ตามความรู้เท่าที่ผมมีนั้น ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการจดทะเบียนนั้นมีอยู่สองรูปแบบคือ สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์
สิทธิบัตรเป็นการจดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ (อาจเรียกว่าเป็นสิ่งของก็ได้) ซึ่งจะคุ้มครองเป็นระยะเวลา ๒๐ ปีนับตั้งแต่วันจดสิทธิบัตร และเมื่อพ้นกำหนดไปแล้วใครจะทำลอกเลียนแบบก็ไม่ผิดกฎหมาย
ส่วนลิขสิทธิ์นั้นเป็นพวกวรรณกรรมต่าง ๆ (เช่น หนังสือ บทเพลง ภาพยนต์ ฯลฯ) ซึ่งจะคุ้มครองตั้งแต่วันที่มีการเผยแพร่ครั้งแรกไปจนกว่าผู้ประพันธ์นั้นจะเสียชีวิต และทายาทจะได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก ๕๐ ปีนับจากวันที่ผู้ประพันธ์นั้นเสียชีวิต
ปัญหามันเกิดขึ้นในการประชุมหนึ่ง (ที่บังเอิญไปเข้าร่วมฟังอยู่ด้วย) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช้งาน ระหว่างผู้ทำวิจัย (มหาวิทยาลัย) และผู้ว่าจ้าง (บริษัท)
จากการที่ให้นิสิตไปค้นคว้าก็ได้ข้อสรุปว่า ตัวเร่งปฏิกิริยาที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมีการจดสิทธิบัตรในปีค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งถ้านับถึงปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๑๐) ก็ถือได้ว่าสิทธิบัตรดังกล่าวหมดอายุแล้ว ใครจะเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวเพื่อเอาไปขายคนอื่นก็ย่อมทำได้
แต่ทีนี้มันดันมีการจดสิทธิบัตรอีกฉบับหนึ่งในปีค.ศ. ๒๐๐๙ หรือ ๒๐๑๐ (อันนี้ไม่แน่ใจ) ซึ่งดูเหมือนว่าจดโดยบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทแรก (ที่จดสิทธิบัตรในปีค.ศ. ๑๙๘๙)
นิสิตที่ได้รับมอบหมายให้ไปอ่านสิทธิบัตรทั้งสองก็มาสรุปในที่ประชุมว่าสูตรตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวยังมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่
อาจารย์ผู้ที่ร่วมประชุมในที่นั้นซึ่งเป็นผู้ที่มอบหมายให้นิสิตไปตรวจค้นสิทธิบัตรก็เลยกล่าวว่า ลักษณะนี้เป็นเทคนิคของผู้จดสิทธิบัตร กล่าวคือพอสิทธิบัตรอันแรกจะหมดอายุก็รีบจดอีกอันหนึ่งเพื่อคุ้มครองอันแรกต่อ (ซึ่งในทางกฎหมายแล้วไม่ควรทำได้)
แต่พอผมขอเอาสิทธิบัตรทั้งสองฉบับมาอ่านและเปรียบเทียบกันดู ปรากฏว่าว่า (ตามความเข้าใจของผม ซึ่งเชื่อว่าความรู้ด้านภาษาดีกว่านิสิตที่อ่านสิทธิบัตรฉบับนั้น) สิทธิบัตรทั้งสองฉบับนั้น "คล้ายกัน" แต่ "ไม่เหมือนกัน"
กล่าวคือแม้ว่าสิทธิบัตรทั้งสองจะกล่าวถึงตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีปริมาณโลหะ X และ Y อยู่ในช่วงเดียวกัน และอยู่บน support ชนิดเดียวกัน แต่ตำแหน่งที่อยู่ของโลหะ X และ Y ในสิทธิบัตรทั้งสองไม่เหมือนกัน
โดยในสิทธิบัตรแรก โลหะ X และ Y จะกระจายอยู่ทั่วไปในตัว support แต่ในสิทธิบัตรหลัง โลหะ X และ Y จะอยู่เฉพาะผิวด้านนอก (ลึกเข้ามาได้ในระยะหนึ่ง) ของตัว support เท่านั้น
ปัญหานี้เกิดจากการที่ไม่ยอมทำอะไรด้วยตนเอง หรือตรวจสอบความถูกต้องด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีมอบหมายให้ผู้อื่นกระทำแทน และรอฟังแต่ข้อสรุป
ถ้าผู้ที่รับงานไปนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ในด้านดังกล่าว ข้อสรุปที่ได้มานั้นก็ควรที่จะรับฟังได้
แต่ถ้าผู้ที่รับงานไปนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ไม่มีความเชี่ยวชาญ และไม่มีประสบการณ์ ในด้านดังกล่าว การรับฟังข้อสรุปที่ได้จึงพึงควรระวังเอาไว้ให้มาก
ภาษาที่ใช้จดสิทธิบัตรนั้นเป็นภาษากฎหมาย ขนาดผมอ่านเองบางครั้งยังมึนเลย นับประสาอะไรกับการที่ให้นิสิตที่ไม่มีประสบการณ์ไปอ่าน แล้วไม่เคยคิดจะตรวจสอบว่านิสิตนั้นมีความสามารถทางด้านภาษาเพียงพอหรือเปล่า และรอฟังข้อสรุปจากนิสิตผู้นั้น
เรื่องนี้ผมได้กระซิบบอกเจ้าหน้าที่ของทางบริษัทไปแล้ว โดยขอให้เขาส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจดูข้อความอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งที่ผมเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น