วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปิด control valve MO Memoir : Thursday 27 May 2553

ใน memoir ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงวิธีแก้ขัดในกรณีที่ประสบปัญหา control valve มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ไม่สามารถให้อัตราการไหลสูงดังต้องการได้ ฉบับนี้ก็เลยขอแถมเรื่องเกี่ยวกับ control valve อีกเรื่องหนึ่ง คือการปิด control valve เพื่อนำเอา control valve ออกมาซ่อมแซม (หรือเปลี่ยนตัวใหม่) โดยที่กระบวนการผลิตยังคงทำงานอยู่

รูปที่ 1 ข้างล่างแสดงตัวอย่างระบบ piping ของการติดตั้ง control valve


รูปที่ 1 การติดตั้งวาล์วควบคุมการไหล (flow control valve)


โดยปรกติแล้วตัว control valve (1) จะมี block valve (มักใช้วาล์วชนิด on-off เช่น gate valve หรือ ball valve) อยู่ทางด้านขาเข้าและขาออก (block valve (2) และ (3)) และมี bypass line ที่มักติดตั้งวาล์ว (bypass valve (4)) ชนิดที่ควบคุมการไหลได้ (เช่น globe valve) เอาไว้ และมี drain valve (5) สำหรับระบายของเหลวหรือแก๊สที่ตกค้างอยู่ในระบบท่อเมื่อต้องการถอด control valve (1) ไปซ่อม

ในระหว่างการทำงานปรกตินั้น block valve (2) และ (3) จะเปิดเต็มที่ bypass valve (4) จะปิดสนิท และ drain valve (5) จะปิดสนิท ส่วน control valve (1) จะเปิดมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับคำสั่งที่ส่งมาจาก Flow controller (FC)

ถ้าหากว่า control valve (1) มีปัญหา ทำให้จำเป็นต้องมีการถอดเอาออกไปซ่อม เราก็สามารถทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องหยุดการเดินเครื่องกระบวนการผลิต ขั้นตอนการถอด control valve (1) ออกไปซ่อมทำได้โดย


(ก) ค่อย ๆ เปิด bypass valve (5) ซึ่งจะทำให้มีการไหลผ่าน bypass line เมื่อเริ่มเปิด bypass valve (5) จะทำให้อัตราการไหลเพิ่มสูงขึ้น FC จะส่งสัญญาณไปทำให้ control valve (1) ค่อย ๆ ปิดตัวลงเพื่อลดอัตราการไหลให้คงเดิม

(ข) เมื่อเปิด bypass valve (5) มากพอจนพบว่า control valve (1) ปิดสนิทแล้ว ก็ให้หยุดการเปิด bypass valve (5) ในขณะนี้การไหลทั้งหมดจะไหลผ่านทาง bypass line

(ค) ปิด block valve (2) และ (3) ให้สนิท

(ง) เปิด drain valve (5) เพื่อระบายของเหลวหรือแก๊สที่ตกค้างอยู่ในท่อช่วงระหว่าง block valve (2) และ (3) ออกให้หมด

(จ) จากนั้นก็สามารถถอดเอา control valve (1) ออกไปทำการซ่อมบำรุงได้


และเมื่อทำการซ่อม control valve (1) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำ control valve (1) มาติดตั้งคืนเดิม และทำการเปลี่ยนเส้นทางการไหลให้ไหลผ่าน control valve (1) แทนการไหลผ่าน bypass line ดังนี้


(ก) เปิด block valve (3) และค่อย ๆ เปิด block valve (2) ให้เต็มที่ ในขณะนี้ FC ควรสั่งให้ control valve (1) ปิดสนิท

(ในการติดตั้ง control valve กลับคืนเดิมนั้น ระบบท่อที่อยู่ระหว่าง block valve (2) และ (3) จะมีอากาศอยู่ภายใน ถ้าเราไม่ต้องการให้มีอากาศปนเข้าไปในกระบวนการผลิต ก็ต้องทำการไล่อากาศออกจากระบบท่อช่วงนี้ก่อนที่จะทำการเปิด block valve (2) และ (3))

(ข) ค่อย ๆ ปิด bypass valve (4) ซึ่งจะทำให้อัตราการไหลลดลง FC จะไปสั่งเปิด control valve (1) เพื่อให้อัตราการไหลกลับมาคงเดิม

(ค) ปิด bypass valve (4) ต่อไปเรื่อย ๆ จนวาล์วปิดสนิท ในขณะนี้ control valve (1) ก็จะกลับมาควบคุมอัตราการไหลเหมือนเดิม


วิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น ก่อนนำไปปฏิบัติควรตรวจสอบก่อนว่าต้องทำการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมขั้นตอนอะไรบ้าง เพื่อให้เข้ากับระบบ piping ที่ทำงานจริงและกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น