วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2567

Chloropicrin (Trichloronitromethane) MO Memoir : Sunday 1 September 2567

วิธีการหนึ่งที่ใช้กำจัดแมลงและสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในซอกหลืบต่าง ๆ ของอาคาร (หรือในกองวัสดุเช่นเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ) คือการรมแก๊ส เพราะแก๊สสามารถซอกซอนเข้าไปในซอกเล็ก ๆ ต่าง ๆ ที่สารเคมีที่เป็นของเหลวนั้นยากที่จะเข้าถึง และแก๊สตัวหนึ่งที่มีการนำมาใช้คือ Chloropicrin หรือ Trichloronitromethane

รูปที่ ๑ เส้นทางการสังเคราะห์ Chloropicrin (วาดขึ้นตามข้อมูลจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Chloropicrin)

เริ่มแรกนั้น chloropicrin สังเคราะห์ขึ้นจากปฏิกิริยาระหว่าง pric acid (trinitrophenol) กับ sodium hypochlorite (NaOCl) เส้นทางหลักที่ใช้ในการผลิตปัจจุบันคือปฏิกิริยาระหว่าง nitromethane (H3C-NO2) กับ sodium hypochlorite และอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถเตรียมได้ในห้องปฏิบัติการคือปฏิกิริยาระหว่าง chloroform (CHCl3) กับ nitric acid (รูปที่ ๑)

มหาสงครามในยุโรปที่ปัจจุบันเราเรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นเดิมจะเรียกว่า "The Great War" เพราะว่ามันยังไม่มีมหาสงครามครั้งที่ ๒ ที่เกิดขึ้นในอีก ๒๐ ปีให้หลัง สงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นจัดว่าเป็นสงครามสนามเพลาะและยังได้รับการปกป้องด้วยรั้วลวดหนาม การทำลายสนามเพลาะต้องอาศัยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ที่ใช้กระสุนบรรจุด้วยดินระเบิด แต่ถ้ากระสุนนั้นไม่ลงตรงสนามเพลาะพอดีหรือหลุมหลบภัยนั้นมั่นคงแข็งแรงพอ กระสุนปืนใหญ่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคลื่นอัดจากแรงระเบิดนั้นมันวิ่งตรงออกไปจากจุดระเบิด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการนำเอาแก๊สพิษมาใช้ เพราะแก๊สพิษที่หนักกว่าอากาศนั้นสามารถเคลื่อนตัวต่ำลงไปในหลุมหลบภัยหรือแพร่เข้าไปในอาคารที่เป็นที่หลบภัยได้

อาวุธเคมีเริ่มต้นก็เริ่มจากแก๊สพิษก่อน (ตัวแรกที่ใช้คือแก๊สคลอรีน) ที่นี้พอฝ่ายตรงข้ามมีหน้ากากป้องกันแก๊สพิษที่ใช้อยู่ ก็แก๊สปัญหาด้วยการออกแก๊สพิษตัวใหม่ (ที่ต้องใช้ไส้กรองอากาศที่แตกต่างออกไปในการกรอง) หรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้พวกที่ออกฤทธิ์ต่อผิวหนัง เช่นพวกแก๊สมัสตาร์ด ที่ถ้าจะป้องกันจริง ๆ ก็ต้องมีชุดป้องกันสวมคลุมทั้งตัว แต่การจะเลือกใช้อาวุธเคมีแบบใดก็ต้องดูด้วยว่ามีการตกค้างในพื้นที่ดังกล่าวได้นานแค่ไหน ถ้าเป็นพื้นที่ที่ต้องการเข้าไปครอบครองหลังข้าศึกออกไปแล้ว ก็ไม่ควรที่จะใช้ชนิดที่ตกค้างนาน (เพราะฝ่ายตนเองก็จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เช่นกัน)

เทียบกับแก๊สพิษตัวอื่นที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว chloropicrin จัดว่าเป็นพวกที่มีความรุนแรงไม่มาก แต่มันมีจุดเด่นก็คือสามารถซึมผ่านยางของหน้ากากป้องกันแก๊สพิษได้ เอกสาร Leavenworth Papers No. 10 Chemical Warfare in World War I: The American Experience, 1917-1918 by Maj.(P) Charles E. Heller ได้กล่าวถึงแนวความคิดการใช้งานและการใช้งาน chloropicrin ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เอาไว้หลายครั้ง

รูปที่ ๒ แนวทางการใช้แก๊สพิษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ของกองทัพอังกฤษ

ตัวอย่างเช่นในรูปที่ ๒ ที่บรรยายถึงแนวทางการใช้กระสุนปื่นใหญ่บรรจุแก๊สพิษของกองทัพอังกฤษ ซึ่งได้มีการพิจารณาการใช้งานอยู่ ๓ แนวทางด้วยกัน โดยแนวทางแรกนั้นเป็นการระดมยิงถล่มด้วยกระสุนปืน่ใหญ่บรรจุแก๊สพิษ แต่แนวทางนี้ถูกมองว่าใช้งานได้ในช่วงนาทีแรกของการรบ เพราะเมื่อเริ่มการยิงทหารฝ่ายตรงข้ามก็จะทำการสวมหน้ากากป้องกันแก๊ส แนวทางที่สองคือการยิงกระสุนปืนใหญ่บรรจุแก๊สพิษอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนล้าลง สองแนวทางนี้ถูกมองว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก จึงเป็นที่มาของแนวทางที่สามคือการใช้แก๊สพิษผสมกับ chloropicrin โดย chloropicrin ที่ซึมผ่านยางของหน้ากากป้องกันแก๊ส จะทำให้ผู้สวมใส่หน้ากากเกิดการ ระคายเคืองดวงตา, ไอ, อาเจียน และระบบทางเดินหายใจอักเสบ ทำให้ผู้สวมใส่หน้ากากต้องถอดหน้ากากป้องกันแก๊สพิษออก ซึ่งจะทำให้ต้องหายใจเอาแก๊สพิษที่รุนแรงกว่า (เช่น phosgene หรือ carbonyl chloride COCl2) เข้าไป

ใช่ว่าอังกฤษจะมี chloropicrin ใช้เพียงฝ่ายเดียว ทางเยอรมันก็มีใช้เหมือนกัน ข้อความในรูปที่ ๓ กล่าวถึงการที่พนักงานของบริษัทเอกชน ๔ แห่งของอังกฤษทำงานทั้งวันทั้งคืนเพื่อผลิตหน้ากากป้องกันแก๊สโดยใช้ British Small Box Respirator (SBR) เป็นต้นแบบจำนวน ๒๐,๐๐๘ ชุดส่งไปแนวหน้า เพื่อที่จะถูกส่งคืนกลับ เพราะพบว่าส่วนที่เป็นยางของหน้ากากป้องกันแก๊สนั้นไม่สามารถป้องกัน chloropicrin ที่ทางเยอรมันกำลังเป็นเป็นอาวุธได้

สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามในยุโรปในช่วงท้ายสงคราม มีบางมุมมองกล่าวว่าเป็นเพราะช่วงที่สงครามเริ่มนั้นทางยุโรป (โดยเฉพาะอังกฤษ) ต้องมีการกู้เงินจากสหรัฐไปใช้ แต่พอสงครามเริ่มยืดเยื้อและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีฝ่ายใดชนะ (แนวรบด้านตะวันตกนั้นไม่ได้อยู่ในดินแดนเยอรมันเลย) สหรัฐเกรงว่าจะไม่ได้เงินที่ให้กู้ยืมคืน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเยอรมันเป็นฝ่ายชนะสงคราม) ก็เลยต้องหาเหตุในการเข้าร่วมรบ โดยอยู่ฝ่ายเดียวกับลูกหนี้ของตัวเอง เพื่อที่ว่าถ้าชนะสงครามก็จะได้ไถ่ถอนเงินลงทุนคืน

รูปที่ ๓ ทางเยอรมันก็มีการใช้ chloropicrin เหมือนกัน

รูปที่ ๔ เป็นคำบรรยายเหตุการณ์เมื่อทหารสหรัฐอเมริกาประสบกับการถูกระดมยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่บรรจุแก๊สพิษที่ประกอบด้วย phosgene และ chloropicrin กระสุนตกครอบคลุมแนวหน้ากว้าง ๖๐๐ เมตร แต่ด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ทำให้สามารถจัดการทหารที่อยู่ในแนวนั้นได้ถึง ๑ ใน ๓ (พุ่มไม้เตี้ยที่ขึ้นอยู่หนาแน่นทำให้การระบายอากาศในระดับต่ำทำได้ไม่ดี แก๊สพิษจึงสามารถตกค้างอยู่ได้นาน

รูปที่ ๔ เหตุการณ์เมื่อทหารสหรัฐประสบกับการใช้ chloropicrin ร่วมกับฟอสจีนในสนามรบ

นอกจากจะถูกใช้เป็นยาฆ่าแมลงแล้ว chloropicrin ยังถูกใช้เป็นแก๊สน้ำตาในการควบคุมฝูงชนด้วย และในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ก็มีรายงานจากฝั่งยูเครนว่าทางรัสเซียมีการใช้ chloropicrin ในสนามรบ

chloropicrin ถูกจัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางในหัวข้อ 1C450.a.7 (รูปที่ ๕)

รูปที่ ๕ Chloropicrin เป็นสินค้า DUI อยู่ในหมวด 1C450.a.7 สารเคมีที่เป็นพิษและสารตั้งต้นสำหรับสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากหมวด 1C350 อยู่นิดนึงตรงที่หมวด 1C350 นั้นบอกว่าเป็นสารเคมีที่อาจใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อผลิตสารพิษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น