากแสงแดด) ไอระเหยในถังก็จะระบายออกจากถังทันที ทำให้สูญเสียผลิตภัณฑ์ออกไปกับไอระเหย แต่ถ้าติดตั้ง PV valve ที่กำหนดให้เปิดเมื่อความดันในถังสูงถึงค่า ๆ หนึ่ง ถ้าความดันภายในถังนั้นสูงยังไม่เกินค่าที่ตั้งเอาไว้ วาล์วก็จะไม่เปิดระบายไอ และในทางกลับกันเมื่อความดันในถังที่เพิ่มสูงขึ้นไปนั้นลดต่ำลงจนต่ำกว่าค่าความดันที่ตั้งให้วาล์วเปิด วาล์วก็จะปิดตัว ทำให้หยุดการระบายไอระเหยออกมา จึงเป็นการลดการสูญเสียผลิตภัณฑ์
ในทางตรงข้ามถ้าความดันในถังลดต่ำลงกว่าความดันบรรยากาศภายนอก ถ้าใช้ช่องระบาย อากาศภายนอกก็จะไหลเข้าถังทันที แต่ถ้าติดตั้ง PV valve วาล์วจะเปิดให้อากาศภายนอกไหลเข้าก็ต่อเมื่อความดันภายในถังลดต่ำลงถึงระดับหนึ่งก่อน จึงเป็นการลดปริมาณอากาศที่จะไหลเข้าไปในถัง (ที่อาจทำให้เกิดส่วนผสมไอที่ระเบิดได้ภายในถัง
หัวข้อ 3.4.1.3 กล่าวถึง Open Vents หรือช่องระบายแบบเปิด ในย่อหน้าแรกกล่าวว่าถ้าเลือกใช้ช่องระบายแบบเปิดกับถังที่บรรจุของเหลวที่อาจทำให้ที่ว่างเหนือผิวของเหลวภายในถังนั้นเกิดเป็นองค์ประกอบที่ระเบิดได้ (ดังเช่นที่กล่าวไว้ในหัวข้อ 3.4.1.1) จึงควรที่จะต้องติดตั้ง flame arresting device เอาไว้ด้วย ถังที่ใช้ช่องระบายแบบเปิดโดยไม่ติดตั้ง flame arresting device เหมาะสำหรับถังที่ไม่มีโอกาสที่ไอระเหยเหนือผิวของเหลวจะเกิดเป็นองค์ประกอบที่ระเบิดได้
ย่อหน้าที่สองกล่าวไว้ว่าในกรณีของน้ำมันที่ข้นหนืด (เช่น cutback หรือ penetration grade asphalts) ที่อันตรายจากถังพังเนื่องจากตัวแผ่นปิดกั้นการระบายไอของ PV valves ไม่เปิดหรือ flame arrester อุดตัด (ต่างเป็นผลจากการมียางเหนียวไปเกาะติด) มีโอกาสสูงกว่าการที่จะมีเปลวไฟวิ่งย้อนกลับเข้าไปในถัง ก็อาจใช้ช่องเปิดแบบธรรมดาได้ (คือไม่มีการติดตั้ง flame arresting device หรือ PV valves) เว้นแต่ที่ระบุไว้ในหัวข้อ 3.4.1.1 หรือไม่ก็ต้องมีการให้ความร้อนแก่ช่องระบาย (heat traced vent) ที่มั่นใจได้ว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าจุดควบแน่นของไอ
penetration grade asphalts คือคือไฮโดรคาร์บอนหนักที่เราเรียกว่า "ยางมะตอย" พวกนี้จะแข็งตัวเป็นของแข็งที่มีความอ่อนนุ่มที่แตกต่างกันที่อุณหภูมิห้อง การแบ่งเกรดจึงใช้การกดลงไปบนพื้นผิว ที่แรงกดเท่ากัน ตัวไหนอ่อนก็จะกดลงไปได้มากกว่าตัวที่แข็งกว่า (ที่มีของชื่อ penetration grade) ส่วน cutback คือยางมะตอยที่มีการผสมไฮโดรคาร์บอนที่เป็นตัวทำละลายเข้าไปเพื่อลดความหนืด (เพื่อให้ไหลเทได้ง่าย)
สารพวกนี้เป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง แต่ในการผลิตหรือเก็บต้องทำให้มันร้อนเพื่อให้ไหลไปตามท่อได้ง่าย ดังนั้นมันจะมีไอระเหยเกิดขึ้นภายในถัง และเมื่อไอระเหยเหล่านี้ไปควบแน่นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ (เช่นฝาถังด้านบน) ก็จะควบแน่นกลายเป็นของแข็งยึดเกาะตามพื้นผิวต่าง ๆ ถ้าไปเกาะที่ pallet (แผ่นปิด) ของ PV valve ก็จะทำให้ตัว pallet ขยับตัวไม่ได้ หรือถ้าไปเกาะที่ตะแกรงโลหะของ flame arrester ก็จะทำให้ flame arrester อุดตัน อันที่จริงแม้แต่ตัว open vent เองถ้าไม่มีการตรวจสอบเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสเกิดการอุดตันได้เช่นกัน
flame arrester เป็นอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้เปลวไฟวิ่งผ่านไปได้โดยตัวมันเองจะชิ้นส่วนโลหะที่มีช่องเปิดขนาดเล็กที่ยอมให้แก๊สไหลผ่านได้ (เช่นลองนึกภาพเอากระดาษลูกฟูกมาม้วนเป็นแท่งกลม) เมื่อเปลวไฟวิ่งมาถึงชิ้นส่วนโลหะนี้ เปลวไฟจะถ่ายเทความร้อนให้กับชิ้นส่วนโลหะ ทำให้เปลวไฟเย็นลงและดับก่อนที่จะทะลุผ่านตัวชิ้นส่วนโลหะนี้ไป ด้วยการที่ชิ้นส่วนโลหะนี้มีรูให้แก๊สไหลผ่านที่เล็ก มันจึงอุดตันได้ง่าย
สารที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่เมื่ออากาศเย็นจัดอาจแข็งตัวได้ก็สามารถก่อให้เกิดการอุดตันที่ flame arrester ได้เช่นกัน เช่นเบนซีนที่มีจุดเยือกแข็งที่ประมาณ 5-6ºC ไอระเหยของเบนซีนอาจไปแข็งตัวที่บริเวณดังกล่าวได้เมื่อากาศภายนอกเย็นจัด (ดูตัวอย่างได้ในบทความฉบับวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ เรื่อง "ถัง (Tank) บรรจุเบนซีนได้รับความเสียหายจากความดันที่สูงเกิน"
seal drum ก็เป็น flame arresting device อีกชนิดหนึ่ง แต่ตัวนี้จะพบเห็นกันที่ระบบเผาแก๊สทิ้ง (flare system) ตัวนี้จะเป็นถังบรรจุน้ำอยู่ภายใน ปลายท่อแก๊สที่ไหลเข้าถังจะจุ่มลงใต้ผิวน้ำ แล้วแก๊สก็จะลอยผ่านน้ำออกไปยังท่อทางออก ถ้ามีเปลวไฟวิ่งย้อนมาตามท่อทางออก ก็จะมาหยุดที่ผิวน้ำที่อยู่ในถัง
ย่อหน้าที่สามกล่าวไว้ว่าในกรณีที่มีข้อกำหนดเรื่องการปลดปล่อยที่เข้มงวด การใช้ช่องเปิดแบบธรรมดาอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ดังนั้นการเลือกอุปกรณ์ระบายความดันจึงควรต้องพิจารณาข้อกำหนดอัตราการรั่วไหลสูงสุดในระหว่างการทำงานปรกติ
รูปที่ ๓ หัวข้อ 3.4.2
หัวข้อ 3.4.2 Emergency Venting (รูปที่ ๓) หรือการระบายความดันในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในหัวข้อนี้กล่าวเอาไว้ว่าการระบายความดันในสถานการณ์ฉุกเฉินอาจทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
a) ใช้ช่องเปิดระบายที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีจำนวนมากกว่าที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 3.4.1.3
b) ติดตั้ง PV valve ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเพิ่มจำนวน
c) ใช้ฝาเปิด-ปิดที่ใช้สำหรับการวัดระดับของเหลวในถัง (gauge hatch) ที่สามารถเปิดเองได้เมื่อความดันในถังผิดปรกติ
d) ใช้ฝาเปิด-ปิดช่องทางคนเข้า (manhole) ที่สามารถเปิดเองได้เมื่อความดันในถังผิดปรกติ
e) การใช้รอยต่อระหว่างตัวหลังคากับผนังถังที่ฉีกขาดได้ง่ายกว่ารอยต่อที่จุดอื่น (ดูหัวข้อ 3.3.3.2) (คือให้ฝาถังปลิวออกไปก่อนที่ลำตัวถังจะฉีกขาด)
f) ติดตั้ง rupture-disk (ที่แผ่น disk จะฉีกขาดเมื่อความดันสูงเกินกำหนด (พึงสังเกตว่าจะไม่ใช้ safety valve เพราะ safety valve จะใช้เวลาในการเปิดและยังมีความต้านทานการไหลที่สูงกว่า)
g) รูปแบบโครงสร้างแบบอื่นที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการระบายความดันได้
รูปที่ ๔ หัวข้อ 3.51
หัวข้อ 3.5 Considerqations for Tanks with Potentially Flammable Atmosheres (รูปที่ ๔) หรือการพิจารณาในกรณีของถังเก็บที่มีโอกาสที่จะมีบรรยากาศที่ติดไฟได้ (ภายในถัง) ซึ่งตรงนี้หัวข้อ 3.5.1 General (ทั่วไป) กล่าวไว้ในประโยคแรกว่า โอกาสที่ส่วนผสมของไอที่อยู่เหนือผิวของเหลวภายในถังจะมีสัดส่วนที่ระเบิดได้ขึ้นอยู่กับ กระบวนการ, สภาวะการทำลาย และ/หรือ สภาวะการระบายไอ การจุดระเบิดของไอระเหยที่อยู่ภายในถังมักจะนำไปสู่ความเสียหายของตัวหลังคาถัง และ/หรือการสูญเสียความสามารถในการเก็บกัก (อันนี้คือลำตัวถังฉีกขาด) แหล่งจุดระเบิดมีได้หลายอย่างเช่น ประกายไฟจากไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นภายในถังอันเป็นผลจาก การเติมของเหลวแบบตกกระจายหรือวิธีการจุ่มวัดระดับที่ไม่เหมาะสม การมีสารที่สามารถลุกติดไฟได้เองเมื่อสัมผัสอากาศ (pyrophoric substance) อยู่บนผนังด้านในของถัง, งานที่มีความร้อนที่กระทำบนตัวถัง (พวก งานเชื่อม ตัด เจียร), อุณหภูมิของถังหรือข้อต่อต่าง ๆ สูงกว่าอุณหภูมิลุกติดไฟได้เอง (auto-ignition temperature) อันเป็นผลจากความร้อนของเปลวไฟที่อยู่ภายนอก, หรือเปลวไฟวิ่งผ่านทางช่องเปิดหรือช่องระบายต่าง อันเป็นผลจากฟ้าผ่าหรือเพลิงไหม้ภายนอก การพิจารณาโอกาสเกิดไอระเหยที่ระเบิดได้ภายในถังและระบุมาตรการป้องกันก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว
แต่ต้องจำเป็นต้องมีการระบาย explosion/deflagration ให้ดูหัวข้อ 3.2.5.13
สาร pyrophoric ตัวหนึ่งที่มีโอกาสพบได้คือ FeS หรือ iron sulphide ที่เกิดจากสนิมเหล็กกับสารประกอบกำมะถัน (เช่น hydrogen sulphide) FeS นี้ลุกติดไฟได้เองถ้าเจออากาศ
ปฏิกิริยาการเผาไหม้เป็นปฏิกิริยาความความร้อนซึ่งจะเร่งตนเอง ทำให้ความเร็วของไอระเหยที่ลุกไหม้จากจุดเริ่มต้นแผ่กระจายด้วยความเร็วที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าความเร็วนั้นยังต่ำกว่าความเร็วเสียงก็จะเรียกว่า deflagration แต่ถ้าไปถึงความเร็วเสียงหรือสูงกว่าเมื่อใดก็จะเป็น detonation ที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงกว่ามาก
รูปที่ ๕ หัวข้อ 3.5.2
หัวข้อ 3.5.2 Design Options for Explosion Preventing (รูปที่ ๕) หรือตัวเลือกในการออกแบบเพื่อป้องกันการระเบิด ย่อหน้าแรกกล่าวไว้ว่าถ้าหากไอเหนือผิวของเหลวนั้นสามารถเป็นส่วนผสมที่ลุกติดไฟได้ ผู้ใช้ควรต้องระบุว่าต้องมีการป้องกันใดบ้างเพื่อไม่ให้เกิดการลุกไหม้ภายใน หัวข้อต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการป้องกัน
a) การเลือกใช้ถังเก็บที่แตกต่างออกไป กล่าวคือการเลือกใช้ถังเก็บที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปอาจช่วยลดหรือกำจัดการเกิดบรรยากาศที่สามารถลุกติดไฟได้ภายในถัง ตัวอย่างเช่น Floating roof tank หรือถังที่สามารถรองรับสุญญากาศได้เต็มที่ (คือไม่มีความดันภายในถังเลย)
Floating roof tank หรือถังที่ฝาถังลอยอยู่บนผิวของเหลว มันไม่มีที่ว่างระหว่างผิวของเหลวกับฝาถัง จึงไม่มีโอกาสเกิดไอผสมที่สามารถลุกไหมได้ภายใต้ฝาถัง
ถังที่ไม่ได้ออกแบบให้รับสุญญากาศได้เต็มที่ เวลาที่ความดันในถังลดต่ำลงก็จำเป็นต้องให้อากาศภายนอกไหลเข้ามาเพื่อไม่ให้ความดันในถังต่ำเกินไปจนถังถูกความดันอากาศภายนอกบีบกดให้ถังยุบตัว แต่การยอมให้อากาศภายนอกไหลเข้ามาก็ทำให้เกิดไอผสมระหว่างอากาศกับไอระเหยของเชื้อเพลิงใต้ฝาถัง ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นส่วนผสมที่สามารถลุกติดไฟได้อยู่ภายใต้ฝาถัง
b) การใช้แก๊สเฉื่อยเข้าปกคลุม (blanketing) กล่าวคือในกรณีที่ความดันในถังลดต่ำลง แทนที่จะยอมให้อากาศภายนอกเพียงอย่างเดียวไหลเข้าภายในถัง ก็จะทำการป้อนแก๊สเฉื่อย (ปรกติก็คือไนโตรเจน แต่ก็อาจมีคาร์บอนไดออกไซด์ก็ได้) เข้าไปในถังเพื่อรักษาความดันในถัง แก๊สเฉื่อยที่ป้อนเข้าไปจะช่วยลดปริมาณอากาศที่ไหลเข้าถัง (ถ้าหากยังยอมให้อากาศไหลเข้าถังได้ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องป้อนแก๊สเฉื่อยเข้าไปมาก)
แต่ก็มีหมายเหตุว่าอาจไปทำให้ก่ออันตรายเรื่องอื่นแทนเช่นการขาดอากาศ หรือในกรณีของระบบที่มีสารที่เป็นกรด (sour service) อาจจะไปช่วยเสริมการเกิดคราบสาร pyrophoric ได้
ในกรณีของไฮโดรคาร์บอน สารที่เป็นกรดที่ปะปนอยู่ที่พบอยู่เสมอคือสารประกอบกำมะถัน เช่นไฮโดรเจนซัลไฟด์ สารประกอบกำมะถันนี้จะทำปฏิกิริยากับสนิมเหล็ก (เหล็กออกไซด์) เกิดเป็นสารประกอบซัลไฟด์ (FeS) สารประกอบซัลไฟด์นี้เมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศจะกลับเป็นสนิมเหล็กและคายความร้อนออกมา ซึ่งถ้ามีอยู่ในปริมาณมากก็อาจทำให้เชื้อเพลิงในถังเกิดการจุดระเบิดได้ แต่ถ้าในถังมีอากาศผสมอยู่ในปริมาณไม่มาก สารประกอบซัลไฟล์ที่เกิดขึ้นก็จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศและสลายตัวไป พร้อมกับความร้อนออกมาในปริมาณที่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการลุกไหม้ของเชื้อเพลิงภายในถังได้ แต่ถ้ามันเกิดสะสมในปริมาณมาก และเมื่อใดที่มีอากาศมากพอไหลเข้าไปในถัง ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นก็จะคายความร้อนที่มากพอที่จะทำให้ไอระเหยของเชื้อเพลิงในถังเกิดระเบิดได้
c) การติดตั้ง flame arrester หัวข้อนี้บอกว่าการติดตั้ง flame arrester ทางด้านปลายขาออกของช่องระบาย หรือทางด้านขาเข้าของ PV valve (คืออยู่ระหว่างวาล์วกับถัง เพราะมันติดตั้งทางด้านขาออกไม่ได้) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงที่เปลวไฟจะวิ่งผ่านเข้าไปในถัง แต่ตรงนี้มีคำเตือนว่าในกรณีที่มีเปลวไฟลุกติดอย่างต่อเนื่องทางด้านขาออกของ flame arrester และตัว flame arrester ดังกล่าว (หรือชิ้นส่วนอื่นของถังหรือข้อต่อท่อ) ไม่ได้รับการออกแบบมาให้ทนต่อการมีเปลวไฟเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิของชิ้นส่วนเหล่านั้นอาจจะสูงเพียงพอที่จะไปจุดระเบิดไอผสมในถังได้ การติดตั้งสัญญาณเตือนอุณหภูมิสูงที่ตัว flame arrester จะสามารถเตือนการเกิดเหตุการณ์นี้ได้
ตรงนี้ขอขยายความนิดนึง กรณีเปลวไฟลุกไหม้อย่างต่อเนื่องมีโอกาสเกิดเมื่อของเหลวในถังนั้นร้อนและระเหยกลายเป็นไอออกมาตลอดเวลา ทำให้เปลวไฟลุกไหม้ได้อย่างต่อเนื่องที่ด้านขาออกของ flame arrester (คล้ายกับหัวเตาแก๊สที่ใข้กันในบ้าน แต่ในกรณีหัวเตาแก๊สนั้นความเร็วแก๊สที่พุ่งออกมากับความเร็วเปลวไฟนั้นพอ ๆ กัน เปลวไฟเลยอยู่กับที่) ความร้อนจากเปลวไฟจะไปทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ (ที่ปรกติทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับความร้อนของเปลวไฟเพื่อให้เปลวไฟที่วิ่งผ่านนั้นดับ) มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อใดที่สูงถึง auto-ignition temperature ของไอสารผสม ไอสารผสมที่อยู่ในถังก็จะระเบิดได้ หรือในกรณีของท่อระบายที่เป็นรูปตัว U คว่ำลง (ป้องกันน้ำฝนไหลเข้า) เปลวไฟที่เกิดขึ้นก็มีสิทธิไปทำให้ฝาถังบริเวณที่อยู่ใต้ flame arrester นั้นร้อนจัดจนสามารถจุดระเบิดไอสารผสมที่อยู่ในถังได้
และมีคำเตือนเพิ่มเติมว่าการติดตั้ง flame arrester ก็อาจทำให้ถังได้รับความเสียหายจากความดันสูงเกินหรือสุญญากาศได้ถ้าหาก flame arrester เกิดการอุดตันอันเนื่องจากขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษา และการใช้ flame arrester จะไปเพิ่มความดันลด (ความต้านทานการไหล) ของระบบระบายความดัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาบริษัทผู้ผลิตเพื่อประเมินผลกระทบเหล่านี้ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ flame arrester สามารถอ่านได้จากมาตรฐาน ISO 16852, NFPA 69, TRbF 20, FM 6061, และ USCG 33 CFR 154
ย่อหน้าสุดท้ายกล่าวว่าในการเลือก flame arrester ที่เหมาะสม ควรพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้ได้แก่ รูปแบบการเดินท่อ, ความดันและอุณหภูมิการทำงาน, ความเข้มข้นออกซิเจน, ความเข้ากันได้ของวัสดุที่ใช้ทำ flame arrester, และ group ของแก๊สที่ระเบิดได้ (เช่น IIA, IIB ฯลฯ) และควรปรึกษาผู้ผลิตเพื่อเลือก flame arrester ที่เหมาะสม
แก๊สที่ระเบิดได้มีการจำแนกออกเป็น group ต่าง ๆ ตามระดับความดันสูงสุดเมื่อไอผสมของแก๊สนั้นระเบิด ตรงนี้อ่านเพิ่มเติมได้ใน Memoir ฉบับวันพุธที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "Electrical safety for chemical processes"
d) หัวข้อย่อยสุดท้ายกล่าวว่าในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมีประสบการณ์ที่ดีกับถังที่ติดตั้ง PV valve โดยไม่มีการติดตั้ง flame arrester ทำให้เกิดความเชื่อจากประสบการณ์ที่ดีนี้ว่า PV valve โดยตัวมันเองสามารถป้องกันไม่ให้เปลวไฟไหลย้อนเข้าไปในถังได้อยู่แล้ว แต่จากการทดลองเมื่อไม่นานนี้ (คือช่วงเวลาที่ออกมาตรฐาน) พบว่าไม่เป็นความจริงเสมอไป อย่างน้อยก็ในสภาวะที่ใช้ทำการทดลอง ประเด็นนี้จะมีการกล่าวถึงอีกครั้งในหัวข้อ 3.5.4
รูปที่ ๖ หัวข้อ 3.5.3
หัวข้อ 3.5.3 Inert-gas-blanketed Tanks หรือถังที่ปกคลุมด้วยแก๊สเฉื่อย กล่าวถึงการใช้ระบบป้อนแก๊สเฉื่อยเพื่อหลีกเลี่ยงการดึงอากาศเข้าภายในถังเวลาที่ความดันภายในถังต่ำกว่าความดันบรรยากาศ หัวข้อนี้กล่าวว่า การใช้ระบบแก๊สเฉื่อยแทนการใช้อุปกรณ์ป้องกันการเกิดสุญญากาศ "อยู่นอกขอบเขต" ของมาตรฐานนี้ สำหรับถังที่ใช้ระบบป้อนแก๊สเฉื่อย โอกาสที่จะเกิดบรรยากาศที่ระเบิดได้ภายในถังจะลดลง และจะได้ประโยชน์เทียบได้กับการจำแนกเป็นพื้นที่ที่มีอันตรายลดต่ำลง ดูภาคผนวก F สำหรับประโยชน์อื่นที่ได้และข้อมูลเป็นแนวทางสำหรับการใช้แก๊สเฉื่อยปกคลุมเพื่อป้องกันเปลวไฟวิ่งย้อนกลับ ส่วนการหาขนาดอุปกรณ์ระบายความดันควรกำหนดขนาดเผื่อกรณีที่ไม่มีแก๊สเฉื่อย (ดูข้อ 3.3.1)
เรื่อง "hazardous area classification" เป็นเรื่องเกี่ยวกับโอกาสที่จะมีสารไวไฟในพื้นที่ต่าง ๆ เรื่องนี้อ่านเพิ่มเติมได้ใน Memoir ฉบับวันพุธที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "Electrical safety for chemical processes"
รูปที่ ๗ หัวข้อ 3.5.4
หัวข้อสุดท้ายของฉบับนี้คือ 3.5.4 Flame Propagation Through Pressure/Vacuum Valves (รูปที่ ๗) หรือการเดินทางของเปลวไฟ (จากภายนอก) ผ่าน PV valves (เข้าไปในถัง) จะเรียกว่าหัวข้อนี้เป็นการอภิปรายเพิ่มเติมเรื่องความเชื่อที่ว่า flame arrester มีคุณสมบัติในการป้องกันไม่ให้เปลวไฟผ่านได้ที่กล่าวไว้ในหัวข้อ 3.5.2 ข้อย่อย d)
ย่อหน้าแรกกล่าวว่า ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าเปลวไฟสามารถแพร่กระจายผ่าย PV valve เข้าไปในที่ว่างเหนือผิวของเหลวในถังได้ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการจุดระเบิดไอที่ระเหยออกมาจาก PV valve (เช่นจากการโดนฟ้าผ่า) สามารถก่อให้เกิดเปลวไฟวิ่งย้อนกลับเข้าไปใน PV valve และทำให้เกิดความดันที่สูงพอที่จะยกแผ่นปิดกั้น (pallet) ของตัว PV valve ได้ ทำให้เปลวไฟแพร่เข้าไปในว่างเหนือผิวของเหลวในถังได้ การทดลองอื่นแสดงให้เห็นว่า ในสภาวะที่มีการไหลออกมาอย่างช้า ๆ เปลวไฟสามารถแพร่ผ่านเข้าทางด้านความดันของ PV valve ได้ (ด้านที่เปิดเมื่อความดันในถังสูงเกิน)
ด้านความดันคือด้านที่จะเปิดเมื่อความดันในถังสูงกว่าความดันภายนอกถังระดับหนึ่ง ตำแหน่งของเปลวไฟจะขึ้นอยู่กับความเร็วของไอที่ไหลออกมากับความเร็วของเปลวไฟ ถ้าความเร็วของไอที่ไหลออกมานั้นเท่ากับความเร็วในการแพร่กระจายของเปลวไฟ เปลวไฟก็จะอยู่กับที่ (แบบเตาแก๊สหุงต้มที่ใช้กันตามบ้าน) แต่ถ้าความเร็วของไอที่ไหลออกมานั้นต่ำกว่าความเร็วของเปลวไฟ เปลวไฟก็จะวิ่งสวนทางกับการไหลของไอได้ (เช่นตอนที่เราปิดเตาแก๊สหุงต้ม เปลวไฟจะวิ่งเข้าไปในรูหัวเตา และไปดับตรงจุดผสมระหว่างอากาศและแก๊สหุงต้ม อนึ่งพึงระลึกว่าการทำงานของเตาแก๊สหุงต้มนั้น เราผสมอากาศกับแก๊สหุงต้มก่อน แล้วจึงไปจุดไฟให้มันเผาไหม้ที่หัวเตา)
ย่อหน้าที่สองกล่าวว่า ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนั้นเหตุการณ์เปลวไฟวิ่งย้อนผ่าน PV valve เป็นเหตุการณ์ที่ยากที่จะพบเห็น ซึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยดังต่อไปนี้
- สารที่เก็บในถังเก็บแบบหลังคารูปกรวย (cone roof tank) บ่อยครั้งที่ไม่ก่อให้เกิดส่วนผสมที่ระเบิดได้ภายในถัง
- ฟ้าผ่ามักจะเกิดขึ้นเมื่อมีเมฆปกคลุม จึงมีแนวโน้มที่ถีงจะระบายแก๊สออกลดลง อย่างไรก็ตามการระบายแก๊สออกก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ถ้ามีการเติมของเหลวเข้าไปในถัง (ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะพอท้องฟ้ามีเมฆ แสงแดดก็จะหายไป ความร้อนจากแสงแดดที่ถังได้รับก็จะหายไป ทำให้ถังเย็นลง ความดันในถังก็ลดลง)
- ก่อนเกิดฟ้าผ่ามักจะมีลมพัด (สภาพอากาศก่อนฝนตก) ทำให้กลุ่มไอระเหยที่ลุกติดไฟได้ (ที่อยู่ด้านนอกของช่องระบายของ PV valve) มีขนาดที่เล็กลง (คือถ้าฟ้าไม่ผ่าลงมาใกล้ PV valve ก็คงยากที่จะจุดระเบิดไอระหยนี้)
สำหรับตอนที่ ๑๐ คงพอแค่นี้ก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น