วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การทำวิทยานิพนธ์ภาคปฏิบัติ ตอนที่ ๒๒ Make up air ราคาถูก MO Memoir : Saturday 18 June 2554


เครื่อง NOA-7000 ต้องการแก๊สตัวอย่างไหลเข้าเครื่องด้วยอัตราการไหลไม่ต่ำกว่า 1200 ml/min แต่เนื่องจากในการทดลองของเราเราใช้อัตราการไหลรวมเพียงแค่ 200 ml/min ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเติม make up gas (โดยใช้อากาศหรือแก๊สอื่นก็ได้ที่ไม่รบกวนการวิเคราะห์) เข้าไปผสมกับแก๊สขาออกจากจาก reactor ด้วยอัตราไม่ต่ำกว่า 1000 ml/min make up gas ที่เราใช้อยู่คืออากาศที่ผสมเข้าไปในอัตรา 1200 ml/min

รูปที่ ๑ ปั๊มอากาศสำหรับตู้ปลาที่เอามาใช้แทนอากาศจากถัง Air zero


เดิมทีนั้น make up gas เราใช้อากาศเกรด Air zero จากถังขนาด 6 Nm3 ด้วยอัตราการไหล 1200 ml/min เทียบเท่ากับ 72 l/hr ดังนั้นในการทดลองแต่ละครั้งจะใช้อากาศราว ๆ 0.6-0.8 Nm3 ซึ่งถ้าดูตามตัวเลขนี้จะเห็นว่า Air zero ถังหนึ่งนั้นจะใช้ได้ไม่ถึง 10 วันความดันในถังก็จะต่ำลงจนไม่สามารถดึงแก๊สออกมาใช้งานได้

ตอนแรกก็บอกให้คนที่ใช้เครื่องหาทางต่อท่อแยกจาก air compressor ที่จ่ายอากาศให้กับ GC แต่ก็ไม่มีใครทำสักที ในที่สุดก็เลยไปเอาปั๊มอากาศสำหรับตู้ปลาที่บ้าน (เสียงมันดังมากจนต้องหาตัวใหม่ที่เงียบกว่ามาใช้) มาบอกให้ทดลองต่อดู เพราะเห็นข้างกล่องมันเขียนว่าสามารถจ่ายอากาศได้สูงสุดถึง 4 Nm3/hr (ถ้าปล่อยออกสู่อากาศ)

หลังจากที่เช้าวันวานต้องคอยกำกับให้สาวน้อยร้อยห้าสิบเซนฯ ทดลองต่อปั๊มออกซิเจนเข้าแทน Air zero แล้ว (ที่ต้องคอยกำกับเพราะคิดว่าถ้าไม่ยืนเฝ้าคงไม่มีใครทดลองทำกันสักที) ก็พบว่าปั๊มดังกล่าวสามารถจ่ายอากาศด้วยอัตราการไหลเฉลี่ย 1200 ml/min ได้ ที่ต้องบอกว่าด้วยอัตราการไหลเฉลี่ยก็เพราะลักษณะการทำงานของปั๊มที่เป็นแบบไดอะแฟรมทำให้การไหลมีลักษณะที่สั่นเล็กน้อย ซึ่งสังเกตได้จากลูกลอยที่มีการเต้นขึ้นลง แต่เมื่ออากาศดังกล่าวผ่านเข้าไปผสมกับแก๊สขาออกจาก reactor แล้วก็พบว่าค่าความเข้มข้นของ NO และออกซิเจนที่เครื่อง NOA-7000 วัดได้ก็นิ่งเหมือนตอนที่ใช้ Air zero จากถัง

เรื่องวิธีการทำให้การไหลของอากาศจากปั๊มนิ่งขึ้นนั้นเรามีวิธีทำแล้ว และเมื่อวานก็ได้ทดลองทำไปแล้วด้วย ซึ่งก็พบว่าได้ผล ตอนนี้ก็เหลือแต่การหาตัวอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งแบบถาวรมาติดตั้งเข้าไปเท่านั้นเอง เอาไว้ทำเสร็จเมื่อไรจะเขียนมาเล่าให้ฟังกันอีกที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น