วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2568

บทสนทนากับประธานการสอบวิทยานิพนธ์ MO Memoir : Friday 13 June 2568

อาจารย์ทำให้ผมมีเรื่องเขียนลง blog เลยครับ

เรื่องการเขียนวิทยานิพนธ์เนี่ยผมได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษที่ไปเรียนมาครับ

คือที่นั่นเล่มวิทยานิพนธ์ที่ส่งให้กรรมการอ่าน จะเข้าเล่มปกแข็งเดินตัวหนังสือสีทองเรียบร้อย ทำไว้อย่างน้อย ๔ เล่มคือสำหรับกรรมการสอบ ๒ ท่าน อาจารย์ที่ปรึกษา ๑ ท่าน และสำหรับส่งให้กับทางมหาวิทยาลัย

เรียกว่าสอบเสร็จก็ต้องสามารถส่งเข้าไปเก็บในห้องสมุดมหาวิทยาลัยได้เลย

ดังนั้นในการเขียน อาจารย์ที่ปรึกษาจึงย้ำความสำคัญว่า เขียนให้คนที่อ่านแล้วนั้นต้องไม่มีข้อสงสัยข้อซักถามในงานของเรา เพราะวิทยานิพนธ์คือสิ่งที่จะอยู่ในห้องสมุดตลอดไป คนที่มาอ่านทีหลังถ้าเขามีข้อสงสัยเขาไม่มีทางที่จะถามเราได้เพราะเขาไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน

ถ้ามีการพิมพ์ผิดหรือแก้ไขหน้าไหน ก็ต้องส่งเล่มนั้นไปให้ร้านที่เข้าเล่มทำการตัดหน้านั้นออกแล้วแทรกหน้าแก้ไขเข้าไป แต่มันจะทำใด้ถ้าหากมีการแก้เพียงแค่ไม่กี่หน้า (น่าจะไม่เกิน ๕ หน้าจาก ๒๐๐ หน้า) ถ้ามากกว่านั้นก็ต้องรื้อออกแล้วเข้าเล่มใหม่ (แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย)

ผมเองถือว่ารูปเล่มที่ส่งให้กรรมการอ่านนั้น บ่งบอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษามีมาตรฐานการทำงานอย่างไร (เพราะนิสิตต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนจึงจะส่งเล่มให้กรรมการได้) และเห็นกรรมการคนอื่นเป็นอย่างไร

และมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการสอบที่จะต้องมาตรวจแก้ความไม่เรียบร้อยของวิทยานิพนธ์ให้กับนิสิตผู้สอบหรืออาจารย์ที่ปรึกษาของเขา ในส่วนของผมเองผมก็จะบอกกับนิสิตของตัวเองว่าต้องเขียนให้ได้แบบกรรมการอ่านแล้วต้องยอมรับในสิ่งที่เราเขียน ต้องไม่มีข้อสงสัยหรือการแก้ไขที่จุดใดในเล่ม ถือว่าเป็นการให้เกียรติกรรมการที่เขายอมเสียเวลามาอ่านงานของเราเพื่อเป็นกรรมการสอบเรา

เวลาอ่านแล้วเจอสิ่งที่ผิดหรือบกพร่องตรงไหน คือสามารถทำให้ดูดีดูเรียบร้อยกว่าเดิมได้ ก็จะทำเครื่องหมายไว้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านิสิตที่รับเล่มผ่านการตรวจแก้ไปแล้ว ก็ทำการแก้ไขเฉพาะที่กรรมการท่านนั้นทำเครื่องหมายเอาไว้ก็พอ แต่ต้องกลับไปตรวจสอบเองใหม่หมดทั้งเล่มว่ายังมีที่อื่นที่หลุดรอดไปอีกหรือเปล่า ก็ขนาดตัวเองทำยังหลุดรอดมาได้ แล้วจะไปหวังว่าคนอื่นที่มาอ่านบ้างจะอ่านได้ละเอียดแบบไม่มีการหลุดรอดเลยได้ยังไง

ในการอ่านวิทยานิพนธ์นั้นผมแยกเป็นส่วน ๆ ดังนี้ครับ

ส่วนแรกคือการจัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรและขนาด รูปแบบรูปภาพและตาราง (ความกว้างของแต่ละคอลัมน์ต้องเหมาะสมกับข้อความในคอลัมน์นั้น) ความคงเส้นคงว่าในการเขียนและใช้ภาษา (เช่น หัวข้อระดับเดียวกัน ต้องมีการย่อหน้าในระยะที่เท่ากัน การอ้างอิงรูปภาพจะใช้คำย่อ (Fig) หรือคำเต็ม (Figure) ก็ต้องใช้ให้เหมือนกัน ฯลฯ) รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิง ลักษณะของภาษาที่ใช้เขียน เป็นต้น

ส่วนที่สองคือเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวกับงานที่เขาทำ คือพวกบทนำและการทบทวนวรรณกรรม คือต้องแสดงให้เห็นว่ามันเกี่ยวโยงเข้ามาหาในสิ่งที่เขาทำได้อย่างไร ไม่ใช่ใส่ ๆ เข้ามาสักแต่ว่าเพื่อให้เล่มมันหนา ในกรณีของานที่มีความใหม่จริง ๆ นั้นก็ต้องแสดงให้เห็นได้ว่างานนี้ยังไม่มีใครเคยทำ และสิ่งที่จะทำนั้นทำไปเพื่ออะไร ในกรณีของงานที่เคยมีคนทำในลักษณะทำนองเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันมามากแล้ว ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าทำไมมันยังมีช่อว่างให้ทำอีก และการเติมเต็มช่องว่างนั้นจะให้ประโยชน์อย่างไร

สองส่วนแรกนี้บ่งให้เห็นถึงความรู้ของผู้วิจัยในงานที่ตัวเองกำลังจะทำและงานที่เคยมีคนอื่นทำไว้ก่อนหน้า ถ้าชี้ประเด็นตรงจุดนี้ไม่ได้มันก็เหมือนกับการท่องจำสิ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาบอก เพื่อไปพูดให้กรรมการฟัง โดยที่คนพูดเองก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองพูดออกมา

ส่วนที่สามคือวิธีการทำทดลอง ซึ่งส่วนนี้ผมถือว่าสำคัญสุด เพราะถ้าวิธีการทำการทดลองมันน่าสงสัยหรือมันไม่ถูกต้อง ผลการทดลองที่ได้นั้นก็ไม่มีค่าควรแก่การนำมาพิจารณาใด ๆ

ส่วนที่สีคือผลการทดลองและการวิเคราะห์ ส่วนนี้มีค่าแก่การพิจารณาแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับส่วนที่สาม (วิธีการทดลอง) ส่วนมากที่เจอมาคือส่วนที่สามนั้นเขียนไม่ละเอียด หรือบางสิ่งที่ไม่ได้เขียนนั้นเป็นเพราะมันเป็นเทคนิคที่ใช้กันทั่วไป เป็นที่รู้จักกัน แต่วิธีการใช้ที่ "ถูกต้อง" นั้นกลับไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ความผิดพลาดตรงนี้มันไปโผล่ที่ผลการทดลองที่ทำให้การวิเคราะห์ (ถ้าทำโดยละเอียดแบบไม่เข้างตนเอง) นั้นมีปัญหา ตัวอย่างเช่นการดุลมวลสารไม่ได้ ผลดุลมวลสารผิด เป็นต้น

เรื่องรูปแบบและเนื้อหาการเขียนนั้น กรรมการแต่ละคนก็มีความชอบที่แตกต่างกัน บางเรื่องกรรมการบางคนเห็นว่ามันควรจำเป็นต้องใส่ แต่กรรมการคนอื่นเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่คนในวงการเขารู้กันอยู่แล้ว ไม่ควรใส่มันให้เล่มมันรก การจะให้นิสิตไปแก้ไขตามความต้องการของกรรมการแต่ละคนเพื่อให้กรรมการทุกคนพึงพอใจนั้นเป็นเรื่องยาก

ประเด็นนี้อาจารย์ที่ปรึกษาควรต้องเข้ามามีบทบาทครับ ถ้าตรงไหนเขาเห็นว่าไม่ควรต้องแก้ เขาก็ต้องชี้แจงให้เหตุผลเพื่อให้กรรมการคนอื่นเห็นชอบด้วยว่าการแก้ไขตรงจุดนี้มันไม่จำเป็น เพราะเขาเป็นคนเห็นชอบในสิ่งที่นิสิตของเขาเขียนมาแต่แรกแล้วว่าสิ่งที่นิสิตของเขาเขียนนั้นมันสามารถใช้สอบได้แล้ว ประเด็นตรงนี้ผมจึงมองว่าเป็นส่วนที่กรรมการสอบที่มีความเห็นแตกต่างกันนั้นต้องมาคุยกันว่าจะมีข้อยุติอย่างไร ถ้ากรรมการให้ความเห็นขัดแย้งกันในจุดเดียวกัน นิสิตก็ทำอะไรไม่ถูกแล้วครับ ไม่รู้ว่าควรจะทำตามที่อาจารย์คนไหนบอกดี

ในกรณีที่เป็นเป็นคำถามอยู่ในขณะนี้ผมก็มองอย่างนี้ครับ ในเมื่อคะแนนส่วนที่ไม่เห็นชอบนั้นมีน้อยกว่าคะแนนส่วนที่เห็นชอบ ก็ให้คนที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบนั้นเขาไปคุยกันเอง ว่ารูปแบบการเขียนแบบนี้ทำไมกรรมการที่เห็นชอบจึงไปเห็นชอบได้ หรือทำไมกรรมการที่ไม่เห็นชอบจึงไม่สามารถเห็นชอบได้

การให้คะแนนการสอบของภาควิชานั้น แยกเป็นส่วนรูปแบบการเขียนซึ่งก็คือส่วนที่หนึ่ง และส่วนที่สอง ตรงนี้เป็นการลงคะแนนเพื่อดูว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้เหมาะสำหรับใช้เป็นเล่มสอบหรือไม่

ส่วนที่สำคัญกว่าคือส่วนที่สาม และส่วนที่สี่ เพราะเป็นตัวบอกว่าจะสอบผ่านหรือสอบตก เพราะต่อให้ส่วนที่หนึ่งและสอง ทำมาเรียบร้อยสมบูรณ์แบบ แต่ส่วนที่สามและสี่มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ผลสอบก็ออกมาตกได้ครับ เว้นแต่จะมีอะไรบางอย่างเป็นการเป็นพิเศษในหมู่กรรมการ เพื่อให้ผ่านด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เรื่องนี้เคยเจอมากับตัวที่กรรมการสอบคนจับได้ว่าวิธีการทดลองและผลการทดลองในประเด็นที่สำคัญของงานของเขานั้นมัน "มั่ว" และไม่ให้ผ่าน (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) แต่สามคนที่เหลือให้ผ่าน งานนี้เนี่ยนิสิตผู้สอบมีบทความตีพิมพ์ไปแล้ว ๓ บทความครับ แต่พอมาเจอกรรมการสองคนจับความผิดพลาดได้ ที่เตรียมจากจะให้คะแนนระดับดีมาก ก็กลายเป็นเพียงแค่ผ่านแทนครับ

ผมเคยเป็นประธานกรรมการสอบของนิสิตปริญญาโทรายหนึ่ง ที่ทำวิจัยร่วมกับสายการแพทย์ และมีอาจารย์ทางด้านนั้นมาเป็นกรรมการสอบด้วย วิทยานิพนธ์ของเขานั้นทำได้ดีครับ แต่ก่อนเสร็จสิ้นการสอบก็มีการบอกว่าถ้าทำเพิ่มเรื่องนั้นเรื่องนี้อีกหน่อยก็จะตีพิมพ์บทความระดับนานาชาติได้แล้ว และจะได้ผลสอบเป็นดีมากได้ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาก็เห็นชอบด้วยครับ แต่สิ่งที่เขาจะให้นิสิตทำเพิ่มนั้น ผมในฐานะประธานฟังแล้วมันมากเกินไป คือจะให้ไปทำการทดลองกับสัตว์ทดลอง ซึ่งท้ายสุดต้องฆ่าทิ้งทุกตัวที่นำมาทำการทดลอง

ผมในฐานะประธานก็เลยบอกในที่ประชุมว่า ที่นี่คือคณะวิศว ขอให้พิจารณาด้วยว่าขอบเขตงานที่จะให้เขาทำเพิ่มนั้นมันใช่ขอบเขตงานวิศวหรือเปล่า ทางคณะนี้ไม่ได้ทำการสอนและฝึกให้นิสิตทำการทดลองเช่นนั้น ในเมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาเขาเห็นชอบแล้วว่างานที่นิสิตส่งมาสอบนั้นเพียงพอต่อการสอบจบปริญญาโทแล้ว (การมีบทความตีพิมพ์ระดับนานาชาติเป็นเกณฑ์จบปริญญาเอกครับ) ก็ขอให้กรรมการให้คะแนนโดยใช้ผลงานที่เขานำเสนอ ถ้าคิดว่าไม่เพียงพอ ไม่ควรให้ผ่าน ก็ให้คะแนนไม่ผ่านได้เลย แต่ต้องชี้แจงด้วยว่าทำไมถึงไม่ให้ผ่าน และถ้าเห็นว่าให้ผ่านได้ ก็ขอให้พิจารณาด้วยว่าจะให้เพียงแค่ผ่าน หรือดี (ให้ดีมากไม่ได้เพราะไม่มีบทความตีพิมพ์ระดับนานาชาติ)

เวลาที่นิสิตมาปรึกษาผมเรื่องการเลือกกรรมการ ผมจะบอกว่าให้เลือกประธานให้ดี เพราะเขาต้องเป็นคนคุมเกมส์ คุมกติกาการสอบ ถ้าประธานอยู่ใต้อิทธิพลของอาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อใด ก็เสี่ยงดวงกันเอาเองว่าจะโชคดีโชคร้าย อย่างเช่นในกรณีข้างบน ถ้าประธานคุมเกมส์ คุมกติกาไม่ได้ นิสิตก็แย่ แต่บางรายก็คิดว่ามันจะเป็นการดี เพราะจะทำให้ได้คะแนนเสียงว่าสอบผ่านมาตุนเอาไว้ในมืออีก ๑ เสียงนอกเหนือจากอาจารย์ที่ปรึกษา

*******************

บ่ายวันนั้น ประธานสอบวิทยานิพนธ์ส่งข้อความถามผมว่า จะให้นิสิตส่งเล่มวิทยานิพนธ์มาให้ตรวจสอบใหม่ไหม (เป็นครั้งที่สาม) เพราะดูเหมือนว่าผมจะเป็นเสียงส่วนน้อยที่บอกว่าวิทยานิพนธ์เล่มนั้นไม่เหมาะสมที่จะส่งเข้าสอบ ตอนเย็นผมก็ตอบกลับไปว่าเห็นข้อความแล้ว แต่ขอเวลารวบรวมความคิดหน่อย แล้วจะตอบกลับไปตอนดึก ๆ หรืออย่างช้าก็เช้าวันรุ่งนี้ และข้างบนทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ผมตอบกลับไป

ไม่กี่วันถัดมาผมก็ได้พบปะกับประธานกรรมการสอบ เราได้พูดคุยกัน ผมก็บอกกับอาจารย์ท่านนั้นไปว่า สิ่งที่น่าห่วงกว่ารูปเล่มก็คือวิธีการทดลองและผลการทดลอง เพราะโดยความเห็นส่วนตัวแล้วถ้าไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันมาได้อย่างไร ผลสอบก็คงยากที่จะผ่าน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเสียงของกรรมการส่วนใหญ่

แล้วผมก็เล่าให้อาจารย์ผู้เป็นประธานนั้นฟังว่า ที่เคยผ่านมานั้น ถ้าเห็นว่าความผิดพลาดตรงนั้นมันไม่มาก ก็จะให้รีบไปทำการทดลองซ่อมให้เสร็จก่อนสอบ แต่ถ้าเห็นว่ามันมากเกินกว่าที่จะรับได้หรือดูแล้วเห็นว่าไม่น่าจะแก้ไขเสร็จทันก่อนสอบ ก็จะแนะนำให้ยกเลิกการสอบไปเลย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนิสิตมากกว่า

ตอนนี้ก็ได้แต่รอดูว่า ท้ายสุดจะลงเอยอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น