วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สรุปการประชุมวันจันทร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ MO Memoir : Wednesday 16 June 2553

บ่ายวันจันทร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้ที่ยังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ มาพบพร้อมหน้าพร้อมตากันหมด

อย่างที่กล่าวเอาไว้ในที่ประชุมคือเดือนนี้คงจะยังเป็นการเรียนและการสอบเพียงอย่างเดียว เพราะทุกคนติดเรียนหมด แต่พอเดือนหน้าก็จะเริ่มมีคนว่าทำงานแล้ว

สำหรับนิสิตรหัส ๕๒ สิ่งที่ต้องเตรียมในขณะนี้คือกำหนดการส่งบทคัดย่อฉบับขยาย (Extended abstract) เป็นภาษาอังกฤษสำหรับเข้าร่วมการประชุม RSCE ในปีนี้ ซึ่งตามข้อกำหนดของคณะแล้ว การประชุมที่ยอมรับคือการประชุมที่มีการจัดทำบทความฉบับเต็ม (Full paper) ไม่ใช่การประชุมที่มีเฉพาะบทคัดย่อฉบับขยาย

สิ่งที่ต้องมีในบทคัดย่อฉบับขยายคือเริ่มตั้งแต่ บทนำ วิธีการทดลอง ผลการทดลอง และข้อสรุป โดยอาจเน้นไปเป็นรูปแบบการบรรยายโดยย่อให้เห็นภาพ เพื่อให้เนื้อหาทั้งหมดอยู่ในหน้ากระดาษ A4 เพียงหน้าเดียว ถ้ายังไม่รู้ว่าจะย่อยังไง ก็ให้ลองเขียนขึ้นมาก่อน (ไม่ควรเกินสองหน้า) แล้วค่อยเอามาพิจารณาอีกทีว่าจะย่นย่ออย่างไร


บ่ายวันหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้วมีนิสิตผู้หนึ่งมาปรึกษาเรื่องจะเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา โดยเขาบอกว่าอยากจะขอเปลี่ยนมาทำวิจัยอยู่กับผม ถ้าหากไม่สามารถเปลี่ยนได้ก็จะไปลาออก

เรื่องเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษานี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่อยากบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป และการจะไปอ้างอิงกรณีก่อนหน้าก็ต้องระวังให้มาก เพราะมันเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอาจารย์แต่ละคนด้วย เพราะในการคัดเลือกนิสิตเข้าศึกษานั้น ภาควิชาของเราใช้ระบบที่อาจารย์แต่ละคนรับนิสิตเข้าโดยตรง โดยนิสิตต้องเป็นผู้เลือกอาจารย์ที่จะเรียนด้วย ดังนั้นอาจารย์คนดังกล่าวต้องเป็นผู้รับผิดชอบนิสิตที่ตนเองคัดเลือกเข้ามา

เท่าที่ทราบมา ที่ผ่านมานั้นเคยมีกรณีเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษาเนื่องจาก นิสิตทำงานเข้ากับอาจารย์เดิมไม่ได้ มีความขัดแย้งกันสูง อาจารย์ก็เลยให้นิสิตไปหาอาจารย์คนใหม่ หรือนิสิตพบว่าไม่ชอบสาขางานวิจัยที่ตัวเองทำอยู่ ต้องการเปลี่ยนสาขาวิจัย และอาจารย์ที่ปรึกษาเดิมก็อนุญาต หรือกรณีที่นิสิตไม่รับผิดชอบงานเลย อาจารย์คนเดิมก็เลยบอกไปตรง ๆ เลยว่าจะไม่อนุญาตให้สอบโครงร่าง ถ้าอยากจะสอบก็ให้ไปหาอาจารย์คนอื่น

แต่กรณีที่มาปรึกษานั้นเป็นกรณีที่แตกต่างออกไป เขาเป็นนิสิตที่ได้รับทุนเรียนด้วย และก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับอาจารย์ ปัญหาเขาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป เท่าที่ผมพอจะสรุปได้คือมีปัญหาคือ "ไม่มีคนให้คำแนะนำ"

อาจารย์บางคนทำวิจัยกับนิสิตในรูปแบบที่ "ให้นิสิตไปคิดเอาเองทั้งหมด" ว่าอยากทำอะไร โดยไม่ได้ให้คำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม นั่นอาจเป็นรูปแบบการสอนของอาจารย์คนนั้น หรืออาจารย์คนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี นิสิตบางคนก็ชอบอาจารย์แบบนี้ เพราะเขาถือว่าเป็นการให้อิสระทางความคิดของเขา แต่สำหรับนิสิตไทยแล้ว เท่าที่ผ่านมาพบว่าน้อยมากที่จะเจอนิสิตแบบนี้ เพราะระบบการเรียนการสอนของไทยนั้นแทบจะไม่เอื้ออำนวยในการฝึกผู้เรียนให้ฝึกคิดหรือค้นคว้าอย่างอิสระด้วยตนเอง (คงเป็นเพราะมันไม่ใช้ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย)

ปัญหาของนิสิตคนดังกล่าวไม่เพียงแต่เขาไปพบกับรูปแบบการทำงานเช่นนี้ แต่นิสิตคนอื่นในทีมวิจัยเดียวกันก็ยังไม่ช่วยเหลืออะไรด้วย

คือเวลาที่แต่ละคนทำวิจัยนั้น ก็จะสนแต่งานวิจัยของตัวเองเพื่อให้ตัวเองเรียนจบ ดังนั้นจึงไม่สนใจว่าคนอื่นจะทำอะไรอยู่ ถ้าคนอื่นมีปัญหาก็ไม่รู้ว่าจะไปช่วยทำไม เพราะคิดว่ามันไม่เกี่ยวกับงานของฉัน มันไม่ได้ช่วยให้ฉันทำวิจัยได้เร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อมีคนอื่นมาถามปัญหา ก็เลยตอบแบบขอไปที เช่น ฉันไม่รู้เรื่อง ฉันไม่ถนัดด้านนี้ ก็ลองทำตามที่รุ่นพี่เคยทำไปซิ ฉันไม่รู้เหมือนกันแต่ตอนนี้ฉันใช้ตัวนี้อยู่ ฯลฯ

พอเจออย่างนี้เข้าไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าเหมือนอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีคนคุยด้วย ไม่มีใครสนใจช่วยเหลือเลย เห็นเพื่อนที่อยู่กลุ่มอื่นงานกำลังเดินหน้าไป ก็เลยเกิดความท้อถอย


อย่าว่าแต่เรื่องงานวิทยานิพนธ์เลย ในแลปเราก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทั่วไปหมด แค่งานดูแลรักษาเครื่องมือส่วนกลางหรือความสะอาดห้องทำงานก็เห็น ๆ กันอยู่ บางรายร้ายหนักเข้าไปอีก ไม่ใช่ไม่เพียงแต่ไม่ดูแลรักษาอุปกรณ์ ยังเอาชิ้นส่วนบางชิ้นไปเก็บไว้กับตัวเอง เพื่อที่คนอื่นจะได้ใช้งานเครื่องไม่ได้ ฉันจะได้มาใช้งานเครื่องดังกล่าวได้ทุกเวลาที่ฉันโผล่หัวเข้ามาใช้เครื่องมือ


ผมก็เล่าให้เขาฟังว่าตอนเรียนอยู่เมืองนอก ไม่มีการเรียนสัมมนา มีแต่พักกินกาแฟ และการพักกินกาแฟนั่นแหละคือการสัมมนา เป็นการคุยกันในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ คนเราจึงนำเสนอแนะอะไรออกมาได้ดีกว่า เพราะไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะรังเกียจ ดูถูก หรือหัวเราะเยาะความคิดที่เสนอออกมา วันนี้เราไปฟังเพื่อนบ่นเรื่องงาน เราก็นั่งคุยกับเขา ช่วยคิด เสนอแนะ แก้ปัญหา แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่ใช่งานของเรา แต่ก็เป็นการ "ฝึก" ให้เราดึงความรู้ที่เรามีอยู่มาใช้ในการแก้ปัญหาที่เราไม่ได้รู้ตัวเอาไว้ล่วงหน้า วันนี้เพื่อนเป็นคนบ่นเรื่องงานให้เราฟัง วันหน้าก็เป็นเราบ้างที่บ่นเรื่องงานให้เพื่อนฟัง บรรยากาศการทำงานที่โน่นมันเป็นอย่างนั้น

หลังจากที่เขาได้คุยกับผมไปพักใหญ่ ๆ ก็ดูเหมือนว่าเขาคงได้แนวทางหรือแนวความคิดใด ๆ ในการทำวิจัยบ้างแล้ว ท่าทางดูเหมือนว่าเขาจะใจเย็นมากขึ้น ผมก็บอกเขาไปว่าถ้ามีปัญหาอะไรก็มาถามได้ ยินดีช่วยเท่าที่ช่วยได้ ตอนนี้ก็ทราบว่าเปลี่ยนใจยังไม่ลาออก จะขอทำต่อไปก่อน


เรื่องสำคัญเรื่องสุดท้ายที่ได้จากการประชุมในวันดังกล่าวคือ เราจะจัดปาร์ตี้ทอดไข่เจียวในวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายนนี้ บริเวณห้องแลป (สถานที่เมื่อถึงวันงานจะยืนยันอีกครั้ง) โดยจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ ๑๑.๓๐ น เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่พึ่งจบ ระหว่างรอรับปริญญาอยู่ถ้าว่างก็ขอเชิญมาร่วมงานด้วย (จะได้แสดงฝีมือให้น้อง ๆ ได้เห็น แต่แบบที่ต้องโยนทิ้งแบบครั้งที่แล้วไม่เอานะ เรายังจำได้ว่าเป็นฝีมือใคร หวังว่าคนมาแก้ตัวในครั้งนี้ด้วยนะ) ทางผมจะเตรียมอุปกรณ์ (กะทะไฟฟ้า จาน ช้อน น้ำมันพืช ไข่ น้ำปลา) เอาไว้ให้ ส่วนข้าวกล่องที่จะกินกับไข่เจียวและ "ฝีมือ" การทอดไข่เจียวขอให้เตรียมมากันเอง

แล้วอย่าลืมมาพบกันในปาร์ตี้ทอดไข่เจียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น