เขียนไปเขียนมาในที่สุดก็เริ่มต้นปีที่ ๑๘ ของการเขียนบันทึก
วันพุธที่ผ่านมาได้ไปตรวจเยี่ยมนิสิตฝึกงานที่นิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด ช่วงระหว่างพักเที่ยงกะว่าจะขับรถไปชมทะเล แต่บังเอิญไปเห็นป้ายบอกทางไปสถานีรถไฟ ก็เลยเปลี่ยนใจไปถ่ายรูปสถานีรถไฟแทน
เส้นทางรถไฟจากฉะเชิงเทรามายังแหลมฉบังและท่าเรือสัตหีบไม่ใช่เส้นทางที่คิดสร้างขึ้นมาใหม่ แต่มันมีแผนการสร้างปรากฏตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๒ (ดูบทความเรื่อง "ถนนยุทธศาสตร์บางคล้า-สัตหีบ(ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๓๗)MO Memoir : Monday 25 February 2556") แต่กว่าจะได้สร้างจริงก็ต้องรอให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมที่แหลมฉบังและมาบตาพุดในอีก ๒๐ ปีถัดมา เส้นทางที่น่าจะเป็นโครงการใหม่ควรจะเป็นเส้นจากสัตหีบมายังมาบตาพุด เพราะมาบตาพุดมันเกิดหลังจากการพบแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย
สถานีนี้ไม่มีรถไฟโดยสารวิ่งมา มีเฉพาะขบวนรถสินค้า เว้นแต่จะมีการเช่าเหมาเฉพาะ วิศวกรอาวุโสที่บริษัทหนึ่งที่ไปตรวจเยี่ยมนิสิตมาเล่าว่า ทางบริษัทเขาเคยจัดงานวันครอบครัว เช่าเหมารถไฟวิ่งจากมาบตาพุดไปยังหัวหิน ซึ่งนั่นก็หลายปีมาแล้ว
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมได้มีโอกาสไปเยือนท่าเรือน้ำลึกของบริษัท IRPC ได้มีโอกาสสนทนากับวิศวกรผู้ดูแลการขนถ่ายสินค้า (พวกของเหลวและแก๊ส) เกี่ยวกับปัญหาเวลามีฝนฟ้าคะนอง เขาก็เล่าให้ฟังว่าเนื่องจากท่าเรือของเขามันไม่มีอะไรมาบังคลื่นลม (ทางมาบตาพุดมีกำแพงกันคลื่น ส่วนสัตหีบและแหลมฉบังก็มีเกาะคอยบังเอาไว้ ดังนั้นเวลาคลื่นลมแรงก็ต้องหยุดขนถ่ายสินค้า แต่มันก็มีอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับคลื่นลม นั่นก็คือฟ้าผ่า ถึงแม้ว่าบริเวณท่าเรือของเขามันจะมีการติดตั้งระบบสายล่อฟ้า แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ วันก่อนหน้าที่ทางผมได้ไปเยือนก็เพิ่งจะเกิดเรื่อง ทำให้คนงานของผู้รับเหมาบาดเจ็บไป ๑ ราย (ไม่ได้โดนฟ้าผ่าโดยตรง น่าจะเป็นบริเวณใกล้เคียง)
ฉบับเริ่มต้นปีที่ ๑๘ ก็คงขอจบเพียงแค่นี้
รูปที่ ๑ จุดสีแดงคือตัวอาคารสถานี ด้านซ้ายหรือทิศตะวันออกเป็นเส้นทางไปยังสถานีบ้างฉาง ส่วนทางด้านขวาหรือทิศตะวันออกเป็นเส้นทางไปยังสถานีท่าเรือมาบตาพุด
รูปที่ ๒ ป้ายบอกสถานีข้างเคียง บอกแต่ชื่อ ไม่บอกระยะทาง
รูปที่ ๓ มองไปทางทิศตะวันตกที่มาจากบ้านฉาง
รูปที่ ๔ ป้ายสุดชานชาลาด้านทิศตะวันตก
รูปที่ ๕ มองย้อนจากป้ายในรูปที่ ๔ ไปยังตัวอาคารสถานี มีขบวนรถตู้โดยสารจอดเทียบอยู
รูปที่ ๖ น่าจะเป็นตู้สำหรับพนักงานประจำขบวนรถ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น