วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๒ (ตอนที่ ๓๑) MO Memoir : Tuesday 21 June 2554


เนื้อหาใน Memoir ฉบับนี้นำลง blog โดยมีการตัดทอนบางส่วนออกไป

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับงานของสาวน้อยร้อยห้าสิบเซนฯโดยตรง คนที่จะรับช่วงงานต่อ (หวังว่าคงจะมีต่อ) ก็ขอให้อ่านให้ดีด้วย ส่วนใครอ่านแล้วไม่เข้าใจก็แวะเข้ามาที่แลปแล้วคอยฟังเอาก็แล้วกันว่ามีใครเขาทำอะไรกันบ้าง


. การวัดปริมาณ NH3 ด้วยการไทเทรต

เทคนิคนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรก็ลองไปอ่าน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔๗ วันเสาร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "Kjeldahl nitrogen determination method" และในไฟล์ "A guide to Kjeldahl nitrogen determination" ที่แนบมาด้วยเอาเองก็แล้วกัน

สิ่งที่อยากให้อ่านคือการดักจับ NH3 ซึ่งอาจทำได้โดยใช้สารละลาย boric acid (H3BO3) (ในกรณีของ direct titration) หรือสารละลายกรด H2SO4 (ในกรณีของ back titration)

สิ่งสำคัญคือต้องมั่นใจว่าสามารถดักจับ NH3 ที่อยู่ในฟองแก๊สที่ลอยผ่านสารละลายได้หมด ไม่เช่นนั้นจะได้ปริมาณ NH3 ที่น้อยกว่าความเป็นจริงมาก ยิ่งแก๊สไหลผ่านเร็วเท่าไร โอกาสที่ NH3 จะหลุดรอดออกไปก็จะมากขึ้น ในความเห็นผมการดักเก็บโดยเอาปลายท่อจุ่มลงในสารละลายกรดนั้นไม่น่าจะให้ผลดี เพราะเราใช้อัตราการไหลของแก๊สที่สูงเมื่อเทียบกับระดับความลึกของปลายท่อที่จุ่มอยู่ในสารละลายกรด


. สิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกาเลขที่ 7,316,988 วันที่ 8 มกราคม 2008 (.. ๒๕๕๑) เรื่อง "Gas turbine single plant modifying method, a catalyst re-using method and a re-produced catalyst"

สิทธิบัตรนี้กล่าวถึงตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับกำจัด NOx ที่อุณหภูมิสูง โดยเน้นไปที่แก๊สไอเสียที่ออกมาจากโรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส โดยจดสิทธิบัตรตัวเร่งปฏิกิริยาที่ประกอบด้วยออกไซด์ WO3 และ MoO3 อย่างน้อยหนึ่งชนิดบน TiO2 และมี V2O5 ในปริมาณที่ไม่เกิน 0.5 wt% หรือต่ำกว่า โดยตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสมควรมี V2O5 ในปริมาณที่ไม่เกิน 0.2 wt% หรือต่ำกว่า หรือไม่ก็ไม่มี V2O5 อยู่เลย

คอลัมน์ที่ 1 ของสิทธิบัตรในหัวข้อ 2 Description of the Prior Art กล่าวถึงที่มาที่ไปของปัญหาคือ โรงไฟฟ้ากังหันแก๊สเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างและดำเนินการได้ง่าย ซึ่งสำหรับระยะเวลาสั้น ๆ แล้วจะมีความเหมาะสม (เงินลงทุนต่ำ สร้างได้เร็ว แต่ประสิทธิภาพต่ำ) แต่ในระยะยาวแล้วจะมีข้อเสียด้านประสิทธิภาพและมักต้องปรับเป็นระบบ combined cycle (วัฏจักรร่วมที่ประกอบด้วยกังหันแก๊สและกังหันไอน้ำซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า และใช้เวลาสร้างนานกว่า แต่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงกว่า ดู Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙๔ วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "การเผาแก๊สธรรมชาติ")

ตัวเร่งปฏิกิริยาตระกูล V2O5 นั้นเหมาะสมสำหรับการทำงานในช่วงอุณหภูมิ 200-450ºC และในช่วงอุณหภูมิสูงกว่า 450ºC จะถูกทำลายได้ง่าย ดังนั้นสิทธิบัตรฉบับนี้จึงได้นำเสนอตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการทำงานกับแก๊สร้อนที่ออกจากกังหันแก๊สที่มีอุณหภูมิในช่วง 450-600ºC

ดังนั้นสำหรับโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา DeNOx ที่ทำงานที่อุณหภูมิสูง (ช่วง 450-600ºC) ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่มี V2O5 อยู่น้อยมากหรือไม่มีเลย เมื่อปรับปรุงเป็นระบบ combined cycle จะทำให้แก๊สที่ออกมามีอุณหภูมิลดลง (อยู่ในช่วง 200-450ºC) ตัวเร่งปฏิกิริยาเดิม (ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่มี V2O5 อยู่น้อยมากหรือไม่มีเลย) จะทำงานไม่ได้ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่

ดังนั้นเพื่อลดการสิ้นเปลือง สิทธิบัตรฉบับนี้จึงได้นำเสนอให้นำเอาตัวเร่งปฏิกิริยาอุณหภูมิสูงที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว มาทำการเติม V2O5 เข้าไป (ในปริมาณตั้งแต่ 0.5 wt% ขึ้นไป) ซึ่งก็จะทำให้ได้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำงานในช่วงอุณหภูมิปานกลาง (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ... a catalyst re-using method and a re-produced catalyst.)

ดังนั้นตอนนี้คงเข้าใจแล้วว่าทำไมเราจึงยืนที่ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ V2O5 เป็นตัวหลัก


. สิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,827,489 วันที่ 27 ตุลาคม 1998 (.. ๒๕๔๑) เรื่อง "V/Mo/W catalysts for the selective reduction of nitrogen oxides"

สิทธิบัตรฉบับนี้อ้างสิทธิตัวเร่งปฏิกิริยา DeNOx ที่ประกอบด้วย

(ก) support ที่เป็นสารประกอบ inorganic oxide ที่ประกอบด้วย alumina, aluminate, titanium dioxide และ/หรือ zirconium dioxide อย่างน้อยหนึ่งชนิด และ

(ข) catalytically active phase ที่ประกอบด้วย vanadium oxide และ/หรือ molybdenum oxide และ/หรือ tungsten oxide อีกอย่างน้อยหนึ่งชนิด

โดยที่พื้นผิวของ support มีการสร้างพันธะทางเคมีกับอะตอมโลหะ V และ/หรือ Mo และ/หรือ W

และตัวเร่งปฏิกิริยาจะไม่มีโครงสร้างผลึกที่เป็น V2O5 และ/หรือ MoO3 และ/หรือ WO3

ทั้งนี้เพื่อลดการเกิด N2O ที่เกิดจากการออกซิไดซ์ NH3 (ดูปฏิกิริยาที่เกิดในคอลัมน์ที่ 2 ของสิทธิบัตร)

ตัวเร่งปฏิกิริยาของสิทธิบัตรนี้สามารถทำงานที่อุณหภูมิตั้งแต่ 300ºC ขึ้นไป

สาเหตุที่ต้องการลดการเกิด N2O ก็เพราะเชื่อกันว่า N2O ส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าในฐานะที่เป็นแก๊สเรือนกระจก (greenhouse gas) และมีส่วนสำคัญในการทำลายโอโซน (คงเห็นเหตุผลแล้วนะว่าทำไปเขาจึงต้องการทราบการเกิด N2O และทำไมเราถึงต้องจัดการเรื่อง GC-2014 ECD ให้ได้ - เราในที่นี้หมายถึงกลุ่ม metal oxide นะ อย่าไปคาดหวังว่าผมจะไปให้คนอื่นมาทำให้)

ที่ทำให้ปวดหัวก็คือสิทธิบัตรฉบับนี้ไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าควรมี V และ/หรือ Mo และ/หรือ W ในปริมาณ wt% เท่าใด แต่ดันบอกในรูปแบบว่าควรมีสัดส่วนโดยอะตอมเท่าไร ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวบอกไว้ในข้อขอถือสิทธิข้อ 14 ที่อยู่ในคอลัมน์ 12 ของสิทธิบัตร

อนึ่งเวลาอ่านสิทธิบัตรเรามักจะเจอคำว่า "...และ/หรือ... อย่างน้อยหนึ่งชนิด" เป็นประจำ การเขียนอย่างนี้เป็นเทคนิคการเขียนเพื่อให้ครอบคลุมให้กว้างที่สุด ตัวอย่างเช่นในข้อ (ข) ข้างบนจะครอบคลุมถึงการ

- มีเพียง vanadium oxide อย่างเดียว หรือ

- มีเพียง molybdenum oxide อย่างเดียว หรือ

- มีเพียง tungsten oxide อย่างเดียว หรือ

- มี vanadium oxide ร่วมกับ molybdenum oxide หรือ

- มี vanadium oxide ร่วมกับ tungsten oxide หรือ

- มี molybdenum oxide ร่วมกับ molybdenum oxide หรือ

- มีออกไซด์ทั้งสามชนิดร่วมกัน


. สิทธิบัตรประเทศสหรัฐอเมริกาเลขที่ 7,585,807 วันที่ 8 กันยายน 2009 (.. ๒๕๕๒) เรื่อง "Production of catalyst for removal of nitrogen oxides"

สิทธิบัตรฉบับนี้กล่าวถึงตัวเร่งปฏิกิริยา DeNOx ที่ใช้ TiO2 ที่เตรียมจาก hydrated titanium dioxide โดยมี WO3 และ CeO2 (cerium dioxide) เป็น active phase

ในส่วน Background art กล่าวไว้ว่าต้องการหาตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำงานที่อุณหภูมิสูง (450-600ºC) เพื่อใช้กับแก๊สร้อนที่ออกมาจากกังหันแก๊ส และในรูปที่ 3 ของสิทธิบัตร (ที่นำมาแสดงข้างล่าง) ก็แสดงให้เห็นการทำงานในช่วงอุณหภูมิ 350-600ºC และเห็นได้ชัดว่าที่ช่วงอุณหภูมิต่ำนั้นตัวเร่งปฏิกิริยาจะทำงานได้ไม่ดี


รูปที่ ๑ รูปแสดงความสามารถในการกำจัด NO เข้มข้น 200 ppm โดยใช้ NH3 เข้มข้น 240 ppm (รูปที่ 3 ของสิทธิบัตรเลขที่ 7,585,807) ออกซิเจน 10% และน้ำ 5%


อีกจุดที่น่าสังเกตคือการทดลองกำจัด NO นั้นใช้ NH3 มากกว่า NO อยู่ 20% กล่าวคือใช้แก๊สที่มี NO 200 ppm แต่มี NH3 240 ppm ซึ่งตรงจุดนี้ผมไม่แน่ใจว่าทำไปเพื่อให้ผลออกมาดูดีหรือต้องใส่มากเกินพอเพื่อเข้าไปชดเชย NH3 ที่สูญเสียไปกับปฏิกิริยากับออกซิเจน

ตรงหัวข้อ ii) ของคอลัมน์ 3 และต่อไปยังส่วนต้นของคอลัมน์ 4 ยังได้กล่าวถึงผลของ Ce ที่มีต่อโครงสร้าง TiO2 โดย Ce สามารถไปเร่งการเกิด sintering ของ TiO2 ได้ และดูเหมือนว่าจะไม่มีการกล่าวว่า TiO2 อยู่ในเฟสไหน


ทีนี้คงเห็นภาพแล้วนะว่าทำไมทางกลุ่มเราถึงไม่มุ่งไปทางการลดปริมาณ V ที่ใช้ให้เหลือน้อยที่สุด และทำไมเราไม่คิดที่จะเติม Ce เข้าไปในตัวเร่งปฏิกิริยาของเรา


คงจะเห็นแล้วว่าทำไปเวลาอ่านบทความพวกนี้ผมถึงบอกให้อ่านให้ดี อย่าอ่านแบบฉาบฉวยหรืออ่านเฉพาะบทสรุปโดยไม่ดูที่มาที่ไปของปัญหา การที่ผมไม่เพียงแต่จะต้องการให้พวกคุณอ่านเอง ผมยังต้องเอามาอ่านเองด้วยก็เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าความเข้าใจภาษาของพวกคุณใช้ได้ ดังนั้นอย่าไปคิดว่าเมื่ออาจารย์อ่านและสรุปให้แล้วก็ไม่ต้องไปอ่านเอง รอสรุปจากอาจารย์ก็แล้วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น