วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2568

เมื่อเบนซิลคลอไรด์ (Benzyl chloride) เจอกับสนิมเหล็ก MO Memoir : Monday 28 April 2568

เบนซิลคลอไรด์ (Benzyl chloride C6H5-CH2Cl) เป็นสารในกลุ่มอัลคิลเฮไลด์ (Alkyl halide) เตรียมได้จากปฏิกิริยาในเฟสแก๊สระหว่างโทลูอีน (C6H5-CH3) กับคลอรีน สารตัวนี้ใช้เป็นสารตั้งต้นในการเตรียมสารอื่น โดยอะตอม Cl จะถูกดึงออกในรูปของ chloride ion (Cl-) ด้วยกรด จากนั้นโมเลกุลส่วนที่เหลือ (C6H5-CH2+ ซึ่งมีประจุบวก) ก็จะเข้าทำปฏิกิริยากับสารอื่นในระบบ

ในสภาวะที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นกรด เช่น Lewis acid บางชนิด (Lewis acid ที่เด่นชัดคือไอออนบวกของโลหะทรานซิชัน) โมเลกุลของเบนซิลคลอไรด์สามารถที่จะต่อเข้าด้วยกันเองเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น โดย C6H5-CH2+ ที่เกิดขึ้นจะเข้าไปแทนที่อะตอม H บนวงแหวนเบนซีนของโมเลกุลเบนซิลคลอไรด์อีกโมเลกุลหนึ่ง ปฏิกิริยานี้สามารถเกิดต่อซ้ำไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการเกิดแก๊ส HCl (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ การเกิดปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรซ์ของเบนซิลคลอไรด์

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากบทความเรื่อง "Explosion in the polycondensation reaction of benzyl chloride" (จาก http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1200068.html) เป็นเหตุการณ์เกิดที่โรงงานแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที ่๒๙ กรกฎาคม ค.. ๑๙๙๗ (.. ๒๕๔๐) โดยเป็นการระเบิดที่ถังบรรจุเบนซิลคลอไรด์ (ที่ใช้ผลิตสารตัวกลางในการผลิตน้ำหอมและยา)

โดยก่อนหน้านั้นได้ทำการล้างถังบรรจุด้วยเมทานอลและไอน้ำ (การผลิตเป็นแบบกะ เมื่อผสมเสร็จและถ่ายของผสมออกไป ก็ต้องทำการล้างถังก่อนเริ่มการผสมใหม่) เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น ก็เริ่มต้นการผลิตใหม่ด้วยการเติมเบนซิลคลอไรด์ 118 ลิตรเข้าไปในถังบรรจุที่ความดันต่ำกว่าความดันบรรยากาศ (300 torrs โดยความดันบรรยากาศคือ 760 torrs และ 1 torr คือ 1 มิลลิเมตรปรอท)

หลังผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก็พบแก๊สที่มีกลิ่นระคายเคืองรั่วไหลออกมาจากทางท่อระบายอากาศ และตรวจพบว่าถังผสมมีอุณหภูมิสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยตัดสินว่าแก๊สที่รั่วออกมานั้นคือไฮโดรเจนคลอไรด์ จึงได้พยายามปิดกั้นการรั่วไหลด้วยการให้แก๊สนั้นไหลเข้าไปในน้ำที่อยู่ในถังโลหะ แต่เมื่อแก๊สที่พ่นออกมานั้นรุนแรงมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถใช้มือจับสายยางที่จ่ายน้ำให้กับถังโลหะได้ (บทความได้บอกว่าจากนั้นมีการทำอะไรกันต่อ) และตัวถังบรรจุก็ระเบิดเมื่อเวลาประมาณ ๑๖.๑๗ น

รูปที่ ๒ คำบรรยายเหตุกาณ์ที่เกิด

บทความไม่ได้บอกว่าทำไมต้องลดความดันในถังบรรจุให้ต่ำลงก่อนป้อนเบนซิลคลอไรด์เข้าถังบรรจุ (เบนซิลคลอไรด์มีจุดเดือด 178ºC ซึ่งนับว่าสูงอยู่) แต่ถัดมาก็บอกว่ามีแก๊สรั่วไหลออกสูงบรรยากาศภายนอกทางท่อระบายอากาศ นั่นแสดงว่าความดันในถังหลังจากเติมเบนซิลคลอไรด์แล้วน่าจะเป็นความดันบรรยากาศ ดังนั้นเหตุผลหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ในการลดความดันในถังบรรจุก็เพื่อให้เบนซิลคลอไรด์ไหลจากถังเก็บมายังถังบรรจุได้ด้วยการใช้ผลต่างความดัน

ในการส่งของเหลวด้วยผลต่างความดันนั้น ถ้าถังต้นทางมีขนาดเล็กกว่าถังปลายทาง ก็ใช้การอัดความดันให้กับถังต้นทาง ในทางกลับกันถ้าถังปลายทางมีขนาดเล็กกว่าถังต้นทาง ก็ใช้การลดความดันในถังปลายทาง เพราะการทำให้ถังขนาดใหญ่มีความดันสูงขึ้นจะสิ้นเปลืองมากกว่า (ความหนาของถังต้องเพิ่มขึ้นตามความดันที่เพิ่มด้วย)

สาเหตุของการระเบิดเชื่อว่าเกิดจากการมีสนิมเหล็กที่อยู่ในรูปของของแข็งรูพรุน (pumice state) ไอออนบวกของเหล็ก (Fe2+) ทำหน้าที่เป็น Lewis acid ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเชื่อมต่อโมเลกุลเบนซิลคลอไรด์เข้าด้วยกัน ปฏิกิริยานี้ก่อให้เกิดแก๊สไฮโดรเจนคลอไรด์และคายความร้อนออก ความร้อนที่คายออกมานั้นทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออัตราการเกิดแก๊สสูงกว่าความสามารถในการระบายทิ้ง ก็ทำให้ถังผสมระเบิดเนื่องจากไม่สามารถทนต่อความดันที่เกิดขึ้นภายในได้

วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2568

การใช้ Isopropyl alcohol ทำความสะอาดอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า MO Memoir : Monday 14 April 2568

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีคลิป reel เกี่ยวกับการทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ (พวกแผงวงจรต่าง ๆ) และตู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า โดยในคลิปดังกล่าวเป็นคลิปการฉีดของเหลว (ฉีดแบบ water jet) เข้าไปชะล้างแผงวงจรและอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรง โดยเขาบอกว่าสารที่ใช้คือ Isopropyl alcohol (ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์) หรืออีกชื่อคือ 2-Propanol (2-โพรพานอล) โดยเขาบอกว่าสามารถทำได้โดยไม่ต้องตัดกระแสไฟฟ้า เพราะสารนี้ระเหยได้เร็วและไม่นำไฟฟ้า ในคลิปนั้นมีการฉีดทั้งแผงวงจรพิมพ์ (printed circuit board) และพวกตู้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าเช่น circuit breaker ต่าง ๆ (รูปที่ ๑)

คลิปดังกล่าวมีการแขร์ออกไปเป็นจำนวน เมื่อเข้าไปอ่านในส่วนของการแสดงความคิดเห็นก็พบว่ามีคนที่มาแสดงความคิดเห็นต่างจำนวนไม่น้อย

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือเจ้าของคลิปเองไม่มาชี้แจงอะไรกับความเห็นแย้งต่าง ๆ นั้น

รูปที่ ๑ คลิป reel ที่มาโผล่บนหน้า facebook ที่บอกว่าสามารถฉีด Isopropyl alcohol ทำความสะอาดได้โดยไม่ต้องตัดไฟ ซึ่งไม่ควรทำตาม (จาก https://www.facebook.com/reel/651476917582442)

ปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้ตัวทำละลายในการล้างทำความสะอาดคราบสกปรกคือตัวทำละลายนั้นต้องละลายคราบสกปรกได้ ไม่ทิ้งคราบสกปรกใด ๆ เมื่อตัวทำละลายนั้นระเหยออกไป และต้องไม่ทำความเสียหายให้กับชิ้นส่วนที่ล้างนั้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เป็นพอลิเมอร์และพลาสติกต่าง ๆ

น้ำเป็นตัวทำละลายที่มีขั้ว จะไม่สามารถละลายคราบสกปรกที่เป็นโมเลกุลไม่มีขั้ว (เช่นพวกไขมันต่าง ๆ) และพวกที่มีขั้วไม่แรงได้ การใช้น้ำล้างต้องมีการผสมสารชะล้าง (พวก surfactant หรือ detergent) เข้าไป ข้อดีข้อหนึ่งของน้ำคือมันไม่ทำอะไรกับพลาสติกต่าง ๆ แต่มันก็มีข้อเสียคือน้ำมักจะมีเกลือละลายปนอยู่ในน้ำ และถ้าใช้น้ำที่มีเกลือละลายปนอยู่ เมื่อคราบน้ำที่ตกค้างอยู่บนพื้นผิวชิ้นงานนั้นแห้ง เกลือที่ละลายอยู่ในน้ำก็จะตกค้างบนพื้นผิว เพื่อแก้ปัญหานี้ น้ำที่ใช้จึงต้องเป็นน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง (ซึ่งนำไฟฟ้าได้แย่มาก) นอกจากนี้น้ำยังมีข้อเสียตรงที่มีจุดเดือดสูง ทำให้ต้องใช้เวลานานในการทำให้พื้นผิวแห้ง

ตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ไม่มีขั้วหรือมีขั้วบ้างเล็กน้อย) จะละลายพวกคราบน้ำมันและไขมันได้ดีกว่าน้ำโดยไม่ต้องมีการผสมสารชะล้าง นอกจากนี้ด้วยการที่มันมีความเป็นขั้วต่ำหรือไม่มีเลย จึงทำให้มันไม่มีปัญหาเรื่องมีเกลือละลายปนอยู่ และหลายชนิดนั้นก็มีจุดเดือดที่ต่ำกว่าน้ำ ดังนั้นเมื่อนำมาล้างคราบไขมันหรือน้ำมันออกจากพื้นผิว เมื่อตัวทำละลายระเหยออกไปก็จะไม่มีคราบเกลือตกค้าง และด้วยการที่มันระเหยได้เร็ว จึงทำให้ชิ้นงานแห้งเร็ว

แต่การเลือกตัวทำละลายอินทรีย์พวกนี้ก็ต้องระวัง เพราะหลายตัวเป็นพิษ หลายตัวทำลายพลาสติกได้ และหลายตัวที่ติดไฟได้ พวกที่มีฮาโลเจนเป็นองค์ประกอบมีข้อดีตรงที่ไม่นำไฟฟ้าและไม่ติดไฟ แต่มีปัญหาเรื่องการกำจัดและการทำลายโอโซน (พวกที่มีคลอรีนและโบรมีนเป็นองค์ประกอบจะทำลายโอโซน ในขณะที่พวกที่มีฟลูออรีนเป็นองค์ประกอบมีความเสถียรมาก ทำลายได้ยากมาก)

แอลกอฮอล์ C1-C3 และอะซิโทน (acetone) มีข้อเสียตรงที่ไวไฟสูง การใช้สารกลุ่มหลังนี้จึงต้องระวังเรื่องการระเบิด ถ้าใช้ในปริมาณน้อย ๆ เช่นการเช็ดถูก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าฉีดพ่นในปริมาณมาก จะทำให้เกิดไอระเหยความเข้มข้นสูงของสารเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว และถ้าบริเวณทำงานมีความเสี่ยงที่จะมีประกายไฟ เช่นเที่เกิดจากการทำงานของหน้าคอนแทคทางไฟฟ้าหรือ สวิตช์รีเรย์ต่าง ๆ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระเบิด เว้นแต่จะได้ตัดไฟฟ้าออกจากอุปกรณ์เหล่านั้นก่อน

ด้วยข้อสงสัยที่มีก็เลยลองค้นดูว่าคลิปการล้างตู้ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยการฉีดของเหลวแบบ jet sprayนั้น มีใครที่ไหนในโลกทำกันบ้างไหม แล้วก็พบมาหนึ่งคลิป (รูปที่ ๒) ซึ่งตลอดทั้งคลิปก็เป็นการฉีดพ่นของเหลวล้างตู้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า และมีการกล่าวถึงการใช้ Isopropyl alcohol ในการล้าง โดยข้อความทางด้านล่างของคลิปกล่าวว่า "When cleaning an electrical installation that cannot be powered down, Isopropyl Alcohol (IPA 99%) is a safe and effective option. It is non-conductive ... ดูเพิ่มเติม" (คือข้อความยังมีต่อ)

รูปที่ ๒ อันนี้เป็นคลิป reel ของต่างประเทศ ในคลิปเป็นภาพฉีดของเหลวพ่นใส่ตู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าต่าง ๆ โดยมีคำอธิบายอยู่ทางด้านล่างของคลิป ลองอ่านดูก่อนนะครับว่าเข้าใจว่าอย่างไร โดยยังไม่อ่านข้องความที่จะปรากฏให้เห็นถ้ากด "ดูเพิ่มเติม" ประโยคแรกเขาบอกว่า "เมื่อทำความสะอาดอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าที่ไม่สามารถปิดการทำงานได้ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (IPA 99%) เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ มันเป็นสารที่ไม่นำไฟฟ้า... (ยังมีต่อ)" (จาก https://facebook.com/reel/2114669038978880)

ถ้าอ่านแค่นี้มันก็ดูดีนะครับ แต่พอกด "ดูเพิ่มเติม" เพื่อดูว่าข้อความที่ไม่แสดงนั้นกล่าวไว้ว่าอย่างไร ก็พบว่ามันเขียนว่า " ..... It is non-conductive, fast evaporating, and leaves no residue, making it idea for removing dust, oil, and grime from sensitive components. ซึ่งแปลว่า " ... มันไม่นำไฟฟ้า, ระเหยได้เร็ว และไม่ทิ้งคราบ ทำให้มันเป็นสารในอุดมคติสำหรับการกำจัด ฝุ่น, น้ำมัน และคราบสกปรก ออกจากพื้นผิวที่อ่อนไหว"

ประโยคถัดไปกล่าวว่า "To clean safely, apply a small amount of IPA 99% to a lint free cloth of soft brush and gently wipe the surfaces, avoiding excessive liquid. Never spray directly onto live components to prevent accidental pooling. Proper ventilation and safety precautions should always be followed to minimize risks during cleaning." ซึ่งแปลว่า "เพื่อการทำความสะอาดที่ปลอดภัย ใช้ IPA 99% ในปริมาณน้อย ๆ กับผ้าที่ไม่มีขุยหรือแปรงขนนุ่ม ทำการเช็ดพื้นผิวเบา ๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของเหลวมากเกินไป ไม่ควรทำการฉีดพ่นโดยตรงลงไปบนชิ้นส่วนที่ยังมีไฟฟ้าอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมเป็นของเหลว (หมายเหตุ : ตรงนี้เห็นว่าที่น่ากลัวกว่าคือการระเบิด) ข้อปฏิบัติในเรื่องการระบายอากาศที่เหมาะสมและการเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัยควรได้รับการปฏิบัติตาม เพื่อลดความเสี่ยงที่ในระหว่างการทำความสะอาดให้น้อยที่สุด"

รูปที่ ๓ ทีนี้พอกด "ดูเพิ่มเติม" เพื่ออ่านข้อความที่ซ่อนอยู่ ลองอ่านดูนะครับ

จะเห็นว่าเนื้อหาข้อความในคลิปอันที่สอง กับภาพที่ปรากฏในคลิปนั้นเป็นคนละเรื่องเลย ใครที่ดูแต่ภาพโดยไม่อ่านข้อความให้ละเอียดแล้วเอาไปปฏิบัติก็จะเกิดอันตรายได้

ที่น่าแปลกใจก็คือ ทำไมจึงจงใจทำให้ภาพในคลิปและเนื้อหาที่เขียนนั้นไม่เหมือนกัน

เทคนิคหนึ่งที่ใช้การฉีดพ่นทำความสะอาดพื้นผิวโดยไม่ทำให้พื้นผิวเปียกคือเทคนิค Dry ice blasting เป็นการใช้อากาศอัดความดันฉีดเป่าน้ำแข็งแห้ง (ที่เป็นของแข็ง) ลงไปบนพื้นผิว น้ำแข็งแห้งที่กระทบพื้นผิวจะไปกระแทกเอาสิ่งสกปรกออกไปแล้วตัวมันก็จะระเหิดกลายเป็นแก๊สไป เทคนิคนี้สามารถทำความสะอาดได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการตัดไฟฟ้าจากตัวอุปกรณ์

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2568

แผนรับเหตุแผ่นดินไหวของมหาวิทยาลัย MO Memoir : Wednesday 9 April 2568

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากหนังสือ "คู่มือความปลอดภัยพื้นฐาน สำหรับนิสิตและบุคลากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จัดทำโดยศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย พิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๓ จำนวน ๘๐๐ เล่ม

โดยในคู่มือดังกล่าวมีการวางแนวปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวและหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวอยู่ในหัวข้อ 4.2 หน้า ๒๐ และ ๒๑ (รูปที่ ๑ และ ๒) ซึ่งจะว่าไปการซ้อมรับมือเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะกับอาคารสูงด้วยแล้ว ไม่ทราบว่ามีใครเคยซ้อมกันที่ไหนหรือไม่ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้มันไม่ใช่เรื่องปรกติของประเทศไทย เพราะทำงานที่นี่ นั่งทำงานบนตึกสูงมาเกือบ ๓๐ ก็ยังไม่เคยเจอ เพิ่งจะมาเจอก็ตอนใกล้เกษียณอายุนี่แหละ

รูปที่ ๑ แนวปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ที่กล่าวไว้ในคู่มือหน้า ๒๐ (ดาวน์โหลดไฟล์ pdf ได้จากหน้าเว็บของหน่วยงานดังกล่าว (https://www.shecu.chula.ac.th/data/boards/120/manual-basic-safety-students-staff.pdf)

ในการเขียนคู่มือรับเหตุนั้น ถ้าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นเป็นประจำ (เช่นไฟไหม้) เราก็สามารถอิงจากคู่มือที่มีผู้จัดทำไว้ก่อนหน้า โดยควรนำมาปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของหน่วยงาน และเมื่อมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้น ก็ได้เวลาที่ควรจะนำคู่มือที่เขียนไว้นั้นมาทบทวน ว่าสถานการณ์จริงเป็นเช่นไร แนวปฏิบัติตามคู่มือนั้นทำได้จริงหรือไม่ ควรมีการปรับแก้อย่างไร เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ก็เรียกว่าเป็นการนำเอาประสบการณ์ตรงที่พบเจอมา ว่าพฤติกรรมของผู้ประสบเหตุในขณะที่เกิดเหตุนั้น เป็นเช่นไร และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเกิดเหตุนั้นเป็นอย่างไร

ตอนที่เหตุเกิดนั้นอยู่ในห้องเรียนบนอาคารชั้น ๑๑ เป็นช่วงเวลาสัมมนาของนิสิตปริญญาเอก มีคนอยู่ในห้องประมาณ ๑๕ คน พออาคารเริ่มสั่นไหวรุนแรง ก็มีคนเปิดประตูมาบอกว่าเกิดแผ่นดินไหว แล้วคนในห้องก็ตกใจวิ่งกรูกันออกนอกห้องไปทันที (ทั้ง ๆ ที่อาคารยังสั่นไหวอยู่) เหลือผมนั่งอยู่ในห้องคนเดียวจนการสั่นมันสงบ ที่นั่งอยู่ได้ก็เพราะ ๓ ปีก่อนหน้าเคยเจอเหตุทำนองเดียวกันนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น (ที่เล่าไว้ในบทความเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมา)

เพราะเราไม่เคยมีการฝึกรับมือเหตุการณ์เช่นนี้ หรือสำหรับผู้ที่ไม่เคยเผชิญเหตุเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจริง การตอบสนองของคนจึงเป็นไปตามสัญชาติญาณ คือเอาตัวรอดให้ปลอดภัยไว้ก่อนด้วยการหนี ดังนั้นแนวปฏิบัติข้อ 1) 2) และ 4) (รูปที่ ๑) จึงไม่มีใครทำตาม (คือหนีออกไปกันตั้งแต่ช่วงที่แผ่นดินยังไหวอยู่)

รูปที่ ๒ แนวปฏิบัติหลังเกิดแผ่นดินไหวที่กล่าวไว้ในคู่มือหน้า ๒๑

ทีนี้เมื่อลงมาจากอาคารแล้วเขาทำอะไรกันต่อ (แนวปฏิบัติข้อ 4) ในรูปที่ ๑ และข้อ 2) ในรูปที่ ๒)

บริเวณตึกที่ทำงานนั้นมีตึกสูงอยู่ ๒ ตึก และอาคารขนาด ๓-๕ ชั้นอีกหลายตึก บ่ายวันนั้นแดดก็แรง บริเวณที่เป็นที่ว่างโล่ง ๆ ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่อะไร ผู้คนที่ลงมาจากอาคารต่าง ๆ ก็เลยไปหลบอยู่ชั้นล่างของอาคารสูงบ้าง ชายคาของอาคารเตี้ยบ้าง หรือด้านที่เป็นร่มเงาของอาคารสูง ผมลงมาทีหลังก็ยังถามนิสิตที่ลงมาก่อนว่าทำไมมาหลบอยู่แถวนี้ เขาก็บอกว่ากลัวอาคารถล่ม ผมก็บอกว่าถ้ามันถล่มจริง นั่งยืนแถวนี้ก็ไม่รอดหรอก แถวยังอาจบาดเจ็บจากเศษกระจกหรือกระเบื้องที่อาจร่วงหล่นลงมาจากผนังอาคารได้อีก ถ้าอยากปลอดภัยจากอาคารถล่มก็ต้องไปโน่น สนามหน้าเสาธง

ลงมาบริเวณลานข้างตึกข้างล่างก็ไม่เห็นมีใครประกาศว่าควรต้องทำอย่างไร (เช่น ยกเลิกการเรียนการสอน, กิจกรรม, การทำงาน และให้กลับบ้านได้ เว้นแต่ผู้ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ เช่นการปิดเครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ) ทั้ง ๆ ที่วันนั้นทางคณะมีงานเปิดให้คนเข้าชม มีหน่วยประชาสัมพันธ์ที่ประกาศเรื่องราวต่าง ๆ ออกลำโพงให้ได้ยินกันทั่วได้ แต่ก็ไม่มีผู้ที่มีอำนาจสั่งการใด ๆ ออกมาแจ้งให้ต้องทำอย่างไรต่อ ได้ยินแต่เสียงประกาศของนิสิตเป็นบางครั้งว่าให้ออกมาจากอาคาร ตอนเดินผ่านคณะต่าง ๆ กลับไปเอารถที่จอดไว้ที่อาคารจอดรถเพื่อขับกลับบ้าน ก็เห็นผู้คนที่ลงมาจากอาคารสูงก็มานั่งหลบแดดกันข้าง ๆ อาคารสูงที่หนีลงมา แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะไม่มีระบบเสียงตามสาย แต่ก็ยังมีรถติดเครื่องขยายเสียงของหน่วยรักษาความปลอดภัย ที่สามารถแล่นประกาศข่าวสารไปตามบริเวณต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้

ช่วงแรกหลังเกิดเหตุ ก็พบปัญหาของระบบสื่อสาร ไม่ว่าระบบโทรศัพท์มือถือหรือ wifi ของมหาวิทยาลัย ซึ่งดูเหมือนว่าจะล่มไปชั่วขณะและตามด้วยการแย่งกันใช้ช่องสัญญาณ (ลองพยายามติดต่อโดยใช้โปรแกรม Line ผ่านทางระบบ wifi ซึ่งมันต่อเข้าระบบใยแก้วของมหาวิทยาลัย ก็ทำไม่ได้) ดังนั้นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดตามข้อ 5) ในรูปที่ ๒ มันก็เกิดขึ้นจริง แต่ปัจจุบันการติดต่อส่งข้อความของคนส่วนใหญ่ในบ้านเรานั้นไม่ได้ส่งข้อความผ่านทาง SMS (ซึ่งมันต้องเสียค่าบริการ) แต่จะส่งผ่านทางโปรแกรม Line แทน ทำให้นอกจากมีการส่งทั้งข้อความ ก็ยังมีการส่งรูปภาพและคลิปวิดิทัศน์อีก (ซึ่งต้องส่งผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่) ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าจะพบว่าช่วงนั้นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีปัญหา

ทีนี้มาดูประเด็นที่ว่าให้ใช้วิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน ตรงนี้คงต้องไปดูว่าเหตุที่เกิดนั้นเป็นเหตุอะไร ผู้ประสบเหตุนั้นเป็นใครและอยู่ที่ไหน ในกรณีของภัยพิบัติเช่นน้ำท่วม ดินถล่ม ทางคมนาคมเข้าออกหมู่บ้านถูกตัดขาด ผู้ที่เดือดร้อนนั้นยังอาศัยอยู่ในบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านก็ยังมีเครื่องรับวิทยุ คำแนะนำนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี (รูปที่ ๓) แต่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ คนจำนวนมากที่หนีลงมาจากอาคารสูงเป็นคนที่ทำงานอยู่บนอาคารสูง ซึ่งคงไม่มีใครพกวิทยุติดตัวมาทำงาน หรือคนที่อาศัยอยู่บนคอนโดมีเนียมที่ต้องรีบหนีลงมา ก็คงไม่คว้าวิทยุติดตัวลงมา สิ่งที่คนปัจจุบันน่าจะรีบคว้าติดตัวลงมามากกว่าคือโทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือมันก็รับวิทยุ FM ได้นะครับ แต่มันต้องเสียบหูฟังแบบมีสาย เพราะมันใช้สายของหูฟังนั้นเป็นสาอากาศรับคลื่น ว่าแต่ตอนนี้มีสักกี่คนที่พกหูฟังแบบมีสายติดตัวไว้ตลอดเวลา โทรศัพท์ที่มีเสาอากาศดึงยืดออกมารับคลื่นวิทยุ (FM) และโทรทัศน์ได้ ก็เลิกผลิตไปนานแล้ว (แต่ผมเองก็ยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกอยู่หนึ่งเครื่อง)

คนอยู่ในเมืองที่เป็นพื้นราบ การรับฟังวิทยุ FM นั้นไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดที่ภูมิประเทศสูง ๆ ต่ำ ๆ มีภูเขาขวางกั้นมุมมองจากสถานีส่ง มันจะมีปัญหาเรื่องการรับฟังวิทยุ FM ซึ่งตรงนี้คลื่นวิทยุ AM มันทำหน้าที่ได้ดีกว่า คือมันเลี้ยวเบนไปตามภูมิประเทศได้ดีกว่าและไปได้ไกลกว่า แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีโทรศัพท์มือถือเครื่องไหนรับฟังวิทยุ AM ได้

ข้อดีของวิทยุทรานซิสเตอร์คือมันกินไฟต่ำ ใช้ถ่านไม่กี่ก้อนก็อยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ ตอนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในภาคใต้เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ นั้น ในช่วงแรกเครือข่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่มีปัญหา แต่พอไฟฟ้าดับนานจนไฟในแบตเตอรี่สำรองของเสารับสัญญาณโทรศัพท์มันหมด ระบบโทรศัพท์มือถือก็ใช้การไม่ได้

อีกเรื่องที่น่าจะนำมาพิจารณาคือเรื่องรองเท้า (แนวปฏิบัติข้อ ๔ ในรูปที่ ๑ และข้อ ๓ ในรูปที่ ๒) ที่บอกให้ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง อย่างแรกก็คือเวลาออกจากบ้านมีใครพกรองเท้าติดตัวนอกจากคู่ที่ใส่อยู่บ้าง หลายคนที่มีโต๊ะทำงานส่วนตัว ก็อาจมีรองเท้าอีกคู่ (ที่มักจะเป็นรองเท้าแตะ) ไว้สำหรับใส่เวลานั่งทำงาน ดังนั้นคำแนะนำตรงนี้แทนที่จะบอกให้ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ (หรือถ้าถอดรองเท้าหุ้มส้นไว้ที่โต๊ะทำงาน ก็ต้องกลับไปเปลี่ยนก่อนอย่างนั้นหรือ) น่าจะเปลี่ยนเป็นคำเตือนว่า ให้ระวังเศษแก้วหรือวัตถุมีคมอื่นทิ่มตำเท้าเวลาอพยพ ไม่ว่าจะใส่รองเท้าชนิดใดก็ตาม (พวกรองเท้าพื้นยางเนี่ย เศษแก้วก็แทงทะลุพื้นได้เช่นกัน)

ในส่วนการอพยพนีไฟนั้น คู่มือไม่มีการกล่าวถึงการมีผู้นำการหนีไฟ แต่มีการให้ไปรายงานตัว (กับใครก็ไม่บอก) ที่จุดรวมพล ส่วนการอพยพหนีแผ่นดินไหวนั้น ไม่มีการกล่าวถึงทั้งสองเรื่องนี้

รูปที่ ๓ เคยมีการเตือนให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์รับฟังข่าวสารในกรณีระบบสื่อสารล่ม ตอนนั้นคนทั่วไปหัวเราะเยาะกันใหญ่ แต่เหตุแผ่นดินไหวเกิดที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า ระบบโทรศัพท์มือถือรวมทั้งสัญญาณ wifi ของมหาวิทยาลัย มันล่มจริง เพราะคนใช้กันเยอะมา

วันนี้ก็ขอบันทึกเรื่องราวและมุมมองส่วนตัวไว้เพียงแค่นี้

วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2568

ใช้น้ำดับไฟที่เกิดจากไฟฟ้าก็ได้นะ MO Memoir : Tuesday 8 April 2568

รูปข้างล่างนำมาจากภาพที่ทางมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นเผยแพร่ (ตัดมาส่วนหนึ่ง) ลองอ่านดูก่อนนะครับ


เรื่องการแบ่งประเภทของเพลิงไหม้เนี่ย ที่เห็นสอนกันในบ้านเราจะเป็นแบบที่อิงเกณฑ์ของอเมริก (US) ดังเช่นรูปที่นำเอามาแสดง ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ (UK) นั้นเขาใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือเขาไม่แยกไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าออกมาต่างหากเป็น class หนึ่ง คือเขาถือว่าถ้าตัดกระแสไฟฟ้าออกไปแล้ว เพลิงไหม้นั้นก็จะไปตกอยู่ในกลุ่มเกณฑ์อื่น และสิ่งที่ไหม้ไฟก็ไม่ใช่กระแสไฟฟ้า แต่ก็จะมีการใช้ป้ายเตือนเป็นรูป electric spark (ไม่ได้เป็นตัวอักษร) แทน และมีการแยกเพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันทำอาหารไว้ใน Class F (ของอเมริกาจะเป็น Class K)

น้ำบริสุทธิ์นำไฟฟ้าได้แย่มาก หรือจะเรียกว่าไม่นำไฟฟ้าก็ได้ มันนำไฟฟ้าได้แย่ชนิดที่สามารถเอาแผงวงคอมพิวเตอร์ไปแช่ไว้ในน้ำเพื่อระบายความร้อนทั้ง CPU, RAM และการ์ดจอในเวลาเดียวกันได้ แต่ถ้าคิดจะทำต้องมั่นใจก่อนว่าน้ำที่จะนำมาใช้นั้นเป็นน้ำบริสุทธิ์จริง และต้องมั่นใจว่าในขณะที่ใช้งานนั้นน้ำนั้นจะไม่มีสิ่งใดละลายปนเปื้อนเข้าไป เพราะนั่นจะทำให้ไอออนในน้ำเพิ่มมากขึ้น น้ำก็จะนำไฟฟ้าได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือน้ำบริสุทธิ์สูงนั้นราคาไม่ถูก ก็เลยไม่มีใครเอามาใช้ในการดับเพลิงกัน ถ้านำไฟดับเพลิงไหม้อุปกรณ์ที่ยังมีกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงอยู่ น้ำที่ไหลล้นออกมาจะเป็นตัวนำไฟฟ้าที่นำอันตรายมาสู่ผู้เข้าไประงับเหตุได้

ทีนี้ถ้าเรากลับไปดูที่รูปใหม่ จะเห็นว่าเขาบอกว่าเครื่องดับเพลิงชนิด "Water Pressure" กับ "Foam" นั้นไม่ควรนำไปใช้กับไฟที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า เพราะ Foam นั้นมันมีน้ำเป็นส่วนประกอบ

แต่กลับบอกว่าเครื่องดับเพลิงชนิด "Low Water Pressure" (ซึ่งก็เป็นน้ำล้วน ๆ) สามารถใช้ดับเพลิงที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งมันสามารถทำให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า "สามารถใช้น้ำความดันต่ำดับเพลิงที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถใช้น้ำที่มีความดันสูงเกินไป"

อันที่จริงเครื่องดับเพลิงที่โปสเตอร์เขียนว่า "Water Pressure" เนี่ยควรเรียกให้ถูกว่า "Pressurized Water Fire Extinguisher" เครื่องเครื่องดับเพลิงชนิดถังน้ำความดัน คือใช้แก๊สความดันในถังฉีดน้ำออกมาเป็นลำน้ำต่อเนื่อง ส่วนเครื่องดับเพลิงที่โปสเตอร์เขียนว่า "Low Water Pressure" ควรเรียกให้ถูกว่าเป็นชนิด "Low Pressure Water Mist Fire Extinguisher" หรือที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า "เครื่องดับเพลิงชนิดละอองน้ำความดันต่ำ" คือมันฉีดพ่นน้ำออกมาในรูปของละอองหยดน้ำเล็ก ๆ ความดันต่ำ ไม่ได้เป็นลำน้ำต่อเนื่อง

เราสามารถดับเพลิงด้วยการ การตัดเชื้อเพลิง, ตัดอากาศ (คือตัดออกซิเจน) หรือตัดแหล่งพลังงานความร้อน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน การตัดเชื้อเพลิงจะทำได้ในกรณีที่เชื้อเพลิงนั้นรั่วไหลออกมาจากระบบปิด (เช่น ท่อ ถัง) ในกรณีของเพลิงไหม้ที่เชื้อเพลิงอยู่ในที่เปิดทั่วไปนั้นมักจะทำด้วยการตัดออกซิเจนร่วมกับการตัดแหล่งพลังงานความร้อน เครื่องดับเพลิงที่ใช้แก๊สในการดับนั้น (เช่นคาร์บอนไดออกไซด์) ทำงานด้วยการตัดออกซิเจน แต่ถ้าแก๊สที่ปกคลุมป้องกันอากาศนั้นฟุ้งกระจายออกไปและตัวเชื้อเพลิงหรือบริเวณใกล้เคียงที่เชื้อเพลิงสามารถแพร่เข้าไปถึงได้นั้นยังร้อนอยู่ ไฟก็จะกลับมาลุกใหม่ได้

น้ำที่ฉีดเข้าไปดับไฟนั้น ส่วนใหญ่จะลงไปที่ตัวเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ดึงความร้อนออกจากเชื้อเพลิงและบางส่วนก็ลงไปเปียกปิดคลุมผิวเอาไว้ โดยส่วนใหญ่จะไหลล้นออกมา มีเพียงแค่บางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำที่ไปช่วยลดความเข้มข้นของออกซิเจนบริเวณรอบเชื้อเพลิง น้ำที่ไหลล้นออกมานี่แหละคือตัวที่ทำให้เกิดอันตรายได้ถ้านำไปใช้ดับเพลิงไหม้ที่มีกระแสไฟฟ้าเกี่ยวข้องและยังไม่ได้ตัดกระแสไฟฟ้าออกไป

น้ำที่ฉีดออกมาในรูปหยดน้ำเล็ก ๆ ที่เป็นละอองจะระเหยกลายเป็นไอได้เร็ว การระเหยของละอองน้ำจะดึงความร้อนออกจากสิ่งแวดล้อม พัดลมไอน้ำที่ใช้ลดความร้อนในอากาศก็ทำงานด้วยหลักการนี้ คือละอองน้ำที่ฉีดออกมาจะดึงความร้อนออกจากอากาศทำให้มันกลายเป็นไอ อากาศก็จะเย็นลง (แต่ความชื้นก็จะเพิ่มขึ้น) โดยไม่ทำให้พื้นบริเวณรอบ ๆ เปียกน้ำ เครื่องดับเพลิงชนิดละอองน้ำความดันต่ำก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการดับเพลิง คือละอองน้ำที่ฉีดเข้าไปนั้นจะระเหยกลายเป็นไอได้เร็ว มีการดึงความร้อนออกจากบริเวณเพลิงไหม้ได้เร็ว และไอน้ำที่เกิดยังเข้าไปแทนที่อากาศ ซึ่งเป็นการตัดออกซิเจนออกไป ไฟจึงดับได้

ในโปสเตอร์นี้ยังมีอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมต้องแยกเพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงเหลว (เช่นน้ำมันเชื้อเพลิงและไฮโดรคาร์บอนเหลวต่าง ๆ) และน้ำมันประกอบอาหาร (cooking oil ซึ่งเป็นได้ทั้งจากพืชและสัตว์) ออกจากกัน แถม Foam ที่ใช้กับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่ควรนำมาใช้กับดับไฟที่เกิดจากน้ำมันประกอบอาหาร ทั้ง ๆ ที่น้ำมันทั้งสองชนิดนั้นต่างก็มีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำและไม่ละลายน้ำทั้งคู่

ความแตกต่างอยู่ที่อุณหภูมิของเชื้อเพลิงที่ทำให้เชื้อเพลิงนั้นลุกติดไฟได้ พวกไฮโดรคาร์บอนที่เป็นเชื้อเพลิงเหลวนั้นอุณหภูมิจุดลุกติดไฟ (Fire point) มักจะต่ำกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของน้ำ (100ºC) ในขณะที่น้ำมันประกอบอาหารนั้นจะใช้อุณหภูมิที่เรียกว่าจุดทำให้เกิดควัน (Smoke point) เป็นตัวบอกว่าน้ำมันนั้นเริ่มที่จะลุกติดไฟได้แล้ว และอุณหภูมิจุดทำให้เกิดควันนี้มีค่าสูงกว่าอุณหภูมิจุดเดือดของน้ำมาก

ในกรณีของเพลิงไหม้ถังเก็บน้ำมันเบนซิน ถ้าเราฉีดน้ำเข้าไป น้ำบางส่วนจะระเหยกลายเป็นไอน้ำ มีการดึงเอาความร้อนออกจากเปลวไฟและลดความเข้มข้นอากาศ ทำให้ลดความรุนแรงของเปลวไฟลงได้บ้าง โดยน้ำส่วนที่เหลือที่ตกลงบนผิวน้ำมันจะจมลงสู่เบื้องล่าง (เพราะอุณหภูมิน้ำมันนั้นต่ำกว่าจุดเดือดของน้ำ) แต่ถ้าปล่อยน้ำนั้นไว้ที่ก้นถังนาน ๆ น้ำที่อยู่ก้นถังก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 100ºC ได้ แต่จะยังไม่เดือดเพราะมีความดันเนื่องจากความสูงของน้ำมันเบนซินนั้นกดเอาไว้ แต่ถ้าไฟไหม้นานพอจนระดับน้ำมันเบนซินที่ลดลงมากพอ น้ำที่อยู่ก้นถังก็จะเดือดกลายเป็นไอ ผลักดันให้น้ำมันเบนซินที่อยู่ในถังนั้นพุ่งกระจายออกมารอบ ๆ ถังเก็บนั้นได้ (ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Boil over และ Slop over)

ในกรณีของน้ำมันประกอบอาหารนั้น เนื่องจากน้ำมันมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดของน้ำ น้ำที่ลงไปสัมผัสกับผิวหน้าน้ำมันจะเดือดกลายเป็นไอทันที ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะทำให้น้ำมันกระเด็นออกมายังบริเวณโดยรอบ ทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บและเพลิงแผ่กระจายออกไปได้ แต่การใช้น้ำในรูปของละอองหยดน้ำเล็ก ๆ ความร้อนของเปลวไฟจะทำให้หยดน้ำนั้นระเหยกลายเป็นไอน้ำก่อนที่จะมีโอกาสสัมผัสกับผิวน้ำมัน จึงมีความปลอดภัยสูงกว่า

เรื่องความถูกต้องของคู่มือปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรก่อให้เกิดความสับสนในการทำงาน

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568

สารหล่อลื่นในเปลือกกล้วย MO Memoir : Saturday 5 April 2568

กระเทียมก็ต้องทุบ มะนาวก็ต้องคลึง ดังนั้นเปลือกกล้วยก็ต้องเหยียบ

พืชบางชนิดนั้นมีของเหลวอยู่ในถุงบรรจุเล็ก ๆ การจะนำเอาของเหลวเหล่านั้นออกมาใช้งานก็ต้องทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออกก่อน อย่างเช่นกระเทียมที่มีน้ำมันบรรจุอยู่ในถุงบรรจุ การทุบจะทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออก มะนาวก็เช่นกัน ดังนั้นก่อนจะผ่ามะนาวเพื่อบีบเอาน้ำมะนาว ก็ควรต้องทำการคลึงผลมะนาวก่อนผ่าเสียก่อน เพื่อให้ถึงบรรจุน้ำมะนาวแตกออก

เปลือกกล้วยหอมก็เช่นกัน มีสารหล่อลื่นอยู่ในถุงบรรจุ การเหยียบจะทำให้ถุงบรรจุนั้นแตกออกปลดปล่อยสารหล่อลื่นออกมา ทำให้พื้นผิวสัมผัสระหว่างพื้นกับเปลือกกล้วยที่ถูกเหยียบลื่นมากขึ้นอันเป็นผลจากสารหล่อลื่นนั้น

Ig Nobel Prize เป็นรางวัลที่ล้อเลียนรางวัลโนเบล เพื่อมอบให้แก่การค้นพบ (ผลงานตีพิมพ์) ที่ "that cannot, or should not, be reproduced" (ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ไม่สามารถ, หรือไม่ควร ที่จะทำซ้ำ") เพื่อเป็นการยกย่องผลงานที่ "that first make people laugh, and then make them think" (เช่นกัน ถ้าแปลออกมาก็คงจะได้ว่า "ทำให้คนหัวเราะก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นจึงค่อยคิด") รางวัลนี้เริ่มแจกในปีค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔)

และในปีค.ศ. ๒๐๑๔ (พ.ศ. ๒๕๕๗) ก็ได้มีการมอบรางวัล Ig Nobel Prize สาขาฟิสิกส์ให้กับศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้ศึกษาวิจัยเรื่องสัมประสิทธิความเสียดทานของเปลือกกล้วย ซึ่งเรื่องนี้ได้เล่าไว้ในบทความบน blog เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง "เมื่อกล้วยระเบิด"

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น ก็ได้ทำรายการเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องความลื่นของเปลือกกล้วยที่ศาสตร์จารย์ท่านนั้นทำการศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไปทำไม (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ รายการของ NHK World Japan ในสารคดึชุด "Laugh Then Think: Japan Offbeat Science" เรื่อง Banana slip Physics เผยแพร่ออกอากาศครั้งแรกในวันศุกร์ที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมา ภาพโฆษณารายการเป็นภาพของ Prof. Kiyoshi Mabuchi ชูกล้วยหอม อาจารย์ท่านนี้เป็นอาจารย์ทางด้าน Biomechanics หรือพวกข้อต่อเทียมต่าง ๆ ของร่างกาย

Prof. Kiyoshi Mabuchi เป็นอาจารย์ทางด้าน Biomechanics หรือพวกข้อต่อเทียมต่าง ๆ ของร่างกาย จึงเป็นผู้เห็นความสำคัญของความลื่นเมื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างการมีการเสียดสีกัน ตัวอย่างเช่นข้อสะโพกที่ท่านนำมายกเป็นตัวอย่างในสารคดี (รูปที่ ๒), การเสียดสีกันระหว่างเปลือกตากับลูกตาเมื่อเรากระพริบตา, การเสียดสีกันระหว่างปอดหรือหัวใจกับอวัยวะภายในที่อยู่เคียงข้างกัน

รูปที่ ๒ Prof. Kiyoshi Mabuchi ขณะบรรยายการทำงานของข้อต่อสะโพกเทียม ว่าความลื่นของข้อต่อนั้นสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่ออย่างไร

รูปที่ ๓ บทความที่เผยแพร่สองปีหลังจากได้รับรางวัล Ig Nobel Prize

สารคดีที่ NHK จัดทำนั้นไม่ได้บอกว่าสุดท้ายแล้วจะมีการนำเอาผลงานวิจัยเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาจากตัวอย่างที่ยกมาในบทความและสิ่งที่อาจารย์ท่านนั้นศึกษา ก็คงพอจะคาดเดาได้ว่าท้ายสุดนี้งานวิจัยเรื่องนี้จะมีประโยชน์อย่างไร

บางครั้งสิ่งที่ชาติตะวันตกเห็นเป็นเรื่องตลกนั้น ก็เป็นการแสดงความไม่รู้ (แต่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น) ออกมา

รูปที่ ๔ โครงสร้างของเปลือกกล้วยหอม (จากบทความในรูปที่ ๓)

รูปที่ ๕ บทความที่เผยแพร่ในปีค.ศ. ๒๐๑๖ หรือหลังได้รับรางวัล Ig Nobel Prize สองปี กล่าวถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างสารหล่อลื่นของเปลือกกล้วยหอมและกระดูกหัวเข่าของกระต่าย (จากบทความในรูปที่ ๓)

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

แผ่นดินไหววันนี้ (บันทึกความทรงจำ) MO Memoir : Friday 28 March 2568

พฤษภาคม ๒๕๖๖ ระหว่างนั่งชม (งีบหลับ) การแสดงแสงสีประกอบดนตรีที่ท้องฟ้าจำลอง ณ ตึกสูงข้าง Tokyo Skytree กำลังเคลิ้ม ๆ อยู่ก็รู้สึกเก้าอี้สั่นไหว นึกในใจว่าการแสดงนี้มี effect เหมือนจริง มีการโยกไปมาตามดนตรีด้วย

สักพัก ไฟในห้องก็ประกาศขึ้น พร้อมกับเสียงประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่น ลูกก็บอกว่าเจ้าหน้าที่เขาประกาศว่าเป็นแผ่นดินไหว จะหยุดการแสดงชั่วคราว สำหรับผู้ที่ต้องการกลับก่อนก็สามารถรับเงินค่าตั๋วคืนได้ ก็มีคนบางส่วนเดินออกไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ สักพักการแสดงก็เริ่มต่อไปจนจบ ลงมาถ่ายรูปข้างล่าง ผู้คนก็ยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม

วันนี้ระหว่างเกิดเหตุ อยู่ตึก ๑๐๐ ปีชั้น ๑๑ เป็นวิชาสัมมนาปริญญาเอก พอตึกมันสั่น นิสิตก็วิ่งออกจากห้องไปกันหมด เหลือนั่งอยู่ในห้องคนเดียว สักพักเจ้าหน้าที่ตึกคนหนึ่งก็มา มาตรวจดู ก็บอกเขาไปว่าไม่รู้ว่าจะรีบวิ่งไปทำไม เดี๋ยวก็ได้เหยียบกันตาย อีกอย่างตึกสูงยุคหลังในบ้านเรามันก็ออกแบบมารับเรื่องแบบนี้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก่อนลงมา ก็เดินไปปลดปลั๊กไฟกาต้มน้ำที่เขาเสียบเอาไว้สำหรับ coffee break ออกก่อน ตอนแรกกะว่าจะชงกาแฟและหยิบขนมที่เขาเตรียมไว้มาด้วย เอาไว้กินตอนเดินลง แต่เปลี่ยนใจ

ลงมาข้างล่าง เห็นนิสิตมาอออยู่ข้างตึกบ้าง ชายคาบ้าง เลยถามเขาว่ามารออะไรกันแถวนี้ ถ้ากลัววาตึกมันจะถล่ม นั่งยืนอยู่แถวนี้ (ลานเกียร์) ก็ไม่รอดหรอก แล้วไม่กลัวจะมีเศษปูนหรือกระจกจากตึกร่วงลงมาหรือ จะให้ปลอดภัยต้องไปที่โน่นเลย สนามหน้าเสาธง

เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินก็ไม่ควรใช้ลิฟต์ ให้ใช้บันได แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าบันไดไหนมันปลอดภัยก็ใช้บันไดนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น และครั้งนี้ก็เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ไม่ใช่ไฟไหม้ ไฟไหม้โรงแรมที่หาดจอมเทียนปี ๔๐ ที่ตายกันเกือบร้อย ก็ตายในบันไดหนีไฟ

เศษกระเบื้องที่หล่นมาจากผนังอาคารวิศว ๔

 

วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2568

หน่วยวัดความไวไฟ MO Memoir : Friday 21 March 2568

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวรถบรรทุกน้ำมันเครื่องบินเจ็ตถูกรถชนท้าย ทำให้วาล์วถ่ายน้ำมันได้รับความเสียหาย มีน้ำมันรั่วไหลออกมา เนื้อหาข่าวต้นเรื่องไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ทุกสำนักข่าวดูเหมือนจะรายงานในทำนองเดียวกันหมดดังเช่นที่นำมาแสดงในรูปข้างล่าง คือน้ำมันที่รั่วออกมานั้นไวไฟกว่าเบนซินถึง ๓ เท่า

ในทางปฏิบัติ อันตรายจากการลุกติดไฟหรือการระเบิดของสารที่เป็นเชื้อเพลิงขึ้นอยู่กับว่า เมื่อสารนั้นรั่วไหลออกมานอกภาชนะบรรจุ ถ้าปริมาณของไอระเหยของสารนั้นที่ระเหยออกมา "สามารถ" ผสมรวมเข้ากับอากาศจนมีความเข้มข้นสูงเพียงพอที่จะเกิดการลุกติดไฟได้หรือไม่ถ้าได้รับพลังงานกระตุ้น (เช่น เปลวไฟ ประกายไฟ พื้นผิวที่ร้อนมากพอ)

พารามิเตอร์ตัวหนึ่งที่นำมาใช้ในการบอกความไวไฟของสารคือจุดวาบไฟ (Flash point) ซึ่งเป็นอุณหภูมิต่ำสุดที่ทำให้สารเชื้อเพลิงที่มีสถานะเป็นของเหลว ระเหยกลายเป็นไอได้มากพอที่จะทำให้ความเข้มข้นในอากาศสูงพอที่จะลุกติดไฟได้ ถ้าอุณหภูมิที่ใช้อ้างอิงนั้นคืออุณหภูมิห้อง สารตัวใดที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่าอุณหภูมิห้องก็จะถือว่าเป็นสารไวไฟทั้งนั้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเปรียบเทียบระหว่างสารสองตัวที่อุณหภูมิของสารที่รั่วไหลออกมานั้นสูงกว่าอุณหภูมิจุดวาบไฟของสาร สารที่มีจุดวาบไฟต่ำจะมีโอกาสลุกติดไฟได้ง่ายกว่าสารที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า เพราะมันมีประเด็นเรื่องที่สารนั้นเมื่อรั่วไหลออกมาแล้วสามารถที่จะผสมกับอากาศกลายเป็นสารผสมที่มีความเข้มข้นเชื้อเพลิงสูงพอที่จะเกิดการลุกติดไฟได้หรือไม่

เช่นไฮโดรเจนที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟที่ -231ºC และมีเทนที่มีอุณหภูมิจุดวาบไฟที่ -188ºC แต่พวกนี้เป็นแก๊สที่ความหนาแน่นต่ำกว่าอากาศ ถ้ารั่วไหลออกมามันจะฟุ้งกระจายออกไปได้ง่าย ยากที่จะผสมกับอากาศจนมีความเข้มข้นสูงพอที่จะลุกติดไฟได้

น้ำมันเครื่องบินเจ็ตเป็นไฮโดรคาร์บอนในช่วงน้ำมันก๊าด กรมธุรกิจพลังงานกำหนดให้มีจุดวาบไฟ "ไม่ต่ำกว่า 38ºC" ในขณะที่ของน้ำมันเบนซินนั้นไม่ได้กำหนดอุณหภูมิจุดวาบไฟ แต่กำหนดในรูปความดันไอและอุณหภูมิการกลั่น และเป็นที่รู้กันว่าจุดวาบไฟของน้ำมันเบนซินมันมีค่าต่ำกว่า 0ºC

ทีนี้ถ้ากลับไปอ่านเนื้อหาข่าวกันใหม่ ก็คงจะเห็นความไม่สมเหตุสมผลแล้วนะครับ ตรงที่บอกว่าน้ำมันเจ็ตนั้นไวไฟกว่าเบนซิน และไวไฟกว่า 3 เท่า ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวัดอย่างไร

อีกจุดหนึ่งที่อยากให้พิจารณาคือตัวเลขที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นสีส้ม ที่ตัวบนเป็นเลข 2 หลักและตัวล่างเป็นเลข 4 หลัก ตัวเลขบนที่เป็นเลข 2 หลัก (หรือบางทีก็ 3 หลัก) คือ Hazard Identification Number (HIN) เลข 30 บอกว่าเป็นของเหลวที่ติดไฟได้ (อุณหภูมิจุดวาบไฟอยู่ระหว่าง 23-60ºC) ฯลฯ เลข 33 บอกว่าเป็นของเหลวที่มีความไวไฟสูง (อุณหภูมิจุดวาบไฟต่ำกว่า 23ºC)

ตัวเลขล่างที่เป็นเลข 4 หลักบอกว่าสารนั้นเป็นสารอะไร เลข 1202 คือ gas oil หรือ diesel fuel หรือ heating oil (กล่าวคือเป็นไฮโดรคาร์บอนเบาในส่วนของน้ำมันหนัก) ส่วนเลข 1203 คือ gasoline หรือ petrao หรือ motor spirit (ทั้งหมดคือน้ำมันเบนซิน แต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกัน)

โครงสร้างของถังบรรทุกของเหลวของรถบรรทุก ภายในจะมีผนังกั้น (Baffle) ตามแนวขวางเพื่อแบ่งถังบรรจุเป็นส่วน ๆ ผนังกั้นนี้ทำหน้าที่ดลดการกระฉอกของของเหลวเวลาที่รถมีการเคลื่อนที่หรือหยุดเคลื่อนที่ โดยอาจออกแบบมาให้ของเหลวในแต่ละส่วนเชื่อมต่อกันหมดสำหรับการใช้บรรจุของเหลวเพียงชนิดเดียว หรือกั้นแยกออกจากกันเพื่อให้บรรจุของเหลวได้หลายชนิด รถบรรทุกน้ำมันที่บรรทุกน้ำมันไปยังสถานีบริการต่าง ๆ ก็ใช้ถังแบบบรรจุได้หลายชนิดนี้

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2568

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๕ Printed Circuit Board (PCB) - Stripline MO Memoir : Tueday 18 March 2568

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้มาจากการได้พบเห็นผู้ส่งสินค้าออกท่านหนึ่งถามว่าเขาต้องการส่ง Printed Circuit Board (PCB) หรือที่แปลเป็นไทยว่าแผงวงจนพิมพ์ด้วยรหัส HS Code 85340010 พอเอาไปค้นใน EU Correlation Table ก็พบว่ามันไปเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) รหัส 3A234 ในบัญชี ๑ ซึ่งก็คือ stripline (รูปที่ ๑) ก็เลยมีคำถามว่าตกลงว่า PCB ของเขาเกี่ยวข้องกับ DUI หรือไม่ เพราะ PCB ที่เขาส่งออกเป็นแผงวงจรเปล่า ๆ ยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ใด ๆ

รูปที่ ๑ คุณสมบัติของ Stripline ที่เป็นสินค้า DUI

หมายเหตุ : ใน EU Correlation Table (ฉบับค.ศ. ๒๐๒๔) มี HS Code ที่เกี่ยวข้องกับ DUI ๔ รายการด้วยกัน แต่ที่เกี่ยวข้องกับ PCB มีเพียง ๒ รายการดังนี้ (ข้อมูลจาก https://www.tariffnumber.com)

HS Code 85340011 - multilayer circuits only. Multilayer printed circuits, consisting only of conductor elements and contacts

HS Code 85340019 - conductor-only printed circuits. Printed circuits consisting only of conductor elements and contacts (excl. multiple printed circuits)

แผงวงจรที่มีลายเส้นทองแดงเพียงด้านเดียวเรียกว่า single layer แต่ถ้ามีลายเส้นทองแดงทั้งสองด้านก็เรียก double layer ถ้าเปรียบเสมือนกระดาษ ๑ แผ่นชนิด double layer ก็เป็นแบบที่มีการเขียนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และถ้าเป็น multilayer ก็จะเป็นเสมือนกระดาษหลายแผ่นซ้อนกัน โดยระหว่างหน้าที่ทับซ้อนกันนั้นก็มีการเขียนลายเส้นทองแดงอยู่ด้วย

อันทีจริงถ้านำเอาคำ Printed Circuit Board ไปค้นใน EU List ก็จะพบอยู่แค่ ๒ คำในส่วนของหมายเหตุ และไม่ได้เป็นสินค้า DUI ใด ๆ

แต่ก่อนอื่นลองมาทำความรู้จักโครงสร้างพื้นฐานของ stripline กันหน่อยดีกว่า

รูปที่ ๒ เป็นข้อความบางส่วนจากหนังสือ Microwave Active Circuit Analysis and Design โดย Clive Poole และ Izzat Darwazeh ฉบับปีค.ศ. ๒๐๑๖ โครงสร้างของ stripline ประกอบด้วยตัวนำที่อยู่ระหว่างแผ่นตัวนำสองแผ่น โดยตัวนำที่อยู่ตรงกลางนั้นถูกแยกออกจากแผ่นตัวนำที่ประกบมันอยู่นั้นด้วยวัสดุ dielectric ที่อาจเป็นอากาศหรือวัสดุ dielectric ใด ๆ ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำ PCB ก็เป็นวัสดุ dielectric แบบหนึ่ง (วัสดุ dielectric เป็นวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าเหมือนกับฉนวนไฟฟ้า (insulator) แต่มันไม่เหมือนกัน 100% มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง คือบางงานมันใช้แทนกันได้ แต่บางงานมันใช้แทนกันไม่ได้)

รูปที่ ๒ โครงสร้างของ Stripline

"transmission line" คือตัวนำสัญญาณ เพื่อให้เห็นภาพขอยกตัวอย่างกรณีของคลื่นเสียง ถ้าเราตะโกนออกมาเสียงนั้นก็จะกระจายออกไปรอบตัวทุกทิศทาง แต่ถ้าเราใช้กรวยขนาดใหญ่ตัดปลายด้านเล็กมาครอบปากแล้วตะโกนออกไป เสียงส่วนใหญ่ก็จะดังไปในทิศทางที่เราหันปากกรวยออกไป และถ้าเป็นการตะโกนลงไปในท่อ คลื่นเสียงก็จะเดินทางไปในท่อไปออกที่ปลายอีกฝั่งหนึ่งได้ (ที่เรียกว่า speakin tube หรือ voicepipe แต่ก่อนในการติดต่อสื่อสารกันในเรือหรือในอาคารในต่ำแหน่งที่อยู่ห่างกัน ก็มีการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้) ในกรณีของคลื่นแสง transmission line คือ fiber optic หรือเส้นใยแก้ว ที่ทำให้แสงเคลื่อนที่จากปลายข้างหนึ่งของเส้นใยไปโผล่ที่อีกปลายข้างหนึ่ง (แม้ว่าเส้นใยจะคดเคี้ยวก็ตาม) สำหรับ stripline นี้จะใช้กับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นไมโครเวฟ โดยตัวคลื่นจะเดินทางไปตามตัวนำที่อยู่ตรงกลาง และตัวนำที่ประกบอยู่ด้านข้างทั้งสองยังทำหน้าที่ช่วยป้องกันการรบกวนจากสัญญาณภายนอก

stripline เป็นสินค้า DUI ในหมวด 3A2 หมายถึงเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เลข 3 ตัวแรก) ที่เกี่ยวข้องกับระบบ (อักษร A) และกำหนดให้เป็น DUI โดย Nuclear Supplier Group (เลข 2 ตัวหลัก) เพื่อให้เห็นภาพความเกี่ยวข้องนี้เราลองไปดูการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระเบิดนิวเคลียร์สักหน่อยดีกว่า

ในเอกสาร Section V - Nuclear Weapon Technology (ดาวน์โหลดจากเว็บ Federation of American Scientists https://irp.fas.org>threat>mctl98-2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่พอมาสัปดาห์นี้เข้าเว็บนี้ไม่ได้แล้ว) ใน Section 5.7 บรรยายว่าในส่วนของทำงานเกี่ยวข้องกับระเบิดนิวเคลียร์สามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อยได้ ๔ ขั้นตอนตามลำดับการทำงานดังนี้คือ Safing, Arming, Fuzing และ Firing

ขั้นตอน Safing คือการทำให้มั่นใจว่าการเก็บรักษา การเคลื่อนย้าย หรือการกระทำใด ๆ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ต้องไม่ทำให้มันเกิดระเบิดได้ (ตัวอย่างเหตุการณ์การทำแบบไม่ตั้งใจที่เคยเกิดก็มีกรณีที่ระเบิดร่วงจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินบรรทุกระเบิดเกิดการตก)

ขั้นตอน Arming คือขั้นตอนการเตรียมให้อาวุธมีความพร้อมที่จะใช้งานและสามารถที่จะทำงานได้ถ้าได้รับการจุดระเบิดที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่นถ้ามีสลักสอดขวางเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของขิ้นส่วนบางชิ้น ขั้นตอน Arming นี้ก็คือการถอดสลักเหล่านั้นออก

ขั้นตอน Fuzing คือการตรวจว่าเงื่อนไขที่จะจุดระเบิดมีครบแล้ว และทำการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์จุดระเบิด ตัวอย่างอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้ได้แก่อุปกรณ์ที่ตรวจวัดตำแหน่งของหัวรบเทียบกับตำแหน่งเป้าหมาย และวงจนที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้จุดระเบิดหัวรบ

ขั้นตอน Firing คือการจุดระเบิดเมื่อได้รับสัญญาณมาจากขั้นตอน Fuzing โดยจะทำการจ่ายพลังงานที่มีระดับพลังงานที่เที่ยงตรง ณ เวลาที่ถูกต้องไปยังอุปกรณ์จุดระเบิดหัวรบ

stripline มีบทบาทในขั้นตอน Fuzing และ Firing (รูปที่ ๓)

รูปที่ ๓ บทบาทของ stripline ที่เกี่ยวข้องกับหัวรบนิวเคลียร์ปรากฏอยู่ในขั้นตอน Fuzing (ตารางบน) และ Firing (ตารางล่าง) (จากเว็บ Federation of American Scientists https://irp.fas.org>threat>mctl98-2)

ถ้าดูโครงสร้างของ stripline ในรูปที่ ๒ จะเห็นว่าในกรณีที่วัสดุ dielectric นั้นคือแผงวงจรพิมพ์ เราจะเห็นโครงสร้างเฉพาะลายเส้นตัวนำไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกเท่านั้น จะมองไม่เห็นตัวนำที่แทรกอยู่ระหว่างลายเส้นตัวนำไฟฟ้าทั้งสอง ดังนั้นแผงวงจรพิมพ์ที่มี stripline อยู่จึงเป็นชนิด multilayer หรือไม่ก็อาจถูกเลี่ยงส่งในรูปของ double layer เพราะว่ามองไม่เห็นตัวนำไฟฟ้าที่อยู่ตรงกลาง

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๔ มุมมองจากทางด้านเทคนิค MO Memoir Thursday 13 March 2568

ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง "มาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง และมาตรการเกี่ยวกับสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้สุดท้ายหรือผู้ใช้สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง" ที่ออกมาในปีพ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔) มีบัญชีแนบท้าย ๒ บัญชี โดยบัญชี ๑ เป็นรายการ "สินค้าที่ใช้ได้สองทางในความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ" รายการสินค้าต่าง ๆ ในบัญชีที่ ๑ นี้นำมาจาก EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๑๙ (พ.ศ. ๒๕๖๒) (แต่ตอนที่กฎหมายออก มันมีฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ ออกมาแล้ว และฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๑ ออกมาก่อนหน้าออกประกาศฉบับนี้ ๑ สัปดาห์)

บัญชี ๒ นั้นเป็นรายการ "สินค้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง" รายการสินค้าที่ปรากฏในบัญชี ๒ นี้มาจากการเทียบเคียงว่าสินค้าที่อยู่ในบัญชี ๑ นั้น ถ้ามีการส่งออก มีโอกาสที่จะไปปรากฏอยู่ในหมวด HS Code ตัวไหนได้บ้าง (HS Code คือรหัสสินค้าของระบบศุลกากรที่เป็นหน่วยงานควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้า รหัสนี้เป็นรหัสสากล) แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าในบัญชี ๑ นั้นจะไปโผล่อยู่ใน HS Code ที่ไม่อยู่ในบัญชี ๒ ไม่ได้ (มันทำได้อยู่ ถ้าอยากทำ) และจะไปตีความว่าสินค้าทุกตัวในบัญชี ๒ นั้นเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางก็ทำไม่ได้

แต่ในเวลานี้ดูเหมือนว่าการทำงานในบ้านเราจะไปอิงบัญชี ๒ เป็นหลัก ซึ่งตรงนี้มันอาจเกิดปัญหาได้ถ้าหากสินค้าในบัญชี ๑ นั้นถูกส่งออกไปกับสินค้าอื่นที่ไม่ได้มี HS Code อยู่ในบัญชี ๒ วันนี้ก็เลยขอแบ่งปันมุมมองการพิจารณาว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่ โดยอาศัยมุมองทางด้านเทคนิคจากความรู้ที่ได้เรียนมาจากวิทยากรทั้งจากสหรัฐและญี่ปุ่น (ซึ่งการตีความตัวอย่างที่เขายกมาสอนนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่บางจุด และบางทีก็แตกต่างจากความเห็นส่วนตัว) โดยจะขอลำดับเป็นข้อ ๆ ดังนี้

๑. ก่อนอื่นการพิจารณาว่าสินค้านั้นเป็นสินค้า DUI หรือไม่ จะดูกันที่ EU List เป็นหลัก (ฉบับล่าสุดเป็นฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๔ ที่มีการเปลี่ยนแปลงบางรายการจากฉบับก่อนหน้า) ตัว EU List นี้ทางสหรัฐจะเรียกว่าเป็น Export Control Classification Number หรือย่อเป็น ECCN ซึ่งใช้รหัสเดียวกันและรายละเอียดเหมือนกัน

๒. ในกรณีที่สินค้านั้นเป็นสินค้าชิ้นเดียว ไม่ได้ประกอบจากชิ้นส่วนย่อยหลายชิ้นส่วนการพิจารณาจะทำได้ง่าย (เช่นต้องการส่งแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board หรือที่ย่อว่า PCB) เปล่า ๆ ที่ยังไม่มีการติดตั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ หรือส่งตัวเก็บประจุ (capacitor หรือ condenser) ที่ยังไม่ประกอบเข้ากับวงจรใด ๆ) ก็เพียงแค่ไปดูว่าสินค้านั้นมีปรากฏในรายการ EU List หรือไม่

๓. จากข้อ ๒. ถ้ามีปรากฏ (เช่นกรณีของตัวเก็บประจุ) ก็จะไปพิจารณาคุณสมบัติของสินค้านั้นว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตาม EU List หรือไม่ ถ้าพบว่ามันตรง มันก็เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมทันที แต่ถ้าตรวจไม่พบว่าสินค้านั้นมีปรากฏใน EU List (เช่นกรณีของ PCB) ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่ามันไม่ใช่สินค้าควบคุม เพราะมันอาจถูกจัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางก็ได้ ถ้าหากมันไปปรากฏอยู่ในบัญชี Catch-All Control หรือ CAC (จะมากล่าวถึงเรื่องนี้อีกทีในข้อ ๑๑.)

๔. จากข้อ ๓. ถ้าพบว่าคุณสมบัติของสินค้านั้นไม่ตรงตาม EU List บางข้อ ก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่า การที่มันมีคุณสมบัติไม่ตรงนั้นเป็นเพราะอะไร เช่น

๔.๑ ถ้าเกิดจากการดัดแปลงบางส่วนของสินค้า DUI เพื่อไม่ให้มีคุณสมบัติตรงตาม list ทุกข้อ การเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถทำย้อนกลับได้ง่ายหรือไม่

๔.๒ ถ้าสามารถทำย้อนกลับได้ไม่ยาก คำถามก็คือทำไปทำไป เช่น

(ก) หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ

(ข) ผู้ใช้ไม่ต้องการสินค้าที่มีสมรรถนะสูง แต่ผู้ขายใช้วิธีปรับแต่งความสมรรถนะสินค้าสมรรถนะสูงพื้นฐานที่ตัวเองมีอยู่ ด้วยการดัดแปลง/เปลี่ยนแปลง/ตัดออกชิ้นส่วนหรือโปรแกรมควบคุมการทำงานอุปกรณ์พื้นฐาน เพื่อไม่ให้ผู้รับสินค้านั้นสามารถใช้งานสินค้าตัวนั้นในฐานะ DUI ได้ และมีการควบคุมไม่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงหรือแก้ไขชิ้นส่วนที่ได้รับการดัดแปลง/เปลี่ยนแปลง/ตัดออกนั้นได้ด้วยหรือไม่


๕. ในกรณีที่สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนย่อยหลายชิ้น (เช่น PCB ที่มีการติดตั้งสารพัดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไว้เต็มไปหมด) ถ้าคุณสมบัติรวมของสินค้านั้นตรงตาม EU List มันก็เข้าข่ายสินค้าควบคุมทันที และในทางกลับกัน ถ้าสินค้านั้นเป็นชิ้นส่วนย่อยที่สามารถนำมาประกอบรวมเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่ขึ้นได้ จนทำให้คุณสมบัติของชิ้นส่วนใหญ่ที่เกิดจากการประกอบรวมชิ้นส่วนย่อยหลายชิ้นเข้าด้วยกันนั้น มีคุณสมบัติตรงตาม EU List ตรงนี้จะตีความอย่างไร (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๑ ตัวเก็บประจุ(Capacitor) MOMemoir : Wednesday 12 May 2564" และ "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๑๕ SonyPlayStation MO Memoir : Wednesday 16 August 2566")

๖. จากข้อ ๕. ถ้าคุณสมบัติรวมของสินค้านั้นไม่ตรงตาม EU List ก็จะพิจารณาต่อดังนี้

๖.๑ ตัวสินค้านั้นเองไม่มีชิ้นส่วนประกอบย่อยใด ๆ ที่เป็นสินค้า DUI แต่ถ้ามีการดัดแปลง, เปลี่ยนแปลง, ประกอบรวมหลายขิ้นเข้าด้วยกัน และ/หรือติดตั้งอุปกรณ์เสริม ก็จะทำให้มันเป็นสินค้า DUI ได้หรือไม่

๖.๒ ถ้าตัวสินค้านั้นมีสินค้า DUI เป็นองค์ประกอบ ก็จะต้องไปพิจารณารายละเอียดตาม General Note to Annex I ข้อ 2. ก่อน (รูปที่ ๑) ก่อนจะตัดสินสุดท้ายว่า ตัดสินว่าสินค้าทั้งตัวนั้นควรจัดเป็นหรือหรือไม่เป็นสินค้า DUI

รูปที่ ๑ รายละเอียด General Note to Annex I ข้อ 2.

๗. มีสินค้าบางตัว ที่ถ้าตีความโดยอิงจาก "ตัวอักษร" เป็นหลักแล้ว จะถูกจัดว่าเป็นสินค้า DUI ได้ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงในทางเทคนิคนั้น มันไม่ใช่ เพราะใช้แทนกันไม่ได้ (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง(Dual-Use Items :DUI) ตอนที่ ๖ MOMemoir : Wednesday 4 September 2562" และ "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๒ เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน(Heat Exchanger) MOMemoir : Friday 14 May 2564")

๘. มีตัวอย่างเหมือนกัน ที่ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้า DUI แต่ตรวจสอบประวัติผู้รับแล้วไม่พบความผิดปรกติใด ๆ แต่สิ่งนั้นอาจเป็นความผิดปรกติได้ ถ้าพบว่าทำไมผู้รับจึงต้องการสินค้า DUI นั้น ทั้ง ๆ ที่ปรกติแล้วสามารถใช้สินค้าที่ไม่ใช่ DUI ที่มีราคาถูกกว่าได้ (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การเลือกวัสดุสำหรับ Cl2 และ HCl MO Memoir : Sunday 27 October 2562" และ "การเลือกวัสดุสำหรับ F2 และ HF MO Memoir : Wednesday 30 October 2562")

๙. EU List บางหมวดมีการเพิ่มเติม เช่นสารเคมีในหมวด 1C350 ที่บัญชี ๑ แนบท้ายกฎหมายไทยมีเพียง ๖๕ รายการตาม EU List ปีค.ศ. ๒๐๑๙ แต่ฉบับตั้งแต่ปีค.ศ. ๒๐๒๐ ถึง ๒๐๒๓ สารเคมีในหมวดนี้มี ๘๙ รายการ

๑๐. DUI บางรายการมีการปรับ spec. ให้สูงขึ้น ดังนั้นสินค้าที่เป็น DUI ตาม EU List เก่าจะไม่เป็น DUI ตาม EU List ใหม่ เช่น digital computer ในหมวด 4A003.b ที่ EU List ปีค.ศ. ๒๐๑๙ กำหนดความสามารถขั้นต่ำไว้ที่ 29 Weighted TeraFLOPS แต่ EU List ปีค.ศ. ๒๐๒๓ กำหนดความสามารถขั้นต่ำไว้ที่ 70 Weight TeraFLOPS ซึ่งสูงกว่าเดิมกว่า ๒ เท่า


๑๑. ในหลายประเทศมีบัญชี CATCH-ALL CONTROL (CAC) ของตัวเอง (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับคนอื่น) ดังนั้นสินค้าที่ไม่ปรากฏใน EU List ก็มีสิทธิ์เป็นสินค้า DUI ได้ถ้ามันไปปรากฏในบัญชี CATCH-ALL CONTROL ของเขา (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "สินค้าที่ไม่ใช่ DUI ที่เป็นสินค้า DUI - ไตรบิวทิลฟอสเฟต (Tributyl phosphate) MO Memoir : Wedneday 26 February 2568" และ "สินค้าที่ไม่ใช่ DUI ที่เป็นสินค้า DUI - Karl Fischer moisture equipment MO Memoir : Tuesday 4 March 2568")

๑๒. ในทางเทคนิคนั้น สินค้าใดเป็น DUI หรือไม่ จะดูกันที่ EU List แต่การนำเข้าและส่งออกนั้นใช้ HS Code จึงมีการเทียบว่าสินค้าที่เป็น EU List นั้นมีโอกาสที่จะไปโผล่ใน HS Code ตัวไหนได้บ้าง (ที่ออกมาเป็นตาราง Excel EU Correlation Table) แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าในหมวด HS Code นั้นจะเป็น DUI คือไม่ควรตีความว่าสินค้าในหมวด HS Code ที่มีการเทียบเคียงกับ EU List นั้นเป็นสินค้า DUI ทั้งหมด

๑๓. จากข้อ ๑๒. มีกรณีที่เห็นเป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้คือเรื่องเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นสินค้า DUI นั้นมีเพียงรายการเดียวในหมวด 8A002.j.2 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซลออกแบบมาเฉพาะสำหรับเรือดำน้ำ (เครื่องยนต์รถถังไม่เป็นสินค้า DUI ส่วนจะถูกคุมโดยกฎหมายยุทธภัณฑ์หรือเปล่านั้นตรงนี้ผมไม่ทราบ) แต่ถ้าไปดู EU Correlation Table จะพบว่ามันเทียบกับ HS Code เกือบ ๓๐ รายการ (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางตัวอย่างที่ ๒๓ เครื่องยนต์ดีเซลMO Memoir : Sunday10 November 2567")

๑๔. อุปกรณ์บางชนิดก็อาจมีปัญหาในการตีความ ในกรณีที่คุณสมบัตินั้นก้ำกึ่ง อย่างเช่นตัวเก็บประจุในหมวด 3A001.a ที่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศบางบริษัทก็ตั้งคำถามว่า จะให้วัดค่า inductance ตรงตำแหน่งไหนของขา เพราะถ้าวัดที่ปลายขา กับวัดที่โคน (ส่วนที่ติดอยู่กับตัวเก็บประจุ) ค่าที่วัดได้จะไม่เท่ากัน (ตัวอย่างนี้เขียนไว้ในบทความเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๒๒ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillator) MO Memoir : Tuesday 10 September 2567" และมีรายละเอียดเพิ่มเติมในรูปที่ ๒ และ ๓)

รูปที่ ๒ คุณสมบัติของตัวเก็บประจุที่เป็นสินค้า DUI ในข้อ 3A201 ตัวที่อาจมีปัญหาในการตีความคือค่า inductance ว่าจะให้วัดตรงตำแหน่งของขา (หรือสายไฟ) ของตัวเก็บประจุ เพราะการวัดที่ปลายขา (หรือปลายสายไฟด้านที่จะเอาไปต่อกับอุปกรณ์อื่น) และการวัดด้านโคนขา (หรือสายไฟด้านที่ต่อเข้ากับตัวเก็บประจุ) มันให้ผลต่างกัน และค่านี้จะมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับความยาวของขา (หรือสายไฟ) ด้วย ตารางข้างขวาเป็นค่าการเหนี่ยวนำของลวดทองแดง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมีหน่วยเป็นนิ้ว และค่า Inductance มีหน่วยเป็น nH (ข้อมูลในตารางมาจาก https://coppermountaintech.com/what-is-the-inductance-of-a-straight-wire-in-free-space/)

รูปที่ ๓ ตัวเก็บประจุสองตัวในรูปนี้มีความจุเท่ากัน ยี่ห้อเดียวกัน แต่รูปแบบขาต่อไม่เหมือนกัน

๑๕. ในส่วนของซอร์ฟแวร์นั้น EU List ควบคุม "การส่งออก" ซอร์ฟแวร์ แต่ก็มีคำถามเรื่อง "การเข้าใช้" คือไม่ได้มีการส่งออกซอร์ฟแวร์ แต่เปิดโอกาสให้เข้าใช้ซอร์ฟแวร์ (โดยคิดค่าบริการ) เช่นหน่วยงานมีซอร์ฟแวร์ที่เป็นสินค้าควบคุมทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ซอร์ฟแวร์ดังกล่าวทำงาน ที่อาจเป็นการเข้าใช้บริการผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศได้ ประเด็นตรงนี้จะตีความอย่างไร

ที่เขียนมาก็เป็นมุมมองส่วนหนึ่งในการพิจารณาว่าสินค้าใดควรเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่ โดยเป็นมุมมองจากการพิจารณาด้านเทคนิค

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2568

ความลับแตกเพราะทัวร์ผู้นำ (Pressure transducer) MO Memoir : Monday 10 March 2568

ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๘) Mahmoud Ahmadinejad ที่เป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านในขณะนั้น ได้ประกาศว่าประเทศอิหร่านได้เพิ่มการติดตั้ง gas centrifuge เพิ่มอีก 6,000 ตัวที่ Natanz uranium enrichment complex ซึ่งเป็นโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม และในระหว่างการเยี่ยมชม ผู้นำสูงสุดก็ได้เข้าเยี่ยมชม centrifuge รุ่น P1 ที่ขณะนั้นมีใช้งานอยู่ประมาณ 3,000 ตัว ภาพการเข้าเยี่ยมชมครั้งดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปยังสื่อต่าง ๆ ทั่วโลก และสื่อชาติตะวันตกก็ได้ตีพิมพ์ภาพดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง

และภาพการเยี่ยมชมโรงงานที่มีการเผยแพร่ออกมา ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา

รูปที่ ๑ ภาพการเยี่ยมชมโรงงานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมของผู้นำสูงสุดของอิหร่านในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ (ภาพจาก https://www.theguardian.com/world/2009/nov/29/iran-10-new-nuclear-plants)

หมายเหตุ : gas centrifuge ในที่นี้เป็นอุปกรณ์ใช้แยกไอโซโทปยูเรเนียม U-235 และ U-238 ออกจากกันโดยใช้ความแตกต่างระหว่างมวล กระบวนการเริ่มด้วยการเปลี่ยนยูเรเนียมให้อยู่ในรูปสารประกอบ UF6 (Uranium hexafluoride)ที่เป็นแก๊สได้ง่ายก่อน เนื่องจากมวลของ UF6 ของ U-235 กับ UF6 ของ U-238 แตกต่างกันน้อยมาก (ไม่ถึง 1%) จึงต้องทำการเหวี่ยงแยกซ้ำต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อให้ได้ U-235 จากความเข้มข้นในธรรมชาติที่อยู่ที่ประมาณ 0.7% ให้มีเข้มข้นสูงมากพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์สำหรับเตาปฏิกรณ์ได้ (ในช่วง 3-5%) แต่ถ้าจะเอาไปทำอาวุธ การทำให้ได้ความเข้มข้นสูงมากขึ้นไปอีกจะทำให้ขนาดของเชื้อเพลิงเล็กลง อาวุธที่ได้จะมีขนาดเล็กลงและน้ำหนักน้อยลงตามไปด้วย ทำให้ง่ายต่อการนำส่ง (อยู่ที่ประมาณ 85% ขึ้นไป)

รูปที่ ๒ อีกภาพหนึ่งของการเยี่ยมชมโรงงานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมของผู้นำสูงสุดของอิหร่านในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ตัวที่ก่อเรื่องคือตัวที่อยู่ในวงกลมแดงในภาพ อุปกรณ์ตัวนี้ก็ปรากฏในรูปที่ ๑ ด้วย (ภาพจาก https://nonproliferation.org/25-outlawing-state-sponsored-nuclear-procurement-programs-recovery-of-misappopriated-nuclear-goods/)

UF6 ระเหิด (sublimate) กลายเป็นไอที่อุณหภูมิประมาณ 56ºC และถ้าความดันต่ำลงก็จะระเหิดกลายเป็นไอได้ที่อุณหภูมิที่ต่ำลง ดังนั้นเพื่อให้แก๊ส UF6 ไหลไปตาม gas centrifuge ที่ต่ออนุกรมกันอยู่ได้ ก็จะใช้ปั๊มสุญญากาศทำให้ความดันปลายทางต่ำกว่าทางต้นทาง และเพื่อให้ตรวจสอบสภาพการทำงานว่าปรกติหรือไม่ จึงต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความดันไว้ที่ตัว gas centrifuge และด้วยการที่แก๊ส UF6 มีฤทธิ์กัดกร่อนที่สูง วัสดุที่ใช้ทำตัวอุปกรณ์วัดความดันจึงต้องทนการกัดกร่อนของแก๊ส UF6 ได้ด้วย

รูปที่ ๓ คุณสมบัติอุปกรณ์วัดความดันที่เป็นสินค้าควบคุมในหัวข้อ 2B230

ตัวแปรสัญญาณหรือทรานสดิวเซอร์ (Transducer) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่แปลงรูปพลังงานในรูปแบบหนึ่งให้กลายเป็นเป็นพลังงานในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น pressure transducer ก็จะทำหน้าที่แปลงพลังงานในรูปความดันให้กลายเป็นพลังงานในรูปไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไปยังระบบควบคุมอีกทีหนึ่ง อุปกรณ์ตัวนี้ที่มีคุณลักษณะตามหัวข้อ 2B230 ของ EU List (รูปที่ ๓) จัดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง

หลังจากภาพข่าวการเยี่ยมชมโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีการพบเห็นว่า pressure transducer (ที่ทำหน้าที่แปลงสัญญาณความดันเป็นสัญญาณไฟฟ้า) ที่ปรากฏในรูปนั้นเหมือนกับอุปกรณ์ที่ผลิตโดยบริษัท MKS Instruments ประเทศสหรัฐอเมริกา และอุปกรณ์ตัวนี้ก็เป็นสินค้าควบคุมในหัวข้อ 2B230 ด้วย จึงได้มีการสอบสวนและพบว่ามีการลักลอบส่งอุปกรณ์ดังกล่าวไปให้กับทางอิหร่านจริง โดยผ่านทางบริษัทตัวแทนที่อยู่ในประเทศจีน(รายละเอียดในรูปที่ ๔) จึงได้มีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องและส่งฟ้องศาลให้ลงโทษ (บัญชีสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ของไทยอิงจากรายชื่อที่จัดทำโดยสหภาพยุโรปที่เรียกว่า EU List ส่วนทางสหรัฐอเมริกาแม้ว่าจะเรียกว่า Export Control Classification Number ที่ย่อว่า ECCN ทั้งสองบัญชีภายใต้หัวข้อเดียวกัน รายละเอียดต่าง ๆ ก็จะเหมือนกัน)

รูปที่ ๔ รายละเอียดการตรวจพบและการจับกุม (จากเอกสาร "Don't let this Happened to you : Actual investigations of export control and antiboycott violations" July, 2024 จัดทำโดย U.S. Department of Commerce, Bureau of Industry and Security, Export Enforcement

ความลับแตกครั้งนี้ไม่รู้ว่าทางอิหร่านมีการลงโทษใครหรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันก็ให้บทเรียนว่าอะไรที่ต้องการดำเนินการในรูปแบบที่เป็นความลับ ก็ต้องระมัดระวังในการให้คนเข้าเยี่ยมชมและประชาสัมพันธ์