วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

กระสุน Siamese type 66 (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๔) MO Memoir : Wednesday 16 January 2556

การให้หนังสือเพื่อเป็นของที่ระลึกในงานศพในบ้านเราจะมีมาตั้งแต่เมื่อไรผมก็ไม่รู้ เนื้อหาที่อยู่ในหนังสือหลัก ๆ ก็จะเป็นคำไว้อาลัย และประวัติสั้น ๆ ของผู้เสียชีวิต หลายเล่มก็ยังมีเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มาร่วมงานที่ได้รับหนังสือไปนั้นเอาหนังสือเล่มนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ เนื้อหาที่เห็นกันทั่วไปก็มีเรื่องทางศาสนา สุขอนามัย ฯลฯ แต่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือประวัติและบันทึกการทำงานของผู้ที่เสียชีวิตที่เขียนโดยท่านเหล่านั้นเอง เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและบันทึกการทำงานที่บันทึกเรื่องราวของตัวเองก่อนเสียชีวิตเหล่านี้จัดว่าให้ภาพประวัติศาสตร์ของบ้านเราในมุมที่ไม่มีการบันทึกเอาไว้ในเอกสารราชการ เรื่องที่จะเอามาเล่าให้ฟังใน Memoir ฉบับนี้ก็เช่นเดียวกัน
  
หนังสือที่แจกเป็นที่ระลึกในงานศพเหล่านี้ไม่มีการลงเลข ISBN ดังนั้นคิดว่าคงไม่ถูกเก็บเอาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ คงมีอยู่เฉพาะกับผู้มาร่วมงานและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทางเจ้าภาพได้รับไปหรือมีผู้บริจาคให้ จึงน่าเป็นห่วงว่าเมื่อเวลาผ่านไปหนังสือเหล่านี้อาจจะค่อย ๆ สูญหายไป จะมีก็เว้นแต่ที่เป็นหนังสือที่แจกในงานศพของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมเท่านั้นที่ผู้นิยมชมขอบหนังสือเก่าเก็บเป็นของสะสมและยังมีการซื้อขายกันอยู่ในท้องตลาด เล่มที่ผมไปพบมานี้ (รูปที่ ๑) ซุกอยู่ที่ซอกหนึ่งในชั้นหนังสือของห้องสมุดของมหาวิทยาลัย


รูปที่ ๑ (ซ้าย) ปกหน้าหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (ขวา) พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ สมัยที่เป็นนักเรียนทหารเยอรมัน (ยุคไกเซอร์)

พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศเยอรมันในยุคไกเซอร์ (คือยุคที่เยอรมันปกครองด้วยกษัตริย์ไกเซอร์ วิลเฮล์ม หรือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั่นเอง) ก่อนมารับหน้าที่ราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ประวัติการทำงานของท่านที่ท่านบันทึกไว้นั้นมีเรื่องน่าสนใจอยู่หลายเรื่อง แต่ในที่นี้ขอเอาเรื่องแรกมาเล่าให้ฟังเพียงเรื่องเดียวก่อน ซึ่งเป็นเหตุการณ์สมัยที่ท่านรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแม่นปืน ท่านไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. ใด แต่ดูจากเนื้อหาเรื่องราวที่เขียนแล้วคาดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๔๖๐ เรื่องดังกล่าวคือการพัฒนากระสุนปืนไรเฟิลสำหรับใช้ในกองทัพไทย

รูปที่ ๒ (บน) กระสุนชนิด 8x50Rmm Siamese (Type 45) (ล่าง) กระสุนชนิด 8x52Rmm Siamese (Type 66) รูปสองรูปนี้ค้นได้จาก google บอกว่ามาจากหนังสือ Cartridges of the world 13th edition เลข 8 คือขนาด calibre ของหัวกระสุนในหน่วยมิลลิเมตร เลข 50 หรือ 52 คือความยาวปลอกกระสุน ส่วน R เป็นตัวบอกว่าเป็นกระสุนชนิดมีขอบจานท้าย

หัวกระสุนปืนไรเฟิลในยุคก่อนค.ศ. ๑๙๐๐ (ช่วงรัชกาลที่ ๕) มักจะมีลักษณะเป็นหัวทู่ ๆ มน ๆ ดังเช่นกระสุนชนิด 8x50Rmm Siamese (Type 45) ที่แสดงในรูปที่ ๒ (บน) ที่กองทัพไทยรับเข้าประจำการในปีพ.ศ. ๒๔๔๕ (จึงเป็นที่มาของชนิด ๔๕) ต่อมามีการค้นพบว่าถ้าทำให้หัวกระสุนเรียวขึ้น วิธีกระสุนจะราบเรียบขึ้น เป็นการเพิ่มความแม่นยำและทำให้ยิงได้ไกลขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหัวกระสุนเป็นหัวเรียวแหลมแบบที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน
  
ส่วนประเทศไทยเอง (ขณะนั้นเรียกตัวเองว่าสยาม) ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกระสุนจะได้ชนิดใหม่เข้าประจำการในปีพ.ศ. ๒๔๖๖ ที่เรียกว่ากระสุน 8x52Rmm Siamese (Type 66) ที่แสดงในรูปที่ ๒ (ล่าง)
  
ที่มาของการปรับปรุงนี้จะมีบันทึกเอาไว้ที่ใดบ้างผมก็ไม่ทราบ แต่ในประวัติของพลตรีพระยาอานุภาพไตรภพที่ท่านบันทึกไว้ในปีพ.ศ. ๒๔๘๐ นั้นได้เล่าถึงการพัฒนากระสุนสำหรับกองทัพไทยในช่วงที่ท่านรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแม่นปืนนั้นก็ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ลองอ่านดูจากที่ผมนำมาจากหนังสืออนุสรณ์ฯ ในหน้า ๕๑ และ ๕๒ ก่อนก็แล้วกัน



ท่านไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเหตุการณ์เรื่องการทดสอบกระสุนดังกล่าวเกิดขึ้นในปีพ.ศ.ใด แต่ในประวัติของท่านนั้นกล่าวว่าท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแม่นปืนอยู่ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๐ (หนังสือหน้า ๑๓๗) ทำให้น่าสันนิฐานว่าการทดลองที่กล่าวถึงเป็นการทดลองเพื่อหากระสุนชนิดใหม่ที่จะมาแทนที่กระสุน 8x50Rmm Siamese (Type 45) และกระสุนที่ทำการพัฒนาที่ท่านกล่าวถึงนั้นต่อมาได้กลายเป็นกระสุน 8x52Rmm Siamese (Type 66) ที่กองทัพรับเข้าประจำการในปีพ.ศ. ๒๔๖๖

อีกเรื่องคือท่านได้ให้หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การดูถูกความสามารถของชาติเดียวกันเองนั้นเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในสังคมไทย (อย่างน้อยก็ร่วมร้อยปีแล้ว ข้อความตรงที่ขีดเส้นใต้สีแดงในกรอบสีเขียว) และพฤติกรรมดังกล่าวก็สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือหน่วยงานบางแห่งเวลาใครขอทุนทำวิจัยนั้นถ้าไม่มีหลักฐานแสดงว่า "มีความร่วมมือ" กับต่างชาติแล้ว มักจะไม่ได้รับความสำคัญในการพิจารณา เรื่องเหล่านี้เคยมีเอกสารมาถามความเห็นผมเหมือนกัน ผมก็ตอบกลับไปว่า มองอีกมุมหนึ่งก็คือคนเหล่านี้ทำอะไรเองไม่เป็นสักที ถ้าเก่งจริงเขาก็ต้องสามารถผลิตผลงานที่เป็นชื่อคนไทยล้วน ๆ ได้ ไม่ใช่ไปยืมชื่ออาจารย์ต่างชาติเพื่อให้เขาตรวจเนื้อหาบทความให้หรือเพื่อให้ตีพิมพ์บทความได้ง่ายขึ้น คิดจะทำวิจัยอะไรสักอย่างก็ต้องอ้างต่างชาติเอาไว้ก่อนว่าเขาทำกันอย่างโน้นเขาทำกันอย่างนี้ โดยไม่ได้พิจารณาว่างานวิจัยของต่างชาติเหล่านั้นเขามีพื้นฐานความคิดอยู่บนเรื่องอะไร สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับความต้องการในประเทศได้หรือไม่

ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟอีก ๒ เรื่องในบันทึกของพลตรีพระยาอานุภาพไตรภพที่ผมคัดเลือกเอาไว้ แล้วมีเวลาเมื่อไรจะเอามาเล่าให้ฟัง