วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การคำนวณเชิงตัวเลข (๑) การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม MO Memoir : Sunday 20 June 2553


เมื่อพฤหัสที่แล้วได้พบกับนักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันแห่งหนึ่ง ซึ่งบังเอิญผมได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมของเขา งานที่เขาทำนั้นมันคล้ายกับงานวิทยานิพนธ์ที่ผมทำตอนเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก คือเป็นการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของเครื่องปฏิกรณ์ชนิดเบดนิ่ง (fixed-bed reactor) ซึ่งตอนนั้นผมใช้วิธี orthogonal collocation ร่วมกับ finite element ในการแก้ปัญหาระบบสมการอนุพันธ์ย่อย

สมัยนั้นเวลาทำ simulation แต่ละครั้งก็ต้องเขียนโปรแกรมภาษา FORTRAN กันเอง ต้องแปลงสมการอนุพันธ์ให้อยู่ในรูประบบสมการพีชคณิตที่เหมาะสมเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยแก้ปัญหาระบบสมการพีชคณิต ยังดีที่ตอนนั้นยังพอมี NAG Library ซึ่งเป็นซอร์ฟแวร์รวบรวม code ต่าง ๆ สำหรับแก้ปัญหาระบบสมการพีชคณิต ก็เลยไม่ต้องเขียนโปรแกรมส่วนดังกล่าว แต่ก็ต้องรู้ว่า code ตัวไหนเหมาะกับระบบสมการรูปแบบอย่างไรจะได้เลือกใช้ให้ถูก แต่ถึงกระนั้นตัวโปรแกรมก็ยาวร่วม 1000 บรรทัด
ตอนนั้นการทำ dynamic simulation พึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา โปรแกรมจำลองกระบวนการทางวิศวกรรมเคมีที่ขายกันอยู่ในขณะนั้นทำได้เพียงแค่ที่ภาวะคงตัว ทั้งนี้เป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะในเรื่องของหน่วยความจำ ผมเองต้องเขียนโปรแกรมเพื่อทำ dynamic simulation เลยต้องเรียนรู้เทคนิคการแก้ปัญหาที่จะทำให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วและใช้หน่วยความจำให้น้อยที่สุด ซึ่งวิธีที่เลือกใช้ตอนนั้นก็คือ orthogonal collocation ร่วมกับ finite element นั่นเอง
เรื่องที่นักศึกษาผู้นั้นมาปรึกษาผมคือต้องการทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว (การใช้วิธี orthogonal collocation ร่วมกับ finite element ในการแก้ปัญหาระบบสมการอนุพันธ์ย่อย) แต่ปัญหาก็คือดูเหมือนว่าตำราทางด้านนี้ที่เกี่ยวข้องกับทางวิศวกรรมเคมีแทบไม่มีเลย (แม้แต่ตำราภาษาอังกฤษ) และจากประสบการณ์ของผมเองก็พบว่าตำราดังกล่าวเท่าที่มีอยู่นั้น ถ้าผู้อ่านเองไม่มีพื้นฐานทางด้านการคำนวณเชิงตัวเลขมาก่อน ก็จะอ่านเข้าใจยากหรือไม่เข้าใจเลย (ตอนที่ผมไปเรียนนั้นต้องค่อย ๆ แกะสมการทีละบรรทัดกว่าจะเข้าใจ เพราะคนเขียนเองถือว่าคนที่มาอ่านนั้นควรต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านการคำนวณเชิงตัวเลขอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว) และบังเอิญตอนที่เขาจบปริญญาตรีมานั้น สถาบันที่เขาจบมาก็ไม่ได้สอนเรื่องนี้ด้วย (เขาบอกผมอย่างนั้น) ก่อนหน้านี้ผมก็เลยแนะนำเอกสารให้ไปอ่านเพื่อช่วยปูพื้นเรื่องการคำนวณเชิงตัวเลขในการแก้ปัญหาระบบสมการพีชคณิตและสมการอนุพันธ์ (ตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาอ่านไปถึงไหนแล้ว) มาถึงวันนั้นผมก็เลยช่วยปูพื้นให้ก่อนเบื้องต้นว่าแนวความคิดของวิธีการดังกล่าวมันมาอย่างไร
มาถึงตรงนี้สมาชิกของกลุ่มคงจะสงสัยว่าทำไมผมถึงไปยุ่งเรื่องนั้นได้ ผมไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเคมีวิเคราะห์หรือตัวเร่งปฏิกิริยาหรือ อันที่จริงผมก็เคยบอกไปแล้วว่าตอนเรียนโทนั้น วิทยานิพนธ์ของผมเป็นงานสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และตอนเรียนเอกนั้นงานวิทยานิพนธ์ก็เป็นการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ร่วมกับการทดลองกับ pilot plant (รูปที่อยู่ในหน้า blog นั่นแหละ)
เรื่องนี้ค่อนข้างจะยาว แต่จะพยายามเขียนเป็นตอนสั้น ๆ ซึ่งไม่รู้ว่ากี่ตอนจะจบ คาดว่าพอเขียนครบหมดก็น่าจะพิมพ์เป็นตำราขายได้ (หวังว่าคงได้ขายก่อนเกษียณอายุ) และเรื่องที่เขียนนั้นก็อาจจะไม่ต่อเนื่องเป็นลำดับ ขึ้นอยู่กับคำถามที่มีการถามเข้ามาและอารมณ์ของผู้เขียน
เรื่องแรกที่จะเขียนคือการใช้ฟังก์ชันพหุนาม (polynomial) ในการแก้ปัญหาสมการอนุพันธ์ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เกี่ยวข้องกับการแก้สมการโดยใช้อนุกรมอนันต์ต่าง ๆ ที่สมาชิกหลายคนต้องเรียนในวิชา Adv Math ในภาคการศึกษานี้ด้วย

สมมุติว่าเรามีการนำความร้อนจากผนังด้านหนึ่ง (x =0) ไปยังผนังอีกด้านหนึ่ง (x = 1) ที่ภาวะคงตัว สมการการนำความร้อนผ่านผนังดังกล่าวมีรูปแบบดังนี้
เนื่องจากเราไม่ทราบว่าคำตอบจะพฤติกรรมเช่นใด แต่จากเงื่อนไขค่าขอบเขตทำให้ทราบว่าอุณหภูมิทางด้านซ้าย (x = 0) นั้นสูงกว่าทางด้านขวา (x = 1) ดังนั้นค่าอุณหภูมิที่ตำแหน่ง x ใด ๆ ที่อยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 จึงควรมีลักษณะลดลงจากซ้ายไปขวา แต่จะลดลงเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้งอย่างไรก็ไม่รู้ ในขั้นแรกจึงอาจเริ่มเดาโดยสมมุติให้สมการความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ T กับตำแหน่ง x ใด ๆ เป็นไปตามฟังก์ชันพนุนามกำลัง 2 ดังนี้
T = a0 + a1x + a2x2 สมการ (3)
โดยที่ a0 a1 และ a2 คือค่าสัมประสิทธิ์
เพื่อให้สมการที่ (3) นั้นสอดรับกับเงื่อนไขค่าขอบเขต เราจึงนำเงื่อนไขค่าขอบเขตมาแทนลงในสมการที่ (3) จากเงื่อนไขที่ว่า ณ ตำแหน่ง x = 0 ค่า T = 1 เมื่อแทนลงไปในสมการที่ (3) จะได้
a0 = 1 สมการ (4)
และที่ตำแหน่ง x = 1 ค่า T = 0 เมื่อแทนลงไปในสมการที่ (3) จะได้
0 = 1 + a1 + a2
หรือ a1 = -(1 + a2) สมการ (5)
แทนค่าสมการที่ (4) และ (5) ลงไปใน (3) จะได้
T = 1 - (1 + a2)x + a2x2 สมการ (6)
ซึ่งเมื่อจัดรูปแบบใหม่จะได้
T = (1 - x) + (x2 - x)a2 สมการ (7)
โดยการหาอนุพันธ์สมการที่ (6) จะได้
แทนค่าจากสมการที่ (7) (9) และ (10) ลงไปในสมการที่ (2) จะได้
[1 + (1 - x) + (x2 - x)a2](2a2 ) + [-1 + (2 x -1)a2]2 = 0 สมการ (11)
ในขณะนี้เราติดค่าสัมประสิทธิ์ที่ไม่รู้ค่าอยู่เพียงตัวเดียวคือ a2 ซึ่งการหาค่า a2 ทำได้โดยการเลือกตำแหน่งค่า x มาค่าหนึ่ง (การเลือกตำแหน่งนี้ค่อนข้างเป็นอิสระหรือาจกล่าวได้ว่าเลือกตามใจชอบก็ได้ แต่โดยหลักก็คือควรเลือกให้อยู่ในบริเวณที่คำตอบมีการเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนการเลือกตำแหน่งจะส่งผลอย่างไรต่อคำตอบนั้นคอยติดตามชมในตอนต่อไป) แล้วนำค่า x ที่เลือกมานั้นแทนลงไปในสมการที่ (11) ก็จะคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์ a2 ได้
ในครั้งแรกนี้จะลองเลือกที่ตำแหน่ง x = 0.5 ซึ่งเมื่อแทนค่าลงไปในสมการที่ (11) และจัดรูปแบบใหม่จะได้
-0.5 a22 + 3a2 + 1 = 0 สมการ (12)
โดยการแก้สมการที่ (12) และนำค่า a2 ที่ได้ไปคำนวณหาค่า a1 จากสมการที่ (5) จะได้
a1 = -0.683375 และ a2 = -0.316625
หรือ a1 = -7.316625 และ a2 = 6.316625
ซึ่งจะทำให้เรามีคำตอบที่เป็นไปได้สองคำตอบคือ

T = 1 - 0.683375x - 0.316625x2 สมการ (13)
หรือ T = 1 - 7.316625 x - 6.316625x2 สมการ (14)
ที่นี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสมการไหนเป็นสมการที่ถูกต้อง เราทำได้โดยคำนวณหาค่าฟลักซ์ความร้อน (heat flux) จากสมการ
โดยการใช้สมการที่ (13) จะได้ค่า heat flux ที่ x = 0 มีค่าเป็น 1.36675 และที่ x = 1 มีค่าเป็น 1.316625 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความร้อนไหลไปในทิศทางเดียวกัน (เครื่องหมายของฟลักซ์ความร้อนที่ตำแหน่งทั้งสองเหมือนกัน) แต่ถ้าใช้สมการที่ (14) จะได้ค่า heat flux ที่ x = 0 มีค่าเป็น 14.663325 และที่ x = 1 มีค่าเป็น -5.316625 ซึ่งให้ทิศทางการไหลของความร้อนที่ตำแหน่ง x = 1 ผิดจากที่ควรเป็น (กล่าวคือมีเครื่องหมายตรงข้ามกับที่ตำแหน่ง x = 0) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสมการที่ถูกต้องคือสมการที่ (13) ส่วนสมการที่ (14) ก็ให้โยนทิ้งไป
การทดสอบว่าสมการที่ (13) นั้นเป็นคำตอบที่แท้จริงของสมการที่ (2) หรือว่าเป็นเพียงคำตอบโดยประมาณนั้นทำได้โดยการแทนค่าสมการที่ (13) กลับเข้าไปในสมการที่ (2) ซึ่งถ้าสมการที่ (13) เป็นคำตอบที่เป็นจริงแล้ว เราจะพบว่าเมื่อแทนค่าสมการที่ (13) กลับเข้าไปในสมการที่ (2) จะต้องได้ค่าฟังก์ชันเป็น 0 ไม่ว่าที่ตำแหน่ง x ใด ๆ ถ้าหากพบว่าค่าที่ได้นั้นไม่ได้เป็น 0 ทุกตำแหน่ง x ค่านั้นจะกล่าวเป็นส่วนตกค้าง (residual) ซึ่งส่วนตกค้างนี้เป็นตัวบอกว่าการประมาณค่านั้นใกล้เคียงความจริงมากเท่าใด ยิ่งส่วนตกค้างมีค่าน้อยเท่าใดก็แสดงว่าการประมาณค่าใกล้เคียงความจริงมากเท่านั้น ค่าอุณหภูมิ (T) ฟลักซ์ความร้อน และส่วนตกค้าง ณ ตำแหน่ง x ต่าง ๆ กันได้รวบรวมเอาไว้ในตารางที่ 1 และรูปที่ 1 ข้างล่าง


จะเห็นว่าส่วนตกค้าง (residual) นั้นจะมีค่าเป็น 0 เฉพาะตรงจุดที่เราเลือกใช้ในการคำนวณกับสมการที่ (11) เท่านั้น (ในที่นี้คือตำแหน่ง x = 0.5 ) ส่วนจุดอื่นนอกเหนือจุดนี้นั้นค่าส่วนตกค้างไม่จำเป็นต้องเป็น 0 ขนาดของพื้นที่ระหว่างเส้นกราฟของส่วนตกค้าง (เส้นสีเขียว) และแกน x เป็นตัวบอกให้ทราบว่าฟังก์ชันของเรานั้นประมาณคำตอบได้ดีเพียงใด ยิ่งพื้นที่ดังกล่าวเล็กลงมาก (หรือถ้าให้ดีก็กลายเป็นศูนย์) ก็แสดงว่าสมการที่เราเลือกมานั้นสามารถประมาณคำตอบได้ดีมากขึ้น
ฉบับนี้คงพอแค่นี้ก่อน แล้วฉบับหน้าเราค่อยมาดูกันว่าถ้าเราเลือกตำแหน่ง x เป็นค่าอื่นที่ไม่ใช่ 0.5 จะส่งผลต่อคำตอบที่ได้อย่างไร

รูปผมเองสมัยเรียนปริญญาเอก ตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างหน้าคือ micro reactor ส่วนตัวใหญ่ข้างหลังคือ pilot plant
o-Xylene to phthalic anhydride pilot plant.
Department of Chemical Engineering and Chemical Technology,
Imperial College of Science, Technology, and Medicine, University of London.
South Kensington campus, London, U.K.
March 1993.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น