ก่อนอื่นก็ต้องขอกล่าวต้อนรับว่าที่สมาชิกใหม่ของกลุ่ม
ที่คาดว่าจะมาเข้าร่วมงานกันในภาคต้นปีการศึกษา
๒๕๕๕ จำนวน ๕ คน (เลข
๕ มาเยอะหน่อย)
งานนี้ต้องขอขอบคุณสาวน้อยนักแสดงและสาวน้อยหน้าบาน
(คนหลังตั้งชื่อให้อย่างนี้ไม่รู้เจ้าตัวจะชอบหรือเปล่า)
ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เป็นอย่างดี
หวังว่าปีการศึกษาหน้าคงมาครบกันทุกคน
แต่ถ้าเปลี่ยนใจจะไปทำอย่างอื่นก็ขอความกรุณาช่วยแจ้งให้ทราบด้วย
ทางกลุ่มจะได้เปิดรับคนอื่นเข้ามาแทน
ตอนนี้อยากทราบเรื่องอะไรเกี่ยวกับทางกลุ่มก็ขอให้ติดตามทาง
blog
นี้ไปก่อนก็แล้วกัน
ผมจะะเริ่มส่ง Memoir
ฉบับ
pdf
ให้กับสมาชิกใหม่ก็ต่อเมื่อเริ่มเข้ามาเรียนแล้ว
ผมเขียนเรื่อง
"วาล์วและการเลือกใช้
ตอนที่ ๑"
ไปใน
Memoir
ปีที่
๑ ฉบับที่ ๓๒ วันจันทร์ที่
๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ และเรื่อง
"วาล์วและการเลือกใช้
ตอนที่ ๒"
ไปใน
Memoir
ปีที่
๑ ฉบับที่ ๓๓ วันพุธที่ ๒๙
เมษายน ๒๕๕๒ ในตอนที่ ๒
นั้นผมขึ้นเรื่องวาล์วระบายความดันเอาไว้
แต่ก็ไม่ได้เขียนสักที
นี่ก็ค้างมาเกือบสองปีครึ่งแล้ว
แถมมี Memoir
คั่นกลางอีกกว่า
๓๐๐ ฉบับ ก็เลยคิดว่าได้เวลาที่ต้องลงมือเขียนแล้ว
อันที่จริงก่อนหน้านี้ก็ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับ
Breather
valve ใน
Memoir
๓
ฉบับที่ ๓๐๑ วันศุกร์ที่ ๑๓
เมษายน ๒๕๕๔ เรื่อง
"การควบคุมความดันในถังบรรยากาศ
(Atmospheric
tank)" ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับวาล์วระบายความดัน
แต่วาล์วดังกล่าวไม่เพียงแต่ยอมให้แก๊สในถังระบายออกเมื่อความดันในถังสูงเกินไป
แต่ยังยอมให้อากาศข้างนอกเข้าไปในถังได้เมื่อความดันในถังต่ำเกินไป
ส่วนวาล์วระบายความดันใน
Memoir
ฉบับนี้เป็นวาล์วที่ใช้ระบายความดันในกรณีที่ความดันภายในภาชนะนั้นสูงเกินกว่าความดันที่กำหนดไว้
และเนื้อหาในนี้ไม่ได้เน้นไปที่การออกแบบหรือการเลือกใช้
เพียงแต่ต้องการให้รู้จักว่าวาล์วระบายความดันนั้นทำงานอย่างไร
ตามมาตรฐานอเมริกานั้นจะแยกวาล์วระบายความดันออกเป็น
๓ ประเภทตามชนิดของไหลดังนี้
(ก)
Safety valve ใช้กับแก๊ส
(ข)
Relief valve ใช้กับของเหลว
(ค)
Safety relief valve ใช้ได้ทั้งแก๊สและของเหลว
แต่ถ้าเป็นตามมาตรฐานอังกฤษนั้น
(BS
6759 ปีค.ศ.
1984) เรียกรวม
ๆ ว่าวาล์วที่ทำงานด้วยระบบกลไกใด
ๆ
ก็ตามที่ออกแบบมาเพื่อเปิดอัตโนมัติเพื่อการระบายความดันที่สูงเกินนั้น
เรียกรวมว่า safety
valve โดยไม่มีการกำหนดว่าใช้กับของเหลวหรือแก๊ส(1)
ที่ระดับความดันที่ใช้งานกันทั่วไปในอุตสาหกรรมนั้น
ถือได้ว่าไม่สามารถทำให้ของเหลวมีปริมาตรเปลี่ยนแปลงได้
ดังนั้นถ้าถัง (หรือท่อ)
ที่บรรจุของเหลวนั้นมีความดันสูงเกินไป
ถ้าเปิดวาล์วให้ของเหลวรั่วไหลออกมาได้หรือมีที่ว่างให้ขยายตัวได้
ความดันในระบบก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว
แต่ในกรณีของแก๊สนั้นเนื่องจากเป็นของไหลที่อัดตัวได้
ดังนั้นถ้าความดันในถัง
(หรือท่อ)
ที่บรรจุแก๊สนั้นสูงเกินไป
การเปิดช่องว่างให้แก๊สรั่วไหลออกมาได้ก็จะทำให้ความในระบบนั้นลดลง
แต่การลดลงจะช้ากว่าของเหลว
ดังนั้นในกรณีของวาล์วระบายความดันที่ใช้กับแก๊สนั้น
ทันทีที่ความดันในระบบสูงเกินค่าที่กำหนดไว้
(แม้ว่าจะเกินไปเพียงเล็กน้อย)
วาล์วจะต้องเปิดเต็มที่ทันทีอย่างรวดเร็ว
เพื่อให้การระบายความดันเป็นไปได้อย่างสะดวกและทันท่วงที
ในขณะที่วาล์วที่ใช้ในการระบายความดันของของเหลวนั้น
จะเปิดกว้างมากน้อยเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับว่าความดันในระบบนั้นสูงเกินค่าที่กำหนดไว้มากน้อยเท่าใด
ถ้าความดันสูงเกินไปมาก
วาล์วก็เปิดเพียงเล็กน้อย
ถ้าความดันสูงเกินไปมาก
วาล์วก็เปิดกว้างมากขึ้น
ทีนี้เรามาดูกันว่าวาล์วแต่ละแบบนั้นมีหลักการทำงานอย่างไรโดยจะใช้รูปวาดแบบง่าย
โดยจะเริ่มจากวาล์วระบายความดันสำหรับของเหลวที่แสดงในรูปที่
๑ ก่อน
รูปที่
๑ หลักการทำงานของวาล์วระบายความดันสำหรับของเหลว
สมมุติว่าท่อที่ต่อเข้าวาล์วนั้นมีพื้นที่หน้าตัด
10 cm2
ตัววาล์วเองที่ปิดท่อระบายความดันก็มีขนาดพื้นที่หน้าตัด
10 cm2
และแรงกด
(ปรกติจะใช้สปริงกด
แต่ในรูปแสดงเป็นก้อนน้ำหนัก)
ที่กดให้วาล์วปิดนั้นคือ
100 kg
(ตัวนี้เทียบได้กับ
set
pressure หรือความดันที่กำหนดให้วาล์วเปิด)
ตราบใดก็ตามที่ความดันในระบบต่ำกว่า
10
kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะน้อยกว่า
100 kg
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความดันในระบบยังไม่สามารถทำให้วาล์วยกตัวขึ้นได้
แต่ถ้าความดันในระบบเท่ากับ
10
kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะเท่ากับ
100 kg
วาล์วก็พร้อมที่จะยกตัวขึ้น
และเมื่อความดันในระบบสูงเกินกว่า
10
kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะมากกว่า
100 kg
วาล์วก็เริ่มยกตัวขึ้น
และเปิดช่องให้ของเหลวในระบบระบายออกไปได้
(รูปที่
๑ กลาง)
แต่อย่างที่บอกไว้ในหน้าที่แล้วคือ
ของเหลวนั้นถ้าเราเปิดช่องให้มันรั่วไหลไปได้หรือมีที่อยู่มากขึ้น
ความดันในระบบก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นทันทีที่วาล์วเริ่มเปิดออก
ความดันในระบบก็จะลดต่ำลงอย่างรวดเร็วโดยที่วาล์วไม่จำเป็นต้องเปิดจนสุด
แต่ถ้าความดันในระบบยังคงสูงอยู่
วาล์วก็จะยกตัวเปิดกว้างมากขึ้นอีกเพื่อให้ของเหลวระบายได้รวดเร็วขึ้นอีก
(รูปที่
๑ ขวา)
และเมื่อความดันในระบบลดลง
วาล์วก็จะค่อย ๆ ปิดตัวลงตามความดัน
จนกระทั่งปิดสนิทเมื่อความดันในระบบลดลงต่ำกว่า
10
kg/cm2
รูปที่
๒ แสดงวาล์วระบายความดันสำหรับระบบที่เป็นแก๊ส
ตัววาล์วจะมีโครงสร้างที่แตกต่างไปจากวาล์วที่ใช้กับระบบที่เป็นของเหลวอยู่เล็กน้อย
โดยเฉพาะตรงส่วนพื้นที่หน้าตัดของส่วนที่เป็นวาล์วซึ่งจะมีพื้นที่หน้าตัดใหญ่กว่าพื้นที่หน้าตัดของท่อที่ต่อเข้าวาล์ว
ในกรณีนี้สมมุติว่าท่อที่ต่อเข้าวาล์วนั้นมีพื้นที่หน้าตัด
10 cm2
ตัว
plug
ของวาล์วเองที่ใช้ปิดท่อระบายความดันก็มีขนาดพื้นที่หน้าตัด
12.5
cm2 และแรงกดที่กดให้วาล์วปิดนั้นคือ
100 kg
ตราบใดก็ตามที่ความดันในระบบต่ำกว่า
10
kg/cm2 ผลคูณระหว่างความดันกับพื้นที่หน้าตัดก็จะน้อยกว่า
100 kg
วาล์วก็จะยังไม่เปิด
ทีนี้ถ้าความดันในระบบสูงกว่า
10
kg/cm2 เพียงเล็กน้อย
ผลคูณระหว่างความดัน (10+
kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของท่อ
(10
cm2) ก็จะมากกว่า
100 kg
ตัววาล์วก็จะยกตัวสูงขึ้น
แต่ทันทีที่ตัววาล์วยกตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย
พื้นที่หน้าตัดที่ความดันในระบบกระทำจะเพิ่มจาก
10 cm2
เป็น
12.5
cm2 ซึ่งจะทำให้ผลคูณระหว่างความดัน
(10+
kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของวาล์ว
(12.5
cm2) เพิ่มขึ้นเป็นกว่า
125 kg
ซึ่งสูงกว่าน้ำหนักที่กดเอาไว้มาก
วาลว์ก็จะเปิดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนสุดเพื่อระบายความดันส่วนเกินในระบบออกไป
รูปที่
๒ หลักการทำงานของวาล์วระบายความดันสำหรับแก๊ส
ที่นี้ถ้าความดันในระบบลดลงเหลือต่ำกว่า
10
kg/cm2 เช่นลงมาเหลือแค่
9
kg/cm2 ผลคูณะหว่างความดัน
(9
kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของวาล์ว
(12.5
cm2) ก็จะเท่ากับ
112.5
kg ซึ่งยังคงมากกว่า
100 kg
วาล์วก็จะยังคงไม่ปิด
วาล์วจะเริ่มปิดตัวได้ก็ต่อเมื่อความดันในระบบลดลงเหลือ
8
kg/cm2 ซึ่งเป็นค่าความดันที่ทำให้ผลคูณะหว่างความดัน
(8
kg/cm2) กับพื้นที่หน้าตัดของวาล์ว
(12.5
cm2) เท่ากับ
100 kg
และทันทีที่ความดันในระบบลดลงต่ำกว่า
8
kg/cm2 วาล์วก็จะปิดตัวลงทันที
ดังนั้นจากตัวอย่างข้างบนจะเห็นว่าในกรณีของวาล์วระบายความดันสำหรับแก๊สนั้น
วาล์วจะเริ่มเปิดก็ต่อเมื่อความดันสูงเกินกว่า
10
kg/cm2 แต่จะปิดก็ต่อเมื่อความดันในระบบต่ำกว่า
8
kg/cm2 ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่
ช่วงความดันนี้มีชื่อว่าช่วง
blowdown
วาล์วระบายความดันนั้นแม้ว่าทางผู้ผลิตจะทำการปรับตั้งความดันตามที่ผู้ใช้กำหนดไว้
แต่ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใช้ว่า
"ต้องตรวจสอบ"
ด้วยการอัดความดันว่าวาล์วทุกตัวว่าเปิดได้จริงตามความดันที่ผู้ผลิตกล่าวอ้าง
สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือปรกติแล้ววาล์วระบายความดันมักจะใช้สปริงในการกดให้วาล์วปิด
(ไม่ได้ใช้น้ำหนักแบบที่แสดงในรูป)
ความแข็งแรงของสปริงที่อุณหภูมิต่ำและอุณหภูมิสูงนั้นแตกต่างกัน
โดยปรกติแล้วโลหะจะอ่อนตัวลงที่อุณหภูมิสูงทำให้แรงกดของสปริงลดลงได้เมื่อสปริงร้อนขึ้น
ดังนั้นเวลาตั้งความดันที่จะให้วาล์วเปิดก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
เพราะปรกติการตั้งความดันวาล์วมักจะกระทำที่อุณหภูมิห้อง
แต่ถ้าต้องนำวาล์วตัวนั้นไปใช้กับระบบที่มีอุณหภูมิสูงก็ต้องมีการเผื่อความดันเอาไว้ด้วย
การติดตั้งวาล์วระบายความดันนั้นจะติดตั้งให้วาล์วตั้งในแนวดิ่ง
ในหลายแห่งนั้นจะใช้กฎที่ว่าท่อระหว่างตัววาล์วและภาชนะที่ต้องการระบายความดัน
"ต้อง"
ไม่มีวาล์วใดที่สามารถทำให้การไหลถูกปิดกั้นได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องไม่มีการติดตั้งวาล์วใด
ๆ เลย
แต่การทำเช่นนี้อาจเกิดปัญหาได้ถ้าหากตัววาล์วระบายความดันเกิดการรั่วไหล
ทำให้ไม่สามารถถอดออกมาซ่อมแซมได้เว้นแต่ต้องหยุดการเดินเครื่อง
ดังนั้นจึงมีอีกกลุ่มหนึ่งที่พิจารณากฎการติดตั้งว่าท่อระหว่างวาล์วระบายความดันกับภาชนะที่ต้องการระบายความดัน
"ต้องไม่มีโอกาส"
ที่ภาชนะนั้นจะไม่ได้รับการป้องกันจากวาล์วระบายความดัน
ซึ่งทำได้โดยการติดตั้งวาล์วระบายความดัน
2 ตัว
และมีวาล์วควบคุมทิศทางการไหล
ถ้าหมุนวาล์วควบคุมทิศทางการไหลนั้นให้เปิดในทิศทางหนึ่ง
อีกทิศทางหนึ่งก็จะปิด
ลักษณะเช่นนี้ก็ทำให้ภาชนะความดันนั้นได้รับการป้องกันจากวาล์วระบายความดันตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
(รูปที่
๓)
รูปที่
๓
รูปด้านซ้ายเป็นการติดตั้งวาล์วระบายความดันที่ไม่สามารถถอดออกมาซ่อมได้ถ้าเกิดการรั่วไหล
เว้นแต่จะมีการหยุดเดินเครื่อง
ส่วนรูปด้านขวาเป็นการติดตั้งวาล์วระบายความดันสองตัวโดยมีระบบวาล์วที่ทำให้ต้องมีวาล์วระบายความดันอย่างน้อยหนึ่งตัวปกป้องภาชนะเอาไว้ตลอดเวลา
ในกรณีที่คาดการณ์ว่าความดันในระบบอาจมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้นั้น
(เช่นเกิดการระเบิดภายใน)
วาล์วระบายความดันจะไม่สามารถระบายความดันที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ทัน
จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า
rupture
disc หรือ
bursting
disc
ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นโลหะบางสำหรับปิดกั้นระหว่างภายในภาชนะกับท่อระบายความดัน
bursting
disc นี้ออกแบบมาให้ฉีกขาดหรือแตกออก
ณ ความดันที่กำหนดไว้
การระบายความดันของ bursting
disc นั้นอาจระบายออกสู่บรรยากาศโดยตรง
(ให้พุ่งขึ้นตรงไปข้างบน)
เพราะการระบายออกสู่อากาศโดยตรงเป็นเส้นทางที่มีการต้านทานการไหลน้อยที่สุด
ไม่เหมือนกับการระบายเข้าระบบ
flare
(ระบบเผาแก๊สทิ้ง)
ของโรงงาน
รูปที่
๔ Bursting
disc รูปซ้ายเป็นรูปก่อนการฉีกขาด
รูปขวาเป็นรูปหลังการฉีกขาดแล้ว(2)
หมายเหตุ
(1)
Cyril F. Parry, "Relief Systems Handbook", Institute of
Chemical Engineers, 1992.
(2)
http://www.directindustry.com/prod/bs-b-safety-systems-llc/bursting-discs-61984-403736.html