สัปดาห์ที่แล้วเห็นมีผู้แชร์ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเก็บภาษีเครื่องยนต์ดีเซลที่มีการนำเข้าเพื่อไปใช้กับยานพาหนะทางบกที่นำไปใช้งานด้านการทหารได้ โดยเนื้อหานั้นเป็นการไปสัมภาษณ์ทางผู้ผลิตยานพาหนะ ในที่นี้ตัดมาเฉพาะส่วนที่มีการเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ได้สองทางดังแสดงในรูปที่ ๑ ข้างล่าง ลองอ่านดูเล่น ๆ ก่อนแล้วกันนะครับ
ในบทความนี้มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ ๔ คน กล่าวคือคนที่ ๑ และคนที่ ๒ เขาคุยกัน จากนั้นคนที่ ๓ ก็ไปคุยกับคนที่ ๒ ทำให้ได้ข้อมูลมาเขียนให้คนที่ ๔ ซึ่งก็คือเราเองอ่าน ดังนั้นข้อความที่ปรากฏในรูปที่ ๑ ก็ถือว่าผ่านการถ่ายทอดมาถึง ๓ ทอด ส่วนที่ว่าการถ่ายทอดนั้นมันมาได้ครบไม่ผิดพลาด หรือมีความผิดเพี้ยนไปแค่ไหนในขั้นตอนใดเราคงบอกไม่ได้ แต่สิ่งที่อยากให้ดูคือข้อความที่ขีดเส้นใต้สีแดงเอาไว้ว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่
เดาว่าคนจำนวนไม่น้อยที่อ่านข้อความที่ขีดเส้นใต้ ก็จะคิดว่าพอเครื่องยนต์ถูกตีความเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ก็เลยเสียภาษี 30%
เครื่องยนต์ที่ใช้กับยานยนต์ขับเคลื่อนหลักบนบกมีอยู่ ๒ ประเภทหลักคือเครื่องยนต์เบนซินกับเครื่องยนต์ดีเซล (มันยังมีเครื่องยนต์กังหันแก๊สอีก แต่ก็ใช้กับยานพาหนะพิเศษบางชนิดเช่นรถถังหลักของบางประเทศ) เครื่องยนต์เบนซินนั้นไม่ถูกจัดว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง แต่ตัวเครื่องยนต์ดีเซลนั้น "บางชนิด" เท่านั้นที่ถูกจัดว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง
เมื่อลองค้นดูใน EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๓ ก็จะพบว่า "เครื่องยนต์ดีเซล" (ตัวเครื่องยนต์ทั้งตัว) ที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางนั้นปรากฏอยู่ในหัวข้อ 8A002.j.2 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับการ "ออกแบบมาเป็นพิเศษ" สำหรับ "การใช้งานใต้น้ำ" สำหรับเรือ (รูปที่ ๒) คือหัวข้อ 8A002 นั้นระบุไว้ว่าสำหรับเรือ ข้อย่อย j ระบุต่อว่าเป็นระบบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับใช้งานใต้น้ำ และข้อย่อยที่ 2 ระบุต่อไปว่าในกรณีของเครื่องยนต์ดีเซลนั้น ต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง จึงจะถือว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง
คือเราสามารถเอาเครื่องยนต์ดีเซลธรรมดาไปใช้กับเรือที่เคลื่อนที่ใต้ผิวน้ำได้ แต่นั่นหมายถึงต้องมีท่อดูดอากาศเข้าที่โผล่พ้นผิวน้ำ และท่อระบายไอเสียออกที่ต้องโผล่พ้นผิวน้ำเช่นกัน (เรือดำน้ำที่ใช้ในการรบสมัยก่อนจึงต้องโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำในตอนกลางคืน (หลีกเลี่ยงการตรวจจับ) เพื่อเดินเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อชาร์ตแบตเตอรี่
ไอเสียที่ออกมาจากเครื่องยนต์ดีเซลนอกจากจะมีแก๊สพิษจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ (carbon monoxide) ก็ยังมีสารประกอบไนโตรเจนออกไซด์ด้วย (มีมากกว่า carbon monoxide อีก) การป้องกันไม่ให้เกิดแก๊สไนโตรเจนออกไซด์ทำได้ด้วยการใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์แทนการใช้อากาศ (ที่มีไนโตรเจนอยู่ 79%) แต่ออกซิเจนบริสุทธิ์ทำให้เชื้อเพลิงเผาไหม้รุนแรง เลยต้องทำการเจือจางด้วยการใช้แก๊สเฉื่อยเช่นอาร์กอน (ในข้อย่อย a ไม่พูดถึงไนโตรเจนมอนออกไซด์ แต่ในข้อย่อย b ระบุถึงการใช้ monoatomic gas ซึ่งตัวที่มีมากสุดและราคาถูกสุดในธรรมชาติคืออาร์กอน ที่ได้จากการกลั่นแยกอากาศ) ซึ่งจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นเดินเครื่อง แต่เมื่อเครื่องยนต์เริ่มเดินแล้วก็สามารถหมุนเวียนเอาคาร์บอนไดออกไซด์ในแก๊สไอเสียมาใช้แทนอาร์กอนได้ ส่วนพวกคาร์บอนมอนออกไซด์ ฝุ่นอนุภาค และคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกิน ก็ให้ระบบบำบัดทำการจับเอาไว้ ไม่ให้ปลดปล่อยออกมา (ที่น่าสนใจคือข้อ 8A002.j.2.a กล่าวถึงการใช้ scrubber หรือ absorber (ในทางเทคนิคคือใช้ของเหลว) แต่ไม่ได้กล่าวถึงการใช้ adsorber (คือใช้ของแข็ง) ดังนั้นถ้าเปลี่ยนไปใช้ adsorber มันจะไม่เข้าข่ายหรือไม่)
เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้สำหรับยานรบบนบก (เช่นรถถัง รถหุ้มเกราะ) ไม่ถูกจัดว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (คือมันคงเป็นสินค้าที่ใช้ได้ทางเดียว และคงถูกควบคุมด้วยกฎหมายอื่นเช่นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยุทธภัณฑ์) แต่เทคโนโลยีที่ใช้กในการพัฒนาและผลิตเครื่องยนต์แบบนี้ถือว่าเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง โดยอยู่ในหัวข้อ 9E003.e
คือเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้ในการออกแบบเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ในทางทหารได้ (เครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นสินค้าใช้ในทางทหารก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในข้อย่อย 1-3) หัวข้อ 9E003.f นั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับออกแบบชิ้นส่วนประกอบเครื่องยนต์ (ไม่ใช่เครื่องยนต์ทั้งตัว) ส่วนหัวข้อ 9E003.g นั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการหล่อลื่นผนังกระบอกสูบที่ทำงานได้ที่อุณหภูมิสูง
แล้วตัวเลขภาษี 30% มาจากไหน มันอยู่ในพิกัดอัตราภาษีศุลกากร (รูปที่ ๔) ที่ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซลสารพัดรูปแบบนั้นไม่ว่าจะอยู่ในหมวดพิกัดย่อยอะไรนั้น เห็นเรียกเก็บภาษี 30% เหมือนกันหมด คือมันไม่เกี่ยวข้องว่าเครื่องยนต์ดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่
รูปที่ ๔ อัตราภาษีสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ในหมวด 84 ที่มีแยกย่อยออกไปอีก แต่ที่เหมือนกันคือเก็บภาษี 30%
ทีนี้พอลองตรวจสอบข่าวเดียวกันกับสำนักข่าวอื่น ก็พบว่าเนื้อหามีความแตกต่างกัน เช่นที่นำมาแสดงในรูปที่ ๕ ในบทความนี้ไม่มีการกล่าวถึงสินค้าที่ใช้ได้สองทาง แต่มีการกล่าวว่าขึ้นกับ "ดุลพินิจ" ของศุลกากร ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าใช้ดุลพินิจตีความในเรื่องใด
แต่ข้อความตรงนี้มันก็มีข้อให้ถกเถียงเช่นกัน กล่าวคือผู้นำเข้ามองว่าเครื่องยนต์ที่นำเข้ามานั้นเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับยานเกราะ ต้องมีการขออนุญาตเป็นพิเศษทั้งจากประเทศผู้ส่งออกและประเทศผู้นำเข้า และไม่สามารถเอาเครื่องยนต์ธรรมดามาใช้กับยานเกราะได้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่อาจมองว่าเครื่องยนต์แบบนี้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ธรรมดาได้ (คือมองคนละมุมกัน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น